xs
xsm
sm
md
lg

โควิด-19 ระลอกใหม่ซ้ำบาดแผลอสังหาฯ มูลค่าโอนติดลบ แบงก์ตั้งเงื่อนไขพรีเซลโปรเจกต์เกินครึ่งปล่อยกู้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เศรษฐกิจไทยในปี 2564 ยังคงถูกผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในปีที่ผ่านมา และการระบาดซ้ำระลอกใหม่ได้เข้ามาซ้ำเติมให้เศรษฐกิจไทยและภาคธุรกิจต่างๆ เกิดบาดแผลมากขึ้น ซึ่งโดยรวมแล้ว ธุรกิจและอุตสาหกรรม โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและบริการ หนึ่งในเครื่องจักรที่มีส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยต้องดับลง ประชาชนระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอย เก็บเงินสด เพื่อรับมือเหตุเลวร้าย การลดเงินเดือน ปรับลดเวลาการทำงาน และการปิดกิจการลง และแม้ว่ารัฐบาลจะพยายาม "อัดฉีดเงิน" เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ กระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ ก็ยังเป็นแค่การรักษาและประคองสถานการณ์ไม่ให้ทรุดลงไปมากกว่า เนื่องจากประเทศไทยไม่ใช่ประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ จำเป็นต้องพึ่งการการท่องเที่ยวและบริการ และการลงทุนจากต่างประเทศ

และก็เป็นไปตามคาด ตัวเลขทางเศรษฐกิจในปี 63 หดตัว -6.1% (YOY) ต่ำสุดในรอบ 22 ปีนับจากวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ซึ่งในปี 64 เชื่อมั่นได้เลยว่า เศรษฐกิจจะฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยมีข้อจำกัดในเรื่องของภาคการท่องเที่ยวที่ยังไม่ฟื้นตัว แม้ว่าจะมีความชัดเจนและจะเริ่มมีการฉีดวัคซีน (ตามแผนของรัฐบาลจะเริ่มในครึ่งแรกของปี 64) ทั้งนี้ ทั้งภาครัฐและเอกชนคาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้ มีแนวโน้มขยายตัวที่ 2.9%

สำหรับในภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เซกเตอร์ที่มีการเกี่ยวโยงกับซัปพลายเชนในหลากหลายธุรกิจอยู่ในภาวะชะลอตัวลงมาต่อเนื่องหลายปี ซึ่งแน่นอนโควิด-19 ที่เกิดขึ้น เปรียบเสมือน "คลื่นยักษ์สึนามิ" ที่ถล่มเข้าหาผู้ประกอบการ และลูกค้าอย่างไม่สามารถตั้งตัวได้ทัน ส่งผลให้ตลอดทั้งปี 63 ตลาดอสังหาฯ หดตัวอย่างรุนแรง ผู้ประกอบการหลายแห่งต้องเน้นหนักระบายสต๊อกโครงการที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะในกลุ่มของคอนโดมิเนียมที่มีซัปพลายคงค้างอยู่ในตลาดหลายแสนหน่วย


ปัจจัยเสี่ยงปี 63 ภาพหลอนถึงปี 64

ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ได้ฉายภาพตลาดที่อยู่อาศัยในปี 63 และแนวโน้มปี 64 จะมีทิศทางใด เมื่อประเทศไทยยังต้องประสบกับโควิด-19 ว่า มีปัจจัยในเชิงบวกและลบ ที่มีผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจและต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งปัจจัยบวก (Positive) ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำตลอดปี 64 การต่ออายุมาตรการลดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมอีก 1 ปี การลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเหลือ 10% ต่อไปอีก 1 ปี และเลื่อนการประกาศใช้ราคาประเมินที่ดินใหม่ไปในปี 2565 ตัวผู้ประกอบการจัดโปรโมชันกระตุ้นการขาย ราคาที่ดินปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง และมีการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชน ในหลายๆ ประเทศ ทำให้มีความหวังที่จะยับยั้งการแพร่ระบาดได้

ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบ (Negative) คงจะเป็นเรื่องการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ล่าช้า ความไม่มั่นใจในประสิทธิภาพของวัคซีน รวมถึงมีการล็อกดาวน์ธุรกิจบางประเภท เศรษฐกิจดีขึ้น แต่การฟื้นตัวของธุรกิจกลับมาช้า กระทบการจ้างแรงงานกลับเข้ามาในระบบ และกระทบกำลังซื้อที่อยู่อาศัยโดยรวม นักท่องเที่ยวยังไม่สามารถเข้าประเทศได้ กระทบกำลังซื้อห้องชุดต่างด้าว ซึ่งหน่วยงานภาครัฐประเมินว่า ปีนี้ตัวเลขนักท่องเที่ยวกลายเป็นศูนย์ หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น ความเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อของธนาคาร และปัญหาขาดแคลนแรงงาน

ตลาดบ้านหรูโหมทำโปรโมชันระบายสต๊อก

สำหรับสถานการณ์และทิศทางตลาดอสังหาฯ ในปี 2563 พบเห็นความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ กล่าวคือ หน่วยโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยติดลบเกือบทุกเดือน โดยเฉพาะช่วงเดือน มี.ค.-มิ.ย.มีสัดส่วนติดลบต่อเนื่องค่อนข้างมาก ซึ่งมูลค่าการโอนจะแตกต่างกันในแต่ช่วงเดือน กล่าวคือ ไตรมาส 3 (ก.ค.-ก.ย) ถึงเดือน ต.ค.และ พ.ย. ปี 63 แม้ว่าหน่วยโอนมีการหดตัวลง แต่มูลค่ากลับขยายตัวเพิ่มขึ้น สะท้อนให้เห็นผลจากการทำโปรโมชัน และมีการโอนบ้านกลุ่มราคาแพง โดยในช่วงเดือน ธ.ค.ตัวเลขการโอนเยอะ สะท้อนว่า บ้านไม่เกิน 3 ล้านบาท มีการโอนมากในช่วงนี้ ซึ่งมูลค่าการโอนสูงที่สุดถึง 100,609 ล้านบาท ลดลง -11.5% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 62 (มูลค่า 113,646 ล้านบาท)

ทั้งนี้ หากลงรายละเอียดกลุ่มราคาโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยแนวราบทั่วประเทศในปี 63 พบว่า ตลาดที่อยู่อาศัยแนวราบราคาต่ำกว่า 2 ล้านบาทลงมา โดยภาพรวมมีสัดส่วนติดลบ ขณะที่ราคาในกลุ่ม 2-3 ล้านบาท เป็นกลุ่มที่มีซัปพลายเยอะและมีความต้องการซื้อจำนวนมาก มีอัตราการเติบโตซึ่งได้รับอานิสงส์จากมาตรการรัฐค่อนข้างชัด

ขณะที่กลุ่มที่ไม่ได้รับผลจากมาตรการรัฐ คือ บ้านแนวราบตั้งแต่ 3 ล้านบาทขึ้นไป จนถึงกลุ่มราคาบ้านระดับ 10 ล้านบาท (เป็นที่สังเกตว่า ผู้ประกอบการมีการจัดโปรโมชันอย่างชัดเจน เพียงแต่ในบางกลุ่มราคาที่อยู่อาศัยแนวราบจัดส่งเสริมการขายในแต่ละเดือนที่ต่างกัน เช่น กลุ่มแนวราบระดับราคา 7.51-10 ล้านบาท จะโปรโมชันระหว่างเดือน พ.ค.-ต.ค. แต่ราคาเกิน 10 ล้านบาท มีการกระตุ้นยอดขายช่วงเดือน พ.ค.-ต.ค.เช่นกัน

ส่วนตลาดคอนโดฯ เป็นเซกเตอร์ที่ถูกผลกระทบมาตั้งแต่ปี 2562 ต่อเนื่องถึงปี 63 ซึ่งกลุ่มนี้อาจจะมีเรื่องของมาตรการรัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น มาตรการ LTV ความไม่มั่นใจของผู้บริโภคในด้านกำลังซื้อ ทำให้ผู้ซื้อมีการชะลอการซื้อ และปรับพอร์ตการลงทุน ซึ่งสอดคล้องกับที่ผู้ประกอบการต้องโหมจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง


อานิสงส์โอนบ้านแพง หนุนตลาดรวมติดลบน้อย

โดยหน่วยโอนที่อยู่อาศัยทั่วประเทศปี 63 พิจารณารายไตรมาสติดลบทุกไตรมาส โดยเฉพาะไตรมาส 4 ลดลง -12.8% ส่งผลให้ยอดโอนตลอดทั้งปีมีจำนวน 358,496 หน่วย ลดลงจากปี 62 ประมาณ -8.5% ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ย (AVG.) 3 ปี ที่มียอดโอน 381,407 หน่วย ซึ่งแนวราบลดลง -10% หรือมียอดโอน 236,158 หน่วย อาคารชุดลดลง -5.5% อยู่ที่ 128,338 หน่วย จะเห็นได้ว่าตั้งแต่ปี 61-62 ยอดโอนแนวราบต่อปีจะไม่ต่ำกว่า 260,000 หน่วย ยกเว้นในปี 63 ที่ลดลงและต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่ 252,921 หน่วย เช่นเดียวกับคอนโดมิเนียม พบว่า ปี 62 ต่อเนื่องถึงปี 63 ยอดโอนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่ 128,486 หน่วย สิ่งที่น่าสนใจ หากพิจารณาเป็นรายไตรมาสจะเห็นได้ว่า ช่วงไตรมาส 3 และ 4 ของปี 63 ยอดโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยสูงขึ้นมากอยู่ระดับ 93,829 และ 96,042 หน่วย (ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 95,352 หน่วย) ตามลำดับ เป็นผลต่อเนื่องจากการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย เพื่อเพิ่มยอดขายและระบายสต๊อกคงค้างออกไป เพิ่มกระแสเงินสดเข้ามาสู่ธุรกิจให้มากที่สุด

ในฟากของมูลค่าการโอน ปีที่ผ่านมามีสูงถึง 928,376 ล้านบาท ลดลงจากปี 62 ไม่มากเพียง -0.3% แต่ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่มีมูลค่าอยู่ที่ 931,473 ล้านบาท มูลค่าแนวราบโอนเพิ่มขึ้น 2.2% มามีมูลค่าสูงถึง 616,939 ล้านบาท มากกว่าปี 61-62 และยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยที่ 601,347 ล้านบาท ส่วนคอนโดมิเนียมเทียบกับปี 62 ลดลง -4.7% แต่เมื่อเทียบกับปี 61 ลดลง -11.5% อย่างไรก็ตาม แม้ว่าไตรมาสแรกปี 63 มูลค่าการโอนจะลดลง - 7.3% แต่ไตรมาส 2 และไตรมาส 3 กลับมีมูลค่าเพิ่มขึ้นมากถึง 5.1% และ 9% ซึ่งน่าจะเป็นแรงจากการทำโปรโมชันในบ้านราคาค่อนข้างสูงจึงทำให้มูลค่าโอนเพิ่มขึ้น ทั้งที่หน่วยโอนติดลบ โดยในไตรมาสสุดท้ายของปี 63 มูลค่าโอนสูงถึง 250,000 ล้านบาท ล้านบาท ปรับตัวดีขึ้นจากการเร่งโอนและการเร่งยอดปลายเดือนและรับมาตรการ แต่ก็พบว่าทั้งปีติดลบ

สำหรับตัวเลขของหน่วยที่อยู่อาศัยเปิดตัวใหม่ในปีที่ผ่านมา เป็นไปตามภาวะตลาดและผู้ประกอบการระมัดระวังในการลงทุน ประกอบกับนโยบายของแต่ละบริษัทอสังหาฯ มุ่งเน้นเร่งการขาย โครงการบางแห่งชะลอเปิดโครงการหรือเลื่อนมาเปิดในปี 2564 แทน เพื่อลดความเสี่ยงในด้านการลงทุนที่มากเกินไป

