xs
xsm
sm
md
lg

แจก3,500บ.2เดือน เยียวยาผลกระทบโควิด พ่วงลดค่าน้ำ-ค่าไฟ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ผู้จัดการรายวัน360- รัฐบาลเคาะเยียวยาโควิด ใช้ไฟฟรี 90 หน่วยแรก น้ำลดร้อยละ 10 รอบบิล ก.พ.-มี.ค.64 สิ้นเดือนม.ค.เปิดลงทะเบียนโครงการคนละครึ่ง 1 ล้านสิทธิ์ พร้อมให้ ก.คลัง จัดแผนเยียวนอกระบบ 3,500 บาท 2 เดือน การันตีประชาชนจะได้รับวัคซีนทุกคน ฟรี ส.อ.ท. แนะให้เร่งจัดหาวัคซีนและฉีดให้คนไทยอย่างทั่วถึงภายในไตรมาส 2 จะทำให้เศรษฐกิจกลับมาขับเคลื่อนได้ในครึ่งปีหลังปีนี้

วานนี้ (12ม.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม แถลงภายหลังการประชุมครม. ว่า ตนหารือกับ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในเรื่องมาตรการเศรษฐกิจเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่

โดยมาตรการลดค่าใช้จ่ายประชาชน ในส่วนของค่าไฟ ครม.ให้มีส่วนลดค่าไฟฟ้าเป็นเวลา 2 เดือน ตามใบแจ้งหนี้เดือนก.พ. และเดือนมี.ค.64 สำหรับบ้านที่อยู่อาศัยหากใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน ให้ใช้ไฟฟ้าฟรี 90 หน่วยแรก หากใช้ไฟฟ้าเกิน 150 หน่วยต่อเดือน ให้มีส่วนลดค่าใช้ไฟฟ้าตามเงื่อนไขที่กำหนด สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทกิจการขนาดเล็ก ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ ให้สิทธิ์ใช้ไฟฟ้าฟรี 50 หน่วยแรก

ส่วนค่าน้ำประปา ให้ลดลงร้อยละ 10 สำหรับบ้านที่อยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็กไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจเป็นระยะเวลา 2 เดือน ตามใบแจ้งหนี้เดือนก.พ. และเดือนมี.ค.64 นอกจากนี้ในเรื่องของค่าอินเตอร์เน็ต ตนได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปหารือร่วมกัน สนับสนุนการเวิร์กฟอร์มโฮม รวมทั้งให้ประชาชนสามารถโหลดแอปพลิเคชัน หมอชนะฟรี ไม่คิดค่าดาต้าเป็นระยะเวลา 3 เดือน

สำหรับโครงการคนละครึ่งจะให้มีการเปิดลงทะเบียนใหม่อีก 1 ล้านสิทธิ์ ประมาณปลายเดือนม.ค.นี้ สำหรับเรื่องอื่นๆ ตนมีนโยบายให้เยียวยารายได้ต่อผู้ได้รับผลกระทบทุกกลุ่มอย่างครอบคลุม

การดำเนินการช่วยเหลือผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปเรื่องสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อเสริมสภาพคล่องของธนาคารรัฐที่ยังมีเงินเหลืออยู่ 2 แสนกว่าล้านบาท เช่น สินเชื่อธนาคารออมสิน 10,000-50,000 บาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยต่ำ 0.1 -0.35 ต่อเดือนต่อราย

มาตรการด้านสาธารณสุขได้มีการจัดหาอุปกรณ์ป้องกันโควิด-19 อุปกรณ์ต่างๆเพิ่มขึ้น และขอยืนยันว่าคนไทยจะได้รับการฉีดวัคซีนทุกคน ขณะนี้ได้มีการจัดหา จัดซื้อมาตามลำดับ ต้องมีการจัดทำแผนอีกครั้ง โดยจะต้องทั่วถึงและเพียงพอ ข้อสำคัญเราต้องเปิดโอกาสให้ภาคเอกชน สามารถนำเข้าวัคซีนได้ เมื่อมีการรับรองมาตรฐานจากทางองค์การอาหารและยา (อย.) แล้ว

ส่วนการช่วยเหลือประชาชนผู้ใช้แรงงานในระบบประกันสังคม เช่น ลดหย่อนเงินสมทบนายจ้าง ผู้ประกันตน เยียวยาผู้ว่างงาน ให้ผู้ประกันตนสามารถเข้ารับการตรวจรักษาโดยไม่ต้องจ่ายเงินสำรองไปก่อน ต้องมีการส่งเสริมการจ้างงานใหม่ ผู้จบการศึกษาใหม่ จะต้องเร่งพิจารณาปรับปรุงเงื่อนไขต่างๆ รวมถึงการดูแลแรงงานที่อยู่นอกระบบประกันสังคมด้วยซึ่งมีอยู่ทั่วไป

