"พฤกษา" ยักษ์ใหญ่ในวงการอสังหาฯ ปรับตัวสู้วิกฤตโควิด-19 กับกลยุทธ์ "ปีแห่งการซ่อมและสร้าง" รีดไขมันองค์กรให้สลิมขึ้น เร่งทำราคาระบายสต๊อก เสริมสภาพคล่อง ทำให้สินค้ารอขายลดฮวบกว่า 10,000 ล้านบาท เผยไตรมาส 3 เริ่ม รันธุรกิจ ดันสัดส่วนโครงการฮีโร่โปรเจกต์ที่ดี ลุยปีหน้าฟ้าใหม่ เปิด 30-35 โครงการ 30,000-35,000 ล้านบาท ลั่นไม่เกิน 2 ปีข้างหน้า พฤกษารีเทิร์นสู่ผู้นำตลาด แย้มตั้งบริษัทร่วมทุนกับบิ๊กอสังหาฯ ญี่ปุ่น ชูจุดขายเทรนด์สุขภาพ
นายปิยะ ประยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2564 ว่า ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล มูลค่าการขายในตลาดประมาณ 208,994 ล้านบาท ลดลง 31% (YOY) ขณะที่ในไตรมาส 3 ปีนี้ ตัวเลขการขายกลับดีขึ้น 10% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา แต่ลดลง 21% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จำนวนสินค้าคงค้างในตลาด (Inventory) ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเพิ่มขึ้น 8% มาอยู่ที่ 207,344 ยูนิต เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของโครงการแนวราบและหากยังไม่มีปัจจัยบวกมากสนับสนุนจากสภาวะเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคของไตรมาส 4 ที่ยังชะลอตัว คาดว่าตลอดทั้งปี ภาคอสังหาฯ จะติดลบประมาณ 30%
"เรื่องกำลังซื้อภาคอสังหาฯ ต้องรอการฟื้นตัวของจีดีพี ซึ่งเราเชื่อว่าในปีหน้ารัฐบาลคงจะอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ ซึ่งอาจจะมีผลให้จีพีดี โตได้ประมาณ 3-5 เปอร์เซ็นต์ และหากเรื่องวัคซีนชัดเจน มีการเปิดรับชาวต่างชาติ ปัจจัยเหล่านี้อาจจะขับเคลื่อนให้ภาคอสังหาฯ เติบโตได้ถึง 20-30 เปอร์เซ็นต์ สิ่งที่เราต้องมองกันระยะยาว และหากยกความเป็นศูนย์กลางเรื่องสุขภาพ และเรื่องอาหาร จะขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเติบโต"
สำหรับแผนการบริหารธุรกิจท่ามกลางผลกระทบจากโควิด-19 บริษัทเริ่มปรับฐานที่ดีขึ้น หลังจากในช่วงก่อนเกิดการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้เร่งการขายโครงการและระบายสินค้าคงเหลือออกไปให้มากที่สุด ขณะที่ช่วงเกิดโควิด-19 ในไตรมาส 2 บริษัทฯ ไปเน้นการเสริมสภาพคล่อง ชะลอการเปิดโครงการ และการทำราคาเพื่อเทขายสต๊อกให้ตัวเบา ส่งผลให้สินค้าคงเหลือลดลง 31% จากปลายปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 25,132 ล้านบาท ลดต่อเนื่องมาแต่ละไตรมาส จนลงมาเหลือ 17,223 ล้านบาท และจะลดต่อเนื่อง
