xs
xsm
sm
md
lg

ปรับเป้าหุ้นแบงก์ รับอานิสงส์รัฐช่วยผู้ประกอบการ 3.5 แสนล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โบรกเกอร์ประสานเสียงแผนรัฐช่วยผู้ประกอบการวงเงิน 3.5 แสนล้านบาท หนุนกลุ่มแบงก์รับอานิสงส์เต็มๆ อีกทั้งช่วยทำให้ NIM ของธนาคารจะเริ่มทยอยปรับตัวดี จากอัตราดอกเบี้ยและสัดส่วนของซอฟต์โลนที่สูงขึ้น ฟากหยวนต้า เพิ่มเป้า 4 แบงก์ใหญ่ที่ได้ประโยชน์ ขณะที่ ASPS มอง กนง.คงดอกเบี้ยช่วยหนุนอีกแรง ส่วน KBANK ติดโผหุ้นเด่นทุกสำนัก

หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันอังคารที่ 23 มี.ค.ที่ผ่านมา มีมติอนุมัติออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการวงเงิน 3.5 แสนล้านบาท ผ่านสินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจวงเงิน 2.5 แสนล้านบาท (ซอฟต์โลน 2) และมาตรการ “พักทรัพย์ พักหนี้” (โกดังพักหนี้) วงเงิน 1 แสนล้านบาท บทวิเคราะห์จากหลายโบรกเกอร์ได้ประเมินผลกระทบหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ต่อมาตรการดังกล่าว โดยผู้สื่อข่าวได้รวบรวมไว้ดังนี้

หยวนต้า มองเงื่อนไขซอฟต์โลนจูงใจมากขึ้น ดอกเบี้ยเฉลี่ยสูง หนุน NIM

บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า มีมุมมองเชิงบวกต่อมาตรการดังกล่าว โดยภาพรวมถือเป็นการแก้ปัญหาของสินเชื่อซอฟต์โลนเดิมได้ดี ทั้งในมิติของการกระจายตัวของสินเชื่อที่จะครอบคลุมกลุ่มลูกค้ามากขึ้น รวมถึงได้รับวงเงินสินเชื่อที่เพียงพอต่อความต้องการในการใช้ฟื้นฟูธุรกิจของผู้ประกอบการ

นอกจากนี้ ในมิติของธนาคารภายใต้เงื่อนไขดอกเบี้ยใหม่ทำให้การปล่อยสินเชื่อซอฟต์โลนน่าจูงใจมากขึ้น เนื่องจากสามารถคิดดอกเบี้ยได้สูงถึง 5% ซึ่งถือว่าสูงกว่าดอกเบี้ยเฉลี่ยของธนาคาร ทำให้ NIM ของธนาคารจะเริ่มทยอยปรับตัวดีขึ้นตามสัดส่วนของซอฟต์โลนที่สูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงถือว่ามีตัวช่วยเพิ่มขึ้นทั้งจากการเข้ามารับชดเชยความเสียหายของบรรษัทสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และในกรณีที่เลวร้ายยังมีมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ ซึ่งเปิดโอกาสให้ลูกหนี้ตีโอนทรัพย์สินเพื่อปลดภาระหนี้ชั่วคราว และธนาคารเองจะมี Credit Cost ที่ลดต่ำลงไปด้วย

แนะนำกลุ่มแบงก์ "มากกว่าตลาด" พร้อมปรับเพิ่มเป้า 4 แบงก์สินเชื่อเด่น

แนะนำคงน้ำหนักลงทุนในหุ้นกลุ่มธนาคาร “มากกว่าตลาด” โดยคาดผลการดำเนินงานจะฟื้นตัวดีจากฐานที่ต่ำในปีก่อน บวกกับได้อานิสงส์จากการเปิดประเทศ รวมถึง Bond Yield ที่ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องสะท้อนว่าดอกเบี้ยได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว นอกจากนี้ Downside Risk ของกลุ่มถูกจำกัดด้วยมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รอบใหม่ ทั้งการเพิ่มสภาพคล่องผ่านการทำสินเชื่อซอฟต์โลน ที่มีเงื่อนไขน่าดึงดูดมากขึ้นทั้งในแง่ของการให้สินเชื่อและดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากลูกหนี้

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการโกดังเก็บหนี้ที่เป็นมาตรการสำหรับลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงสูง อย่างกลุ่มท่องเที่ยวและโรงแรม ให้มีทางออกในการแก้ปัญหาหนี้ โดยที่สถาบันการเงินมีความเสี่ยงต่ำลง เพราะได้หลักประกันที่มีมูลค่าสูงกว่ามูลหนี้มาเก็บไว้ในมือ จึงพิจารณาปรับเพิ่มสมมุติฐานในการประมาณค่า Prospective PBV ขึ้น (เพิ่ม Sustainable ROE ราว 1-1.2%) ในหุ้นที่มีการเติบโตของสินเชื่อได้ดีในช่วงที่ผ่านมา และมีโอกาสได้ผลบวกจากสินเชื่อ Soft Loan ที่มีแนวโน้มขยายตัว ส่งผลให้มูลค่าพื้นฐานของ 1) SCB เพิ่มขึ้นจาก 105 บาท เป็น 124 บาท 2) KBANK เพิ่มขึ้นจาก 146 บาท เป็น 178 บาท 3) KTB เพิ่มขึ้นจาก 12.50 บาท เป็น 13.40 บาท และ 4) KKP เพิ่มขึ้นจาก 64 บาท เป็น 71.50 บาท โดยเลือก KBANK - KKP เป็น Toppick