“รัฐบาลมีเงินเพียงพอสำหรับการดูแลเศรษฐกิจ ในรอบการระบาดใหม่นี้ เพราะเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ตามพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลัง กู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยา ฟื้นฟู เศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัส โคโรน่า เราใช้ไป 5 แสนกว่าล้านบาท ยังเหลือ ประมาณ 4.9 แสนล้านบาท เรายังมี งบกลาง ของงบฯปี64 อีกประมาณ 1.3 แสนล้านบาท ซึ่งใช้ในกรณีฉุกเฉิน และเร่งด่วน รวมกันแล้ว 6 แสนล้านบาท เรื่องเงินเราไม่มีปัญหา

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว. คลัง กล่าวว่า โครงการคนละครึ่ง จะเปิดให้ลงทะเบียนใหม่ 1 ล้านสิทธิ์ ปลายเดือน ม.ค. 2564 จากเฟสที่ 1 เหลือประมาณ 5 แสนสิทธิ์ ส่วนเฟส 2 คงเหลือประมาณ 5 แสนสิทธิ์เช่นกัน โดยมาจากผู้สมัครไม่ผ่านในเรื่องคุณสมบัติ และไม่ได้ใช้สิทธิ์ใน 14 วัน จนโดนตัดสิทธิ์ รวมแล้วประมาณ 1 ล้านสิทธิ์ และจะนำเข้า ครม. ในวันที่ 19 ม.ค. 2564 และเปิดให้ลงทะเบียนในวันที่ 20 ม.ค. 2564 โดยมีผู้ลงทะเบียนสำเร็จจะสามารถใช้จ่ายได้ในวันที่ 25 ม.ค. 2564

ส่วนมาตรการเยียวยา ครม. พิจารณาวงเงินคือ 3,500 บาทต่อคนต่อเดือน นาน 2 เดือน ซึ่งจะนำเสนอในวันที่ 19 ม.ค.

ด้านมาตรการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนอสังหาริมทรัพย์ คลังหารือกับกระทรวงมหาดไทยว่า จะลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 90% ชำระเพียง 10% ส่วนยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนอสังหาริมทรัพย์ ลดเหลือ 0.01%

เอกชนขานรับมาตรการภาครัฐเยียวยาภาครัฐ

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า มติคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวันที่ 12 ม.ค.ได้พิจารณา 6 มาตรการบรรเทาผลกระทบประชาชน ภาคธุรกิจ จากการแพร่ระบาดโควิด-19 รอบใหม่ อาทิ ลดค่าน้ำค่าไฟ มาตรการช่วยเหลือด้านแรงงาน ฯลฯซึ่งรายละเอียดบางมาตรการบางส่วนจะมีการพิจารณาในการประชุมครม.ครั้งต่อไปถือว่าเป็นเรื่องที่ดีในการช่วยลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามสิ่งที่สำคัญคือรัฐบาลต้องเร่งจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยเร็วและฉีดให้กับประชาชนทั้งประเทศให้เพียงพอซึ่งหากสามารถดำเนินการได้ทั้งหมดภายในไตรมาส 2 เชื่อว่าจะทำให้เศรษฐกิจในครึ่งปีหลังปี 2564 จะค่อยๆ ทยอยกลับมาฟื้นตัว

“มาตรการเยียวยาครั้งนี้ถือว่าส่วนหนึ่งเป็นไปตามข้อเสนอของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) ที่ได้เสนอภาครัฐไปแล้วก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าขณะนี้โควิด-19 มีการแพร่กระจายไปหลายจังหวัดและผู้ติดเชื้อยังมีจำนวนมากอยู่หากยืดเยื้อก็จะยิ่งกระทบมากขึ้น ดังนั้นสิ่งสำคัญต้องทำควบคู่คือการการสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนที่รัฐต้องเร่งจัดหาวัคซีนให้เพียงพอและเริ่มฉีดให้ประชาชนโดยเร็ว”นายเกรียงไกรกล่าว

ทั้งนี้การแพร่ระบาดโควิด-19 รอบใหม่ทำให้ธุรกิจขนาดกลางและย่อม(เอสเอ็มอี) กลับมาได้รับผลกระทบอีกครั้งในเรื่องการขาดสภาพคล่อง การปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงินที่เคยมองทิศทางช่วงปลายปีที่จะเริ่มมีสภาพคล่องก็ไม่ได้เป็นเช่นแผนที่วางไว้ ดังนั้นจึงต้องการให้รัฐพิจารณาหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ(ซอฟโลนท์)ที่จะเข้ามาช่วยเหลือสภาพคล่องเอสเอ็มอีเตรียมรองรับไว้


กำลังโหลดความคิดเห็น