"จะว่าไปแล้ว ปีนี้เป็นปีแห่งการซ่อมและสร้าง องค์กร ปรับเปลี่ยนบิซิเนสโมเดล การปรับใช้ผู้รับเหมารายใหญ่มากขึ้น ซึ่งมีผลต่อต้นทุนที่ลดลง ลดจำนวนพนักงานจาก 3,000 คนเหลือประมาณ 1,000 กว่าคน จากที่เราอ้วนๆ เราสลิมขึ้น และเดินหน้า โดยไตรมาส 3 พฤกษาเริ่มกลับมาซึ่งมีไฮไลต์สำคัญในเรื่อง เปิด 6 โครงการใหม่ ไตรมาส 4 อีก 2 โครงการ รวมทั้งปี 11 โครงการ โครงการใหม่จะเป็นในกลุ่มฮีโร่โปรเจกต์ที่ดี ได้แก่ โครงการ The Plant รังสิต-อเวนิว ราคา 3-5 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาที่ตรงกับความต้องการลูกค้าโซนรังสิต เป็นทำเลที่มีฐานของพฤกษาค่อนข้างมาก และโครงการ พฤกษาวิลล์ ศรีนครินทร์-บางนา ราคา 2-3 ล้านบาท ซึ่งในปีนี้เรามั่นใจว่าจะได้ตามเป้ารายได้ 31,000 ล้านบาท ขณะที่ในปีหน้าจะไม่เน้นเปิดโครงการจำนวนมากจากที่เคยเปิด 200 โครงการ ตอนนี้จะวิ่งอยู่ประมาณ 100 โครงการ แต่จะลงลึกถึงความต้องการของลูกค้า"
ทั้งนี้ ปี 64 พฤกษาฯ จะลงทุนเปิดโครงการตามเป้าใหม่ที่วางไว้ 30-35 โครงการ มูลค่าประมาณ 30,000-35,000 ล้านบาท มีส่วนของโครงการที่เลื่อนจากปีนี้ไปเปิดปีหน้าประมาณ 20 โครงการ มูลค่ากว่า 20,000 ล้านบาท รวมถึงในปีหน้าจะมีความชัดเจน ในเรื่องการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนแห่งใหม่ กับบริษัทอสังหาริมทรัพย์จากประเทศญี่ปุ่น ที่เชี่ยวชาญในธุรกิจสุขภาพมาพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมเป็นรายโครงการ คาดว่าภาพรวมธุรกิจของพฤกษาจะมีการเติบโตไม่ต่ำกว่า 10-15% และภายในอีก 2 ปีข้างหน้า พฤกษาจะกลับมามียอดขายเหมือนปี 2562 โดยยอดขายรอรับรู้รายได้ในปี 2563-2567 มีมูลค่าประมาณ 25,605 ล้านบาท ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคอนโดมิเนียม-พรีเมียม มูลค่า 15,472 ล้านบาท รองลงมาเป็นคอนโดมิเนียม-แวลู 7,864 ล้านบาท ซึ่งกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติยังคงโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุด แต่ยกเลิกเป็นส่วนน้อยไม่ถึง 10% และคาดว่าหลังผ่านพ้นโควิด-19 ไป ยอดการขายในกลุ่มต่างชาติจะกลับมา เพียงแต่ในระยะนี้จะเน้นการโอนเป็นหลัก
"เรื่องเทรนด์สุขภาพ พฤกษาจะนำมาเสริม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่โครงการ เช่น จะเห็นในบางโครงการะดับแพง คอนโดฯ บางคอนโดฯ ในหลายเซกเมนต์อาจจะมีส่วนของแผนกดูแลสุขภาพเข้าไปอยู่ในอาคารนั้น"
นพ.กฤตวิทย์ เลิศอุตสาหกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรงพยาบาลวิมุต จำกัด ธุรกิจใหม่ของบริษัทพฤกษาฯ กล่าวว่า เดิมตามแผนที่วางไว้ที่จะเปิดให้บริการในเดือนพ.ค.2564 ซึ่งในเฟสแรกจะรองรับคนไข้ใน 100 เตียง และวางเป้าหมายภายใน 3 ปีจะเปิดให้บริการครบ ซึ่งในส่วนของงบการลงทุนของโรงพยาบาลมูลค่า 4,940 ล้านบาท ได้อยู่ในส่วนมูลค่าการของพฤกษาประมาณ 1%