ASP มอง KBANK ได้เปรียบสุด เหตุสัดส่วนลูกค้า SME สูง

บริษัทหลักทรัพย์ เอเซียพลัส จำกัด ระบุว่า ทั้ง 2 มาตรการถือเป็นปัจจัยบวกต่อกลุ่มธนาคาร โดยมาตรการซอฟต์โลนนั้นเป็นบวกเล็กน้อยจากการรับรู้อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 5 ปีตามหลัก Effective interest rate (EIR) ในอัตราไม่เกิน 5% (2 ปีแรกคิดอัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี) สูงจากซอฟต์โลนเดิมที่ 2% ต่อปี โดย KBANK ที่มีสัดส่วนลูกค้า SME ราว 33% ของพอร์ตสินเชื่อได้เปรียบสุดในกลุ่ม โดย ทุก 1% สินเชื่อที่เปลี่ยนแปลงจากสมมติฐาน กำไรสุทธิปี 64 ของกลุ่มจะเพิ่มขึ้น (ลดลง) ราว 1%

ส่วนมาตรการโกดังเก็บหนี้ ทาง KBANK และ SCB ที่พอร์ตสินเชื่ออิงกับภาคท่องเที่ยวเป็นอันดับต้นๆ ของกลุ่ม น่าจะได้ประโยชน์ เพราะทางบัญชีรายการสินเชื่อจะถูกปรับเป็นสินทรัพย์อื่น คาดทำให้ ธ.พ. ไม่ต้องนำสินทรัพย์มาจัดชั้น โดยภายหลังครบกำหนด 5 ปี หากลูกหนี้ไม่ซื้อกลับคืน ธนาคารจะนำสินทรัพย์ออกขายเพื่อนำเงินมาชำระคืน ธปท. ภาพรวมช่วยลดปัญหาคุณภาพสินทรัพย์ช่วงสั้น

นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งปัจจัยที่ต้องติดตาม คือการประชุมคณะกรรมการนโยบายทางการเงิน (กนง.) ที่เชื่อว่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ตามเดิม และประเมินมีโอกาสที่ดอกเบี้ยจะทรงตัวต่ำในช่วงที่เหลือของปีนี้ เป็น Sentiment บวกต่อหุ้นกลุ่ม ธ.พ.

โดยทั้ง 2 ปัจจัยสำคัญเป็นแรงหนุนบวกต่อหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ โดยคำแนะนำกลุ่ม “เท่ากับตลาด” เลือก TISCO (ราคาเป้าหมาย 102 บาท) คุณภาพสินทรัพย์ชัดเจนกว่ากลุ่ม รวมถึงงบดุลแกร่งและ Div Yield สูงราว 6% ตามด้วย KBANK (ราคาป้าหมาย 155 บาท) ตามการฟื้นตัวของสินเชื่อที่อิงกับภาคท่องเที่ยว และ BBL (ราคาเป้าหมาย 154 บาท) Laggard play

KTBST มองโกดังพักหนี้เห็นผลมากกว่าซอฟต์โลน เชียร์ KBANK-SCB

ส่วนบทวิจัยจากบริษัทหลักทรัพย์ เคทีบีเอสที จำกัด (มหาชน) มีมุมมองเป็นบวกต่อประเด็นดังกล่าวกับกลุ่มธนาคาร โดยเรื่องการปรับเงื่อนไขซอฟต์โลน มองเป็นบวกเล็กน้อย เพราะจะส่งผลดีต่อสินเชื่อ แต่อัตราดอกเบี้ยยังไม่ได้จูงใจมากนักและอาจไม่คุ้มกับความเสี่ยงเรื่องหนี้เสีย ขณะที่โครงการพักทรัพย์ พักหนี้ มองเป็นบวกมากกว่า เพราะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยวมีจำนวนมาก แต่คาดว่าจะมีคนเข้าร่วมโครงการไม่มากนัก เพราะอาจจะติดเรื่องสินทรัพย์ที่จะเข้าร่วมโครงการต้องเป็นสินทรัพย์ที่ดีมีคุณภาพ

อย่างไรก็ตาม โรงแรมขนาดใหญ่ได้รับความช่วยเหลือจากธนาคารอยู่แล้ว แต่สุดท้ายแล้วภาพรวมว่าจะสามารถช่วยให้กลุ่มธนาคารสามารถ freeze ลูกหนี้ที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยวบางส่วนที่เข้าโครงการนี้ได้ ซึ่งจะช่วยให้ธนาคารไม่มีภาระในการตั้งสำรองเพิ่มขึ้น และ NPL จะทรงตัว

คาดว่าหุ้นที่จะได้รับประโยชน์จากโครงการนี้มากที่สุดเรียงจากสัดส่วนสินเชื่อที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยวคือ KBANK (ซื้อ/เป้า 160.00 บาท) และ SCB (ถือ/เป้า 92.00 บาท) ขณะที่เรายังให้น้ำหนักกลุ่มธนาคารที่เป็น “มากกว่าตลาด” เลือก KBANK เป็น Top Pick


กำลังโหลดความคิดเห็น