หุ้นบริษัทหลักทรัพย์ เออีซี จำกัด (มหาชน) หรือ AEC กำลังสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในตลาดหุ้น ในฐานะ หุ้นตัวแรกที่ขึ้นชนเพดาน หรือชนซิลลิ่ง 15% ติดต่อกันยาวนานที่สุด โดยซิลลิ่งติดต่อมา 8 วันทำการแล้ว
AEC เริ่มพุงทะยานตั้งแต่วันที่ 18 กันยายนที่ผ่านมา โดยปิดที่ 10 สตางค์ เพิ่มขึ้น 1 สตางค์ หรือเพิ่มขึ้น 11.11% ซึ่งถือเป็นราคาสูงสุดติดเพดาน 15% และดีดตัวขึ้นชนเพดาน 15% ต่อเนื่อง จนถึงวันที่ 29 กันยายนที่ผ่านมา
ตลอด 8 วันทำการ ราคาชนซิ่ลลิ่งทุกวัน จากราคาปิด 9 สตางค์ วันที่ 17 กันยายน ขยับขึ้นมาปิดที่ 20 สตางค์ในวันที่ 29 กันยายน โดยเพิ่มขึ้นรวม 11 สตางค์ หรือ 122.22% ส่วนมูลค่าการซื้อขายแต่ละวันส่วนใหญ่อยู่ในระดับหลายแสนบาท แต่มีหลายวันที่เคาะซื้อขายหลายล้านบาท
AEC เพิ่งประกาศเพิ่มทุนจำนวน 3,060.62 ล้านบาท โดยจัดสรรหุ้นใหม่ให้ผู้ถือหุ้นเดิม ในสัดส่วน 0.40 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่ หรือ 1 หุ้นเดิมต่อ 2.5 หุ้นใหม่ เสนอขายในราคาหุ้นละ 10 สตางค์ กำหนดชำระค่าหุ้นระหว่างวันที่ 24-28 สิงหาคมที่ผ่านมา
ในช่วงเวลาเรียกชำระค่าหุ้นใหม่ ราคาหุ้น AEC ที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เคลื่อนไหวทรงตัวในระดับ 10 สตางค์ ซึ่งถือว่าไม่จูงใจในการใช้สิทธิชำระค่าหุ้นใหม่ เพราะสามารถซื้อในกระดานราคาที่เท่ากับหุ้นใหม่ได้
แต่ ผู้ถือหุ้นเดิมได้ใช้สิทธิจองซื้อหุ้นใหม่ทั้งหมดจำนวน 3060.62 ล้านหุ้น
หลังเรียกชำระค่าหุ้นใหม่ ราคาหุ้น AEC บนกระดานยังเคลื่อนไหวระหว่าง 9-10 สตางค์ ท่ามกลางมูลค่าซื้อขายวันละไม่กี่แสนบาท เว้นแต่วันที่ 11 กันยายน ซึ่งซื้อขายกัน 43 ล้านบาท ขณะที่ราคาหุ้นปิดที่ 9 สตางค์
วันที่ 3 กันยายน หุ้นเพิ่มทุน AEC จำนวน 3,060.52 ล้านหุ้น เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ แต่ราคาหุ้นบนกระดานกลับพุ่งขึ้นชนเพดาน โดยปิดที่ 10 สตางค์ เพิ่มขึ้น 1 สตางค์ มูลค่าการซื้อขาย 2.4 แสนบาท
AEC ยังถูกแขวนป้าย “C” เนื่องจากส่วนของผู้ถือหุ้นต่ำกว่า 50% ของทุนชำระแล้ว โดยเมื่อวันที่ 11 กันยายนที่ผ่านมา บริษัทฯ แจ้งตลาดหลักทรัพย์ว่า การเพิ่มทุนครั้งล่าสุด ทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการของ AEC นับจากปี 2560 ถึง 2562 ขาดทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และงวด 6 เดือนแรกปีนี้ ขาดทุนสุทธิ 191.70 ล้านบาท เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันกับปีก่อนขาดทุน 200.43 ล้านบาท โดยมียอดขาดทุนสะสม 767.04 ล้านบาท
โครงสร้างผู้ถือหุ้น AEC ประกอบด้วย นายประพล มิลินทจินดา ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 ในสัดส่วน 23.56% ของทุนจดทะเบียน น.ส.ยุวดี วชิรปภา ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 ในสัดส่วน 10.20% โดยมีผู้ถือหุ้นรายย่อย 2,377 ราย ถือหุ้นรวมกันในสัดส่วน 59.68%
ช่วงนี้ AEC ไม่มีข่าวดีที่เป็นรูปธรรม ขณะที่ธุรกิจหลักทรัพย์ได้รับผลกระทบจากวิกฤต “โควิด-19” และการแข่งขันที่รุนแรง ทำให้คาดว่า โบรกเกอร์ส่วนใหญ่คงมีผลประกอบการขาดทุนในปีนี้ โดยเฉพาะโบรกเกอร์ขนาดเล็ก
แต่ราคาหุ้น AEC กลับพุ่งทะยานสวนทางภาวะตลาดหุ้น และแนวโน้มผลประกอบการปีนี้ที่คาดว่าจะขาดทุนต่อเนื่อง ราคาหุ้นที่ขึ้นมาอย่างหวือหวา จึงมีความไม่ปกติ
ตลาดหลักทรัพย์อาจเห็นว่า มูลค่าการซื้อขายหุ้น AEC มีไม่มาก จึงไม่ดำเนินมาตรการกำกับการซื้อขาย แม้ราคาหุ้นจะร้อนแรงมา 8 วันติดต่อกันก็ตาม
มูลค่าการซื้อขายหุ้น AEC เบาบาง น่าจะเป็นเพราะนักลงทุนไม่กล้าเข้าไปเสี่ยงกับหุ้นตัวนี้ เพราะกลัวรายการถูกลากขึ้นไปเชือด
และราคาที่ซิลลิ่งมา 8 วัน ทำให้ AEC เป็นหุ้นอันตรายที่ไม่ควรเข้าไปแตะ