xs
xsm
sm
md
lg

KTC-AEONTS กอดคอร่วง กำไรวูบเหตุตั้งสำรองสูง เชื่อปีนี้ฟื้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บัตรกรุงไทย-อิออน กำไรลด เหตุตั้งสำรองสูง และมาตรฐาน TFRS9 คาดปีนี้สินเชื่อและการใช้จ่ายผ่านบัตรเติบโต ขณะ NIM ยังคงถูกกดดันจากผลกระทบของอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง แต่ชดเชยด้วยรายได้ค่าธรรมเนียมที่ปรับเพิ่ม ประมาณการผลงานฟื้น เร่งอัดแคมเปญกระตุ้นการใช้จ่าย พร้อมรัดเข็มขัดคุมต้นทุน คาด NPL ลด

ธุรกิจลีสซิ่งกลายเป็นธุรกิจที่อยู่คู่คนไทยมานาน โดยเฉพาะในภาวะที่เศรษฐกิจซบเซาการจับจ่ายใช้สอยฝืด เพราะเงินสดเพื่อซื้อข้าวของเครื่องใช้ไม่คล่องจำต้องหันไปพึ่งระบบผ่อนชำระหรือแม้แต่การกู้เงินทั้งในและนอกระบบ ส่งผลให้ธุรกิจซื้อขายเงินผ่อนหรือเช่าซื้อหรือลีสซิ่งคึกคัก กระทั่งปี 2548 ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ ได้เข้ามาควบคุมเรื่องสินเชื่อส่วนบุคคล ส่วนในปี 2562 มีประกาศให้คนประกอบอาชีพที่จำนำสินเชื่อทะเบียนรถต้องให้แบงก์ชาติกำกับดูแล จากนั้นมาธุรกิจก็ไม่ใช่ธุรกิจนอกระบบอีกต่อไป และการที่ภาครัฐเข้ามากำกับดูแลทำให้ภาพลักษณ์ของลีสซิ่งดีขึ้น เพราะทางการให้ความสำคัญเข้ามาดูแลเรื่องการก่อหนี้ของภาคประชาชน รวมถึงการดูแลเรื่องเงินนอกระบบด้วย

บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีหลายบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเช่าซื้อหรือลีสซิ่ง แต่ในที่นี้จะขอกล่าวถึง 2 รายใหญ่คือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC ที่เข้าจดทะเบียนใน SET เมื่อ 28 ตุลาคม 2545 และบริษัทอิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือ AEONTS เข้าจดทะเบียนใน SET เมื่อ 11 ธันวาคม 2544 เพราะประกอบธุรกิจเดียวกันและผลประกอบการก็เติบโตต่อเนื่องในทิศทางเดียวกัน แต่ในสภาวะที่โควิด-19 ระบาด การปล่อยกู้ของธนาคารพานิชย์เข้มงวดและมีข้อจำกัด ส่งผลให้ธุรกิจนอนแบงก์ทำรายได้เป็นกอบเป็นกำ

KTC กำไรหด-ปีนี้เติบโตดี

สำหรับ KTC แจ้งงบงวดสิ้นปี 2563 ภายใต้มาตรฐาน TFRS9 เทียบกับปี 2562 ซึ่งมีกำไรสุทธิ 5,332 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่ทำไว้ 5,524 ล้านบาท หรือลดลง 3.47% โดยเงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้และดอกเบี้ยค้างรับรวม 90,149 ล้านบาท เติบโต 4.3% ขณะที่ NPL ต่อเงินให้สินเชื่อรวม 1.8% ฐานสมาชิกรวม 3.4 ล้านบัญชี ซึ่งใกล้เคียงปี 2562 แบ่งเป็นธุรกิจบัตรเครดิต 2,575,684 บัตร เพิ่มขึ้น 2.6% สินเชื่อลูกหนี้บัตรเครดิตรวม 60,235 ล้านบาท อัตราเติบโตของปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตลดลง 7.7% หรือมีมูลค่ารวม 197,087 ล้านบาท NPL ต่อเงินให้สินเชื่อลูกหนี้บัตรเครดิต 1.3% และ NPL ต่อเงินให้สินเชื่อลูกหนี้สินเชื่อบุคคล 2.7%

