xs
xsm
sm
md
lg

AEC-W6...ลูกอันตรายกว่าแม่ / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เบื้องหลังราคาหุ้นบริษัทหลักทรัพย์ เออีซี จำกัด (มหาชน) หรือ AEC ที่ถูกลากขึ้นอย่างเย้ยฟ้าท้าดิน สร้างประวัติศาสตร์เป็นหุ้นที่ร้อนแรงที่สุดเพียง 12 วันทำการ ราคาพุ่งทะยาน 300% เริ่มจะมีคำเฉลยแล้ว หลังตลาดหลักทรัพย์ประกาศอนุมัติให้ใบสำคัญแสดงสิทธิซื้อหุ้นสามัญ (วอร์แรนต์) AEC รุ่นที่ 6 หรือ AEC-W6 เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ วันที่ 8 ตุลาคมนี้

การเข้ามาซื้อขายของหุ้นตัวลูก หรือ AEC-W6 อาจเกี่ยวพันกับราคาหุ้นตัวแม่หรือหุ้น AEC โดยการสร้างฐานราคาหุ้นตัวแม่ เพื่อรอรับหุ้นตัวลูกที่เข้าซื้อขาย

AEC-W6 มีจำนวนทั้งสิ้น 1,530.31 ล้านหน่วย จัดสรรให้ผู้ถือหุ้นเดิมที่จองซื้อหุ้นเพิ่มทุน AEC โดย AEC นำหุ้นใหม่จำนวน 3,060.62 ล้านหุ้น จัดสรรผู้ถือหุ้นเดิมในสัดส่วน 0.4 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่ ในราคาหุ้นละ 10 สตางค์ ซึ่งผู้ใช้สิทธิจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน จะได้ AEC-W6 ฟรี ในสัดส่วน 2 หุ้นใหม่ต่อ 1 วอร์แรนต์

วอร์แรนต์รุ่นนี้มีอายุ 3 ปี สัดส่วนการแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญ 1 วอร์แรนต์ ต่อ 1 หุ้นสามัญ ราคาแปลงสภาพ 0.20 บาท

ก่อนการจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนระหว่างวันที่ 24-28 สิงหาคมที่ผ่านมา AEC มีผู้ถือหุ้นรายย่อยจำนวนทั้งสิ้น 2,377 ราย ถือหุ้นรวมกันในสัดส่วน 59.68% ของทุนจดทะเบียน แต่ปรากฏว่า AEC-W6 จำนวน 1,530.31 ล้านหุ้น ถูกจัดสรรให้กลุ่มนายประพล มิลินทจินดา ผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 41.85% ของจำนวนวอร์แรนต์ทั้งหมด จัดสรรให้กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับต้นๆ รายอื่นรวม 12 คนในสัดส่วน 54%

รวมผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับต้น 15 ราย ได้รับการจัดสรรวอร์แรนต์สัดส่วน 95.82% ของจำนวนวอร์แรนต์รุ่นที่ 6 ทั้งหมด ขณะที่ นักลงทุนรายย่อยจำนวนกว่า 2,300 ราย ถือวอร์แรนต์ ไม่ถึง 5% ของจำนวน AEC-W6 ทั้งหมด 

สัดส่วนการจัดสรรวอร์แรนต์ที่ออกมา สะท้อนให้เห็นว่า การเพิ่มทุนครั้งล่าสุดของ AEC จำนวน 3,060.62 หุ้น ผู้ถือหุ้นกลุ่มนายประพล และผู้ถือหุ้นรายใหญ่อื่นใช้สิทธิจองซื้อ ขณะที่นักลงทุนรายย่อยเกือบทั้งหมดสละสิทธิ โดยใช้สิทธิจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนไม่ถึง 5% ของหุ้นที่เสนอขาย

