ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 24 มี.ค.64 ซึ่งคณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง
ทั้งนี้ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง แม้จะขยายตัวต่ำกว่าประมาณการเดิมบ้าง อย่างไรก็ตาม ฐานะทางการเงินที่เปราะบางของภาคเอกชนบางกลุ่ม โดยเฉพาะ SMEs และภาคครัวเรือนจะเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า จึงควรเน้นมาตรการช่วยเหลือที่ตรงกลุ่มเป้าหมายและสอดคล้องกับปัญหา โดยประเด็นสำคัญของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน ไม่ใช่ระดับอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลยังอยู่ในระดับต่ำ แต่โจทย์สำคัญคือการกระจายสภาพคล่องในระบบธนาคารที่อยู่ในระดับสูงไปสู่ธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบ จึงควรใช้มาตรการการเงินและสินเชื่อซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุด
"การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้ายังมีความไม่แน่นอนสูง คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในการประชุมครั้งนี้ และรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินที่มีจำกัด เพื่อใช้ในจังหวะที่เหมาะสมและเกิดประสิทธิผลสูงสุด" รายงาน กนง.ระบุ
คณะกรรมการฯ จะติดตามตลาดอัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด รวมทั้งพิจารณาความจำเป็นของการดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติมเพื่อไม่ให้อัตราแลกเปลี่ยนเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ นอกจากนี้ แม้คณะกรรมการฯ ประเมินว่าแรงกดดันค่าเงินบาทลดลงจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่ลดลงมากในปี 2564 แต่คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ผลักดันนโยบายการปรับ FX ecosystem อย่างต่อเนื่องเพื่อปรับโครงสร้างของตลาดอัตราแลกเปลี่ยนไทยซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด
คณะกรรมการฯ เห็นว่าความต่อเนื่องของมาตรการภาครัฐ และการประสานนโยบายระหว่างหน่วยงานภาครัฐ มีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะถัดไป โดยเห็นควรให้เร่งดำเนินมาตรการให้ความช่วยเหลือเพื่อฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ที่ออกมาเพิ่มเติม เพื่อช่วยกระจายสภาพคล่องไปสู่ผู้ได้รับผลกระทบอย่างตรงจุด ลดภาระหนี้ และสนับสนุนเศรษฐกิจช่วงฟื้นฟูในอนาคต
ทั้งนี้ นโยบายการเงินต้องผ่อนคลายต่อเนื่อง สถาบันการเงินควรเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้เกิดผลในวงกว้าง มาตรการการคลังต้องพยุงเศรษฐกิจโดยไม่ขาดช่วง โดยเฉพาะการเร่งอนุมัติและเบิกจ่ายภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ยังเหลือ นอกจากนี้ ภาครัฐควรร่วมกันผลักดันนโยบายปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ เพื่อปรับรูปแบบธุรกิจและยกระดับทักษะแรงงานให้สอดคล้องกับบริบทใหม่หลังโควิด-19 ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวอย่างยั่งยืน และยกระดับศักยภาพของเศรษฐกิจในระยะยาว
ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการฯ ยังคงให้น้ำหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ โดยจะติดตามสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ประสิทธิผลและการกระจายวัคซีน การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ความเปราะบางในตลาดแรงงาน รวมทั้งความต่อเนื่องและความเพียงพอของมาตรการภาครัฐในการดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้า โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น
คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง แม้จะได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ แต่ยังมีความไม่แน่นอนสูงในระยะข้างหน้า คณะกรรมการฯ ประเมินว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจากการระบาดระลอกใหม่ไม่รุนแรงเท่ากับการระบาดครั้งก่อน เนื่องจากภาครัฐดำเนินมาตรการควบคุมการระบาดที่ไม่เข้มงวดเท่ากับปีที่ผ่านมา และเร่งออกมาตรการการคลังเพิ่มเติมได้เร็ว
อย่างไรก็ดี คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ต่ำกว่าที่คาดไว้เดิม โดยขยายตัว 3.0% และ 4.7% ในปี 2564 และ 2565 ตามลำดับ โดยมีปัจจัยลบที่สำคัญ ได้แก่ (1) ข้อสมมติจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ปรับลดลงตามการทยอยเปิดประเทศของไทยที่ล่าช้ากว่าคาด รวมถึงนโยบายจำกัดการเดินทางของนักท่องเที่ยวในต่างประเทศที่เข้มงวดโดยเฉพาะจีน และ (2) การใช้จ่ายภาครัฐในปี 2565 ที่ปรับลดลงมากขึ้นตามงบประมาณปี 2565 ที่ลดลงตามประมาณการรายได้รัฐบาล และการโอนเงินบางส่วนภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงินฯ จากแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจเพื่อใช้ในแผนเยียวยาในปีนี้
อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังได้รับแรงสนับสนุนจากปัจจัยบวกที่สำคัญ ได้แก่ (1) การส่งออกสินค้าที่ฟื้นตัวตามแนวโน้มเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า และ (2) แรงกระตุ้นจากมาตรการภาครัฐที่ออกมาเพิ่มเติมในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 เพื่อเยียวยาผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ทั้งนี้ ดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2564 คาดว่าจะเกินดุลเพียงเล็กน้อย โดยลดลงมากมาอยู่ที่ 1.2 พันล้านดอลลาร์ สรอ. และจะปรับสูงขึ้นเป็น 25 พันล้านดอลลาร์ สรอ.ในปี 2565 ตามการฟื้นตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ
มองไปข้างหน้า ประมาณการเศรษฐกิจมีความเสี่ยงที่จะขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้จากหลายปัจจัย ได้แก่ (1) การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยที่อาจล่าช้าจากข้อจำกัดในการกระจายวัคซีนป้องกันโควิด-19 เช่น ความเพียงพอของวัคซีน ความกังวลของประชาชนในการฉีดวัคซีน และการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส (2) แรงกระตุ้นจากภาครัฐอาจน้อยกว่าคาด หากมีความล่าช้าในการอนุมัติโครงการภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงินฯ ที่เหลือ ซึ่งมีกำหนดสิ้นสุดลงในไตรมาสที่ 3 ปี 2564 (3) ฐานะทางการเงินของภาคธุรกิจที่อาจได้รับผลกระทบจนต้องปิดกิจการ ทำให้จำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น โดยธุรกิจและแรงงานจะกลับมาฟื้นตัวช้าแม้การระบาดสิ้นสุดลง (scarring effects) และ (4) การผิดนัดชำระหนี้ของภาคธุรกิจและครัวเรือนที่อาจสูงขึ้นมากภายหลังมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้สิ้นสุดลง
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2564 ปรับสูงขึ้นจากประมาณการเดิม และคาดว่าจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงกลางปี 2564 และจะอยู่ใกล้เคียงกับขอบล่างของกรอบเป้าหมายตลอดช่วงประมาณการ