ขณะที่มีรายได้รวม 22,056 ล้านบาท ลดลง 2.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากรายได้ดอกเบี้ยลูกหนี้บัตรเครดิตและลูกหนี้สินเชื่อบุคคลเพิ่ม 5.7% และ 2.8% ตามลำดับ เป็นอัตราเพิ่มที่ชะลอตัว เพราะผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และการลดเพดานอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย

อย่างไรก็ดี หลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และเริ่มกลับมาเดินทางท่องเที่ยวได้ นักเดินทางท่องเที่ยวจะให้ความสำคัญกับตัวกลางที่ช่วยประสานงานด้านการเดินทางท่องเที่ยวมาก เพราะรูปแบบการเดินทางท่องเที่ยวจะเปลี่ยนไปจากเดิมที่ลูกค้ามีพฤติกรรมวางแผนการเดินทางด้วยตัวเอง ดังนั้น KTC จึงเตรียมพร้อมในส่วนของ KTC World Travel Service ทุกๆ ด้าน และเพิ่มทางเลือกให้แก่ลูกค้าทุกกลุ่ม รวมถึงปรับแพลตฟอร์มการให้บริการลูกค้าได้แบบ one stop service

นายระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร KTC เปิดเผยถึงแผนธุรกิจปี 2564 ว่า จะปรับแผนธุรกิจเพื่อสร้างความแข็งแกร่งในพอร์ตลูกหนี้คุณภาพทั้ง 3 ธุรกิจหลัก มุ่งรักษาพอร์ตลูกหนี้ให้มีคุณภาพดีและผูกพันกับ KTC ผ่านกิจกรรมส่งเสริมการตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์ โดยธุรกิจบัตรเครดิตจะร่วมมือกับพันธมิตรคู่ค้าอย่างใกล้ชิด เน้นส่งเสริมการตลาดที่เป็นออนไลน์มากขึ้นในทุกหมวดการใช้จ่าย เพื่อตอบรับกับความจำเป็นทุกความต้องการของสมาชิก ในภาวะที่การระบาดของโควิด-19 ระลอกสอง

โดยธุรกิจสินเชื่อบุคคลจะให้ความสำคัญกับการตอกย้ำทุกฟังก์ชันการใช้งานของบัตรกดเงินสด "เคทีซี พราว" ล่าสุด KTC ได้อัดแคมเปญพิเศษลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระพนักงานประจำหรือเจ้าของกิจการที่มีความจำเป็นต้องใช้เงินสดในการดำรงชีวิตหรือทำธุรกิจ ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังมีความผันผวนสูงจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่

โบรกฯ ให้ความเห็น-ราคา KTC แตกต่าง

บริษัทหลักทรัพย์ โนมูระ พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) คาดก่อนหน้านี้ว่า KTC ในปี 2563 จะมีกำไร 5,351 ล้านบาท ประเมินว่าไตรมาส 4/2563 จะมีกำไรสุทธิ 1,350 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2% จากไตรมาส 4 ปี 62 จากคาด ECL ลดลง เพราะช่วงไตรมาส 4 ปี 62 มีการเร่ง Write-Off ก่อนปรับใช้ TFRS9 คาดปี 2564 KTC กำไรสุทธิจะกลับมาเติบโตจากการเติบโตของสินเชื่อรวม ตามการฟื้นตัวของการใช้จ่าย และความต้องการใช้เงินเพื่อเพิ่มสภาพคล่องที่ยังมีอยู่มาก และการเพิ่มขึ้นของหนี้สูญรับคืนจากมูลหนี้ที่มากขึ้น และการลดลงของ ECL ได้ตั้งสำรองล่วงหน้าไว้แล้ว ทำให้ชดเชย NIM ที่ลดลง ขณะหุ้น KTC ปัจจุบันนี้ซื้อขายที่ P/BV 7.15 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ 4.78 เท่า ดังนั้น จึงแนะนำ Neutral ให้ราคาเป้าหมาย 55 บาทต่อหุ้น

บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ฯ ปรับลดคำแนะนำหุ้น KTC เป็น "ขาย" เนื่องจากราคาหุ้นขยับขึ้นมาเกินปัจจัยพื้นฐานแล้วหลังจากที่พุ่งขึ้น 101% ช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา พร้อมปรับเพิ่มราคาเป้าหมายเป็น 46 บาท จาก 41 บาท หลังเพิ่มคาดการณ์กำไรปี 64-65 ขึ้น 2% สะท้อนการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตและคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีขึ้นในไตรมาส 4 ปี 63

ทั้งนี้ คาดการณ์การเติบโตของสินเชื่อและการใช้จ่ายผ่านบัตรเติบโต 8% ในปี 64 แต่เชื่อว่า NIM จะยังคงถูกกดดันจากผลกระทบของอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงทั้งปี จึง ปรับเพิ่มประมาณการผลประกอบการขึ้น สำหรับปี 64-65 สะท้อนการเติบโตของสินเชื่อที่สูงขึ้นและการเติบโตของ non-NII คาดว่า EPS จะโต 11% จากปีก่อนในปี 64-65 สำหรับสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์ KTC จะค่อยๆ ขยายพอร์ตและตั้งเป้าพอร์ตสินเชื่อ 1 พันล้านบาทปีนี้

บล.เคทีบีเอสที แนะนำ "ถือ" หุ้น KTC ราคาเป้าหมาย 70 บาท/หุ้น อิง 2021E PBV ที่ 6.7x จากเดิม 60.00 บาท อิง 2021E PBV ที่ 5.9x (+1.75SD) โดยเป็นผลจากการปรับกำไรปี 64 เพิ่มขึ้น 7% และ re-rate PBV ขึ้นอีก +0.75SD สะท้อนแนวโน้มสินเชื่อและกำไรที่จะเติบโตดีกว่าคาด โดยไตรมาส 4 ปี 63 ที่ 1.32 พันล้านบาท ทรงตัวเมื่อเทียบปีก่อนแต่เพิ่มขึ้น 8% จากไตรมาสก่อน สูงกว่าที่ตลาดคาดเพราะค่าใช้จ่ายสำรองฯ ลดลงเพื่อชดเชยรายได้ค่าธรรมเนียมที่ลดลงภายหลังการปรับลดเพดานอัตราผลตอบแทนสินเชื่อลง ขณะที่กำไรเพิ่ม จึงปรับประมาณการกำไรสุทธิปี 64 เพิ่มขึ้น 7% เป็น 6.37 พันล้านบาท จากการปรับเพิ่มสินเชื่อปี 64 เป็น 6% เทียบปีก่อน

บล.หยวนต้า ลดคำแนะนำจาก “ซื้อ” เป็น “ขายทำกำไร” หุ้น KTC ราคาเป้าหมาย 43 บาท หลังอวดกำไรไตรมาส 4 ที่ 1,321 ล้านบาท โตต่อเนื่อง เพราะมีปัจจัยหนุนหลักจากรายได้ดอกเบี้ยฟื้นตัวเล็กน้อย แม้ได้รับผลกระทบจากมาตรการของ ธปท. ที่ลดเพดานดอกเบี้ยบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลลงเต็มไตรมาสครั้งแรก กดดัน Asset Yield ให้ปรับลดลง แต่ผลลบดังกล่าวถูกหักล้างด้วยต้นทุนทางการเงินที่ปรับลง และพอร์ตสินเชื่อรวมที่เร่งตัวขึ้น 7.5% จากไตรมาสก่อนตามภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ผ่อนคลาย แถมมีแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายจากภาครัฐที่ช่วยให้ยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรและการผ่อนชำระสินค้าเพิ่มขึ้น ส่วนรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยโต 5.5% หลังมีหนี้สูญรับคืนเพิ่มขึ้น ขณะตัวเลข NPL Ratio ลดลงและยังมีระดับ Coverage Ratio สูงขึ้นเป็น 460% ดังนั้น คาดปี 64 KTC จะมีกำไรสุทธิ 6,113 ล้านบาท ฟื้นตัวขึ้น 14.6% จากปีก่อน คาดมีแรงกดดันจากการรับรู้ผลของมาตรการลดเพดานดอกเบี้ยของบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลเต็มปีเป็นปีแรกทำให้รายได้ดอกเบี้ยรับมีโอกาสปรับตัวลง แต่บางส่วนจะถูกชดเชยด้วยรายได้ค่าธรรมเนียมที่ปรับตัวดีขึ้นตามการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่ฟื้นตัว บวกกับการตั้งสำรองที่ผ่อนคลายลง

