สำนักข่าวตลาดหลักทรัพย์แทบทุกแขนง รายงานการขาย “บิ๊กล็อต” หรือการขายหุ้นรายใหญ่ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC ของ นายมงคล ประกิตชัยวัฒนา ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 เพราะเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก
นายมงคล แจ้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยระบุว่า เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้จำหน่ายหุ้น KTC จำนวน 4,8674% ของทุนจดทะเบียน และเหลือหุ้นที่ถือครองอยู่อีก 10.2542% ของทุนจดทะเบียน
หุ้นที่จำหน่ายออกจำหน่ายผ่านรายการบิ๊กล็อตให้กองทุนต่างประเทศที่มีการติดต่อขอซื้อเข้ามา
นายมงคล ทยอยซื้อหุ้น KTC ระหว่างปี 2556-2556 ในราคาต้นทุนเฉลี่ยประมาณ 30 บาท จากราคาพาร์ 10 บาท แต่เมื่อมีการแตกพาร์เหลือ 1 บาท จึงมีต้นทุนเฉลี่ยเพียงหุ้นละ 3 บาท โดยถือหุ้นในสัดส่วนสูงกว่า 15% ของทุนจดทะเบียน
และเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 รองจากธนาคารกรุงไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีการขายหุ้นออกและซื้อกลับเข้าบ้างในบางโอกาส แต่จำนวนหุ้นที่ขายหรือซื้อกลับมีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
คำนวณจำนวนหุ้น KTC ที่ถือกว่า 388 ล้านหุ้น นายมงคล จะมีกำไรกว่า 20,000 ล้านบาท และเป็นนักลงทุนในตลาดหุ้นที่ร่ำรวยจากการลงทุนมากที่สุด
การขายหุ้นของนายมงคล ครั้งนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อความเคลื่อนไหวหุ้น KTC ในกระดานเพราะขายให้กองทุนต่างประเทศ แต่หุ้นจำนวนเกือบ 5% ของทุนจดทะเบียน ถ้าขายออกในกระดานราคาหุ้นคงจะรูดแรง
อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้น KTC ปรับตัวลงหลายวันติดต่อ นับตั้งแต่วันที่นายมงคล ทำรายการบิ๊กล็อต
ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้น KTC แกว่งตัวในกรอบที่กว้างมาก โดยในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เมื่อต้นปี 2563 ราคาหุ้นเคยทรุดลงไปเหลือเพียง 23.30 บาท ก่อนจะกระเตื้องขึ้น และขึ้นไปสูงสุดที่ 90.25 บาท เมื่อวันที่ 11 มกราคมที่ผ่านมา ก่อนจะปรับฐานลงเรื่อยมา
ผลประกอบการ KTC เติบโตต่อเนื่อง แต่ปี 2563 ถูกผลกระทบจาก “โควิด-19” ทำให้กำไรลดลงเล็กน้อย โดยมีกำไรสุทธิ 5,332.87 ล้านบาท ลดลงจากปี 2562 ที่มีกำไรสุทธิ 5,524.07 ล้านบาท
ค่าพี/อี เรโช KTC อยู่ที่ 31 เท่า อัตราเงินปันผลตอบแทน 1.36% โดยนักลงทุนมักซื้อเพื่อถือลงทุนระยะยาว และนายมงคลกลายเป็นนักลงทุนต้นแบบ เพราะถือหุ้นตัวนี้จนร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐี ขณะที่ นายสถาพร งามเรืองพงศ์ นักลงทุนรายใหญ่เจ้าของฉายา “เซียนฮง” เข้ามาถือหุ้น KTC ตาม และเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 3 ถือหุ้นในสัดส่วน 4.98%
หุ้นที่นายมงคล ขายออกในสัดส่วน 4.8674% ราคากว่า 60 บาท ทำให้สามารถถอนเงินทุนกว่า 1 พันล้านบาทคืนทั้งหมด แถมยังมีกำไรไม่ต่ำกว่า 6 พันล้านบาท และหุ้นที่ถืออยู่อีกกว่า 10% ของทุนจดทะเบียนจึงเป็นหุ้นที่ไม่มีต้นทุน ขายราคาไหนก็มีกำไร แต่ไม่ได้หมายความว่า นายมงคล จะเทขาย KTC ออกมาอีกในอนาคตอันใกล้
เพราะนายมงคล ไม่น่าจะมีความจำเป็นใดๆ ที่ต้องใช้เงิน
การตัดหุ้น 4.86% ขายอาจเป็นเพราะได้รับเงื่อนไขที่ดี และการขายหุ้นให้กองทุนต่างชาติจะไม่ส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นในกระดาน และอาจสร้างภาพลักษณ์ที่ดีกับหุ้น KTC อีกด้วย เพราะการที่กองทุนต่างชาติสนใจเข้ามาถือหุ้นจะกระตุ้นความเชื่อมั่นในหุ้น KTC
อย่างก็ตาม ค่าพี/อี เรโช ที่พุ่งทะลุ 31 เท่า สูงมากเมื่อเทียบกับค่าพี/อี เรโช ในอดีต และการแข่งขันในสินเชื่อบุคคลก็รุนแรงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้ผลประกอบการบริษัทไม่สดใสเหมือนอดีต
ราคาหุ้น KTC เริ่มเดินหน้าต่อไม่ไหวแล้ว ย่ำฐานแถว 60 บาทเศษมาพักใหญ่ จะเข้าซื้อต้องถือยาวจริงๆ และอย่าหวังรวยหลายสิบเด้งเหมือนนายมงคล ประกิตชัยวัฒนา