ส่งผลให้ปี 63 เปิดตัวใหม่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล (Supply Side) มีจำนวน 62,227 หน่วย ลดลง -36.7% ซึ่้งในปี 63 ถือว่าผู้ประกอบการเปิดตัวที่อยู่อาศัยใหม่ต่ำสุดในรอบ 10 ปี สัดส่วนการเปิดตัวใหม่เริ่มเปลี่ยนไปจากเดิม กล่าวคือ ย้อนหลังไป 6 ปี (ปี 2557-2562) จากอาคารชุดจะมากกว่าบ้านจัดสรร แต่ในปี 63 สัดส่วนเปิดตัวใหม่ บ้านจัดสรรมากกว่าอาคารชุดเท่ากับ 57.4 : 42.6 และคาดว่าสัดส่วนบ้านจัดสรรจะเพิ่มขึ้นอีกในปี 64 ซึ่งเป็นตลาดเรียลดีมานด์ที่จะเกิดขึ้น

ทั้งนี้ สถานการณ์บ้านจัดสรรเปิดใหม่ปี 63 มีจำนวนหน่วย 35,702 หน่วย ลดลง -17.9% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 3 ปี ที่ 41,121 หน่วย

ส่วนอาคารชุดค่อนข้างหดตัวอย่างมาก กล่าวคือ ปี 63 มีจำนวน 26,526 หน่วย ลดลงมากถึง -51.6% ถือว่าผู้ประกอบการเปิดตัวอาคารชุดต่ำกที่สุดในรอบ 10 ปี แต่หากไปเทียบกับปี 61 แล้ว หน่วยเปิดตัวใหม่อาคารชุดปี 63 ลดลง -65.6%

ดร.วิชัย กล่าวว่า ผลจากการที่ผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาฯ ลดการเพิ่มขึ้นของอุปทานใหม่เข้าสู่ตลาดในปีที่ผ่านมา เพื่อให้ที่อยู่อาศัยรอการขายถูกดูดซับออกไปจากระบบ คาดการณ์ได้ว่าในปี 2564 ตลาดจะปรับตัวให้มีสินค้าใหม่เข้ามาเพิ่มมากขึ้น ทดแทนสินค้าที่ถูกดูดซับไป โดยคาดการณ์ว่าในปี 2564 จะมีการเปิดตัวใหม่ จำนวน 82,594 หน่วย เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา +32.7 และคาดว่าผู้ประกอบการยังจะลงทุนในบ้านจัดสรรมากกว่าอาคารชุด คาดบ้านจัดสรรจะมีการเปิดตัวใหม่ในปีนี้เพิ่มขึ้น +22.5% หรือมีจำนวนหน่วยประมาณ 43,732 หน่วย (ค่าเฉลี่ย 3 ปีอยู่ที่ 41,121 หน่วย)

ส่วนโครงการอาคารชุดเปิดตัวใหม่ ปี 2564 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากปี 2563 ร้อยละ +46.5 สัดส่วนอาจจะดูเพิ่มขึ้นมากแต่เป็นการเพิ่มขึ้นจากฐานที่ต่ำมากจากปี 2563 หรือมีจำนวนหน่วยประมาณ 38,862 หน่วย (ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 52,861 หน่วย และยังมีหน่วยเปิดใหม่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับปี 62-61)


สำรวจตลาดอสังหาฯ ปี 64 กำลังซื้อเริ่มแผ่ว
หน่วยโอน-มูลค่าเริ่มสะดุด โควิด-19 ระลอกใหม่ซ้ำ!


ดร.วิชัย กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ในปี 64 พบว่า ในไตรมาสแรกเกิดการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่น่าจะส่งผลให้ตัวเลขยอดโอนลดลง -10.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 62 แต่ไตรมาส 2 แม้จะยังชะลอตัวอยู่ น่าจะมีการโอนมากกว่าไตรมาส 2 ของปี 63 ถึง 7.5% ทั้งนี้ โดยภาพรวมตลอดทั้งปี 64 หน่วยโอนกรรมสิทธิ์ทั่วประเทศประมาณ 353,236 หน่วย จะลดลงเล็กน้อย -1.5 แต่หากเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นก็อาจทำให้ตัวเลขยอดโอนกลับมาเป็นบวกได้ที่ 8.4%

