ส่องอุตสาหกรรมสวนกระแสโควิด-19 ธุรกิจอีคอเมิร์ซ เติบโตแบบก้าวกระโดด หนุนตลาดคลังสินค้าให้เช่าขยายตัวอย่างต่อเนื่อง รายใหญ่เดินหน้าลงทุนผุดโครงการในนิคมฯ จับตานโยบาย ททท. มุ่งเน้นนักท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ อาจกระทบต่อพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอย
นายธีระวิทย์ ลิ้มทองสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เน็กซัส เรียลเอสเตท แอ็ดไวเซอรี่ จำกัด กล่าวถึงสถานการณ์ตลาดอุตสาหกรรมปี 2564 ว่า จากการทำงานอย่างหนักของบุคลากรทางการแพทย์ ส่งผลให้เกิดการควบคุมสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในประเทศค่อนข้างดีกว่าประเทศอื่น ๆ รวมถึงนโยบายจากรัฐบาลที่ยังคงเดินหน้าโครงการโครงสร้างพื้นฐานในหลายพื้นที่ และการส่งเสริมการลงทุนในเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ EEC ส่งผลบวกต่อนักลงทุนต่างชาติที่ตัดสินใจเข้ามาลงทุนในไทย
แต่ผลกระทบจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจจากโควิด-19 และสถานการณ์ทางการเมือง มีผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติอยู่บ้าง ถึงกระนั้น ผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมรายใหญ่ ยังมองเห็นโอกาสจากปัจจัยบวก และตั้งเป้าขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องในช่วง 3-4 ปีข้างหน้า โดยซัปพลายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมรวมมากกว่า 20,000 ไร่ จะทยอยเข้ามารองรับกับแผนการเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูงในปี 2567 ซึ่งปัจจุบัน มีที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมรวมเกือบ 2 แสนไร่ มียอดจำหน่ายไปแล้วกว่า 90% โดยมีราคาขายเฉลี่ยต่อไร่อยู่ที่ประมาณ 6.1 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.7% เมื่อเทียบกับ ปีก่อน
โดยในปีที่ผ่านมา วิกฤตโควิด-19 เป็นตัวเร่งปฎิกิริยาให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดย SCB EIC คาดว่ายอดขายในปีนี้ จะโตถึง 35% ทำให้ยอดจัดส่งพัสดุโดยรวม มีแนวโน้มสูงขึ้นกว่า 4 ล้านชิ้นต่อวัน ส่งผลให้ธุรกิจโลจิสติกส์ในประเทศเติบโตควบคู่กันไปด้วย จึงเป็นปัจจัยสนับสนุนที่ดีต่อพื้นที่คลังสินค้าให้เช่า โดยปัจจุบัน มีอัตราการเช่าพื้นที่คลังสินค้าเฉลี่ยที่ 90% จากพื้นที่ทั้งหมด 3.89 ล้านตารางเมตร(ตร.ม.) และมีราคาค่าเช่า เฉลี่ยต่อเดือนต่อตร.ม. ที่158 บาท ในส่วนของพื้นที่โรงงานให้เช่ายังคงทรงตัว โดยในไตรมาสที่ผ่านมา มีพื้นที่ให้เช่าสะสมอยู่ 2.53 ล้านตารางเมตร มีอัตราเช่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 80% ในราคาเช่าเฉลี่ยที่ 203 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน
สำหรับตลาดศูนย์การค้า ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสถานการณ์โควิด-19 รองจากกลุ่มท่องเที่ยวและโรงแรม ผลจากการล็อกดาวน์ประเทศ ทำให้เกิดการหยุดชะงักทางเศรษฐกิจ แต่ทั้งนี้ ภาพรวมตลาดพื้นที่ศูนย์การค้าในพื้นที่ Central Retail District (CRD) ยังถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยยังคงมีอัตราการเช่าเฉลี่ยที่ 93% ลดลงจากปีก่อนที่ 97% ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากห้างอิเซตัน ได้ทำการคืนพื้นที่ให้กับห้างเซ็นทรัลเวิลด์ เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
"ในปี 2564 คาดว่าผู้ประกอบการยังคงต้องพึ่งพาการบริโภคในประเทศเป็นหลัก เนื่องจากนักท่องเที่ยวยังคงไม่สามารถเดินทางเข้ามาได้ รวมถึงวัคซีนล๊อตแรกในไทยจะทำการฉีดได้เร็วที่สุดในไตรมาสที่ 1 ซึ่งคาดว่าจะสามารถกระจายวัคซีนได้อย่างทั่วถึง และประชาชนมีภูมิคุ้มกันได้ในครึ่งปีหลัง ส่งผลให้อาจมีนักท่องเที่ยว ทยอยเข้ามาเร็วที่สุดในช่วงครึ่งปีหลัง"
โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้มีการคาดการณ์ตัวเลขไว้ที่ประมาณ 8 ล้านคน ซึ่งยังคงเป็นตัวเลขที่ต่ำเมื่อเทียบกับปี 2562 ที่ 40 ล้านคน รวมไปถึงนโยบายของ ททท. เองที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งจะมุ่งเน้นนักท่องเที่ยวเชิงคุณภาพมากกว่าเชิงปริมาณให้มากขึ้น โดยมีการตั้งเป้าตัวเลขนักท่องเที่ยวไว้ที่ประมาณ 25 - 30 ล้านคนต่อปี ซึ่งการลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติและการเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมาย จะส่งผลอย่างมีนัยยะสำคัญต่อพฤติกรรมการจับจ่ายของนักท่องเที่ยว และส่งผลต่อพื้นที่ศูนย์การค้า โดยเฉพาะในย่าน CRD อย่างแน่นอน.