xs
xsm
sm
md
lg

สะเทือนตู้ขนส่งขาด-จีนขึ้นราคาสินค้าแก้หยวนแข็ง ธุรกิจนำเข้าวัสดุฯ แบกต้นทุนเพิ่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปัญหาสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ได้เป็นประเด็นที่ส่งผลในเชิงลบ และบวกต่อทิศทางเศรษฐกิจของโลก เนื่องจากประเทศจีนเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่เข้าไปในสหรัฐฯ จนทำให้มีตัวเลขเกินดุลกับทางสหรัฐฯ มหาศาล จนส่งผลให้มีมาตรการตอบโต้ทางการค้ากับจีน ซึ่งแน่นอน อุตสาหกรรมหลายแห่งที่มีฐานการผลิตในจีน ก็ถูกผลกระทบจากมาตรการขึ้นภาษี และเริ่มปรับแผนธุรกิจย้ายฐานการผลิต ซึ่งประเทศไทย และเวียดนามมีศักยภาพที่สามารถรองรับการเข้ามาตั้งฐานผลิตได้ ส่งผลให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับนิคมอุตสาหกรรมมียอดขายที่ดินเพิ่มจำนวนมาก

แต่สิ่งที่ "น่ากลัว" เราจะเห็นว่า มีสินค้าจากประเทศจีนเริ่มเข้ามทำตลาดและส่งออกมายังประเทศไทยมากขึ้น หรือแม้แต่ธุรกิจในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจในด้านโมเดิร์นเทรด ได้มีการหาโรงงานจากจีนเพื่อผลิตสินค้าตามแบบที่มีดีไซน์ตามที่ต้องการ (OEM) แล้วติดแบรนด์ของบริษัทเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคคนไทย หรือบางรายนำเข้ามาทำตลาด เช่น กระเบื้องปูพื้นและทางเดิน พื้นไม้เทียม หรือแม้แต่สินค้าเฟอร์นิเจอร์ ก็ถูกนำมาขยายโอกาสทำตลาดในไทย เนื่องจากปัจจุบัน มาตรฐานและคุณภาพของจีนปรับสูงขึ้น ขณะที่ราคายังมีความได้เปรียบในเชิงการแข่งขันกับคู่แข่งภายในประเทศ

ขณะที่ผลพวงเรื่องของการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 กลายเป็น ไวรัสล้างโลก ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัวอย่างรุนแรง ทำให้กิจกรรมทางธุรกิจของแต่ละประเทศ หรือแม้แต่ซัปพลายเชนต่างๆ ต้องประสบปัญหาในเรื่องการส่งออกสินค้า กระบวนการผลิตต้องลดลง ขณะที่ความต้องการซื้อ (ดีมานด์) ต้องอาศัยระยะเวลาในการฟื้นตัว

ล่าสุด มีประเด็นที่สร้างความวิตกกังวลให้แก่ภาคธุรกิจที่นำเข้าสินค้าจากประเทศจีน โดยมีประเด็นเรื่องทางประเทศจีน หรือ โรงงานผู้ผลิตสินค้าต้องแก้สถานการณ์จากผลกระทบเรื่องเทรดวอร์อีกระลอก เนื่องจากขณะนี้ ค่าเงินหยวนเมื่อเทียบกับเงินสกุลดอลลาร์มีความแข็งขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อการส่งออกสินค้าของประเทศจีน โดยตามข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ในปี 2563 ประเทศไทยมีการนำเข้าสินค้าจากประเทศจีนมาเป็นอันดับ 1 โดยมีสัดส่วนถึง 24.1% หรือมีมูลค่าการนำเข้า 1,569,282 ล้านบาท จากมูลค่าการนำเข้ารวม 6,502,406 ล้านบาท รองลงมาเป็นประเทศญี่ปุ่น ไทยมีมูลค่าการนำเข้า 869,298 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 13.4%