ซึ่งการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยแนวราบจะลดลงเพียงเล็กน้อย หรือประมาณ -0.1% หรือมีหน่วยโอน 236,013 หน่วย ในขณะที่อาคารชุดจะลดลง -4.2% หรือมีซัปพลายถูกดูดซับไป 117,223 หน่วย

ด้านมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์คาดว่าปี 2564 จะมีมูลค่าโอนกรรมสิทธิ์ประมาณ 876,121 ล้านบาท ลงจาก -5.6 % เป็นผลมาจากผู้ประกอบการออกโครงการในระดับราคาที่ถูกลง เพื่อรองรับกับกำลังซื้อของผู้บริโภค โดยมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยแนวราบจะลดลง -7.7% ขณะที่คาดว่ามูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์อาคารชุดจะลดลง -1.4%

อนึ่ง สินค้าคงเหลือที่คาดกาณ์ในครึ่งหลังปี 64 จะอยู่ที่ 300,000 หน่วย มูลค่าประมาณ 1 ล้านล้านบาท เฉลี่ย 3 ล้านบาทต่อหน่วย

ไม่ใช่ยุคทอง 'คอนโดฯ ต่างชาติ!' ต้องหวังพึ่งกำลังซื้อกลุ่มคนไทย

สำหรับสถานการณ์ตลาดคอนโดฯ ในกลุ่มของกำลังซื้อต่างด้าวทั่วประเทศ ทางศูนย์ข้อมูลฯ ระบุว่า กำลังซื้อตกลงตั้งแต่เดือน ม.ค.ในปี 63 และดิ่้งต่ำสุดในเดือน เม.ย.-พ.ค. ลดลง -66.4% และ -66.6% ตามลำดับ ก่อนขยับ และมาขยายตัวในเดือน ต.ค.63 เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 7.2% ส่งผลให้ตัวเลขการโอนกรรมสิทธิ์อาคารชุดคนต่างด้าวทั่วประเทศในปี 63 มีจำนวน 8,258 หน่วย ลดลง -35.5% และคาดว่าปี 64 หน่วยโอนอาจจะไม่ถึงระดับ 8,000 หน่วย และมีสัดส่วนต่อภาพรวมทั้งหมดลดลงเหลือเพียง 6.8% จากเดิมที่เคยมีสัดส่วนประมาณ 10% อย่างไรก็ตาม หลังจากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลายในประเทศจีน การโอนเริ่มทยอยปรับตัวดีขึ้น แต่น่าจะเป็นยอดการโอนจากแบ็กล็อกของคนต่างชาติ แต่ที่เกิดขึ้นใหม่อาจจะไม่ทำให้ยอดโอนในกลุ่มนี้เพิ่มมากนัก

มูลค่าการโอนปีที่ผ่านมามีมูลค่า 37,716 ล้านบาท ลดลงถึง -25.5% และมีสัดส่วนลดลงเหลือ 12.1% จากเดิมที่เคยมีสัดส่วนประมาณ 16% "จากสถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบัน ทำให้ทิศทางที่ตลาดลูกค้าต่างชาติยังมีข้อจำกัดมาก และอาจไม่สามารถหวังยอดขายจากลูกค้าต่างชาติมากนัก จึงอาจะสรุปได้ว่า ตลาดอาคารชุดไทยคงหวังพึ่งลูกค้าต่างชาติยาก อย่างไรก็ตาม ต้องดูว่าภาครัฐและเอกชนจะเป็นอย่างไร การมีอีลิด-การ์ดจะมีผลต่อตลาดอสังหาฯ ในกลุ่มลูกค้าต่างชาติหรือไม่"

อนึ่ง ค่าเฉลี่ยช่วง 3 ปีที่ผ่านมา พบว่า 5 อันดับของคนต่างด้าวที่ซื้อคอนโดฯ ในไทย ได้แก่ จีน (คิดเป็นสัดส่วน 58%) ระดับราคาที่โอนมากที่สุดเฉลี่ย 3 ล้านบาท (เดิมเคยโอนแพงกว่านี้) รัสเซีย (5%) ฝรั่งเศส (3%) อังกฤษ (2%) และญี่ปุ่น (2%) และช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2561-2563) มีมูลค่าประมาณ 145,000 กว่าล้านบาท


