นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย (ทีเอ็มบี) กล่าวถึงความคืบหน้าการกำหนดเงื่อนไขการทำ Asset Warehouseing หรือโกดังเก็บหนี้ว่า สมาคมธนาคารไทยได้มีการหารือกับธนาคารสมาชิกในกรณีดังกล่าว โดยเสนอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้เงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อให้ธนาคารสามารถปล่อยกู้ให้แก่ผู้ประกอบการเพื่อนำไปดำเนินธุรกิจต่อได้ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเช่นกัน เนื่องจากปัจจุบันธนาคารเองก็มีภาระต้นทุนเงินฝากที่จะต้องจ่ายให้แก่ลูกค้าเช่นกัน
ด้านกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ผู้ประกอบการนำมาโอนให้แก่ธนาคารนั้นจะกำหนดให้มีระยะเวลาในการซื้อได้ประมาณ 3-5 ปี ทำให้ Asset Warehouseing เป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการในกลุ่มโรงแรม และอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ค่อนข้างหนัก
"Asset Warehouseing คล้ายๆ กับการขายฝาก แต่ธนาคารมีภาระรับผิดชอบที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยให้ผู้ฝากเงิน ดังนั้น การที่จะให้เราปล่อยกู้ให้ผู้ประกอบการสูงๆ หรือไปคิดค่าเช่าในการบริหารสินทรัพย์สูงๆ โอกาสฟื้นตัวก็จะน้อย จึงต้องขอให้ทางแบงก์ชาติให้ซอฟต์โลนดอกเบี้ยต่ำแก่เราเพื่อผ่านให้ผู้ประกอบการได้ต่ำเช่นกัน ก็จะทำให้เขามีโอกาสที่จะมาซื้อสินทรัพย์ในอีก 3 หรือ 5 ปีข้างหน้ามีมากขึ้น เพราะธนาคารเองไม่ได้อยากได้ทรัพย์สินของเขาอยู่แล้ว"
ส่วนอีกข้อเสนอเป็นเรื่องของซอฟต์โลนที่จะมาปล่อยกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เช่นกัน ซึ่งเป็นการปรับปรุงจากเงื่อนไขเดิมที่ไม่เอื้อต่อการปล่อยกู้มากนัก ไม่ว่าจะเป็นวงเงินที่น้อยไป ระยะเวลา 2 ปี ที่ผู้ประกอบการอาจจะมองว่าสั้นไป และการรับประกันเงินกู้จากบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ในระดับปัจจุบันที่ 30% นั้นต่ำเกินไป ดังนั้น จึงเสนอแนวทางที่ยืดหยุ่นขึ้นเพื่อให้สามารถปล่อยกู้ได้มากขึ้นและทั่วถึงขึ้น
ทั้งนี้ แนวทางดังกล่าวได้นำเสนอต่อ ธปท.แล้ว ตามขั้นตอนจะต้องมีการหารือกับกระทรวงการคลัง และเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีต่อไป