นายวรวุฒิ กาญจนกูล นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน
ผู้สื่อข่าว "ผู้จัดการรายวัน360" ได้มีการสอบถามไปยังบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าตกแต่ง เช่น ธุรกิจรับสร้างบ้าน ธุรกิจจำหน่ายกระเบื้องและวัสดุก่อสร้าง รวมถึงผู้นำในธุรกิจโมเดิร์นเทรด ระบุในทิศทางเดียวกัน สินค้าที่นำเข้าจากประเทศจีนมีการปรับราคาขึ้นมาตั้งแต่ปลายปี 2563 แล้ว สินค้าบางประเภท เช่น กระเบื้อง ปรับขึ้นมา 3 เท่าตัว

นอกจากนี้แล้ว ที่ผ่านมาการถดถอยของเศรษฐกิจโลก การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และการล็อกดาวน์ของท่าเรือในบางประเทศ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าต้องหยุดชะงัก ตู้ขนส่งสินค้าที่จะหมุนเวียนในระบบเกิดการสะดุดและติดขัดมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ แม้โควิด-19 จะระบาดไปทั่วโลก แต่กลับพบว่าสินค้าบางประเภทยังคงมีความต้องการอยู่ เช่น ยอดค้าปลีกในช่วงที่ผ่านมา หรือสินค้าที่เกี่ยวกับระบบสาธารณสุข เครื่องมือแพทย์ ไอที และโดยเฉพาะสินค้าที่เกี่ยวกับการทำงานที่บ้าน (WFH) ทำให้ความต้องการส่งตู้คอนเทนเนอร์จึงเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ประกอบกับ ประเทศรายใหญ่ เช่น จีน เศรษฐกิจเริ่มพลิกฟื้น และต้องเร่งส่งออกสินค้าในช่วงก่อนเทศกาลตรุษจีน ทำให้ตู้คอนเทนเนอร์ต้องถูกดึงไปยังประเทศจีน ซึ่งในแต่ละปีเฉพาะจีนมีความต้องการใช้ตู้คอนเทนเนอร์ 200 ล้านตู้

ข้อมูลจาก Shanghai Shipping Exchange ระบุว่า ต้นทุนการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายนปี 63 จากเซี่ยงไฮ้ถึงสิงคโปร์อยู่ที่ 802 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 24,314 บาท อัตราเพิ่มขึ้นสูงถึง 370% จากที่เดือนก่อนหน้าราคาอยู่ที่ 170 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 5,153 บาท

แบกรับต้นทุนใหม่ กระทบปลูกสร้างบ้านลูกค้าในสัญญาเดิม

นายวรวุฒิ กาญจนกูล นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน ให้ความเห็นกับผู้สื่อข่าวถึงแนวโน้มราคาวัสดุก่อสร้างภายในประเทศว่า โดยรวมยังไม่มีการปรับราคาขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยทางบริษัทรับสร้างบ้านยังคงใช้สินค้าวัสดุสินค้าภายในประเทศ แต่ก็มีประเด็นที่น่าเป็นห่วง จากเรื่องที่รัฐบาลจีนต้องปรับแก้สถานการณ์เรื่องการส่งออกไปยังสหรัฐฯ เนื่องจากเงินหยวนเมื่อเทียบกับดอลลาร์แข็งขึ้น ซึ่งไม่เป็นผลดีทั้งเรื่องตัวเลขส่งออกและมูลค่าที่จะได้รับ เช่น 1 หยวน เท่ากับ 7.1316 ดอลลาร์ (29 พ.ค.63) ล่าสุด อัตราค่ากลางสกุลเงินหยวนแตะที่ 6.4764 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ (11 ม.ค.64)

"เรื่องของการขาดแคลนตู้ขนส่งน่าจะเป็นประเด็นรอง เรากำลังเห็นท่าทีตอบโต้ของจีน คือ การปรับราคาขายสินค้าให้แพงขึ้นเพื่อรักษาผลตอบแทน เท่าที่ดูราคาขยับขึ้น 10 เปอร์เซ็นต์ ทำให้กระทบไปทั่วโลก โดยสินค้าวัสดุก่อสร้างที่นำเข้าจากจีนจะเป็นกลุ่มวัสดุตกแต่ง เช่น กระเบื้อง พื้นไม้ ไวนิล ไม้เทียม และแม้จะแพงขึ้น แต่ยังเป็นสินค้าที่ถูกเมื่อเทียบกับสินค้าของประเทศอื่นๆ แต่หากจีน ขยับราคามากกว่านี้ อาจจะไม่เป็นผล เพราะจะทำให้เสียฐานลูกค้าได้"

