บริษัท ซี.พี.แลนด์ จำกัด (มหาชน) เป็น 1 ใน 10 กลุ่มธุรกิจในเครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนสายงานธุรกิจต่างๆ ให้มีการเติบโตไปพร้อมกับบริษัทแม่ โดยอาณาจักร ซี.พี.แลนด์ฯ ยิ่งใหญ่มากขึ้นและมั่นคง ผ่านการรุกคืบใน 7 ธุรกิจหลักที่สำคัญ ได้แก่ 1.ธุรกิจโรงแรม 2.ธุรกิจที่พักอาศัย บ้าน คอนโดมิเนียม 3.ธุรกิจอาคารสำนักงาน 4.ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมซีพีจีซี 5.ธุรกิจบริหารอาคาร 6.ธุรกิจพลังงานและศูนย์ประชุม และ 7.แสดงสินค้านานาชาติขอนแก่น
แต่ท่ามกลางวิกฤตที่เกิดจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ปลายปี 2562 ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ได้ก่อผลกระทบเป็นวงกว้างทั้งต่อภาพรวมเศรษฐกิจ ธุรกิจต่างๆ ไม่เว้นแม้แต่องค์กรขนาดใหญ่ระดับโลก ต้องขาดทุนและล้มละลายเป็นจำนวนมาก ซึ่งมหันตภัยจากโควิด-19 นับว่าร้ายแรงยิ่งกว่า "สงครามโลก" ที่สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อมนุษยชาติ ไม่เว้นแม้เชื้อชาติ ศาสนา และเผ่าพันธุ์
โดย "นายสุนทร อรุณานนท์ชัย" กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร โรงแรมในเครือฟอร์จูน บริษัท ซี.พี.แลนด์ จำกัด (มหาชน) ผู้ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการธุรกิจมามากกว่า 40 ปี และถือเป็น หนึ่งในเสนาบดีเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้สะท้อนมุมมองสำคัญต่อผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลก รวมถึงจุดยืนของประเทศไทยที่จะรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างไร
โดยนายสุนทร กล่าวว่า สำหรับซี.พี.แลนด์ฯ เรามีการปรับตัว ปรับเยอะ แต่ทำอะไรได้ไม่มาก ไม่กล้าพูด พูดมากไม่ได้ วันนี้มีแต่ให้กับให้ เราช่วยคนตั้งเยอะ เราอยากให้ เพราะคนอื่นแย่กว่าเรา วันนี้คนไทยต้องช่วยกัน และไม่มีอะไรดีไปกว่าทำให้คนอื่นมีความสุข
"ผมได้บอกทุกคน (บุคลากร) เรายังอยู่ในบริษัท ยังมีเงินเดือนกิน ถ้าคนเหล่านี้ว่างงาน จะลำบาก วันนี้ ซี.พี.แลนด์ มีโรงแรมเปิดอยู่ 12 แห่ง หางาน (รายได้) ยากที่สุดตอนนี้โรงแรมหมดสิทธิ (หมายถึง โรงแรม แกรนด์ เมอร์เคียว ฟอร์จูน) ตรงนี้นักท่องเที่ยวต้องบินเข้ามา แต่จะเห็นว่าสายการบินจำนวนมากไม่สามารถให้บริการกับนักท่องเที่ยวได้ สายการบินเจ๊ง โรงแรมก็มีสภาพไม่ต่างอะไรกับสายการบิน และเมื่อไหร่จะเปิดน่านฟ้า เราคงไม่อยากจะพูดให้เสียความรู้สึก แต่คงอีกนานเลย คนไทยมีบุญ ที่ไวรัสโควิด-19 ไม่แพร่กระจาย"
แต่สิ่งที่นายสุนทร ย้ำคำพูดเสมอ (กับผู้สื่อข่าว) ว่า สิ่งสำคัญ เราต้องรักษาชีวิตไว้ก่อน อย่างอื่นค่อยหาใหม่ ถ้าคุณถามผมนะ ชีวิตมันมีค่ามากกว่าทุกอย่าง และถ้าเราเปิดให้เต็มที่ (น่านฟ้า) ตายไม่รู้เท่าไหร่ ชีวิตเรา ถ้ามันถอยหลังซะหน่อย ก็ไม่เป็นไร ค่อยก้าวต่อ วันนี้ เราถอยหลังแน่ แต่เราไม่ใช่คนเดียว (ประเทศต่างๆ) ก็ถอยหลัง แต่เราถอยหลังเพื่อรักษาชีวิตไว้ ชีวิตมันมีค่า ชีวิตซื้อด้วยเงินไม่ได้ วันนี้เราต้องรักษาชีวิตไว้ เราต้องช่วยกัน และคนไทยต้องทำงานหนักขึ้น
