xs
xsm
sm
md
lg

'ทีดีอาร์ไอ' ห่วงหนี้ครัวเรือนบั่นทอนดีมานด์ซื้อบ้าน โควิด-19 ฉุดอสังหาฯ สูญ 9 แสนล้าน ลุ้นฉีดวัคซีนได้ผลฟื้นท่องเที่ยว-ศก.

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2563 ซึ่งกำลังผ่านพ้นไปสู่ปีใหม่ ว่า เป็นปีที่หนักหนาสาหัสในทุกธุรกิจ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวหรือเกี่ยวข้องกับต่างประเทศ เพราะการเดินทางระหว่างประเทศนั้นไม่สามารถทำได้แบบปกติ การที่ชาวต่างชาติจะเดินทางไปประเทศใดประเทศหนึ่งนั้น จำเป็นต้องผ่านมาตรการคัดกรองต่างๆ ซึ่งไม่สะดวกและมีผลต่อการตัดสินใจเดินทางไป ยกเว้นกลุ่มที่จำเป็นต้องไปเพื่อการทำงานซึ่งอาจจะยอมให้มีการกักตัว 14 วัน หรือตามมาตรการของประเทศนั้นๆ เมื่อการเดินทางระหว่างประเทศมีปัญหาขนาดนี้ ธุรกิจการท่องเที่ยวจึงหยุดชะงักแบบทันทีทันใด และเข้าสู่ช่วงวิกฤตตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ.2563 เป็นต้นมา และยังไม่มีทีท่าว่าจะกลับฟื้นขึ้นมาในปี พ.ศ.2564-2565 เพราะการควบคุมและการป้องกันโควิด-19 ในหลายๆ ประเทศยังไม่ได้แสดงออกซึ่งผลลัพธ์ที่วางใจได้ แม้ว่าเรื่องของวัคซีนจะเริ่มเป็นรูปธรรมมากขึ้น แต่การจะกระจายวัคซีนไปให้ทั่วถึงทั้งโลกนั้น ต้องใช้เวลาอีกพอสมควร ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่การท่องเที่ยวระหว่างประเทศจะกลับมาเป็นปกติในอีก 3-4 ปีข้างหน้า

ดร.ปฏิมา จีระแพทย์ ประธานกรรมการ บริษัท ฟีนิกซ์ 1010 โฮลดิ้ง จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจด้านที่ปรึกษาอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร เปิดเผยถึงภาพรวมเศรษฐกิจว่า ประเด็นที่ต้องจับตา คือ เรื่องการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จะเกิดรอบ 2 หรือไม่ เพราะมีผลต่อความเชื่้อมั่นของผู้บริโภคภายในประเทศ ซึ่งที่ผ่านมา รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข สามารถดูแลเรื่องโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี สิ่งสำคัญในตอนนี้ คนในประเทศจะต้องปฏิบัติตามประกาศของสาธารณสุข พยายามการ์ดอย่าตก

สำหรับภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์นั้น ตลาดแนวราบมีแนวโน้มที่ผู้ประกอบการจะเข้ามาลงทุน และพัฒนาโครงการเป็นจำนวนมาก ขณะที่ตลาดคอนโดมิเนียม แม้ภาพรวมจะชะลอตัวลงอย่างมาก แต่หากแยกเป็นกลุ่มจะพบว่า คอนโดมิเนียมระดับราคา 2-3 ล้านบาท ยังไปได้ เป็นการหันมาเจาะกลุ่มกำลังซื้อตลาดภายในประเทศ ส่วนคอนโดมิเนียมที่ขายต่อตารางเมตร (ตร.ม.) 2.5-3 แสนบาท จะไม่หวือหวา และต้องปรับแผนทางการตลาดอย่างมาก เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่โครงการ เช่น ร่วมกับแบรนด์โรงแรมระดับ 3-5 ดาวในการให้บริการแก่ลูกค้าคอนโดมิเนียม หรือภายใต้รูปแบบ Branded Residence ซึ่งจะส่งเสริมให้ลูกค้าเชื่อมั่นในโครงการและโอกาสในการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่ดี