ขณะที่จะมีผลกระทบต่อตลาดรับสร้างบ้านหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาช่วงของการทำสัญญากับลูกค้า หากเป็นสัญญาเดิมแต่วัสดุก่อสร้างที่ส่งมอบเป็นราคาใหม่ ก็ต้องแบกรับภาระความเสี่ยงในส่วนนี้ไป


ลุ้นโควิด-19 คลี่คลาย ลดแรงกดดันค่าขนส่ง

แหล่งข่าวในวงการวัสดุก่อสร้าง ให้มุมมองต่อเคสของราคาสินค้านำจากประเทศจีนที่สูงขึ้น ว่า ส่วนใหญ่จะนำเข้าสินค้าวัสดุตกแต่ง วัสดุปูพื้น วัสดุปูผนัง ในระยะสั้น (3 เดือน) ทางผู้นำเข้าต้องรับภาระต้นทุน เพราะความต้องการภายในประเทศยังไม่ฟื้นตัว การจะปรับราคาตามจากแหล่งผลิตจากภายนอกประเทศคงจะเป็นเรื่องยาก และด้วยสภาพการแข่งขันที่สูง กลายเป็นกลไกที่ควบคุมไม่ให้ราคาสินค้าปรับขึ้นได้ ในทางกลับกัน ผู้นำเข้าวัสดุสินค้าตกแต่งก็ต้องจัดรายการส่งเสริมการขายเพื่อลดกำไรลง (มาร์จิ้น) แต่ในระยะกลางและยาว แนวโน้มผู้นำเข้าจำเป็นต้องปรับราคาขึ้น ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ผู้นำเข้าเริ่มมีสัญญาณจะแจ้งราคาใหม่มาตั้งแต่ต้นปี แต่ถูกต่อต้านจากสภาพเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ยังฟื้นไม่ดี

หรือแม้แต่ต้นทุนการขนส่งก็ปรับขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ราคาสินค้าวัสดุก่อสร้างไม่ได้ขยับขึ้นมา นั่นแสดงให้เห็นว่า ผู้ผลิตยังพอมีมาร์จิ้นอยู่ แต่หากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มผ่อนคลายลง ต้นทุนค่าขนส่งอาจจะเบาลงได้ จากที่มีการพูดคุยกันว่า ค่าขนส่งทางเรือสูงขึ้น 4-5 เท่า ดังนั้น หากส่วนของค่าขนส่งเข้าสู่ภาวะปกติก็อาจจะมาชดเชยกับต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้นได้เช่นกัน สุดท้ายแล้ว หากความต้องการซื้อในประเทศดีขึ้น เกิดดีมานด์ที่เพิ่มขึ้นค่อนข้างมากจะเป็นกลไกทำให้สินค้าปรับราคาขึ้นได้

"เมื่อราคานำเข้าสูสีกับสินค้าในประเทศแล้ว เชื่อได้ว่า ผู้ประกอบการหรือผู้ต้องการใช้สินค้าก็ไม่จำเป็นต้องใช้สินค้าจากจีน เนื่องจากเหตุผลหลักที่ซัปพลายเออร์นำเข้าจากจีนมา ก็ด้วยเรื่องของราคา เมื่อเทียบกับคุณภาพที่เท่าๆ กัน และบวกกับค่าขนส่ง สินค้าจากจีนก็ยังขายได้ถูกกว่า แต่ถ้าราคาใกล้เคียงกับในประเทศก็เลือกใช้ภายในดีกว่า แต่สินค้าจากจีนก็สามารถตอบสนอง ทำราคา และออกแบบได้ตามความต้องการของผู้นำจากไทย โมเดิร์นเทรด เช่น โฮมโปร บุญถาวร หรือแกรนด์โฮมมาร์ท จะส่งพนักงานไปประจำอยู่ที่ประเทศจีนเพื่อคอยควบคุมคุณภาพการผลิต และบริหารจัดการ ต้องเข้าใจว่า ปัจจุบันโรงงานผลิตกระเบื้องในไทยมีแค่ 2-3 เจ้าเท่านั้น ทำให้โมเดิร์นเบนเข็มไปนำเข้าจากจีนแทน"