ผมทำลาย "ไซโล" ลดขั้นตอนทำงาน ปรับโครสร้างใหม่
สำหรับในยุคที่เกิดวิกฤตจากโควิด-19 เราต้องให้กำลังใจกัน วันนี้ทุกคนตามผม เพราะอายุราว 70 ปี ผมประชุมทุกวัน วันละ 2-3 รอบ ให้กำลังใจแต่ละทีมงาน ไม่ให้จิตใจห่อเหี่ยว ใจเขาใจเรา เราเป็นผู้นำ เราโชว์เราแย่ มันไม่ได้ ผมทำงานเยอะมาก เยอะกว่าปกติหลายเท่า ก่อนโควิด-19 ผมอยู่บ้านทำงานประมาณ 10 กว่าชั่วโมงต่อวัน เราไม่เดินหนี เราคิดว่า อะไรจะเกิด อะไรจะเกิด เตรียมพร้อม เตรียมพร้อม ผมเปลี่ยนหมดเลย ทุกคนตกใจที่ผมกล้าเปลี่ยน ผมเปลี่ยนเพื่อความอยู่รอด เราให้คนอื่นอยู่รอด เราถึงอยู่รอด
โดยสิ่งที่เรา (ซี.พี.แลนด์) ทำ ได้แก่ ประการแรก เปลี่ยนเรื่องการบริหารจัดการ ผมทำลายขั้นตอนที่ซ้ำซ้อนลงไปเยอะ จากเดิมเป็นบริษัทเล็ก แต่เมื่อเติบโตขึ้นมาเป็นองค์กรขนาดใหญ่ ขั้นตอนต่างๆ เยอะ ซึ่งในใจผม อยากกลับไปสู่ขั้นตอนที่น้อยที่สุด หรือเรียกว่า การทำลายไซโล ถ้าองค์กรเป็นบล็อก บล็อก ผมถึงเหนื่อย
ประการที่สอง หลังโควิด-19 เรากำหนดโครงสร้างใหม่ โดยสร้างบุคลากรระดับล่างขึ้นมา มีการกำหนดหน้าที่ ไม่งั้นบุคลากรเหล่านี้จะขึ้นมาช้า เราจะอยู่ตลอดกาลได้ที่ไหน วันนี้ เราอยู่ตรงนี้ ต้องรีบทำ
"โควิด-19 ทำให้เราเห็นอะไรเยอะ จากที่เราคิดว่า ต้องเป็นอย่างนั้น ต้องเป็นอย่างนี้ วันนี้ ยิ่งกว่าสงครามโลก ยิ่งกว่าเกรท ดีเปรสชัน หนักกว่าต้มยำกุ้ง เพราะวิกฤตปี 2540 ปัญหาแค่กระจุกเดียว แต่ ไวรัสโควิด-19 ทำลายทั่วโลก ทุกอย่างเชื่อมต่อถึงกันหมด ยิ่งใหญ่ก็ยิ่งแย่ แต่เราไม่ต้องการพูดเหยียบคน เราไม่พูดให้คนเสียกำลังใจ ถ้าคุณถามผม ผมจะพูดแต่ดีๆ ถ้าเราพูดว่า แย่ แล้วคนอื่นจะทำอย่างไร ผมรักษาคน รักษาลูกค้า ลูกค้าสำคัญ ถ้าเจ๊งไป หรือปิดกิจการไป ถามว่าผมจะหาลูกค้าด้วยวิธีไหน ชีวิตเราควรให้ดีกว่ารับ เขาแย่ (ลูกค้า) เราดีคนเดียว เป็นไปไม่ได้" นายสุนทร กล่าวถึงหลักการสร้างความยั่งยืนให้แก่ธุรกิจ
ซื้อโรงแรมดีกว่าสร้างใหม่ แต่ต้องรับขาดทุน 2-3 ปี
นายสุนทร กล่าวถึงภาพรวมผลจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ต่ออุตสาหกรรมโรงแรมว่า วันนี้ ถ้าจะซื้อ ซื้อได้อีกเยอะ ไม่กล้าพูด วันนี้ ซื้อดีกว่าสร้าง สร้างต้องใช้เวลา แต่ซื้อก็ดำเนินการได้เลย แต่ต้องเตรียมพร้อมที่จะรองรับผลขาดทุนไปอย่างน้อย 2-3 ปี สิ่งที่คุณซื้อมา (โรงแรม) คือใช้เงิน ไม่ใช่ได้เงิน แต่ซื้อมาเพื่อเตรียมจ่ายเงิน ไม่ใช่เรื่องการบริหารเงินนะ แต่ซื้อเพื่อวันข้างหน้า เราต้องเตรียมจ่ายเงินเป็นปีๆ แต่ถ้าทุกอย่างดี ก็ดีไป หรือแม้แต่อาคารสำนักงาน ก็ต้องลดค่าเช่าด้วยกันทั้งนั้น