AEONTS งวด 9 เดือนกำไรวูบ เหตุกันสำรองสูง

สำหรับ AEONTS แจ้งผลงานงวด 9 เดือนแรกปี 63 กำไรจากการดำเนินงานรวม 3,156 ล้านบาท ลดลง 619 ล้านบาท หรือ 16% จากงวดเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิงวด 9 เดือน 2,506 ล้านบาท ลดลง 414 ล้านบาท หรือ 14% จากงวดเดียวกันของปีก่อน เพราะตั้งสำรองเพิ่มช่วงไตรมาสแรก ลดความเสี่ยงหลังมีการแพร่ระบาดของโควิด-19

สำหรับกำไรไตรมาส 3 ปี 63 บริษัทฯ มีกำไรรวม 1,333 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 49 ล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 1,009 ล้านบาทเพิ่มขึ้น โดยมีกำไรต่อหุ้นที่ 4.04 บาท ผลจากการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของรายได้หนี้สูญรับคืนและบริษัทฯ คุมค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งการผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองทั้งในและต่างประเทศที่ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มขับเคลื่อนมากขึ้น

อย่างไรก็ดี ฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ AEONTSเผย ภาพรวมการปล่อยสินเชื่อใหม่ (New Loan) งวดปีบัญชี 2564-2565 (มี.ค.64-ก.พ.65) คาดมีโอกาสเติบโตได้ราว 4-5% บนความคาดหวังว่าภาพรวมเศรษฐกิจจะมีทิศทางฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง แม้มีการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ที่ไม่มีการล็อกดาวน์ แถมมีวัคซีนป้องกัน ส่งผลให้การเดินทางและการท่องเที่ยวดีขึ้น

ดังนั้น มองว่าธุรกิจบัตรเครดิตปีนี้จะมุ่งเน้นการใช้งานผ่านระบบดิจิทัล หรือการใช้งานผ่านแอปพลิเคชัน เพื่อเป็นไปตามทิศทางของผู้บริโภคที่หันมาใช้ระบบออนไลน์มากขึ้น พร้อมจัดแคมเปญกระตุ้นการใช้จ่ายทุกไตรมาส รวมทั้งปรับขนาดสาขาให้เล็กและไม่เพิ่มสาขาใหม่เพื่อลดต้นทุน และเชื่อว่าการปล่อยสินเชื่อใหม่จะยังเติบโต พร้อมบริการจัดการทุกส่วน โดยเฉพาะ NPL ให้ลดลง แม้ช่วงปลายปี 63 จะเพิ่มขึ้นบ้าง เพราะหลังจากพักชำระหนี้ไปในรอบแรก ลูกค้าบางส่วนยังไม่อาจชำระหนี้ได้

ทั้งนี้ เมื่อสิ้นปี 63 AEONTS มีพอร์ตสินเชื่อคงค้างรวมของบริษัท 8.8 หมื่นล้านบาทคิดเป็นในประเทศ 8.3 หมื่นล้านบาท ส่วนที่เหลือในพม่า กัมพูชา และลาว สำหรับตลาดต่างประเทศต้องยอมว่ายอดการปล่อยสินเชื่อ การชำระหนี้อาจจะชะลอตัวลงเพราะล็อกดาวน์ ทำให้การเดินทาง การจับจ่ายใช้สอยลดลงไปอย่างมีนัยสำคัญ แต่เชื่อว่าหากสถานการณ์ต่างๆ ดีขึ้นยอดสินเชื่อจะกลับมา