นายประสิทธิ์ นพรัตน์นภาลัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดี.พี.เซรามิคส์ จำกัด
"ดี.พี.เซรามิคส์" จ่อขยับราคาขึ้น หลังสต๊อกเก่าหมด

นายประสิทธิ์ นพรัตน์นภาลัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดี.พี.เซรามิคส์ จำกัด ผู้นำธุรกิจจัดจำหน่ายกระเบื้องเซรามิก สุขภัณฑ์ รายใหญ่ของไทย ผู้นำนวัตกรรม และห้องน้ำสำเร็จรูป สำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับความไว้วางใจในมาตรฐานคุณภาพ และบริการจากแบรนด์ชั้นนำระดับอินเตอร์ทั่วโลกมาอย่างยาวนานมากกว่า 60 ปี เปิดเผยว่า ปัจจุบันต้นทุนของผูำเข้าสินค้าปรับสูงขึ้นมาต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปีที่ผ่านมา เนื่องจากปัจจัย 1.ตู้คอนเทนเนอร์ที่ใช้ขนส่งสินค้าที่สามารถรองรับวัสดุก่อสร้างได้ขนาด 20 ฟุต ปรับจากกว่า 300 ดอลลาร์ต่อตู้ เพิ่มเป็น 1,500 ดอลลาร์ต่อตู้ เนื่องจากปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ในระบบขาดแคลน ประกอบกับเรื่องของโควิด-19 ทำให้จากเดิมที่ดีมานด์และซัปพลายใกล้เคียงกัน

แต่ปัจจุบัน การส่งออกสินค้าผ่านตู้คอนเทนเนอร์ไปยังประเทศใดๆ ก็ตาม จะต้องใช้เวลานานขึ้นจากเดิมเพียง 1 เดือนครึ่ง เพิ่มเป็น 3 เดือน เนื่องจากด้วยสถานการณ์โควิด-19 ทำให้แต่ละประเทศต้องเฝ้าและตรวจสอบอย่างละเอียด ขนย้ายขึ้นและส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าจะมีกระบวนการและขั้นตอนที่มากขึ้น ขณะที่ตลาดออนไลน์ก็มีส่วนทำให้ดีมานด์ในการขนส่งสินค้าเปลี่ยนไป อาจไม่จำเป็นต้องเต็มตู้สินค้าก็ได้

"อัตราแลกเปลี่ยน เท่าที่ดูเงินหยวนอาจจะแข็งค่าประมาณ 5-7 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง ซึ่งทั้งจีนและไทยก็โดนเหมือนกัน ทางจีนก็ประกาศช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีที่ผ่านมาจะปรับราคาขึ้น และ หลังตรุษจีนจะมีการปรับราคาอีกระลอก ซึ่งแน่นอนมีผลต่อตลาดวัสดุก่อสร้าง คงต้องปรับราคาขึ้นประมาณ 10-20 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นผลจากอัตราแลกเปลี่ยน ขาดแคลนตู้ขนส่งสินค้า และสินค้านำเข้าแพงขึ้น"

ทั้งนี้ ในซัปพลายเออร์พยายามที่จะบริหารจัดการและขายสินค้าในส่วนของสินค้าคงค้าง (สต๊อกเก่า) แต่คาดว่าเมื่อเข้าสู่ไตรมาส 2 ของปีนี้น่าจะขยับราคาได้แล้ว ซึ่งยังมั่นใจว่า สินค้าวัสดุตกแต่งบ้านเป็นสินค้าที่ยังมีความต้องการอยู่ จะไม่ใช่สินค้าชอปปิ้ง แต่พฤติกรรมการซื้ออาจปรับเปลี่ยนไปตามความเหมาะสม

