'บมจ.ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์’ หรือ TPIPP ผู้ประกอบธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะ (RDF) และโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทิ้งรายใหญ่ของไทย โชว์ผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2563 ทำกำไรสุทธิ 1,172 ล้านบาท และรายได้รวม 2,949 ล้านบาท ดันผลงานครึ่งปีแรกทำกำไรสุทธิ 2,139 ล้านบาท และรายได้รวม 5,525 ล้านบาท เดินหน้าเพิ่มกำลังการผลิต RDF พร้อมกับยังปรับปรุงเครื่องจักรต่อเนื่อง เพื่อดัน Utilization Rate ให้ได้ตามเป้าที่ 95% หนุนเติบโตในอนาคต
นายภัคพล เลี่ยวไพรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายบัญชีและการเงิน TPIPP เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2563 มีรายได้รวม 2,949 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 1,172 ล้านบาท เติบโตต่อเนื่องจากไตรมาส 1/2563 ที่มีรายได้รวม 2,596 ล้านบาท และกำไรสุทธิที่ 967 ล้านบาท เป็นผลจากปริมาณขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 15.14% โดยผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 TPIPP มีรายได้รวมทั้งสิ้น 5,525 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.01% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้ 5,211 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 2,139 ล้านบาท ลดลง 4.25% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่ทำได้ 2,234 ล้านบาท เนื่องจากเกิดเหตุขัดข้องจากสายส่งส่วนกลางใน Q1/2563
บริษัทฯ อยู่ระหว่างการเพิ่มกำลังการผลิต RDF เพื่อขายให้แก่ TPIPL (บริษัทแม่) ซึ่งอยู่ระหว่างการปรับปรุงเครื่องจักรเพื่อให้สามารถรองรับเชื้อเพลิงที่หลากหลายชนิดได้ โดยหลังจากการปรับปรุงแล้วเสร็จ TPIPL จะสามารถลดต้นทุนทางด้านพลังงานลง ในขณะที่ TPIPP จะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขาย RDF ซึ่งถือว่าเป็น win-win situation สำหรับทั้ง 2 บริษัท นอกจากนี้ ทางบริษัทฯ ยังอยู่ในระหว่างการเตรียมปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าของหม้อต้มไอน้ำ (Boiler) ต่อเนื่อง เพื่อให้การผลิตไฟฟ้าของบริษัทฯ มีเสถียรภาพแม้อยู่ในช่วงปิดซ่อมบำรุง อีกทั้งจะทำให้อัตราการใช้กำลังการผลิต (Utilization Rate) เพิ่มขึ้นเป็นไม่ต่ำกว่า 95% ตลอดเวลาทั้งปี โดยคาดว่าการปรับปรุงจะแล้วเสร็จในช่วง Q4/2563
สำหรับความคืบหน้าการพัฒนาโครงการพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ (SEZ) บริษัทได้ซื้อที่ดิน ณ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เพื่อพัฒนาโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ไปสู่เมืองต้นแบบที่ 4 อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ในฐานะเมืองอุตสาหกรรมแห่งอนาคตตามนโยบายของรัฐบาลที่จะพัฒนาและบริหารพื้นที่ชายแดนภาคใต้เพื่อความสงบและมั่นคงของประเทศ โดยคณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภายใต้ (ศอ.บต.) เสนอกำหนดให้พื้นที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้เป็นการเฉพาะกิจตามพระราชบัญญัติการบริหารราชการ จัดการชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 และให้บริษัทเสนอแผนดำเนินการโครงการมูลค่าการลงทุน 396,000 ล้านบาท เพื่อให้มีการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค สร้างอาชีพแก่ประชาชนในพื้นที่ และเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ต่อมาเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในการพัฒนาโครงการดังกล่าว และให้ ศอ.บต. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ
เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2563 ศอ.บต. ได้มีหนังสือถึงบริษัทแจ้งให้บริษัททราบว่า ศอ.บต. ได้เสนอให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) พิจารณาให้ความเห็นชอบด้วยแล้ว ตามการประชุม กพต. ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2562 และเสนอคณะรัฐมนตรีรับทราบและเห็นชอบแล้ว เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2563 ในขณะนี้ ศอ.บต. ได้ประสานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับแผนการลงทุนภาคเอกชน ได้ไปดำเนินการต่อไป เช่น กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย และองค์การบริหารจังหวัดสงขลา พิจารณาดำเนินการปรับเปลี่ยนผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน ให้สอดรับการลงทุนพัฒนาโครงการตามแผนลงทุนเร่งด่วนของเอกชน และกระทรวงพลังงาน พิจารณาสนับสนุนกำลังผลิตไฟฟ้าให้เพียงพอต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (Power Development Plan) เป็นต้น รวมทั้งมีข้อเสนอให้ภาคเอกชนมีหน้าที่ต้องดำเนินการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environment Impact Assessment : EIA) และหรือการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Environment and Health Impact Assessment : EHIA) แล้วแต่กรณี เพื่อให้เกิดการพัฒนาไปพร้อมกันในปี พ.ศ.2564 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ กรณีการประสานงานมวลชน ภาคประชาชน ภาคประชาสังคมในพื้นที่ 3 ตำบล ของอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ขอให้บริษัทประสานงานและทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับคณะทำงานตามที่ ศอ.บต. จัดตั้งตามข้อเสนอของประชาชนในพื้นที่เพื่อรองรับกระบวนการทำงานของภาคเอกชนผ่านพลังภาคประชาชน เพื่อให้การทำงานมีความเป็นเอกภาพ เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาพื้นที่และการพัฒนาประชาชนอย่างแท้จริงและเป็นไปตามเป้าหมายของโครงการที่ต้องการให้อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เป็นพื้นที่เศรษฐกิจเฉพาะที่มีความสมบูรณ์ ครบวงจรและเป็นกลไกสำคัญขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจทั้งระบบครบวงจรของอนุภูมิภาคใต้ตอนล่าง ที่สามารถเชื่อมโยงไปยังพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งยังเชื่อมโยงการพัฒนาเศรษฐกิจไปยังประเทศอื่นๆ ทั่วโลก อันจะทำให้จังหวัดชายแดนภาคใต้มีพื้นที่ปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญของการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สามารถรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาวต่อไปได้ เช่นเดียวกับภูมิภาคอื่น ๆ ของประเทศไทยต่อไป และขอให้บริษัทดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปตามแนวทางตามกฎหมาย มติคณะรัฐมนตรี ระเบียบ คำสั่ง แนวทางปฏิบัติของส่วนราชการอย่างเคร่งครัดด้วย นายภัคพล กล่าว