อมตะฯ คงเป้ายอดขายนิคมฯ ปีนี้ที่ 950 ไร่หลังครึ่งปีแรกขายที่ดินได้ 116 ไร่ ลุ้นครึ่งปีหลังยอดขายที่ดินดีขึ้นหากการเมืองไม่บานปลาย ไม่มีโควิดรอบสอง พร้อมเดินหน้าการพัฒนานิคมฯ ภายใต้โครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะอมตะย่างกุ้ง ที่พม่า
นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) หรือ AMATA เปิดเผยว่า บริษัทฯ ยังคงเป้าหมายยอดขายที่ดินนิคมฯ ในปี 2563 ที่ 950 ไร่ แม้ว่าครึ่งแรกปีนี้ ยอดขายที่ดินในนิคมฯอยู่ที่ 116 ไร่ แต่ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับผลกระทบของการระบาดโควิด-19 ระลอกที่ 2 จะเกิดขึ้นหรือไม่ และนักธุรกิจต่างชาติสามารถเดินทางเข้ามายังในไทยได้หรือไม่ โดยหากเดินทางเข้ามาได้ ก็เชื่อมั่นว่ายอดขายจะเป็นไปได้ตามเป้าหมาย เพราะธุรกิจนี้นักลงทุนต้องการเข้ามาดูพื้นที่ด้วยตนเอง
ส่วนเรื่องการเมืองที่มีการชุมนุมกันในขณะนี้ มองว่าการชุมนุมสามารถดำเนินการได้ตามวิถีประชาธิปไตย แต่ต้องไม่บานปลายหรือมีความรุนแรง มิฉะนั้นจะส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ โดยยอมรับว่า เวียดนามเป็นประเทศเนื้อหอมที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจและมีการย้ายฐานการลงทุนไปจำนวนมาก
บริษัทฯ คาดว่าในครึ่งปีหลังนี้ยอดขายที่ดินจะกลับมาดีขึ้น หลังจากมีลูกค้านักลงทุนต่างชาติที่ต้องการเข้ามาดูพื้นที่นิคมฯอมตะได้อยู่ในลิสต์ทะเบียนรายชื่อนักธุรกิจต่างชาติที่จะเดินทางมาไทยหลายราย ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนจากจีนที่ต้องการย้ายฐานการผลิตในจีนมาตั้งโรงงานในไทย ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการกีดกันทางการค้าจากสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นอุตฯ อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ ส่วนนักธุรกิจญี่ปุ่นก็มีบ้างที่จะเข้ามาดูพื้นที่ในนิคมฯก่อนตัดสิน
ที่ผ่านมา บริษัทฯ มีการปรับกลยุทธ์การขายผ่านระบบออนไลน์โดยการไลฟ์สดในพื้นที่ป้องกันการแพร่ระบาดโควิด -19 แต่พบว่าไม่ค่อยเหมาะกับธุรกิจนี้ ทำให้ยอดขายที่ดินไม่ได้มากนัก แต่ทั้งนี้บริษัทเตรียมอาศัยพาร์ตนอร์จีนที่ทำนิคมฯระยอง (ไทย-จีน)คือ โฮลี่ กรุ๊ป ช่วยปิดดีลการซื้อขายที่ดินในนิคมฯ ได้
นายวิบูลย์กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันบริษัทฯ มียอดขายที่ดินรอโอน (Backlog) อยู่ที่ 2,157 ล้านบาท คาดว่าจะรับรู้การโอนในปีนี้ประมาณ 60-70% โดยในครึ่งปีแรกนี้บริษัทมียอดการโอนที่ดินไปแล้ว 187 ไร่ ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีการโอนที่ดิน 223 ไร่
สำหรับนิคมฯ ในต่างประเทศนั้น พบว่านักลงทุนต่างชาติสนไปลงทุนในประเทศเวียดนามจำนวนมาก รวมถึงนักลงทุนญี่ปุ่นที่ย้ายฐานจากจีนก็หันไปลงทุนที่นั่น เป็นผลจากการเมืองที่นิ่ง โดยครึ่งปีแรกนี้บริษัทฯ มียอดขายที่ดินนิคมฯ ที่เวียดนามจำนวน 10 เฮกตาร์ หรือราว 60 ไร่ จากเป้าหมายที่วางไว้ 60 เฮกตาร์ ล่าสุดมีนักลงทุนรายใหญ่สนใจที่จะซื้อที่ดินในนิคมฯ ที่เวียดนามด้วย
ส่วนการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในโครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะอมตะย่างกุ้ง ในช่วงระยะเวลาที่ 1 (Yangon Amata Smart & Eco City, YASEC) เฟสแรก ราว 2,000 เอเคอร์ หรือประมาณ 5,060 ไร่ ใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 162 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 5,022 ล้านบาท เบื้องต้นจะพัฒนาก่อนราว 10% หรือคิดเป็น 200 เอเคอร์หรือราว 500 ไร่ ขณะนี้ได้ใบอนุญาตจากหน่วยงานราชการแล้ว รวมทั้งมีนักลงทุนทั้งไทย ญี่ปุ่นและจีนให้ความสนใจลงทุนในนิคมฯ ดังกล่าว คาดว่าจะเริ่มดำเนินการพัฒนานิคมฯได้ในปีหน้า ส่วนการลงทุนด้านสาธารณูปโภคนั้น ขณะนี้บริษัทฯ ได้อยู่ระหว่างเจรจาหาพันธมิตรร่วมทุนดำเนินธุรกิจไฟฟ้า โดยมีกลุ่มบี.กริม เพาเวอร์ และ บมจ.ปตท.สนใจที่จะเข้าร่วมทุนด้วย
โครงการ YASEC เป็นการร่วมทุนระหว่างหน่วยงานราชการพม่า 20% และ Amata Asia (Myanmar) Ltd 80% ซึ่งเป็นบริษัทย่อย AMATA ถือหุ้น 100%