"บ้าน ยังไปได้ ตลาดไม่เคยตก เพียงแต่ช่วงที่คอนโดฯ บูม ก็ทำให้ดูเหมือนสัดส่วนแนวราบจะหายไป แต่ยังขายได้ดี โดยเฉพาะทำเลรอบวงแหวนปริมณฑล เช่น โซนบางนา ราชพฤกษ์ เพชรเกษม เอกชัย และบางบัวทอง เป็นต้น ขณะที่คอนโดมิเนียมแพงๆ ต้องรอต่างประเทศเปิดก่อน" ดร.ปฏิมา กล่าว

นายสุรเชษฐ กองชีพ
ส่อง "คอนโดฯ" ปี 64 เปิดใหม่เริ่มกลับมา แต่ยังติดลบสูงเทียบปี 61

นายสุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟินิกซ์ พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ แอนด์ คอนซัลแทนซี่ จำกัด เครือธุรกิจในบริษัทฟีนิกซ์ 1010 โฮลดิ้งฯ กล่าวว่า เมื่อชาวต่างชาติไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้ ธุรกิจการท่องเที่ยวซึ่งเป็น 1 ในฟันเฟือง เศรษฐกิจสำคัญของประเทศไทยขาดแรงหมุน เพราะรายได้จากการท่องเที่ยวคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 12 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ประเทศไทย มีผลให้เศรษฐกิจของประเทศชะลอตัวรุนแรง ประกอบกับเศรษฐกิจประเทศไทยก็อยู่ในช่วงชะลอตัวมาก่อนหน้านี้แล้ว อีกทั้งมาตรการต่างๆ ที่ออกมาจากรัฐบาลในช่วงหลายเดือนก่อนหน้านี้ ก็มีผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจเช่นกัน ความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายของคนไทยจึงลดลงแบบชัดเจน หลายๆ ธุรกิจได้รับผลกระทบ เช่น ร้านอาหาร สถานบันเทิง สถานที่ท่องเที่ยว ธุรกิจค้าปลีก โรงแรม รถรับจ้าง และอีกหลายธุรกิจที่ต้องปิดให้บริการแบบชั่วคราว และถาวร หรือเปิดให้บริการแบบไม่เหมือนเดิมเพื่อหารายได้พยุงกิจการเอาไว้เท่านั้น

ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับที่อยู่อาศัยได้รับผลกระทบจากการที่ความเชื่อมั่นลดลง มีผลให้คนจำนวนหนึ่งไม่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยใหม่ ซึ่งเป็นการสร้างภาระหนี้สินระยะยาว อีกทั้งยังไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจและฐานะทางการเงินของตนเองในระยะยาว ประกอบกับมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาสินเชื่อธนาคารมีความเข้มงวดมากขึ้น เพราะทุกธนาคารต่างไม่ต้องการเพิ่มภาระที่เกิดจากหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ให้มากขึ้นเช่นกัน แต่ผู้ประกอบการก็ไม่ต้องการที่จะมีรายได้ลดลงในช่วงวิกฤต จึงพยายามระบายสต๊อกของตนเองออกมาให้ได้มากที่สุด แต่ในช่วงที่คนไม่อยากจ่ายเงินจำนวนมากแบบนี้ วิธีที่จะสร้างความน่าสนใจให้แก่คนทั่วไปมีเพียงการลดราคาและมีของแถมต่างๆ ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา จึงเห็นผู้ประกอบการนำโครงการที่อยู่อาศัยที่สร้างเสร็จแล้ว โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมออกมาลดราคากันมากมาย การลดการเปิดขายโครงการคอนโดมิเนียมใหม่ และเพิ่มสัดส่วนโครงการบ้านจัดสรรให้มากขึ้น เป็นอีก 1 มาตรการที่ผู้ประกอบการนำมาใช้ในปี พ.ศ.2563 จำนวนคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่ในกรุงเทพฯปี พ.ศ.2563 ลดลงมากกว่า 54% เมื่อเทียบกับปี พ.ศ.2562 และลดลงสูงถึง 68.3% เมื่้อเทียบกับปี พ.ศ.2561