นายนำพล มลิชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสซีจี เซรามิกส์ จำกัด (มหาชน)
'เอสซีจี เซรามิกส์' หลัง Q2 ประเมินเป้ารายได้
โควิด-19 สกัดส่งออกเพื่อนบ้าน-ตู้ขนส่งขาดแคลน

นายนำพล มลิชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสซีจี เซรามิกส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายกระเบื้องภายใต้แบรนด์ “คอตโต้” (COTTO) โสสุโก้ (SOSUCO) และคัมพานา (CAMPANA) แจ้งว่า งบการเงินรวมก่อนสอบทานของ COTTO ในไตรมาสที่ 4 ปี 2563 บริษัทฯ มีรายได้จากการขาย 2,419 ล้านบาท ลดลง 5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง 8% จากไตรมาสก่อน โดยมีผลกำไร 83 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 219% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง 51% จากไตรมาสก่อน เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดประเทศกัมพูชา พม่า และลาว รวมถึงปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่มีผลทำให้เกิดความล่าช้าในการส่งออก ต้นทุนปรับขึ้นมาประมาณ 2 เท่า ถึง 2 เท่าครึ่ง ซึ่งในส่วนของ เอสซีจี เซรามิกส์ฯ สัดส่วนการส่งออกไม่มาก ทำให้กระทบไม่มาก แต่หากพิจารณาในด้านภาพรวมแล้ว มีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมมาก ทำให้มีการชะลอส่งออก ยกเว้นถ้าเป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม ก็พอจะแข่งราคาในการส่งออกสินค้าได้

นอกจากนี้ การชะลอโครงการก่อสร้างและโปรเจกต์ขนาดใหญ่ทั้งของภาครัฐและเอกชน และการที่ช่องทางการจัดจำหน่ายโมเดิร์นเทรดในบางพื้นที่ต้องหยุดการดำเนินงานชั่วคราว ยังส่งผลกระทบต่อยอดขายและรายได้บางส่วนด้วย

"สินค้าจากจีนปรับราคาขึ้นมาตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งก็ส่งผลกระทบ แต่สินค้ากระเบื้องเซรามิกจากจีนเข้าไทยก็ชะลอตัวลงเช่นกัน แต่การนำเข้าจะไปเติบโตมาจากอินเดีย"

สำหรับผลประกอบการปี 2563 บริษัทฯ มีรายได้จากการขายรวม 9,951 ล้านบาท ลดลงจากปี 2562 ประมาณ 10% โดยมีกำไรสุทธิรวม 420 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 252 ล้านบาท โดยมีปัจจัยสำคัญจากต้นทุนการผลิตที่ลดลงตามราคาก๊าซธรรมชาติ ความสามารถในการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต รวมทั้งสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านการบริหารการขายและการตลาดได้ตามเป้าหมาย

"เรื่องเป้ารายได้ปี 2564 คงยังไม่ชัดเจนที่จะระบุ เพราะหากมองไกลไปโอกาสถูกจะน้อย คงต้องรอโควิด-19 ระลอกใหม่ผ่านไปก่อน หากวัคซีนมาตามแผนและชัดเจน คาดไตรมาส 3 ก็จะทำให้ตลาดกลับมาดีขึ้น ตอนนี้ทีมบริหารของเรามีการหารือกันทุกอาทิตย์ สิ่งที่เราทำตอนนี้ เอสซีจี ให้ความสำคัญกับพนักงาน และพยายามปรับดีมานด์และซัปพลายให้สอดรับกันให้ได้ และพยายามควบคุมปัจจัยภายในให้ดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การควบคุมประสิทธิภาในการผลิต การจัดสรรการผลิตให้เหมาะสม ควบคุมค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้เหมาะสม ทั้งเรื่องบการโฆษณาประชาสัมพันธ์"