โบรกฯ เชียร์ AEONTS ให้ราคาสูงสุด 260 บาท

บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) หรือ บล.เมย์แบงก์ฯ ระบุว่า ชอบ AEONTS มากกว่า KTC คาดว่า AEONTS จะทยอยกลับรายการค่าเผื่อสำรองหนี้สูญ (LLR) เนื่องจากความเสี่ยงด้านเครดิตยังไม่ปรากฏมากเท่าที่คาดไว้ ซึ่งจะหนุนให้ EPS เติบโต 17% เทียบปีก่อนคงคำแนะนำ "ซื้อ" ปรับราคาเป้าหมายขึ้นเป็น 260 บาท (P/BV ปี 64 ที่ 3.4 เท่า, PER 16 เท่า และ ROE 22%) จาก 200 บาท หลังคาดการณ์งบปี 2563-2565 ( สิ้น ก.พ.2564-2565) ขึ้น 7-15% เพื่อสะท้อนถึงการควบคุมต้นทุนที่ดีและลดต้นทุนสินเชื่อ

เพราะ AEONTS แจ้งงวดไตรมาส 3 ปี 63 ที่กำไร 1 พันล้านบาทเพิ่มจากปีก่อน เนื่องจากต้นทุนสินเชื่อที่ลดลงและกำไรจากการขาย NPLs ส่วนสินเชิ่อขยายตัวจากความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคล ขณะที่ NIM ลดลง 150 bps จากไตรมาสก่อน เป็น 17.6% เนื่องจากผลกระทบของอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงส่งผลให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิลดลง 15% ส่วน Non-NII เติบโต หนุนโดยกำไรจากการขาย NPLs 250 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามประมาณการของกิมเอ็งฯ OPEX ลดลง 13% จากไตรมาสก่อน จากการควบคุมต้นทุนที่ดี

ทั้งนี้ NPL เพิ่มขึ้น แต่ไม่มีสัญญาณที่น่ากังวล AEONTS ตั้งสำรอง 1.35 พันล้านบาท ลดลง 25% ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ 12% เพราะต้นทุนสินเชื่อลดลงเหลือ 6.1% จาก 7.2% ในไตรมาส 2 ปี 63 โดยยอดคงค้างเงินให้สินเชื่อค้างชำระ gross NPL เพิ่มขึ้น 17% จากไตรมาสก่อนเป็น 4 พันล้านบาท ขณะที่ NPL Ratio เพิ่มเป็น 4.5% ส่งผลให้ NPL Coverage ลดลง 296% คาด AEONTS จะกลับรายการ LLR บางส่วนเนื่องจากอัตราส่วน LLR ต่อสินเชื่อยังอยู่ในระดับสูงที่ 13.4% ในไตรมาส 3 ปี 63 ด้วยแนวโน้มการตั้งสำรองมากเกินไปและการปรับปรุงคุณภาพสินทรัพย์ คาดต้นทุนสินเชื่อจะลดลงมาอยู่ที่ 7.05% ในปี 64 เทียบกับ 7.7% ในปี 63

บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส แนะนำ "ซื้อ" หุ้น AEONTS ปรับราคาพื้นฐาน 254 บาท จากเดิม 210 บาท หลังกำไรงวดนิ้ดีกว่าคาด 8% โดยมาจากการตั้งสำรองฯ น้อยกว่าที่ประมาณการและสเปรดดีกว่าคาด สำหรับกำไรงวด 9 เดือนปี 63/64 (สิ้นสุด ก.พ.64) คิดเป็น 78% ของประมาณการ ขณะสินเชื่อหดตัวต่อเนื่องจากปีก่อน เพราะวิกฤตโควิด-19 และบริษัทระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อ ส่วนโครงสร้างสินเชื่อ ณ สิ้น พ.ย.63 พบว่าสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อบัตรเครดิตลดลง แต่สินเชื่อเช่าซื้อเติบโตได้ ส่วนรายได้ลดสเปรดแคบลง แต่การตั้งสำรองต่ำลง โดย Credit cost ลดเป็น 6.3% ในไตรมาส 3 ปี 63/64 จาก 7.2% เนื่องจากประเมินว่าสำรองสะสมที่มีอยู่เพียงพอรองรับความเสี่ยงผลกระทบโควิด-19 ขณะที่ NPL ratio เพิ่มเล็กน้อย ส่วนฐานสินเชื่อต่ำลง