ราคาวอร์แรนต์ โดยทั่วไปมักจะเคลื่อนไหวตามหุ้นตัวแม่ โดยอิงราคาแปลงสภาพกับราคาหุ้นตัวแม่ที่ซื้อขายในกระดาน ซึ่ง AEC-W6 กำหนดราคาแปลงสภาพ 20 สตางค์ ถ้าราคาหุ้น AEC ซื้อขายอยู่ที่ 30 สตางค์ AEC-W6 จะซื้อขายราคาประมาณ 10 สตางค์ ซึ่งเป็นการคำนวณโดยไม่นำอายุของวอร์แรนต์มาเกี่ยวข้อง

ราคา AEC-W6 พุ่งขึ้นเท่าไหร่ กลุ่มนายประพล และผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับต้นของ AEC รวม 15 ราย จะเป็นผู้ได้รับประโยชน์สูงสุด เพราะถือวอร์แรนต์มากที่สุด และสามารถทยอยขายทำกำไรได้ตลอดเวลา

ราคาหุ้น AEC ที่ถูกลากขึ้น ถูกตั้งข้อสังเกตว่า น่าจะเป็นการสร้างฐานราคาเพื่อให้ AEC-W6 ได้อ้างอิง และหุ้นที่หมุนเวียนในมือผู้ถือหุ้นรายย่อยเหลือน้อยเต็มที จึงง่ายที่นักลงทุนขาใหญ่จะสร้างราคา

การออกวอร์แรนต์ของบริษัทจดทะเบียนทั่วไปตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมา มักมีเป้าหมายในการกระตุ้นราคาหุ้นตัวแม่ หรือเป็นเครื่องมือในการล่อให้นักลงทุนรายย่อยซื้อหุ้นเพิ่มทุน โดยนำวอร์แรนต์มาแจกฟรีเป็นของแถม

เมื่อวอร์แรนต์เข้าซื้อขาย ผู้ถือหุ้นใหญ่มักทยอยขายวอร์แรนต์ทำกำไรออกมา เมื่อวอร์แรนต์หมดอายุ นักลงทุนรายย่อยมักจะกลายเป็นผู้ถือวอร์แรนต์ติดมือ โดยจะไม่มีการไปแปลงสภาพ เนื่องจากราคาหุ้นตัวแม่ในกระดานต่ำกว่าราคาแปลงสภาพ จนต้องปล่อยให้วอร์แรนต์กลายเป็นศูนย์

แมลงเม่าที่แห่เก็งกำไรวอร์แรนต์ จึงบาดเจ็บล้มตาย จนนักลงทุนเข็ดขยาด ทำให้วอร์แรนต์หมดวามนิยม แต่ก็ มีบริษัทจดทะเบียนบางแห่งใช้วอร์แรนต์เป็นกลไกในการทำเงินในตลาดหุ้นอยู่ 

AEC เคยออกวอร์แรนต์หลายรุ่น ซึ่งส่วนใหญ่เมื่อสิ้นอายุขัย จะไม่มีการแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญ เนื่องจากราคาหุนตัวแม่ในกระดานต่ำกว่าราคาแปลงสภาพ เช่น AEC-W2 จำนวน 165.66 ล้านหน่วย สิ้นอายุเมื่อ 11 เมษายน 2560 มีการแปลงสภาพเพียง 700 หน่วย และ AEC-W4 จำนวน 114.49 ล้านหน่วย ครบกำหนดอายุ 26 พฤษภาคม 2561 มีผู้สิทธิแปลงสภาพเพียง 3,550 หน่วย

AEC-W6 แตกต่างจากวอร์แรนต์ทั่วไป เพราะเป็นวอร์แรนต์ที่หุ้นตัวแม่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกระตุ้นหุ้นตัวลูก ดังนั้น เมื่อเข้ามื้อขายจึงมีราคาขึ้นมา โดยเป็นราคาที่หักลบจากหุ้นตัวแม่ประมาณ 20 สตางค์

แต่ยังจะมีแมลงเม่าคนไหนกล้าลุยกับแม่ลูก AEC คู่นี้หรือ

หุ้นตัวแม่นับว่าอันตรายแล้ว แต่ ตัวลูก AEC-W6 ดูจะอันตรายยิ่งกว่า หลงเข้าไปเก็งกำไร แม้แต่ชีวิตอาจไม่เหลือกลับมา






กำลังโหลดความคิดเห็น