คดีปั่นหุ้นบริษัท ปิโก้ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือ PICO คืบหน้าไปอีกขั้น เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้จำเลยชำระค่าปรับในอัตราสูงสุดตามที่กฎหมายกำหนด
พฤติกรรม การปั่นหุ้น PICO เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 25 กรกฎาคม-9 สิงหาคม 2560 โดย นายสุรินทร์ บรรยงพงศ์เลิศ ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 3 ของบริษัท สัดส่วน 12.30% ของทุนจดทะเบียน ได้ส่งคำสั่งซื้อหุ้น PICO ผ่าน 4 บัญชีที่เปิดไว้ในบริษัทโบรกเกอร์ต่างๆ ผลักดันให้ราคาหุ้นสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้นักลงทุนทั่วไปเกิดความเสียหาย
และแม้ว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ แจ้งให้หยุดพฤติกรรม แต่นายสุรินทร์ ยังคงส่งคำสั่งซื้อหุ้นผลักดันราคาต่อไป ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตรวจสอบดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่ง ก.ล.ต.ได้ดำเนินมาตรการลงโทษในทางแพ่ง สั่งปรับจำนวน 18.43 ล้านบาท แต่นายสุรินทร์ ไม่ยินยอมชำระค่าปรับ
ปลายปี 2561 ก.ล.ต.จึงส่งเรื่องให้อัยการฟ้องในทางแพ่ง และวันที่ 26 ธันวาคม 2561 พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องนายสุรินทร์ ต่อมาวันที่ 16 ตุลาคม 2562 ศาลแพ่งตัดสินให้นายสุรินทร์ ชำระค่าปรับทางแพ่งเป็นเงิน 1.25 เท่าของผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำผิด เป็นเงิน 10.18 ล้านบาท ให้ชดใช้ผลประโยชน์ที่ได้รับหรือพึงได้รับจากการกระทำผิด 8.14 ล้านบาท และชดใช้ค่าใช้จ่ายของโจทก์อีก 106,134 บาท
รวมเป็นเงินที่ต้องชำระค่าทางแพ่งทั้งสิ้น 18.43 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากถัดจากวันฟ้อง
แม้ศาลจะมีคำพิพากษาแล้ว แต่นายสุรินทร์ยังไม่ยอมชำระค่าปรับ จน ก.ล.ต.ร้องศาลขอบังคับคดี โดยการยึดทรัพย์จำเลย
ขณะที่นายสุรินทร์ ได้ยื่นอุทธรณ์คดี และเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2563 ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษา แก้คำพิพากษาศาลแพ่ง โดยให้จำเลยชำระค้าปรับในทางแพ่งเป็นเงิน 2 เท่าของผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำผิด
ซี่งเป็นอัตราสูงสุดตามที่กฎหมายกำหนด เป็นเงิน 16.28 ล้านบาท ให้ชดใช้ผลประโยชน์ที่ได้รับหรือพึงได้รับจากการกระทำผิด 8.14 ล้านบาท และชดใช้ค่าใช้จ่ายของโจทก์อีก 106,134 บาท
รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 24.53 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันถัดจากวันฟ้อง
ถ้านายสุรินทร์ ชำระค่าปรับตั้งแต่แรก จะปิดคดีด้วยเงินเพียง 18.43 ล้านบาท และไม่ต้องกังวลการตรวจสอบเส้นทางการเงินของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปรามปรามการฟอกเงิน (ปปง.)
แต่เพราะการดื้อแพ่ง วงเงินค่าปรับจึงพุ่งขึ้นไปที่ 24.53 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5% ต่อปี นับจากวันถัดจากวันฟ้อง
คดีปั่นหุ้น PICO ผ่านกระบวนการพิจารณามา 2 ศาลแล้ว ซึ่งนายสุรินทร์ คงจะดิ้นต่อไป โดยสู้จนครบ 3 ศาล หมายถึงการสู้ในชั้นฎีกา แต่ถ้าพิจารณาจากคำพิพากษาของศาลแพ่งและศาลอุทธรณ์แล้ว นายสุรินทร์ คงหนีความผิดไม่พ้น เพียงแต่สุดท้ายจะยอมชำระค่าปรับแต่โดยดีหรือไม่เท่านั้น
ความจริง PICO เป็นหุ้นที่มีปัจจัยพื้นรองรับที่ดี สามารถจ่ายเงินปันผลในอัตราสูงได้หลายปีติดต่อ ขณะที่ผลประกอบการมีกำไรต่อเนื่อง เพียงแต่ โครงสร้างผู้ถือหุ้นมีแต่กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ และมีผู้ถือหุ้นรายย่อยเพียง 638 ราย ถือหุ้นรวมกันในสุดส่วน 13.81% ของทุนจดทะเบียนเท่านั้น
นายสุรินทร์ ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ไม่มีความจำเป็นต้องปั่นหุ้น เพราะรายได้จากเงินปันผลแต่ละปีไม่น้อย แต่เพราะเห็นแก่ประโยชน์ และเห็นช่องทางในการปั่น จึงปฏิบัติการสร้างภาพลวงตาเพื่อล่อแมลงเม่า และไปไม่รอด ถูกจับได้ เพียงแต่ไม่ถูกดำเนินคดีอาญาเท่านั้น
ก.ล.ต.ดำเนินมาตรการลงโทษทางแพ่ง สำหรับแก๊งปั่นหุ้นหลายบริษัท ซึ่งมีหลายกลุ่มที่ไม่ยอมรับบทลงโทษ และ ก.ล.ต.ได้ส่งเรื่องให้อัยการฟ้องอยู่
คดีปั่นหุ้น PICO ถือเป็นคดีนำร่อง และอาจเป็นบรรทัดฐานสำหรับคดีปั่นหุ้นที่อยู่ระหว่างขั้นตอนการฟ้องร้องบังคับคดีทางแพ่ง วงเงินค่าปรับรวมกันหลายพันล้านบาท
คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์คดี PICO จะทำให้แก๊งปั่นหุ้นที่ดื้อแพ่ง ไม่ยอมชำระค่าปรับให้ ก.ล.ต. ได้รู้ชะตากรรมตัวเอง เพราะสุดท้ายคงหนีความผิดที่ก่อไว้ไม่พ้น
ไม่ยอมจ่ายค่าปรับแต่โดยดี คิดสู้คดีในศาล อาจต้องเจอบทลงโทษขั้นสูงสุดเหมือน PICO และถ้าไม่ยอมชำระค่าปรับอีกจะถูก ก.ล.ต.ตามไล่ยึดทรัพย์ เหมือนที่ กำลังไล่ยึดทรัพย์ผู้ถือหุ้นใหญ่ PICO ที่เล่นโกงนักลงทุน