ในขณะที่บ้านจัดสรร มีความเป็นไปได้ที่จะลดลงประมาณ 10-15% เพราะกลุ่มผู้ซื้อบ้านจัดสรรเป็นคนที่ต้องการที่อยู่อาศัยจริงๆ และการพัฒนาโครงการบ้านจัดสรรมีต้นทุนต่ำกว่าโครงการคอนโดมิเนียม อีกทั้งยังใช้เวลาในการพัฒนาจนถึงการโอนกรรมสิทธิ์สั้นกว่าโครงการคอนโดมิเนียม เมื่อมีปัญหาหรือยอดขายไม่เป็นไปตามเป้าก็สามารถหยุดการพัฒนาได้ทันที ต่างจากโครงการคอนโดมิเนียม ความเสี่ยงจึงน้อยกว่า และเหมาะกับการสร้างรายได้ในช่วงที่กำลังซื้อลดน้อยลง


ปี พ.ศ.2564 จะเป็นอีกปีที่โครงการคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่มีจำนวนไม่มากอาจจะมากกว่าปี พ.ศ.2563 แต่ไม่เทียบเท่าช่วงปี พ.ศ.2560-2561 แน่นอน โดยอาจจะมากกว่าปี พ.ศ.2563 ประมาณ 10-15% ขึ้นอยู่กับความเป็นไปได้เรื่องของวัคซีนโควิด-19 ซึ่งจะมีผลต่อความเชื่อมั่นในภาพรวมและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยอาจต้องรอดูสถานการณ์ในช่วงครึ่งหลังของปี พ.ศ.2564 แต่หลายฝ่ายเชื่อว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยเลยจุดต่ำสุดมาแล้วในปี พ.ศ.2563 แต่จะฟื้นตัวเร็วเท่าใดนั้นขึ้นอยู่กับเรื่องของวัคซีนและผลกระทบจากโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2563 ซึ่งมีผลให้คนจำนวนหนึ่งตกงานหรือรายได้ลดลง รวมไปถึงสถานประกอบการหลายแห่งที่ไม่สามารถไปต่อได้ในช่วงที่ผ่านมา

อีกทั้งถ้าการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศในปี พ.ศ.2564 ยังไม่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับปี พ.ศ.2563 ก็เท่ากับว่าธุรกิจการท่องเที่ยวในประเทศไทยจำเป็นต้องพึ่งพาคนไทยเป็นหลัก ซึ่งรัฐบาลก็พยายามกระตุ้นในเรื่องนี้อยู่เช่นกัน แต่ยังไม่สามารถทดแทนรายได้ที่ขาดหายไปจากการที่ชาวต่างชาติยังไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้แบบปกติ โครงการคอนโดมิเนียมที่จะเปิดขายในปี พ.ศ.2564 ยังคงเป็นโครงการราคาไม่แพงคือไม่เกิน 3.5 ล้านบาทต่อยูนิตในพื้นที่กรุงเทพฯตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าที่กำลังก่อสร้าง


