ส.อ.ท.หนุนมาตรการรัฐลดผลกระทบโควิด-19 รอบใหม่ พร้อมแนะให้เร่งจัดหาวัคซีนและฉีดให้คนไทยอย่างทั่วถึงภายในไตรมาส 2 จะทำให้เศรษฐกิจกลับมาขับเคลื่อนได้ในครึ่งหลังปีนี้
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 12 ม.ค.ได้พิจารณา 6 มาตรการบรรเทาผลกระทบประชาชน ภาคธุรกิจ จากการแพร่ระบาดโควิด-19 รอบใหม่ เช่น ลดค่าน้ำค่าไฟ มาตรการช่วยเหลือด้านแรงงาน ฯลฯ ซึ่งรายละเอียดบางมาตรการบางส่วนจะมีการพิจารณาในการประชุม ครม.ครั้งต่อไปถือว่าเป็นเรื่องที่ดีในการช่วยลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญคือรัฐบาลต้องเร่งจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยเร็วและฉีดให้ประชาชนทั้งประเทศให้เพียงพอ ซึ่งหากสามารถดำเนินการได้ทั้งหมดภายในไตรมาส 2 เชื่อว่าจะทำให้เศรษฐกิจในครึ่งหลังปี 2564 จะค่อยๆ ทยอยกลับมาฟื้นตัว
“มาตรการเยียวยาครั้งนี้ถือว่าส่วนหนึ่งเป็นไปตามข้อเสนอของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ได้เสนอภาครัฐไปแล้วก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะการลดค่าน้ำ ค่าไฟ อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าขณะนี้โควิด-19 มีการแพร่กระจายไปหลายจังหวัดและผู้ติดเชื้อยังมีจำนวนมากอยู่หากยืดเยื้อก็จะยิ่งกระทบมากขึ้นแม้ว่ารัฐอาจพิจารณาขยายโครงการคนละครึ่งซึ่งถือว่าเป็นมาตรการที่ดีและเอกชนสนับสนุนให้ทำต่อ แต่ถ้าคนไม่กล้าออกไปจับจ่ายมาตรการนี้ก็อาจจะไม่แรงเหมือนเดิมก็ได้เช่นกัน ดังนั้น สิ่งสำคัญต้องทำควบคู่คือการสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนที่รัฐต้องเร่งจัดหาวัคซีนให้เพียงพอและเริ่มฉีดให้ประชาชนโดยเร็ว” นายเกรียงไกรกล่าว
ทั้งนี้ การแพร่ระบาดโควิด-19 รอบใหม่ทำให้ธุรกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) กลับมาได้รับผลกระทบอีกครั้งในเรื่องการขาดสภาพคล่อง เนื่องจากก่อนสิ้นปีหลายๆ กิจการต่างก็คาดหวังจะมีเม็ดเงินในช่วงเทศกาลปีใหม่ตุนไว้ เช่น ธุรกิจร้านอาหาร โรงแรม ฯลฯ แต่พอโควิด-19 ระบาดรอบใหม่ก็ได้รับผลกระทบ การปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงินที่เคยมองทิศทางช่วงปลายปีที่จะเริ่มมีสภาพคล่องก็ไม่ได้เป็นเช่นแผนที่วางไว้ ดังนั้นจึงต้องการให้รัฐพิจารณาหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ที่จะเข้ามาช่วยเหลือสภาพคล่องเอสเอ็มอีเตรียมรองรับไว้เพราะเชื่อว่าปัญหาการขาดสภาพคล่องจะมีมากขึ้น