แม้ภาวะตลาดหุ้นจะผันผวน ดัชนีหุ้นอยู่ในช่วงขาลง กระดานหุ้นแดงฉาน ราคาหุ้นส่วนใหญ่ทรุด แต่ หุ้นกลุ่มถุงมือยางกลับคึกคัก โดยเฉพาะบริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ STGT ซึ่งพุ่งทะยานสร้างสถิติสูงสุดนับตั้งแต่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
บริษัทจดทะเบียนที่ดำเนินธุรกิจผลิตภัณฑ์ยางพารามีอยู่ 4 แห่ง ประกอบด้วย STGT บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ STA บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NER และบริษัท ไทยรับเบอร์ลาเท็คซ์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TRUBB
ก่อนการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 หุ้นกลุ่มผลิตภัณฑ์ยางพาราไม่ได้อยู่ในความสนใจของนักลงทุนมากนัก การซื้อขายเงียบเหงา ราคาหุ้นทรุดหนักตามราคายางที่ตกต่ำ โดยบางบริษัทผลประกอบการขาดทุน
แต่ หลังเกิดวิกฤต “โควิด-19” หุ้นผลิตภัณฑ์ยางพาราคาเริ่มฟื้นขึ้น โดยเฉพาะเมื่อหุ้น STGT บริษัทลูกของ STA เข้ามาซื้อขายใสตลาดหลักทรัพย์ เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2563
STGT เป็นผู้ผลิตถุงมือยางรายใหญ่อันดับต้นๆ ของโลก นำหุ้นเสนอขายนักลงทุนเป็นครั้งแรกราคา 34 บาท โดยเป็นหุ้นใหม่ตัวแรกที่เข้าจดทะเบียนหลังเกิด “โควิด-19” และไม่ได้ทำให้นักลงทุนที่จองซื้อผิดหวัง
เพราะประเดิมซื้อขายวันแรก ราคาพุ่งขึ้นอย่างร้อนแรง เปิดซื้อขายที่ราคา 55.25 บาท ก่อนจะปิดการซื้อขายที่ 60.50 บาท สูงกว่าจอง 26.50 บาท หรือสูงกว่าจอง 77.94%
ความร้อนแรงของ STGT นอกจากจะทำให้ STA หรือหุ้นตัวแม่ได้รับอานิสงส์ ราคาขยับตามขึ้นมาแล้ว หุ้นกลุ่มผลิตภัณฑ์ยางซึ่งอยู่ในสภาพตายซาก ถูกปลุกให้กลับสู่ความคึกคักตามมาด้วย ทั้ง NER และ TRUBB ซึ่งกำลังขยับขยายการลงทุนผลิตภัณฑ์ยางพารา เพราะเล็งเห็นความต้องการของตลาด
หุ้น STGT ติดอันดันหุ้นที่มีการซื้อขายสูงสุดอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ราคาหุ้นแข็งแกร่ง เป็นขาขึ้นเต็มตัว แม้ว่าบางช่วงจะเกิดการปรับฐาน แต่ก็ดีดกลับขึ้นมาใหม่ได้ จนเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 29 ตุลาคมที่ผ่านมา ได้สร้างราคาสูงสุดใหม่ โดยระหว่างชั่วโมงซื้อขายขึ้นไปที่ 94.50 บาท ซึ่งเป็นราคาสูงสุดนับจากเข้าตลาดหลักทรัพย์ ก่อนจะปิดที่ 93.25 บาท และเป็นจุดปิดสูงสุดใหม่
ถ้าไม่มีวิกฤต "โควิด-19" หุ้นกลุ่มผลิตภัณฑ์ยางพารา รวมทั้งบริษัทที่ผลิตถุงมือยาง คงไม่ได้แจ้งเกิด เพราะผลประกอบการไม่โดดเด่น แนวโน้มธุรกิจไม่สดใส แม้แต่ STA ซึ่งปี 2562 ผลประกอบการยังขาดทุน และ 6 เดือนแรกปีนี้ก็ยังขาดทุนต่อเนื่อง เช่นเดียวกับ TRUBB
แต่วิกฤต “โควิด-19” ปลุกให้หุ้นผลิตภัณฑ์ยางพาราคืนชีพขึ้นมาใหม่ และ STGT ก็เข้ามาซื้อขายในจังหวะที่ดีมาก หุ้นจึงวิ่งระเบิดเถิดเทิงมาถึงวันนี้ โดยไม่มีใครเสียหายจากการลงทุน ไม่ว่าจะซื้อในราคาใดก็ตาม ถ้าไม่ขายหุ้นทิ้งเสียก่อน
แม้ค่าพี/อี เรโช จะสูงลิบถึง 70 เท่า แต่เพราะความเชื่อมั่นในแนวโน้มผลประกอบการที่เติบโต ทำให้นักลงทุนแห่เข้ามาไล่เก็บหุ้น STGT และนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ก็ยังเห็นว่า เป็นธุรกิจที่ยังมีความโดดเด่น ถุงมือยางยังขายดี ผลิตเท่าไหร่ไม่พอขาย
ผลกำไรงวด 6 เดือนแรกปีนี้ มีจำนวน 1,478.66 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 634.30 ล้านบาท และ คาดว่า STGT ยังรักษาอัตราการเติบโตของผลกำไรได้ต่อเนื่อง
ปีนี้เป็นยุคทองของกลุ่มถุงมือยาง แต่สายไปหน่อยที่จะตามแห่ไล่ซื้อหุ้นหรือไม่ ยังเป็นคำถามอยู่