"โรงแรมกว่าจะฟื้นตัวนั้น เท่าที่ผมได้รับข้อมูลจากผู้บริหารระดับสูงจากเชนโรงแรมระดับโลก จะเหมือนเดิมก่อนเกิดการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้น ต้องใช้เวลา 5 ปี แต่คนของเรา (ของไทย) พูดบอกปีหน้า เป็นการพูดปลอบใจ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นของจริง เชนโรงแรมใหญ่ๆ ก็ปิดโรงแรมไปหลายแห่งแล้ว วันนี้ ปิดดีกว่าเปิด เปิดเสียเยอะ แต่ปิดอาจจะเสียไม่เท่าไหร่ เห็นชัด แต่ผมจะทิ้งคนของผมได้อย่างไร (หมายถึงปิดโรงแรม) แต่ยอมรับว่า โดยภาพรวมธุรกิจการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบกระเทือนมาก จากนักท่องเที่ยวจากจีนที่หายไปเป็นจำนวนมาก"
โดยล่าสุด ซี.พี.แลนด์ฯ ได้เปิดให้บริการโรงแรมแห่งใหม่ในจังหวัดระยองอย่างไม่เป็นทางการ (Soft Opening) ซึ่งยอดการเข้าพักควรจะดีมาก แต่บังเอิญเกิดการระบาดของไวรัส ทำให้มีการยกเลิกห้องพักทั้งหมดเลย ขณะที่นักท่องเที่ยวยังไม่กลับมา พบแต่เฉพาะคนไทยที่ออกมาเที่ยวในช่วงวันหยุดยาว หลังจากนั้น (วันธรรมดา) ก็อาจจะไม่มี ประกอบกับรัฐบาลได้มาช่วยให้คนออกมาเที่ยว ช่วยจ่ายให้แทนนักท่องเที่ยวคนไทย
"โรงแรมที่ระยองเปิดได้อาทิตย์เดียว ที่ผมพูดไปกลัวไม่ได้ทำ แต่ตอนนี้ผมเปิดโรงแรมได้แล้ว 2 แห่ง คือ โรงแรม เดอะ คอร์ทยาร์ด เขาใหญ่ (The Courtyard Khaoyai) และที่เปิดล่าสุดคือ โรงแรม ฟอร์จูน แสงจันทร์ บีช ระยอง น้องใหม่โรงแรมในเครือฟอร์จูน กรุ๊ป จะเห็นว่า ผมต้องประชุมทุกแห่ง เพราะเรามีโรงแรมกระจายอยู่ทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นโรงแรมในจังหวัดเลย แม่สอด พิษณุโลก นครพนม เชียงของ เชียงราย และโคราช"
จีนพร้อมลงทุนในนิคมอุตฯ ซีพีจีซี
นายสุนทร กล่าวถึงโครงการใหญ่ที่มีมูลค่าการลงทุนสูง และจะเป็นธุรกิจในอนาคตที่สร้างรายได้ให้แก่กลุ่มซี.พี.แลนด์ ว่า โครงการนิคมอุตสาหกรรมซีพีจีซี มีความคืบหน้า ตอนนี้ไปไกลมากแล้ว ทุกอย่างยังคงเดินหน้าต่อ เราต้องดึงนักลงทุนเข้ามา ซึ่งผมก็ไปตรวจความคืบหน้าตลอด และแม้ขณะนี้ภาพรวมเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลง และได้รับผลจากโควิด-19 แต่บริษัทมีหุ้นส่วนครึ่งหนึ่ง เป็นรัฐวิสาหกิจจีน ซึ่งรัฐบาลจีนยังคงสนับสนุนโรงงานอุตสาหกรรมเทคโนโลยีจีนมาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมซีพีจีซี ซึ่งนักลงทุนจีน แสดงความสนใจซื้อพื้นที่ตั้งโรงงานแล้ว เช่น กลุ่มโรงงานอุปกรณ์ชิ้นส่วนรถยนต์ ยางล้อรถยนต์ และอุตสาหกรรมวัสดุสมัยใหม่ เป็นต้น
"วันนี้เราพยายามเร่งทุกอย่าง เพราะที่ดินใหญ่มาก แต่เรามีเงินจากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ที่สนับสนุนวงเงิน 5,700 ล้านบาท ทั้งเป็นส่วนของอินฟราสตรักเจอร์ และอีก 700 ล้านบาท เป็นเงินทุนหมุนเวียน บริษัทที่มาร่วมกับเรา รัฐบาลจีนก็ส่งมา และมีภาคเอกชนจากจีนมาร่วมงานในครั้งนี้ ซึ่งก็มีแบงก์จากจีนพร้อมดูแลสินเชื่อด้วย"
