KTB-KKP-TISCO มีลุ้นจ่ายปันผลสูงสุดที่ 5-6% ในระบบธนาคารพาณิชย์ หลัง ธปท.ส่งสัญญาณจะให้กลับมาจ่ายปันผลได้ แต่ต้องรอดูผลทดสอบ stress test เดือน ต.ค.นี้ก่อน หากเงินสำรองเกินเกณฑ์ 12% พร้อมไฟเขียวให้จ่ายเงินปันผลได้
บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคทีบี (ประเทศไทย) ออกบทวิเคราะห์ว่า การที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะให้แบงก์กลับมาจ่ายเงินปันผลได้ แต่ต้องรอดูผลทดสอบดำเนินธุรกิจในภาวะวิกฤต หรือ stress test ของเดือน ต.ค.นี้ หากเงินกองทุนเหนือเกณฑ์ 12% จะยกเลิกการห้ามจ่ายเงินปันผล
เรามีมุมมองเป็นบวกต่อข่าวดังกล่าว โดยพิจารณาในส่วนของเงินกองทุนในปัจจุบันของแต่ละแบงก์ที่มีอยู่ 17-22% ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับสูง แต่อย่างไรก็ดี ยังต้องรอผลการทำ stress test ในเดือน ต.ค. อีกทีว่าจะผ่านขั้นต่ำที่ ธปท. ต้องการที่มากกว่า 12% หรือไม่ แต่เราเชื่อว่าแต่ละแบงก์จะกลับมาจ่ายเงินปันผลงวดปี 2020E ได้อย่างน้อยที่ระดับต่ำสุดของ %dividend payout ratio โดยเราได้ทำ scenario เพื่อดูว่าธนาคารไหนจะมี dividend yield สูงที่สุด
โดยให้สมมติฐานว่า แต่ละธนาคารมีการจ่าย payout ที่ขั้นต่ำ แต่บางธนาคารไม่ได้ระบุเป็น % เราจะใช้ payout ขั้นต่ำสุดที่แต่ละธนาคารเคยจ่ายมา พบว่า ธนาคารขนาดเล็กมี dividend yield มากกว่าธนาคารขนาดใหญ่ โดยธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) หรือ KKP ชชธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO มี dividend yield สูงที่สุด 6% และ 5% ตามลำดับ (Fig 1) ส่วนธนาคารขนาดใหญ่ที่มี dividend yield สูงที่สุดคือ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB ที่ 5%
ส่วนประเด็นเรื่องต่ออายุ debt holiday ทาง ธปท. ไม่ได้มีการบังคับให้ใช้เหมือนรอบก่อน ซึ่งเรามองว่าเป็นผลดีระยะยาวต่อกลุ่มธนาคาร โดยให้แต่ละธนาคารพิจารณาเองเป็นรายๆ ไป โดยที่ ธปท. ไม่ได้เข้ามาบังคับให้ทุกรายเหมือนรอบก่อน ซึ่งเราคาดว่า แต่ละธนาคารจะจัดการกับลูกหนี้ที่มีปัญหาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการช่วยเหลือโดยการปรับโครงสร้างหนี้ หรือการให้จ่ายเฉพาะดอกเบี้ยเพื่อลดการเร่งตัวของ NPLs หลังหมดมาตรการในช่วงเดือน ต.ค.นี้ได้
เรายังคงน้ำหนักการลงทุนในกลุ่มธนาคารเป็น “เท่ากับตลาด” ชอบธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL (ซื้อ/เป้า 120.00 บาท) เพราะเป็นธนาคารที่มีความเสี่ยงในการตั้งสำรองฯ น้อยที่สุด และมี coverage ratio สูงที่สุดในกลุ่มที่ 171% ซึ่งเป็นระดับที่รองรับความเสี่ยงในอนาคตได้ดีที่สุด