xs
xsm
sm
md
lg

ครม.เยียวยาโควิดลดภาษี-ค่าโอน-ประกันสังคม-ไม่มีมือถือเปิดแจ้ง15ก.พ.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ผู้จัดการรายวัน 360 - ครม. อนุมัติปรับลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคมตาม ม. 33 เหลือ 0.5% และม.39 ลดเหลือ 38 บาท เป็นเวลา 2 เดือน ช่วยแบ่งเบาภาระผู้ประกันตน 12.9 ล้านคน คาดกระทบการจัดเก็บเงินสมทบ 7,166 ล้านบาท คลังขยายเวลาลดภาษีที่ดิน-สิ่งปลูกสร้างเหลือ 10% ลดค่าธรรมเนียมการโอนฯและจดจำนองเหลือ 0.01% อีก 1 ปี รมว.คลัง พร้อมยืดเวลาชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เฉพาะยื่นผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ออกไปอีก 3 เดือน เตรียมเปิดให้คนไม่มีสมาร์ทโฟน ลงทะเบียนรับเงิน "เราชนะ" 7,000 บาท ผ่านออมสิน-ธ.ก.ส.- กรุงไทย 15 ก.พ.นี้ ลุ้นรับบัตรสแกนใช้จ่าย พร้อมบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวกว่า 2.3 ล้านคนช่วงโควิดระลอกใหม่

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ครม.)ว่า ครม.เห็นชอบการปรับลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม เป็นระยะเวลา 2 เดือน ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์- มีนาคม 2564 โดยลดอัตราเงินสมทบฝ่ายผู้ประกันตนมาตรา 33 เหลือร้อยละ 0.5 ของค่าจ้างผู้ประกันตน จากเดิมร้อยละ 3 ของค่าจ้างผู้ประกันตน สำหรับฝ่ายนายจ้างให้คงอัตราเดิมโดยส่งเงินสมทบร้อยละ 3 ของค่าจ้างผู้ประกันตน รัฐบาลส่งเงินสมทบอัตราเดิมร้อยละ 2.75 ของค่าจ้างผู้ประกันตน

สำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จากเดิมอัตรา 278 บาทต่อเดือน ให้เหลืออัตรา 38 บาทต่อเดือน ซึ่งจะทำให้นายจ้าง 486,192 ราย ผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 11,164,387 คน และผู้ประกันตนมาตรา 39 จำนวน 1,832,500 คน ช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย โดยนำเงินสมทบที่ลดลงไปใช้จ่ายเสริมสภาพคล่อง เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ตั้งแต่เดือน มกราคม-มีนาคม 2564 จำนวน 23,119 ล้านบาท ลดปัญหาทางการเงินของนายจ้างและผู้ประกันตน ส่งผลให้คุณภาพชีวิตผู้ประกันตนดีขึ้น

ทั้งนี้ การลดอัตราเงินสมทบของผู้ประกันตนในครั้งนี้ ส่งผลให้กองทุนประกันสังคมจัดเก็บเงินสมทบได้ลดลงจำนวน 7,166 ล้านบาท และหากรวมกับการลดอัตราเงินสมทบครั้งที่หนึ่งตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม 2563 ครั้งที่สองตั้งแต่เดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน 2563 และการลดอัตราเงินสมทบปัจจุบันตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมีนาคม 2564 เงินสมทบทั้งหมดรวมกัน 9 เดือนจะลดลงประมาณ 68,669 ล้านบาท

นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่าเติมว่า การลดเงินสมทบครั้งนี้ จะช่วยลดภาระแก่ผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 จำนวน 12.9 ล้านคน และนายจ้าง 4.85 แสนราย คาดว่าจะเป็นเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจรวม 23,119 ล้านบาท

คลังจ่อชดเชยมหาดไทย4หมื่นล.หลังลดภาษีที่ดินฯลง90%

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ครม. ได้เห็นชอบมาตรการในการช่วยเหลือและแบ่งเบาภาระให้กับประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ใน 3 มาตรการ ได้แก่ ต่อมาตรการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลงร้อยละ 90 ของจำนวนภาษีที่คำนวณได้สำหรับการจัดเก็บภาษีของปีภาษี พ.ศ. 2564 ,มาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์และจดจำนองเหลือรายการร้อยละ 0.01% สำหรับราคาบ้านไม่เกิน 3 ล้านบาท ซึ่งครอบคลุมเฉพาะบ้านเดี่ยว บ้านแฝด บ้านแถว อาคารพาณิชย์ และห้องชุด ที่ซื้อจากผู้ประกอบการ (ไม่นับรวมบ้านมือสอง) ตั้งแต่วันที่ลงประกาศกระทรวงมหาดไทยในราชกิจจานุเบกษาถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564

และการขยายกำหนดเวลา การยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากับกรมสรรพากรออกไปอีก 3 เดือน เฉพาะการยื่นแบบ e-filing (เดิมสิ้นสุด 31 มี.ค.64) ภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องยื่นแบบ นำส่งหรือชำระ ในช่วงเดือน ก.พ.-มิ.ย. 64 โดยขยายเวลาออกไปเป็นภายในวันสุดท้ายของเดือนนั้นๆ เฉพาะการยื่นแบบ e-filing