ปี 64 ยุคทองของตลาดแนวราบ

ส่วนของโครงการบ้านจัดสรร มีความเป็นไปได้ที่จะเพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ.2563 มากกว่า 10% โดยส่วนใหญ่จะเป็นโครงการที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ รอบนอก และจังหวัดปริมณฑลรอบกรุงเทพฯ เพราะผู้ประกอบการไม่ได้ต้องการพัฒนาโครงการราคาสูงในกรุงเทพฯ ทาวน์เฮาส์ในช่วงราคา 2.5-4 ล้านบาทเป็นรูปแบบที่ได้รับความสนใจจากผู้ซื้อเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ ไม่ไกลจากแนวเส้นทางรถไฟฟ้าที่กำลังก่อสร้าง หรือแนวเส้นทางในอนาคต ผู้ประกอบการหลายรายที่ก่อนหน้านี้มีการพัฒนาโครงการทั้งคอนโดมิเนียมและบ้านจัดสรรอยู่แล้วจะยังคงมีรายได้ต่อเนื่อง ส่วนรายที่มีโครงการบ้านจัดสรรน้อยกว่าจะมีปัญหาเรื่องของรายได้ที่ลดลง ผู้ประกอบการที่มีโรงแรมหรือโครงการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจท่องเที่ยวจะยังไม่สามารถกลับมามีรายได้แบบก่อนหน้านี้ได้แน่นอน ยังคงต้องพึ่งพาโครงการบ้านจัดสรรในการสร้างรายได้ในปี พ.ศ.2564

"ทีดีอาร์ไอ" ห่วงหนี้ครัวเรือนพุ่ง บั่นทอนดีมานด์ซื้อบ้าน

ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยถึงแนวโน้มเศรษฐกิจและสิ่งที่ธุรกิจอสังหาฯ ต้องเผชิญในปี 2564 ว่า สิ่งที่ทีดีอาร์ไอกังวลในตอนนี้คือ เรื่องของการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จะเกิดรอบ 2 หรือไม่ ซึ่งผลกระทบจากโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา กลายเป็นปัจจัยหลักที่กระทบต่อเศรษฐกิจเป็นหลัก จากการเปรียบเทียบในกลุ่ม 135 ประเทศหลักของโลก พบว่า หลายมาตรการของประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ดี แต่ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะหดตัวลง -7.8% ซึ่งกรอบเสถียรภาพด้านเศรษฐกิจของ ธปท.พบว่ามีหลายเซกเตอร์เริ่มปรับตัวดีขึ้น ยกเว้นตลาดที่เกี่ยวข้องกับประเทศจีน ทั้งในเรื่องการส่งออกจากเรื่องปัญหาเทรดวอร์ และการพึ่งพานักท่องเที่ยวจากประเทศจีนยังคงติดลบอยู่ ภาคสถาบันการเงินมีความกังวลเรื่องหนี้ที่จะเกิดขึ้น หลังจากมาตรการเยียยาหมดลง ตัวเลขหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 86% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 78.9% ปัญหาการตกลง ล่าสุด อยู่ที่ 8.1 แสนคน ส่วนใหญ่จะเป็นนักศึกษาที่จบออกมาใหม่ ซึ่งกลุ่มนี้จะเป็นตลาดกำลังซื้อที่เกี่ยวข้องกับภาคอสังหาฯ

ขณะที่ หนี้สาธารณะต่อจีดีพี มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาเป็น 57% ซึ่งภาครัฐควรพิจารณาการจัดสรรเงินกู้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจในกลุ่มที่ถูกผลกระทบ เช่น อุตสาหกรรมหรือภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว เป็นต้น

ทั้งนี้ ทางทีดีอาร์ไอได้ประเมินว่า อัตราเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (กรณีมีโควิด-19) จะกลับมาฟื้นตัวอย่างช้าๆ ระดับ 3.7-4.7% ต่อเนื่องไปถึงปี 2567 ขณะที่ปริมาณการซื้อที่อยู่อาศัยภายในปี 2565 จะมีตัวเลข 403,138 ยูนิต ซึ่งเป็นการซื้อขายที่อยู่ระดับใกล้เคียงกับปี 2562 ประมาณ 392,516 ยูนิต (ปี 63 จำนวน 334,530 หน่วย ปี 64 จำนวน 372,675 หน่วย) โดยผลจากโควิด-19 จะเข้ามากระทบกำลังซื้ออสังหาฯ หายไป 9 แสนล้านบาท (ตัวเลขรวมระหว่างปี 2563-2565) เนื่องจากอุปสงค์ขาลงและความเสี่ยงของผู้ซื้อมากขึ้นในกรณีการจะเกิดผิดนัดชำระหนี้

