xs
xsm
sm
md
lg

กรุงศรีคาดเงินบาทซื้อขายในกรอบ 30.10-30.45 ระยะยาวยังแข็งค่า

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 30.10-30.45 ต่อดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับระดับปิดแข็งค่าที่ 30.28 ต่อดอลลาร์สหรัฐเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยนักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทยมูลค่า 5.9 พันล้านบาท แต่ขายพันธบัตรสุทธิ 8.1 พันล้านบาท โดยคาดว่าในระยะสั้นตลาดเงินอาจเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น หลังราคาสินทรัพย์เสี่ยงปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็วตลอดทั้งเดือนพฤศจิกายนจากความชัดเจนของผลเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และการพัฒนาวัคซีนซึ่งได้ผลเป็นที่น่าพอใจ

โดยปัจจัยภายในประเทศ ตลาดจะให้ความสนใจกับสถานการณ์การเมืองและรายงานภาวะเศรษฐกิจเดือนตุลาคม ซึ่งน่าจะยังคงสะท้อนการฟื้นตัวอย่างจำกัด โดยก่อนหน้านี้ กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่า มูลค่าส่งออกเดือนตุลาคมหดตัว 6.71% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ยอดนำเข้าลดลง 14.32% ทำให้ไทยเกินดุลการค้า 2.05 พันล้านดอลลาร์ ทางด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า รัฐบาลสามารถบริหารจัดการหนี้สาธารณะและเงินงบประมาณ รองรับการออกมาตรการทางการคลังเพิ่มเติมหากจำเป็น อีกทั้งแสดงความคาดหวังให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดูแลเงินบาทต่อไปเพื่อสนับสนุนการส่งออก อนึ่ง เราประเมินว่าค่าเงินบาทอาจแกว่งตัวออกด้านข้าง (Sideways) ในระยะนี้ ขณะที่แนวโน้มระยะยาวยังคงแข็งค่าจากปัจจัยลบของเงินดอลลาร์เป็นสำคัญ

นอกจากนี้ นักลงทุนจะจับตาข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ เช่น ดัชนีภาคบริการและการจ้างงานนอกภาคเกษตร การแถลงของประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ต่อคณะกรรมการในสภา สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 หลังชาวอเมริกันเดินทางมากขึ้นช่วงเทศกาลขอบคุณพระเจ้า โดยรายงานการประชุมเฟดบ่งชี้ว่า เฟดอาจปรับเพิ่มอายุของพันธบัตรที่เข้าซื้อ และเห็นควรว่าเฟดอาจจำเป็นต้องส่งสัญญาณชี้นำที่ชัดเจนมากขึ้นในอนาคตอันใกล้เกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังนักลงทุนกลับเข้าซื้อสินทรัพย์เสี่ยงต่อเนื่องในสัปดาห์ที่ผ่านมา ด้วยปัจจัยหนุนจากภาพการเมืองสหรัฐฯ ราบรื่นมากขึ้นหลังฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีทรัมป์ได้เริ่มถ่ายโอนอำนาจให้แก่รัฐบาลภายใต้การนำของนายไบเดน นอกจากนี้ การเจรจา Brexit และการเคลื่อนไหวของราคาทองคำซึ่งปรับฐานลงมาอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 5 เดือน ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ตลาดให้ความสนใจ


กำลังโหลดความคิดเห็น