xs
xsm
sm
md
lg

ดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุนร้อนแรงต่อเนื่อง หุ้นท่องเที่ยวฟื้นรับกระแสวัคซีน-เปิดเมือง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สภาธุรกิจตลาดทุนไทย” เผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนช่วงเดือน พ.ค.64 อยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง” ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ชี้จังหวะลงทุน “หุ้นท่องเที่ยว” คาดฟื้นตัวรับกระแสวัคซีน-เปิดเมือง “ไพบูลย์” ชี้ปี 64 เป็นปีของหุ้น Old Economy

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในเดือน ก.พ.2564 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (เดือน พ.ค.64) อยู่ที่ระดับ 152.19 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้น14.8% จากเดือนก่อนหน้า อยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง” (Bullish) ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยความเชื่อมั่นของกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น 10% เช่นเดียวกับกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 46.7% ในขณะที่ความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนบุคคล ปรับตัวลดลง 2.3% เช่นเดียวกับกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ ปรับตัวลดลง 8.6% เนื่องจากโฟกัสการลงทุนระยะสั้นๆ เพราะกลัวความผันผวน

ปัจจัยหลักที่ยังสร้างความเชื่อมั่นได้ดีคือ คาดหวังการคลี่คลายสถานการณ์โควิด-19 จากการที่ไทยได้เริ่มฉีดวัคซีน “ซิโนแว็คซ์” ล็อตแรกกันไปแล้ว และรัฐบาลเพิ่งผ่านงบประมาณที่จะจัดสรรวัคซีนล็อตต่อไปอีก 30 ล้านโดส รวมถึงจำนวนผู้ติดเชื้อระลอกใหม่เริ่มมีอัตราลดลงต่อเนื่อง และสถานการณ์เริ่มจะกลับสู่ภาวะปกติแล้วเกือบทั่วประเทศ และเงินทุนต่างชาติจะเริ่มไหลกลับเข้ามาไทยมากขึ้น

“ช่วงนี้นักลงทุนเริ่มกลับมาสนใจลงทุนในหุ้นการท่องเที่ยวและสันทนาการ (TOURISM) มากที่สุดเป็นครั้งแรก เพราะหุ้นท่องเที่ยวทั่วโลกเริ่มฟื้นตัวกลับมา โดยเฉพาะบริษัทท่องเที่ยวที่ไม่มีปัญหาทางด้านการเงิน มีสายป่านยาว ราคาหุ้นจะเริ่มขึ้นมา และปีนี้หุ้น Old Economy จะมีประสิทธิภาพ (Outperform) กว่าหุ้น New Economy จากก่อนหน้านี้ปรับตัวขึ้นไปมากแล้ว เช่น หุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ในแง่ที่มูลค่ายัง Underperform อยู่ค่อนข้างมาก รวมไปถึงหุ้นกลุ่มพลังงาน”

ส่วนปัจจัยที่ยังดูน่าเป็นห่วงคือ หากสถานการณ์การเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ ประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนช้า วัคซีนล็อตต่อไปมาไม่ได้ตามแผน หรือแผนการเปิดเมืองล่าช้าไปมาก

นอกจากนี้ ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯ  ที่อาจจะโตมากกว่าที่คาด หลังจาก “โจ ไบเดน” พยายามจะผ่านงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่วงเงิน 1.9 ล้านล้านเหรียญ ทำให้อัตราเงินเฟ้ออาจจะมาเร็วเกินคาด ส่งผลให้ช่วงนี้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (บอนด์ยิลด์) ดีดตัวขึ้นไปรวดเร็วกว่าที่คาด ซึ่งอาจจะกดดันธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ต้องปรับลดการทำ QE (มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ) และอาจทำให้เงินไหลออกจากตลาดหุ้นเกิดใหม่ (EM) ได้

“คาดการณ์กันว่าเงินเฟ้อสหรัฐฯ จะขึ้นมาเกิน 2-2.5% ในบางช่วง ซึ่งเป็นระดับที่น่ากังวล แต่คาดว่าเฟดคงไม่รีบร้อนลดวงเงิน การทำ QE และไม่รีบร้อนจะขึ้นดอกเบี้ย ดังนั้น เชื่อว่าน่าจะเป็นความกดดันในระยะสั้น”

นายไพบูลย์ กล่าวต่อว่า หากสถานการณ์บอนด์ยิลด์นิ่งจะทำให้เงินทุน (ฟันด์โฟลว์) ไหลกลับแข้ามาในตลาดหุ้น EM และตลาดหุ้นไทย โดยเชื่อว่าเงินจะไม่ไหลออกเหมือนช่วงปี 2556 ที่กว่า 2 แสนล้านบาท หรือช่วง 2-3 เดือนสุดท้ายปี 63 ที่ไหลออกไปกว่า 3 แสนล้านบาท เพราะสภาพเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศ EM ฟื้นตัวดีขึ้นพอสมควรกว่า 70-80% เมื่อเทียบกับรอบก่อนที่ประเทศส่วนใหญ่ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด

ส่วนภาพเศรษฐกิจไทยปี 64 อาจจะเป็นเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวต่ำที่สุดในอาเซียน และเป็นประเทศที่จะโตค่อนข้างต่ำกว่าศักยภาพ แม้ว่าฐานปีที่แล้วจะต่ำมาก แต่ด้วยความที่ไทยเป็นประเทศที่พึ่งพาภาคส่งออกและท่องเที่ยว จึงยังถูกกดดันทำให้ฟื้นตัวได้ช้าอยู่


กำลังโหลดความคิดเห็น