แบงก์รัฐออกแรงเต็มที่ปล่อยสินเชื่อรายย่อย

ขณะที่สถานการณ์สินเชื่อที่อยู่อาศัยยังคงมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง โดยในปี 2563 มูลค่าสินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคลปล่อยใหม่ทั่วประเทศ มีมูลค่า 612,084 ล้านบาท ลดลงจากปี 2562 ที่ -4.4%

และคาดว่าปี 2564 จะมีมูลค่าสินเชื่อที่อยู่อาศัยประมาณ 595,141 หรือ 600,000 ล้านบาท จะลดลงจากปี 63 ที่ -2.8% เนื่องจากสถาบันการเงินเข้มงวด ลูกค้ายังไม่มีกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น ขณะที่กลยุทธ์เรื่องรีไฟแนนซ์สินเชื่อยังเป็นปัจจัยที่ทำให้การปล่อยสินเชื่อใหม่เพิ่มขึ้น

"เราต้องมองว่าหากเศรษฐกิจไม่ดี ยอดขายของบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์อาจจะต้องชะลอการเปิดโครงการ ซึ่งเรื่องของสภาพคล่องอาจจะไม่ใช่เป็นประเด็นสำคัญ เพราะสามารถใช้เครื่องมือทางการเงินในระดมทุนได้ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องมองกันอย่างใกล้ชิด คือ สถาบันการเงินยังคงเข้มงวดปล่อยสินเชื่อ มีการกำหนดการปล่อยสินเชื่อหากโครงการมียอดขายเกินครึ่งหนึ่ง แต่เมื่อการปฏิเสธสินเชื่อสูงขึ้น ผู้ประกอบการต้องทำรอบการขายมากว่า 2-3 ครั้ง ซึ่งใช้เวลาการขายและโอนที่นานมากกว่า 1 ปี ถึงกระนั้น ปัจจุบันสินเชื่อจากธนาคารรัฐได้เข้ามาสนับสนุนสินเชื่อรายย่อยอย่างเต็มที่ โดยธนาคารอาคารสงเคราะห์ มีสัดส่วนเพิ่มเป็น 40% (เดิม 39%) ออมสิน 10%"

ต้นทุนที่ดินสูงกระทบบ้านใหม่ ราคาเริ่มสูงขึ้น

สำหรับดัชนีราคาบ้านจัดสรรในปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 128.1 ถึงแม้ราคาจะเริ่มลดในไตรมาส 2 ปี 2563 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า แต่ในภาพรวมทั้งปี 63 ยังคงเพิ่มขึ้นจากปี 62 ประมาณ 1.3% แต่เป็นการเพิ่มขึ้นที่ชะลอตัวลง และคาดว่าในปี 64 ราคาจะลดลงมาเล็กน้อย -0.7%

ส่วนดัชนีราคาห้องชุดอยู่ที่ 152.9 แม้ราคาจะเริ่มลดในไตรมาสแรกปี 63 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า แต่ภาพรวมทั้งปี 63 ยังคงเพิ่มขึ้น 1.3% คาดว่าในปี 2564 ราคาจะลดลงเพียงเล็กน้อย -1.8% สาเหตุมาจากราคาต้นทุนของราคาที่ดินที่มีราคาสูงขึ้น

ซึ่งสอดคล้องกับดัชนีราคาที่ดินที่ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปีที่ผ่านมาดัชนีราคาที่ดินอยู่ที่ 311.5 เพิ่มขึ้น 26.3% และเป็นเทรนด์ขาขึ้น คาดว่าในปี 64 ดัชนีราคายังคงเพิ่มขึ้น แต่เป็นอัตราการเพิ่มขึ้นที่ชะลอตัวลงอยู่ที่ 6.5% จากปี 63
กำลังโหลดความคิดเห็น