ดังนั้น สิ่งที่ทีดีอาร์ไอมองเพื่อแก้ปัญหานั้น คือ การรักษาเสถียรภาพระยะยาวเป็นสิ่งที่จำเป็น มาตรการ LTV และ EIA ไม่ควรยกเลิก การอุดหนุนจากภาครัฐจะซ้ำเติมฐานะการคลัง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการลดดอกเบี้ยค่าธรรมเนียม ข้อเสนอ "คนละครึ่ง" เป็นต้น ขณะที่กลุ่มของที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยอาจจะต้องมาปรับความเหมาะสม เนื่องจากปริมาณบ้านในระบบจะมีมากขึ้น ตลาดปล่อยเช่าระยะยาวน่าจะมีส่วนในส่งเสริมการอยู่อาศัย รวมถึงประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้ศักยภาพของคนไทยในการมีที่อยู่อาศัยน่าจะลดลงปีละอย่างน้อย 1-2%

"เรามองว่า หากเราเปิดกว้างให้ต่างชาติเข้ามาซื้อที่อยู่อาศัยได้มากขึ้น ก็จะเป็นการรองรับกลุ่มผู้สูงอายุในไทยที่มากขึ้นได้ เช่น การขยายเพดานการถือครองต่างชาติมากกว่า 49 เปอร์เซ็นต์ในคอนโดมิเนียม หรือความเป็นไปได้ที่จะให้ต่างชาติมีที่อยู่อาศัยได้ เช่น ให้สามารถซื้อบ้านได้ระดับ 10 ล้านบาทขึ้นไป เนื่องจากซัปพลายยังมีอยู่จำนวนมาก และเป็นการเคลียร์เรื่องธุรกรรมสีเทา แต่ประเด็นดังกล่าวรัฐบาลต้องรัดกุม มีการกำหนดโควตา เพื่อป้องกันต่างชาติกีดกันไม่ให้คนไทยเข้าถึงที่อยู่อาศัยได้"

คาดครึ่งหลังของปี 64 ตัวเลขนักท่องเที่ยวเติบโตได้ 16-50%

ดร.นณริฏ กล่าวว่า จากข้อมูลที่ได้จากนักวิเคราะห์สามารถนำมาสังเคราะห์ได้ถึง 6 ประเด็นความเสี่ยงที่กลัวในสิ่งที่จะเกิดขึ้นในปี 2564 ได้แก่ 1.เศรษฐกิจโลกจะตกต่ำยาวนาน 2.อัตราการว่างงานจะเพิ่มสูงมากขึ้น 3.โควิด-19 ก็ยังไม่จบ วัคซีนมา อาจจะแก้อะไรไม่ได้ 4.ประเทศเศรษฐกิจหลักของโลก เช่น ยุโรป สหรัฐฯ ยังคงมีปัญหาอยู่ และหากประเทศเหล่านี้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ จะกระทบเป็นวงกว้างอีกรอบ 5.อุตสาหกรรมต่างๆ ยังไม่กลับมาฟื้นตัวได้ตามปกติหรือสูญหายไปเลย และ 6.เรื่องหนี้ต่างๆ ทั้งจากบุคคล และภาคธุรกิจ จะเกิดหนี้เสีย จนทำให้สถาบันการเงินกลัว ดังนั้น เมื่อรวมทุกปัจจัยความกลัว จะเห็นว่า โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเป็นหลัก