ทั้งนี้ การลงทุนในกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งดำเนินงานโครงการนิคมอุตสาหกรรมซีพีจีซี ภายใต้การร่วมดำเนินงานกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) พัฒนาในนามบริษัท ซีจี คอร์เปอเรชั่น ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัท ซี.พี.แลนด์ และบริษัท กว่างซี คอนสตรัคชั่น เอ็นจิเนียริ่ง กรุ๊ป ตั้งอยู่ในเขต อ.บ้านค่าย และนิคมพัฒนา จ.ระยอง พื้นที่ 3,068 ไร่ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการสร้างและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายในโครงการ ด้วยงบลงทุนกว่า 5,700 ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดดำเนินการได้ภายในปี 2564 รองรับนักลงทุนใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งจะจัดสรรพื้นที่ราว 2,205 ไร่ ใช้สำหรับเป็นเขตประกอบกิจการอุตสาหกรรม และพื้นที่ราว 112 ไร่ สำหรับเขตพาณิชยกรรม พื้นที่ระบบสาธารณูปโภค 440 ไร่ และพื้นที่สีเขียวราว 309 ไร่ คาดว่าจะก่อให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายราว 56,000 ล้านบาท
7 สายงาน ขับเคลื่อนธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน
1.ธุรกิจโรงแรม สามารถกลับมาเปิดให้บริการเต็มรูปแบบอีกครั้ง เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2563
2.ธุรกิจที่พักอาศัย บ้าน คอนโดมิเนียม มี 24 โครงการ กระจายทั่วภูมิภาค เจาะกลุ่มลูกค้าระดับกลางลงล่าง
3.ธุรกิจอาคารสำนักงานในกรุงเทพฯ ได้แก่ 1.อาคาร ซี.พี.ทาวเวอร์ 1 (สีลม) เป็นอาคารสำนักงานให้เช่าสำหรับลูกค้าทั่วไปและบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ 2.อาคารซี.พี.ทาวเวอร์ 2 (ฟอร์จูนทาวน์) ศูนย์การค้าที่รวบรวมสินค้าและบริการด้าน “ไอที” 3.อาคาร ซี.พี.ทาวเวอร์ 3 (พญาไท) เป็นอาคารสำนักงานให้เช่าสำหรับลูกค้าทั่วไป (ประมูลทรัพย์มาจากธนาคารทหารไทยด้วยราคาสูงสุด 805 ล้านบาท ใช้งบปรับปรุง 100 ล้านบาท ) และล่าสุด 4.อาคาร ซี.พี. ทาวเวอร์ นอร์ธปาร์ค สำนักงานเกรดเอ มูลค่าการลงทุนใหญ่ที่สุดกว่า 1,250 ล้านบาท วางเป้าใน 3 ปีมีผู้เช่าเต็ม
ในส่วนของตลาดอาคารสำนักงานให้เช่า (ภูมิภาค) ได้ขยายธุรกิจอาคารสำนักงานให้เช่าสู่ภูมิภาคในปี 2557 เป็นผู้ประกอบการกลุ่มแรก “First Mover” ที่พัฒนาอาคารสำนักงานให้เช่าที่มีมาตรฐาน เข้าสู่หัวเมืองทั่วประเทศ ปัจจุบันมีอาคารสำนักงานให้เช่าสูง 8 ชั้น ครอบคลุม 7 จังหวัด
4.ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมซีพีจีซี อยู่ระหว่างการสร้างและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายในโครงการ ด้วยงบลงทุนกว่า 5,700 ล้านบาท คาดเปิดดำเนินการได้ภายในปี 2564
5.ธุรกิจบริหารอาคาร โดยบริษัท ซี.พี.ฟาซิลิตี้ แมเนจเม้นท์ จำกัด เครือฯ บริษัท ซี.พี.แลนด์ฯ ให้บริการด้านงานบริหารอาคารแบบครบวงจร และกลุ่มธุรกิจที่พักอาศัย
6.ธุรกิจแสดงสินค้านานาชาติขอนแก่น ภายในมีพื้นที่ขนาด 7,510 ตร.ม. และภายนอกอาคารมีพื้นที่ 4,680 ตร.ม. จุผู้ชมได้กว่า 10,000 คน เหมาะสมกับการจัดงานแสดงสินค้าทุกประเภท
และ 7.ธุรกิจพลังงาน เป็นธุรกิจที่ดำเนินการผลิต จัดหาด้านพลังงาน นอกเหนือจากการดำเนินงานระบบการจัดการพลังงานตามกฎหมายพลังงาน