ก.ล.ต.ปรับปรุงหลักเกณฑ์โครงการทดสอบและพัฒนานวัตกรรมเพื่อสนับสนุนการให้บริการในตลาดทุน (Regulatory Sandbox) โดยเพิ่มประเภทธุรกิจที่เข้าโครงการได้ให้ครอบคลุมทุกกิจกรรมในตลาดทุน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมผู้ประกอบธุรกิจที่มีนวัตกรรมสามารถทดสอบการทำธุรกิจกับลูกค้าได้จริงตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่เหมาะสมกับช่วงทดสอบ เพื่อพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพของตลาดทุนไทย
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ปรับปรุงหลักเกณฑ์โครงการทดสอบและพัฒนานวัตกรรมเพื่อสนับสนุนการให้บริการในตลาดทุน (Regulatory Sandbox) มีผลตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2563 โดยได้เพิ่มประเภทธุรกิจที่เข้าโครงการได้ให้ครอบคลุมทุกกิจกรรมในตลาดทุน ตั้งแต่กระบวนการก่อนไปจนถึงภายหลังการซื้อขาย เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบธุรกิจที่มีนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ลงทุนเข้าทดสอบการให้บริการแก่ลูกค้าได้จริง โดยยังไม่ต้องรับใบอนุญาตและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในระดับที่เหมาะสมกับช่วงการทดสอบ เช่น มีระบบงานตามมาตรฐาน จำกัดจำนวนลูกค้า และจำนวนเงินลงทุนของลูกค้าแต่ละราย
สืบเนื่องจากการเปิดรับฟังความคิดเห็นการปรับปรุงหลักเกณฑ์ Regulatory Sandbox เมื่อต้นปี 2563 ซึ่งได้รับการตอบรับจากผู้แสดงความคิดเห็นส่วนใหญ่ ก.ล.ต.ได้กำหนดให้ 4 กลุ่มธุรกิจที่เข้าทดสอบภายใต้โครงการ Regulatory Sandbox โดยเพิ่มประเภทธุรกิจใหม่ๆ ดังนี้
(1) กลุ่มตัวกลาง ได้แก่ ธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทที่ปรึกษาการลงทุน และการจัดการกองทุนส่วนบุคคล ธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าประเภทตัวแทนซื้อขาย ค้า ที่ปรึกษา และจัดการเงินทุนสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และเพิ่มการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ค้าหลักทรัพย์ จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ การจัดการกองทุนรวม และการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ (SBL)
(2) กลุ่มกระบวนการ KYC ได้แก่ กระบวนการรวบรวมและประเมินข้อมูลของลูกค้า
(3) กลุ่มบริการหลังการซื้อขาย ได้แก่ สำนักหักบัญชีหลักทรัพย์ ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ นายทะเบียนหลักทรัพย์ และเพิ่มสำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
(4) กลุ่มบริการระบบซื้อขายผลิตภัณฑ์ ได้แก่ การให้บริการระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการซื้อขายหลักทรัพย์ (Electronic Trading Platform : ETP) และเพิ่มศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ และศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า