สำหรับแนวโน้มการท่องเที่ยวทั่วโลก ในปีที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวท่องทั่วโลกมีประมาณ 1,400 ล้านคน แต่จากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้ยอดนักท่องเที่ยวทั่วโลกหดตัวอย่างรุนแรง ขณะที่ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมายที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกจะเดินทางเข้ามา ซึ่งในปีที่ผ่านมา มีเป้าหมายอยู่ที่เกือบ 40 ล้านคน ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน ตัวเลขในปี 2563 คาดว่านักท่องเที่ยวยังไม่กลับมา ดังนั้น ประเด็นเรื่องวัคซีนจะมีส่วนสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ภาคท่องเที่ยว เนื่องจากวัคซีนที่ผลิตออกมาจะมีผลต่อการดูแลประชากรของโลก โดยทีดีอาร์ไอ ประมาณการว่า ในกรณีดีที่สุด วัคซีนไม่มีปัญหา ก็น่าจะส่งผลให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวกลับมาไทยได้ประมาณ 16-50% ในครึ่งหลังของปี 2564 จะทำให้เศรษฐกิจของไทยกลับมาเร็ว

น.ส.กมลภัทร แสวงกิจ
ปี 64 รอดีมานด์ใหม่ฟื้นตัว-ซัปพลายล้น

น.ส.กมลภัทร แสวงกิจ ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทย ดีดี พร็อพเพอร์ตี้ เว็บไซต์มาร์เก็ตเพลสด้านอสังหาริมทรัพย์ กล่าวถึงภาพรวมตลาดอสังหาฯ ในปี 2563 และแนวโน้มในปี 2564 คาดว่าตลาดอสังหาฯ ของไทยผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว เมื่อตอนที่โควิด-19 เริ่มแพร่ระบาดในเมืองไทย จนนำไปสู่การล็อกดาวน์และกิจกรรมทางธุรกิจหยุดชะงัก ขณะที่ยังมีความท้าทายจากปัจจัยต่างๆ ที่มาส่งผลกระทบเพิ่มเติม ทั้งเรื่องสภาพเศรษฐกิจชะลอตัว หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ความสามารถในการซื้อ และกังวลในเรื่องของราคาที่จูงใจมากเกินไป

การชะลอตัวของตลาดในปี 2563 ทำให้ผู้ประกอบการต้องใช้แคมเปญลดราคาและโปรโมชัน ส่งผลให้ราคาอสังหาฯ ในภาพรวมลดต่ำลง แต่เป็นการเร่งการตัดสินใจจากผู้ซื้อที่เป็นกลุ่มเรียลดีมานด์ หรือผู้ซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง ที่มีความต้องการซื้อตั้งแต่ช่วงล็อกดาวน์ ซึ่งเริ่มอิ่มตัวเต็มพอร์ตแล้ว ส่วนกำลังซื้อใหม่ยังคงชะลอตัว เนื่องจากส่วนใหญ่ไม่มั่นใจสภาพเศรษฐกิจและหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ระดับสูง และผลจากมาตรการควบคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัย (LTV) ส่งผลให้ราคาอสังหาฯ ไม่สามารถปรับขึ้นได้มากนัก และจากรายงานพบว่า ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยกรุงเทพฯ ลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 4 ปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 207 จุด ก่อนจะปรับขึ้นเล็กน้อยหลังจากคลายล็อกดาวน์ เพิ่มขึ้น 2% ในรอบ 6 เดือน แต่ดัชนีราคาลดลง -9% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม หากย้อนหลังไป 5 ปี จะพบว่า ราคาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ เติบโตขึ้น 55 %

