ก.ล.ต.ประกาศลงโทษ "นายณัฐพงศ์ แซ่ลี้" อดีตผู้แนะนำการลงทุน ขณะกระทำผิดสังกัดธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) โดยไม่ให้เข้ามาปฏิบัติหน้าที่เป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนเป็นเวลา 7 ปี 6 เดือน กรณีกระทำมิชอบต่อทรัพย์สิน โดยนำเงินค่าซื้อกองทุนของลูกค้า จำนวน 8 ราย ไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว ทำให้ได้รับความเสียหายเป็นเงินรวม 449,500 บาท
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้รับรายงานร้องเรียนจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมพบว่า ระหว่างเดือนมีนาคม-ตุลาคม 2560 ว่า "นายณัฐพงศ์ แซ่ลี้" ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้แนะนำการลงทุนด้านหลักทรัพย์สังกัดธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้กระทำมิชอบต่อทรัพย์สินของผู้ลงทุนโดยรับเงินค่าซื้อกองทุนของผู้ลงทุนนอกเวลาทำการ แต่ไม่ได้ทำรายการซื้อกองทุนตามคำสั่งซื้อของผู้ลงทุนในวันทำการถัดไป และนำเงินดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว ทำให้ลูกค้าได้รับความเสียหายรวม 8 ราย เป็นเงิน 449,500 บาท
ก.ล.ต.พิจารณาแล้วเห็นว่า นายณัฐพงศ์ ไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต โดยกระทำมิชอบต่อทรัพย์สินของผู้ลงทุน มีระดับโทษถึงขั้นเพิกถอนการให้ความเห็นชอบเป็นผู้แนะนำการลงทุนด้านหลักทรัพย์ แต่เนื่องจากการได้รับความเห็นชอบเป็นผู้แนะนำการลงทุนด้านหลักทรัพย์ของนายณัฐพงศ์ ได้สิ้นสุดเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2561 จึงลงโทษนายณัฐพงศ์ ไม่ให้เข้ามาปฏิบัติหน้าที่เป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนเป็นเวลา 7 ปี 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 8 สิงหาคม 2563
นอกจากนี้ ก.ล.ต.ยังพบว่า กรณีดังกล่าวมีสาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากผู้จัดการสาขาธนาคารในขณะนั้นคือ นางประไพร ส่งเสริม ละเลยการกำกับดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาให้ปฏิบัติตามระเบียบคำสั่งของธนาคารโดยเคร่งครัด ทำให้เป็นช่องทางในการกระทำดังกล่าว จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ก.ล.ต. จึงสั่งห้ามนางประไพร ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้จัดการสาขาในส่วนธุรกิจตลาดทุน และพักการให้ความเห็นชอบผู้แนะนำการลงทุนด้านตราสารซับซ้อนประเภท 2 และผู้วางแผนการลงทุน เป็นระยะเวลา 1 เดือน 10 วันด้วย แต่เนื่องจากธนาคารได้ลงโทษนางประไพร โดยห้ามนางประไพร ปฏิบัติหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการการขายผลิตภัณฑ์ด้านหลักทรัพย์ตั้งแต่วันที่ 17 มกราคม 2563 จนถึงวันที่ 16 เมษายน 2563 ซึ่งเกินกว่าระยะเวลาที่ ก.ล.ต. ลงโทษ จึงถือว่านางประไพร ได้รับโทษตามคำสั่งของ ก.ล.ต. ครบถ้วนแล้ว
ทั้งนี้ ในการพิจารณากำหนดโทษ ก.ล.ต. ได้นำปัจจัยดังต่อไปนี้มาใช้ประกอบการพิจารณาของ ก.ล.ต.ด้วย ได้แก่ บทบาทความเกี่ยวข้องและพฤติกรรมของบุคคลที่ถูกพิจารณา การลงโทษที่บุคคลนั้นได้รับไปแล้ว ผลกระทบ ความเสียหาย หรือผลประโยชน์ที่เกิดขึ้น การแก้ไขหรือการดำเนินการอื่นที่เป็นประโยชน์หรือขัดขวางการปฏิบัติงานของสำนักงาน และประวัติหรือพฤติกรรมในอดีตอื่นใดที่แสดงถึงความไม่เหมาะสมที่จะเป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน
อย่างไรก็ตาม ก.ล.ต. ขอเตือนผู้ลงทุนกรณีประสงค์ซื้อขายกองทุนควรตรวจสอบให้มั่นใจว่า ได้รับหลักฐานการซื้อขายที่ออกโดยธนาคารหรือบริษัทจัดการลงทุน (บลจ.) รวมทั้งควรนำสมุดบัญชีกองทุน (ถ้ามี) ไปปรับปรุง ณ วันทำการถัดไป เพื่อป้องกันความเสียหายอันอาจเกิดจากการไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การปฏิบัติหน้าที่ได้