ปี 64 ปรับกลยุทธ์ส่งสินค้าใหม่รับเทรนด์ที่อยู่อาศัย

นายนำพล กล่าวถึงสถานการณ์ตลาดเซรามิกในประเทศในไตรมาสที่ผ่านมา (Q4ปี 63) ว่า ความต้องการใช้กระเบื้องเซรามิกชะลอตัวเล็กน้อย และมีปัจจัยลบอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะความกังวลต่อสถานการณ์โควิด-19 ตลอดจนอุทกภัยในหลายพื้นที่ และการสิ้นสุดของมาตรการพักชำระหนี้ แม้ว่าภาครัฐมีการคลายการล็อกดาวน์ตั้งแต่ต้นไตรมาสที่ผ่านมา รวมทั้งออกมาตรการเพิ่มกำลังซื้อให้ประชาชน เช่น โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการคนละครึ่ง และช้อปดีมีคืน ที่อาจจะมีส่วนช่วยกระตุ้นให้เกิดกำลังซื้อในประเทศมากขึ้น แต่ยังไม่มีนโยบายหรือมาตรการที่ส่งผลกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างโดยตรง

"ในปี 64 เราต้องยอมรับว่า สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 มีผลโดยตรงต่อความมั่นใจของลูกค้าในช่วงต้นปี ซึ่งเป็นเวลาที่ปกติมีความต้องการสูงสุดของทุกปี ถึงแม้ตอนนี้จะยังไม่สามารถประเมินสถานการณ์ที่แน่ชัดได้ แต่การแข่งขันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น จากความต้องการและกำลังซื้อที่ชะลอตัวลง”


สำหรับกลยุทธ์การดำเนินงานที่สำคัญ คือ ปรับปรุงและพัฒนาช่องทางจัดจำหน่ายให้มีความหลากหลายมากขึ้น มุ่งเน้นสินค้านวัตกรรม ทั้งในด้านฟังก์ชันการใช้งานควบคู่ไปกับความสวยงามอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าและสอดรับกับเทรนด์ที่กำลังมาแรง โดยเฉพาะเทรนด์เรื่องการให้ความสำคัญกับสุขภาพและสุขอนามัยที่ดี (Well-Being) โดยปีที่ผ่านมา ได้ออกสินค้าภายใต้แบรนด์ COTTO หลายซีรีส์ที่อยู่ในกลุ่มกระเบื้อง Hygienic Tile (ไฮจีนิก ไทล์) ซึ่งพัฒนาขึ้นเพื่อตอบโจทย์เรื่องสุขภาพและความสะอาดมาโดยตลอดจนถึงปัจจุบันนี้

รุกธุรกิจด้านพลังงานเจาะกลุ่มอุตฯ วางเป้าเพิ่มตลาด 5%

นายนำพล กล่าวถึงการขยายธุรกิจด้านพลังงาน ภายใต้แบรนด์ “SUSUNN” ที่บริษัทได้ดำเนินธุรกิจให้คำปรึกษา ออกแบบ จัดจำหน่าย ติดตั้งระบบผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดหลากหลายประเภทโดยเฉพาะระบบโซลาร์เซลล์ ว่า วิสัยทัศน์ของแบรนด์ SUSUNN คือ มุ่งหวังที่จะเป็นผู้ให้บริการด้านวิศวกรรม พลังงานและนิคมอุตสาหกรรมในระดับอาเซียน ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งเริ่มดำเนินการมาในระยะ 2-3 ปีจนถึงขณะนี้ สินค้าและบริการของเราลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ให้การตอบรับ และมีลูกค้ารายใหม่เพิ่มเติมเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นไปตามสถานการณ์ตลาดของโซลาร์เซลล์ที่ยังคงเติบโตได้ดีในปัจจุบันและยังมีแนวโน้มที่ดีมากในอนาคต โดยวางเป้าหมายที่มีสัดส่วนของธุรกิจใหม่ประมาณ 5%
กำลังโหลดความคิดเห็น