“กรณีลดภาษีที่ดินละสิ่งปลูกสร้าง กระทบต่อรายได้องค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) นั้น ครม. ก็มอบให้สำนักงบประมาณชดเชยรายได้ให้กับอปท. โดยให้กระทรวงการคลังเข้าไปหารือกับกระทรวงมหาดไทย และตั้งงบประมาณชดเชยในปีงบ 2565 คาดว่าประมาณ 35,000 ล้านบาท ซึ่งมองว่าการลดภาษีส่วนนี้ เป็นการช่วยคนมีกำลังซื้อลดภาระค่าใช้จ่าย เช่น ผู้ที่มีธุรกิจส่วนตัว อาจจะได้รับผลกระทบจากโควิด ก็จะนำเงินส่วนนี้ไปใช้จ่ายเพื่อรักษาการจ้างงาน เป็นต้น ส่วนการลดค่าธรรมเนียมการโอน จะชดเชยให้ 5,600 ล้านบาท”

เปิดให้ผู้ไม่มีสมาร์ทโฟนลงทะเบียนรับ 7 พัน 15 ก.พ.นี้

นายอาคม กล่าวเพิ่มเติมถึง โครงการ "เราชนะ" ว่า ในวันที่ 15 ก.พ.64 จะเปิดให้กลุ่มพิเศษที่ไม่มีโทรศัพท์มือถือ แต่เข้าข่ายรับสิทธิโครงการ เราชนะ เข้ามาลงทะเบียนผ่านสถาบันการเงินของรัฐ ซึ่งหลักๆ จะเป็นธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารกรุงไทย พร้อมกันนี้ จะขอความร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทยให้เข้าไปดูแลเรื่องการลงทะเบียนกลุ่มนี้ด้วย โดยหลักเกณฑ์จะเหมือนกับกันทุกกลุ่ม และอาจจะพิจารณาแนวทางออกบัตรพิเศษ นำไปสแกนใช้จ่าย เหมือนผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยในรายละเอียดจะต้องไปหารือร่วมกับสถาบันการเงิน เนื่องจากยังมีขั้นตอนการออกบัตรด้วย ส่วนแนวทางช่วยเหลือกลุ่มชายขอบ ที่มีรายได้น้อย ก็จะเสนอ ครม. อีกครั้ง

บริหารแรงงานต่างด้าวตกค้าง2.3 ล้านคน

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกฯ แถลงว่า ครม.เห็นชอบทบทวนแนวทางบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ที่ตรวจสุขภาพและต่อวีซ่าไม่ทันภายในกำหนด รวมถึงการชะลอการส่งกลับผู้ต้องกักที่ได้รับโทษ หรือดำเนินคดีเสร็จสิ้น จากมาตรการงดการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว ทำให้การส่งกลับทำได้ล่าช้ากว่าปกติ

ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานได้กำหนด แนวทางการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว 2,335,671 คน ใน 3 กลุ่มเป้าหมาย ดังนี้

1. กลุ่มที่ถือบัตรสีชมพู 1,400,387 คน ประกอบด้วย (1.1) กลุ่มแรงานต่างด้าวตามมติครม.วันที่ 20 ส.ค. 62 จำนวน 1,162,443 คน ให้ขยายระยะเวลาการตรวจสุขภาพ และขอต่อ Visaออกไปถึงวันที่ 30 ก.ย. 64 และ (1.2) กลุ่มแรงงานต่างด้าวตามมติครม.วันที่ 4 ส.ค.63 จำนวน 237,944 คน ให้ขยายระยะเวลาการตรวจสุขภาพและขอต่อ Visa ถึงวันที่ 31 ก.ค. 64

2.กลุ่มแรงงานต่างด้าวตาม MOU จำนวน 434,784 คน ได้แก่ (2.1) กลุ่มแรงงานต่างด้าวตามมติครม.วันที่ 10 พ.ย. 63 จำนวน 119,094 คน และ (2.2) กลุ่มแรงงานต่างด้าวตามเอ็มโอยู วาระการจ้างงานครบ 2 ปี 315,690 คน ให้ขยายระยะเวลาการตรวจสุขภาพและขอต่อ Visa ออกไปสิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย. 65

3.กลุ่มแรงงานต่างด้าวตามมติครม.วันที่ 29 ธ.ค.63 ซึ่งอยู่ระหว่างยื่นลงทะเบียน คาดว่ามีประมาณ 500,000 คน ให้จัดเก็บข้อมูลอัตลักษณ์บุคคล (Biometics)เพื่อการพิสูจน์ ภายในวันที่ 16 เม.ย.64 ซึ่งสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง จะส่งข้อมูลให้กรมการจัดหางานออกใบอนุญาตทำงาน

สำหรับ กลุ่มผู้ต้องกักที่เป็นคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) ที่มีประมาณ 500 คน อยู่ระหว่างรอการส่งกลับ ให้สามารถทำงานกรรมกรและงานบ้านได้ จนถึงวันที่ 13 ก.พ. 66 เพื่อลดภาระค่าใช้ในการดูแล เมื่อครบกำหนดเวลาแล้ว ต้องส่งกลับประเทศต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น