สำหรับแนวโน้มปี 64/65 (สิ้นสุด ก.พ.65) ไปได้ดี ส่วนหนึ่งได้รับผลดีจากการขยายวงเงินสินเชื่อลูกหนี้ดีที่มีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาท/เดือน ( คิดเป็น 70% ของลูกค้าบริษัท) จาก 1.5 เท่าเป็น 2.0 เท่า รวมทั้งมีปัจจัยหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ต้นทุนการเงินต่ำ และบริหารจัดการค่าใช้จ่ายดำเนินงานได้ดี คงคำแนะนำ "ซื้อ" ปรับเพิ่มราคาพื้นฐานเป็น 254 บาท

บล.หยวนต้า แนะนำ "Trading" หุ้น AEONTS ราคาเป้าหมาย 210 บาท/หุ้น เพราะการทำกำไรที่เติบโตส่วนใหญ่มาจากรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยปรับขึ้นทั้งกำไรจากการขายหนี้เสียและรายได้หนี้สูญรับคืน อีกทั้งตั้งสำรองลดลง ช่วยหักล้างผลกระทบจากเพดานดอกเบี้ยบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่ลดลง แม้ราคาหุ้น AEONTS ปรับขึ้นแรง 42.3%QTD จนปัจจุบันไม่มี Upside เหลือเมื่อเทียบกับมูลค่าพื้นฐานใหม่ที่ 210 บาท (Rollover + เพิ่ม ROE ขึ้น 3%) แต่มองว่า AEONTS เป็นหนึ่งในหุ้นที่มีโอกาสฟื้นตัวในปี 2564 สอดคล้องไปกับเศรษฐกิจในประเทศที่ดีขึ้น ซึ่งถือว่ายังมี Upside Risk หากบริษัทสามารถบริหารจัดการคุณภาพหนี้ได้ดีกว่า อีกทั้งบริษัทมี Valuation Gap ในแง่ของ PBV ที่ซื้อขายเพียง 3.8x ต่ำกว่าคู่แข่งอย่าง KTC ที่ 9.4x และหุ้นในกลุ่มสินเชื่อขนาดใหญ่รายอื่นเช่น MTC 7.2x และ SAWAD 4.6x

บล.เคทีบีเอสที แนะนำ "ถือ" หุ้น AEONTS โดยยังคงราคาเป้าหมายที่ 225.00 บาท อิง FY2022E PBV 2.8x (+2.0SD above 5-yr average PBV) หลัง AEONTS รายงานกำไรสุทธิไตรมาส 3 (ก.ย.-พ.ย.2020) ที่ 1 พันล้านบาท ซึ่งสูงกว่าที่ตลาดคาด 7% หากหักรายได้จากการขายลูกหนี้ จะทำให้กำไรปกติอยู่ที่ 760 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน แต่ลดลง 23% จากไตรมาสก่อน โดยทรงตัวจากปีก่อนจากรายได้ดอกเบี้ยที่ลดลงตาม loan yield แต่ได้รับการชดเชยจากค่าใช้จ่ายสำรองฯ ที่น้อยลง แม้หดจากไตรมาสก่อนเพราะรายได้ดอกเบี้ย และรายได้หนี้สูญรับคืนลดลง

ดังนั้น คงประมาณการกำไรปกติ FY2021E (มี.ค.2020-ก.พ.2021) ที่ 3.13 พันล้านบาท ลดลง 9% จากปีก่อน และกลับมาขยายตัวใน FY2022E (มี.ค.2021-ก.พ.2022) ที่ 4.09 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 31% เทียบปีก่อน จากสินเชื่อที่จะขยายตัว ตามสภาพเศรษฐกิจที่จะกลับมาดีขึ้นและมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ อย่างไรก็ตาม ยังมีความกังวลต่อ NPLs ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 4.5% และ coverage ratio ลดลงสู่ระดับ 296% จากการสิ้นสุดระยะเวลามาตรการช่วยเหลือลูกหนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น