xs
xsm
sm
md
lg

กรุงศรีฯ คาดแนวโน้มบาทยังแข็ง แนะลูกค้าทำประกันความเสี่ยง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรุงศรีประเมินแนวโน้มเงินบาทปีหน้ายังแข็งค่าแต่ผันผวนลดลง คาดสิ้นปี 64 อยู่ที่ 29.25 บาท จากทิศทางดอลลาร์ที่ยังอ่อนค่า แนะผู้ประกอบการซื้อประกันความเสี่ยงค่าเงิน-ใช้เงินสกุลท้องถิ่นแทน

นายตรรก บุนนาค ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านโกลบอลมาเก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) (BAY) 
กล่าวว่า สถานการณ์ตลาดเงินในปี 2564 ยังคงมีความผันผวนและมีความไม่แน่นอน แนวโน้มเงินบาทมีทิศทางแข็งค่า โดยมีปัจจัยทั้งในและนอกประเทศเข้ามากระทบ ปัจจัยต่างประเทศโดยหลักมาจากเงินดอลลาร์สหรัฐที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลง จากนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะมีขนาดใหญ่ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการขยายวงเงิน QE การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำต่อเนื่อง รวมถึงยังมีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและขาดดุลการค้าอยู่ และการกีดกันทางการค้าที่มีแนวโน้มลดความรุนแรงลง ช่วยลดแรงกดดันต่อค่าเงินหยวนและสกุลเงินคู่ค้าในภูมิภาค ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวจะส่งผลให้เงินทุนไหลกลับเข้าสู่กลุ่มตลาดเกิดใหม่รวมถึงประเทศไทยด้วย

ด้านปัจจัยในประเทศนั้น จากดุลบัญชีเดินสะพัดที่คาดว่าจะยังเกินดุลในปีหน้าที่ระดับ 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แม้จะลดลงจากปีนี้ที่คาดว่าจะเกินดุล 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ก็ยังเป็นตัวหนุนให้เงินบาทแข็งค่า แต่อย่างไรก็ตาม มาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อลดความผันผวนของค่าเงินบาทก็จะช่วยชะลอการแข็งค่าของเงินบาทลงได้ และทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยที่อยู่ในระดับสูงยังสามารถรับมือกับการไหลออกอย่างรวดเร็วของเงินทุนได้

ทั้งนี้ กรุงศรีฯได้ประมาณการค่าเงินบาทปี 2564 ไตรมาสแรกอยู่ที่ 30.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หรือมีกรอบการเคลื่อนไหวที่ 29.50-30.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ไตรมาส 2 อยู่ที่ 29.75 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หรือมีกรอบการเคลื่อนไหวที่ 29.25-30.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ไตรมาส 3 อยู่ที่ 29.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หรือมีกรอบการเคลื่อนไหวที่ 29.00-30.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และไตรมาส 4 อยู่ที่ 29.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หรือมีกรอบการเคลื่อนไหวที่ 29.00-30.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

"ปัจจัยที่ชี้นำเงินบาทในปีหน้าเราให้น้ำหนักกับปัจจัยภายนอกเป็นหลักประมาณ 70-80% ที่เหลือเป็นปัจจัยในประเทศ รวมถึงปัจจัยอื่นที่ยังต้องติดตาม เช่น การพัฒนาและกระจายวัคซีน สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ที่อาจจะเกิดขึ้นอีก และกรณีบทสรุปของ Brexit เป็นต้น"

ด้านทิศทางเศรษฐกิจไทยในปีหน้ากรุงศรีฯคาดการณ์จีดีพีเติบโตที่ 3.3% จากปี 63 ที่คาดการณ์ติดลบ 6.4% แต่ก็ยังเป็นการฟื้นตัวที่มีความเปราะบางสำคัญอย่างการจ้างงานและหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น จึงคาดว่าธปท.จะยังคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำที่ 0.50%เช่นเดิม และใช้นโยบายการคลังเป็นหลักในการแก้วิกฤต 

สำหรับในช่วงที่เหลือของปีนี้ คาดว่าเงินบาทไม่น่าจะต่ำกว่า 30.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หลังจากมีความผันผวนมาตั้งแต่ต้นปีที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย.ที่ได้รับผลกระทบหนักสุด มีการเทขายสินทรัพย์ทั้งในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตร ส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าลง และกลับมาแข็งค่าขึ้นหลังสถานการณ์ในประเทศคลี่คลาย โดยค่าเงินบาทปัจจุบันที่ 30.20-30.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วงเดียวของปีก่อน โดย 11 เดือนที่ผ่านมา ต่างชาติเทขายสินทรัพย์ในตลาดหุ้นไทยไปแล้ว 2.6 แสนล้านบาท และขายสินทรัพย์ในตลาดตราสารหนี้ไปแล้ว 4.8 หมื่นล้านบาท

นายตรรก กล่าวอีกว่า แม้ว่าแนวโน้มค่าเงินบาทในปีหน้าจะมีความผันผวนน้อยกว่าปีนี้ แต่การซื้อประกันความเสี่ยงค่าเงินก็ยังมีความจำเป็น เพราะสถานการณ์ยังมีความไม่แน่นอนอยู่ ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการก็ควรปรับตัวโดยใช้เงินสกุลคู่ค้า หรือสกุลอื่นที่นิ่งในช่วงที่เงินดอลลาร์สหรัฐผันผวนมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น