แม้จะถูกจับตาในความร้อนแรงของราคา แต่ หุ้นบริษัทหลักทรัพย์ เออีซี จำกัด (มหาชน) หรือ AEC ยังพุ่งทะยานอย่างต่อเนื่อง โดย 12 วันทำการ ไม่มีวันไหนที่หยุดพักเหนื่อย
AEC เริ่มต้นวิ่งตั้งแต่วันที่ 18 กันยายนที่ผ่านมา โดยถูกลากราคาจนชนเพดานสงสุด 15% และบวกชนเพดานติดต่อกันรวม 9 วันทำการ และเป็นหุ้นตัวแรกในประวัติศาสตร์ที่พุุ่งชนเพดานยาวนานที่สุด นับจากตลาดหลักทรัพย์ปรับเพดานการขึ้นลงสูงสุดและต่ำสุดจากไม่เกิน 10% เป็นเพดาน 30%
แต่ปรับใช้ชั่วคราวในช่วงวิกฤต “โควิด-19” เป็นเพดานการขึ้นลงของราคาหุ้นไม่เกิน 15% และกลับมาใช้เพดาน 30% ตามเดิมอีกครั้ง เมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา
ราคาหุ้น AEC ปิดวันที่ 17 กันยายน ที่ราคา 9 สตางค์ ก่อนจะวิ่งมาราธอนมา 12 วันทำการ จนขึ้นมาปิดที่ 36 สตางค์ เมื่อวันจันทร์ที่ 5 ตุลาคม โดยรวมเพิ่มขึ้น 27 สตางค์หรือเพิ่มขึ้น 300% ขณะที่มูลค่าการซื้อขายจากวันละไม่กี่แสนบาท เพิ่มขึ้นมาซื้อขายวันละกว่า 10 ล้านบาท
เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม AEC เพิ่งรายงานการจัดสรรหุ้นใหม่ จำนวน 3,060.62 ล้านหุ้น โดยเสนอขายผู้ถือหุ้นเดิมในสัดส่วน 0.40 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่ ในราคาหุ้นละ 10 สตางค์ ปรากฏว่าผู้ถือหุ้นเดิมใช้สิทธิจองซื้อหุ้นครบตามจำนวน และลูกหุ้นเข้าซื้อขายวันที่ 3 กันยายนที่ผ่านมา ขณะราคาหุ้นปิดที่ระดับ 9-10 สตางค์อยู่แรมเดือน ก่อนจะถูกลากขึ้นในวันที่ 18 กันยายน
ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ไม่มีข่าวความเคลื่อนไหวในธุรกรรมของบริษัทที่จะมีผลต่อราคาหุ้น นอกจากความเคลื่อนไหวของ นายประพล มิลินทจินดา ผู้ถือหุ้นใหญ่ ซึ่งภายหลังการเพิ่มทุน สัดส่วนการถือหุ้นเพิ่มขึ้นเป็น 35.19% ของทุนจดทะเบียน และประกาศจะลดสัดส่วนการถือหุ้นให้ไม่เกิน 25% ของทุนจดทะเบียนภายในวันที่ 14 กันยายน จึงไม่ต้องจัดทำคำเสนอซื้อหุ้นหรือเทนเดอร์ออฟเฟอร์
และเมื่อวันที่ 11 กันยายน AEC ได้แจ้งถึงการซื้อขายหุ้นรายใหญ่ หรือบิ๊กล็อต โดยนายประพล ได้ขายหุ้นในสัดส่วน 10.95% ของทุนจดทะเบียนให้นายลุชัย ภุขันอนันต์ ในราคาหุ้นละ 9 สตางค์ ทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของนายประพล เหลือ 24.97% ส่วนนายลุชัย ถือหุ้นในสัดส่วน 10.99% ของทุนจดทะเบียน จากเดิมที่ถือหุ้นอยู่ 0.05%
นอกจากนั้น มีรายการได้มาหุ้น AEC ของผู้ถือหุ้นใหญ่รายอื่นๆ
นอกเหนือจากการได้มาและจำหน่ายของผู้ถือหุ้นรายใหญ่หลายรายแล้ว ไม่มีข่าวในเชิงบวกกับ AEC แต่ราคากลับพุ่งทะยาน ท่ามกลางเสียงเตือนของโบรกเกอร์หลายแห่งที่แนะนำ ให้นักลงทุนหลีกเลี่ยงหุ้นตัวนี้ เพราะความเสี่ยงสูง ราคาที่พุ่งทะยานขึ้นมา ไม่มีปัจจัยพื้นฐานรองรับ และผลประกอบการยังขาดทุนต่อเนื่อง
ไม่มีใครให้คำตอบได้ว่า ทำไม AEC จึงร้อนจัด นอกจากคาดเดากันว่า น่าจะมีนักลงทุนรายใหญ่เข้ามาลาก และรอจังหวะให้แมลงเม่าแห่เข้าไปเก็งกำไร เพื่อทุบขายทำกำไร
ความร้อนแรงของหุ้น AEC โดยสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในตลาดหุ้น เพราะถูกลากขึ้นซิลลิ่ง 9 วันติดต่อ กำลังมีรูปแบบเดียวกับหุ้นบริษัท รัตนะการเคหะ จำกัด หรือ RR ของคุณหญิงพัชรี ว่องไพฑูรย์ (รัตตกุล) ในช่วงต้นปี 2536
RR ได้รับสมญา เป็นหุ้นคู่แฝดอภินิหารกับบริษัทเงินทุน เฟิร์สซิตี้ อินเวสท์เมนท์ จำกัด หรือ FCI ซึ่งคุณหญิงพัชรี ถือหุ้นใหญ่เหมือนกัน
หุ้น RR เคยถูกลากขึ้นชนเพดานสูงสุด 10% ติดต่อกันประมาณ 10 วัน ราคาจากที่เคยเคลื่อนไหวระดับ 30 บาท ถูกลากขึ้นไปสูงสุดที่ 300 บาท ก่อนที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทัพย์ (ก.ล.ต.) ยุค นายเอกกมล คีรีวัฒน์ เป็นเลขาธิการ จะประกาศกล่าวโทษการปั่นหุ้น 4 บริษัท
ประกอบด้วย หุ้น RR หุ้น FCI หุ้นบริษัท กฤษดามหานคร จำกัด (มหาชน) หรือ KMC และหุ้นธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCIB โดยมีผู้ถูกกล่าวโทษรวม 30 คน เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2536
หุ้น RR ถูกทุบขายติดฟลอร์ติดต่อกันประมาณ 14 วัน และมีปัญหาฐานะทางการเงินตามมา จนถูกเพิกถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์
AEC กำลังถูกลากขึ้นอย่างหวือหวา และไม่อาจคาดหมายได้ว่าจะลากกันไปอีกไกลขนาดไหน แมลงเม่าจะกล้าเสี่ยงตายเข้าไปเล่นหรือไม่
ตลาดหลักทรัพย์ทนนั่งดูการลากหุ้น AEC อย่างเย้ยฟ้าท้าดินต่อไปไม่ไหวแล้ว และสอบถามไปยังบริษัทถึงการดำเนินการใดที่อาจมีผลต่อราคาหุ้น แต่ได้รับการตอบกลับว่า บริษัทยังไม่การดำเนินการใดที่มีผลต่อราคาหุ้น
ราคาหุ้น AEC ที่ลากกันขึ้นมา 300% จึงไม่มีเหตุผลใดสนับสนุน นอกจาก ขาใหญ่ที่ยังเป็นโม่งอยู่เบื้องหลัง