นายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) เปิดเผยว่า ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดคงประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2564 และปี 2565 ที่ร้อยละ 2.4 และ 3.0 ตามลำดับ และหวังที่จะเห็นการฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยปัจจัยสำคัญที่อาจส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศคือผลจากมาตรการทางการคลังและการเงิน การกระจายการฉีดวัคซีนและการเปิดภาคการท่องเที่ยวของประเทศ อย่างไรก็ตาม จีดีพีในไตรมาสแรกน่าจะยังติดลบอยู่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันขอปีก่อน และเริ่มเป็นบวกได้ในช่วงไตรมาส 2 จากฐานที่ต่ำในปีก่อน และทยอยเพิ่มขึ้นในครึ่งปีหลังที่การท่องเที่ยวเริ่มกลับมาดีขึ้น
“การใช้นโยบายการคลังและนโยบายการเงินมีข้อจำกัดเนื่องจากหนี้สาธารณะใกล้แตะเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ในขณะที่โอกาสลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจมีอยู่ไม่มาก ประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2564 ของเรารวมคาดการณ์เงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำอันเนื่องมาจากความต้องการบริโภคลดลงและดุลบัญชีเดินสะพัดที่อยู่ในระดับเกินดุลไม่มากอันเนื่องมาจากความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวในภาคการท่องเที่ยว การนำเข้าที่ค่อยๆ สูงขึ้นและราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นเป็นความเสี่ยงที่มีผลต่อการคาดการณ์ดุลบัญชีเดินสะพัดของเรา นอกจากนี้ เราคาดว่าการเบิกจ่ายทางการคลังยังคงดำเนินไปอย่างช้าๆ”
นายทิม กล่าวอีกว่า ในกรณีหนี้สาธารณะที่เริ่มมีความกังวลว่ามีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าโควิด-19 ที่อยู่ในระดับ 40% มาเป็น 50% และคาดว่าน่าจะแตะ 60% ในปลายปีนี้นั้น มีข้อสังเกตว่าสัดส่วนการเพิ่มขึ้นของหนี้เมื่อเทียบกับจีดีพีที่ขยับตัวขึ้นนั่นถือว่าน้อย จึงต้องพิจารณาว่ามาตรการของรัฐที่ออกไปนั้นมประโยชน์ต่อเศรษฐกิจจริงหรือไม่ และเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ต้องติดตาม
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 จะดูมีความหวังมากขึ้น แต่ยังคงมีความไม่แน่นอนเนื่องจากยังมีการระบาดเป็นระลอกในเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ซึ่งส่งผลต่อการหดตัวของเศรษฐกิจในประเทศในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ความไม่แน่นอนของสถานการณ์โควิด-19 น่าจะยังคงบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจในระยะสั้นนี้ ขณะที่ประเทศไทยเริ่มมีการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในเดือนมีนาคม แต่จะช่วยผลักดันให้เกิดการเติบโตของเศรษฐกิจไทยหรือไม่ขึ้นอยู่กับความรวดเร็วของการได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึง และประสิทธิผลในการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัส
ด้านภาคท่องเที่ยวของไทยซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 15 ของจีดีพีประเทศ เป็นปัจจัยที่น่าจับตามองในไตรมาส 2 ของปีนี้ การผ่อนปรนมาตรการการกักตัวนักท่องเที่ยวที่ได้รับวัคซีนแล้วน่าจะช่วยฟื้นเศรษฐกิจ แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีความท้าทายที่ต้องติดตาม
“ความต้องการด้านการท่องเที่ยวน่าจะยังไม่มากในระยะใกล้นี้เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ยังคงเปราะบางทั่วโลก ในระยะกลางปริมาณผู้ให้บริการด้านการท่องเที่ยวอาจจะเป็นประเด็นที่ต้องตามดู เนื่องจากโรคระบาดในครั้งนี้ทำให้ธุรกิจโรงแรมหลายแห่งต้องปิดกิจการ นอกจากนี้ มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมมูลค่ารวม 3 แสนกว่าล้านบาทจากกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย น่าจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในไตรมาส 2 ของภาคท่องเที่ยวซึ่งเตรียมตัวที่จะกลับมาเริ่มเปิดอีกครั้ง”
ด้านการส่งออกซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 50 ของจีดีพีของประเทศกลับมาเติบโตในช่วงต้นปี 2564 โดยการส่งออกภาคยานยนต์ (ประมาณร้อยละ 13 ของการส่งออกทั้งหมด) เริ่มฟื้นตัว
ส่วนทิศทางเงินบาทจะแข็งค่าช้าลงจากดุลบัญชีเดินสะพัดปรับตัวลดลงในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาเนื่องจากการฟื้นตัวของภาคนำเข้าและความไม่แน่นอนในภาคการท่องเที่ยว ส่งผลให้ดุลบริการของไทยติดลบอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ดังนั้น ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดคาดว่าค่าเงินบาทจะผันผวนในระยะสั้น และคาดว่าค่าเงินบาทจะฟื้นตัวในปลายปี 2564 เนื่องจากภาคท่องเที่ยวค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นปลายปี เพื่อให้สอดคล้องกับการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่อาจต้องใช้เวลา โดยได้ปรับประมาณการค่าเงินบาทมาอยู่ที่ 31.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงกลางปี จากเดิมคาดไว้ที่ 29.75 บาท และคาดว่าจะอยู่ที่ 31.00 บาทในช่วงสิ้นปี จากเดิมคาดไว้ที่ 29.00 บาท
"ประมาณการจีดีพีของเรามองไว้ค่อนข้างต่ำอยู่แล้วเมื่อเทียบกับเฮาส์อื่น แม้ว่าตอนนี้เราจะมีโควิด-19 ระลอก 3 เข้ามา ก็คงจะขอรอดูสถานการณ์ก่อน แต่หากมี 4-5-6 เข้ามา ก็จะไม่รู้ว่าตอนนั้นจีดีพีจะไปอยู่จุดไหน ดังนั้น ขณะนี้ถือเป็นเรื่องที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดอยู่"