ขณะที่ดัชนีซัปพลายที่อยู่ในกรุงเทพฯ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งเกิดจากอัตราการดูดซับที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัดเจน เนื่องจากผู้บริโภคใช้เวลาในการตัดสินใจซื้อบ้านนานขึ้น จากผลสำรวจ DDproperty's Thailand Consumer Sentiment Study จากจำนวน 1,000 คน พบว่า ผู้บริโภคถึง 75% ชะลอการซื้อบ้านออกไปก่อน โดยจะมีระยะเวลาพิจารณานานขึ้นเป็น 1-2 ปี สัดส่วนเพิ่มเป็น 36% ขณะที่ต่ำกว่า 1 ปี ลดลงมาอยู่ที่ 20% โดยเฉพาะในไตรมาสล่าสุด ดัชนีซัปพลายเพิ่มขึ้นถึง 23% และเมื่อแยกเป็นประเภทที่อยู่อาศัย พบว่า ด้วยความต้องการ (ดีมานด์) ของตลาดแนวราบที่สูงขึ้น ส่งผลให้บ้านเดี่ยวและทาวน์เฮาส์มีซัปพลายเติบโตเมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (YOY) ประมาณ 40-41% ส่วนคอนโดมิเนียมเริ่มมีการลงทุนของผู้ประกอบการในไตรมาสที่ผ่านมาต่อเนื่องถึงปัจจุบัน ทำให้มีซัปพลายเพิ่มขึ้น 2% (YOY)

สำหรับซัปพลายของบ้านและคอนโดฯ ไม่เกิน 3 ล้านบาท เป็นกลุ่มราคาที่มีซัปพลายเพิ่มมากขึ้น คาดเป็นอานิสงส์จากมาตรการของภาครัฐในเรื่องการลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์และจำนองเหลือรายการละ 0.01% ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 24 ธ.ค.2563 นี้ ส่วนที่อยู่อาศัยระดับ 5-10 ล้านบาท แม้ซัปพลายจะมีปริมาณที่มาก แต่ช่วงที่ผ่านมา มีอัตราดูดซับที่ดีต่อเนื่อง ส่งผลให้จำนวนซัปพลายลดลง 7% (YOY)

จากการสำรวจพบว่า ทำเลในกรุงเทพฯ ที่ราคาที่อยู่อาศัยเติบโตเพิ่มมากที่สุด จะมีทั้งเรื่องรถไฟฟ้า ใกล้มหาวิทยาลัย แหล่งธุรกิจ และสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ โดยแขวงคลองมหานาค เขตป้อมปราบฯ ราคาเพิ่มขึ้นถึง 63% จากรอบปีก่อนหน้า เขตคลองสาน (บริเวณศูนย์การค้าไอคอนสยาม) เพิ่มขึ้น 14% ส่วนเขตปทุมวัน เขตบางรัก ราคาเพิ่มขึ้น 9-10% ใกล้มหาวิทยาลัยและแหล่งธุรกิจใจกลางซีบีดี

แยกเป็นรายประเภท คอนโดฯ เติบโตมากที่สุดจะเป็นแขวงบางไผ่ เขตบางแค เพิ่มขึ้น 42% บ้านเดี่ยว แขวงอรุณอมรินทร์ เขตบางกอกน้อย เพิ่มขึ้น 21% หรือแม้แต่ทาวน์เฮาส์ แขวงลาดกระบัง เขตลาดกระบัง เพิ่มขึ้น 19% ซึ่งเป็นทำเลที่ราคาปรับตัวได้ค่อนข้างสูง

"แม้ว่าทำเลที่ราคาคอนโดมิเนียมปรับตัวเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่จะอยู่ในซีบีดี แต่เมื่อพิจารณาโดยรวมแล้วของที่อยู่อาศัยทุกประเภทจะพบว่า เริ่มเห็นราคาที่อยู่อาศัยที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจะอยู่รอบนอกซีบีดีและชานเมือง ส่วนทำเลแม้กรุงเทพฯ จะได้รับความน่าสนใจ แต่เริ่มมีสัญญาณการกระจายตวสู่พื้นที่รอบนอกมากขึ้นจากการขยายตัวของเมือง เชื่อมต่อการเดินทางด้วยรถไฟฟ้า ต้องการพื้นที่ใช้สอยเพิ่มมากขึ้น" น.ส.กมลภัทร กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น