ดัชนีหุ้นไทยมีโอกาสหลุด 1,300 จุด แม้สภาพคล่องล้นระบบ แต่ความกังวลต่อโควิด-19 ยังคงกดดันให้นักลงทุนไม่กล้าเสี่ยง หนำซ้ำสงครามการค้ายังถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อหลายอุตสาหกรรม อีกทั้งการเมืองในประเทศกำลังกรุ่นกลิ่นอายความขัดแย้ง หากสถานการณ์ความร้อนแรง จะสร้างความน่ากังวลให้ตลาดมากขึ้น รบกวนการปรับขึ้นของดัชนีตลาดหุ้นต่อเนื่อง
ทำให้พอสรุปได้ว่า ช่วงเวลาที่เหลือของปี 2563 ด้วยสภาพคล่องที่ล้นระบบจากการอัดฉีดของธนาคารกลางประเทศต่างๆ และความกังวลต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 จะยังกดดันให้นักลงทุนไม่กล้าเสี่ยง โดยเลือกที่จะฝากเงินไว้กับธนาคารมากกว่า
นอกจากนี้ แม้หลายภาคอุตสาหกรรมในตลาดหุ้นไทยจะเริ่มฟื้นตัว แต่ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน อาจกลับมากดดันให้หลายอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบ และเมื่อรวมกับสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศที่กำลังคุกรุ่น อาจทำให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยกลับมาต่ำกว่า 1,300 จุดอีกครั้ง นั่นทำให้โดยรวม ปลายทางปี 2563 ของตลาดหุ้นไทยขณะนี้คงยังไม่สามารถเอ่ยปากได้ว่า “สดใส” หากแต่เหมือนแสงแดดยามเช้าที่ส่องลงมาอย่างจางๆ เพราะยังมีเมฆหมอกมาปกคลุม
ผลดำเนินงานช่วงไตรมาส 2/63 และครึ่งปีแรก 2563 ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (PTT) ซึ่งกำไรสุทธิลดลง 53.5% และ 81% ช่วยบอกได้ว่าเศรษฐกิจของประเทศไทย ณ ปัจจุบันยังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในหลายภาคอุตสาหกรรม แต่ต้องขอย้ำว่า “ปตท.” ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนอันดับหนึ่งในตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังมี “กำไร”
นอกจากนี้ สิ่งที่สะท้อนได้ชัดอีกประการจากผลดำเนินงานของ “ปตท.” นั่นคือ ภาพรวมทางธุรกิจกำลังฟื้นตัว เพราะหากเปรียบเทียบกับไตรมาสแรกปีนี้ ซึ่งโควิด-19 กำลังระบาดรุนแรงในประเทศ และราคาน้ำมันที่ลดต่ำลงอย่างมากจน PTT ขาดทุนสุทธิ 1.55 พันล้านบาท ปรากฏว่าในไตรมาส 2/63 บริษัทยังสามารถทำกำไรได้ถึง 1.2 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกกว่า 100% ทำให้หลายฝ่ายเชื่อว่าไตรมาสที่เหลือในปีนี้ ผลดำเนินงานของ “ปตท.” จะเติบโตต่อเนื่อง แม้ภาพรวมจะต่ำกว่าหลายปีก่อนหน้าก็ตาม โดยรวมทุกฝ่ายเชื่อว่า ประเทศไทยหลุดพ้นจุดต่ำสุดจากผลกระทบของการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ไปแล้ว ทำให้หลายธุรกิจกำลังอยู่ในช่วงการฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม ยังมีบางกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนักจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ และคาดว่ายังคงต้องใช้เวลาอีกสักพัก
ขณะที่ตลาดหุ้นไทย พบว่า จากจุดต่ำสุดในช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ระดับ 1,024.46 จุด มาจนถึงกลางเดือนสิงหาคม ดัชนีหลักทรัพย์รีบาวนด์ขึ้นมาแล้วกว่า 320 จุด หรือกว่า 31% ถือได้ว่าบรรยาการลงทุนโดยรวมดีขึ้น ไม่อึมครึมหรือมืดมนดังเช่นช่วงปลายไตรมาส 1/63 ที่ผ่านมา ทำให้มีบริษัทตัดสินใจเข้ามาจดทะเบียนกระจายหุ้นในตลาดเพิ่มเติม แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดในหลายประเทศทั่วโลกกำลังรุนแรงก็ตาม
“ดร.ภากร ปีตธวัชชัย” กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) คาดว่า หุ้น IPO ที่จะเข้ามาหลังจากนี้น่าจะมีอย่างต่อเนื่อง หลังเริ่มเห็นสัญญาณความเชื่อมั่นที่ดีขึ้น สังเกตจากผู้ลงทุนต่างชาติที่มีแนวโน้มขายสุทธิในตลาดหลักทรัพย์ไทยลดลง อีกทั้งเริ่มมีกิจกรรม IPO อีกครั้ง โดยในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ยังพบว่า มีบางอุตสาหกรรมปรับตัวดีกว่า SET Index โดยมี 2 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ในแดนบวก ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร และกลุ่มอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภค และในบางหมวดธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวหลังเริ่มมีการคลายล็อกดาวน์ เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อาหารและเครื่องดื่ม ของใช้ส่วนตัวและเวชภัณฑ์ อีกทั้งในเดือนกรกฎาคมยังเป็นเดือนแรกที่เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของหลักทรัพย์ที่อยู่นอกกลุ่ม SET100 ทำให้ในส่วนของมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันรวมใน SET และ mai ในเดือนกรกฎาคม 2563 อยู่ที่ 6.4 หมื่นล้านบาท ถือเป็นระดับเดียวกันกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2563 ด้านมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันรวมอยู่ที่ 6.79 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 31.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
โดยพบว่าผู้ลงทุนในประเทศมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายสูงสุดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 โดยอยู่ที่ 48.03% และนักลงทุนต่างประเทศมีแนวโน้มขายหุ้นไทยลดลง โดยในเดือนกรกฎาคมขายสุทธิเพียง 9.93 พันล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าขายสุทธิที่ต่ำที่สุดในรอบ 7 เดือน
อย่างไรก็ตาม ด้าน Forward และ Historical P/E ของตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม อยู่ที่ระดับ 21.4 เท่า และ 19.1 เท่าตามลำดับ สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 16.3 เท่า และ 17.5 เท่าตามลำดับ ขณะที่อัตราเงินปันผลตอบแทน ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2563 อยู่ที่ระดับ 3.66% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ 3.03% และจากสัญญาณที่ดีต่างๆ ที่สะท้อนถึงการเริ่มฟื้นตัวของตลาดหุ้น และเศรษฐกิจของประเทศ จึงทำให้นักลงทุนเริ่มสนใจว่า ในช่วงเวลาที่เหลือของปี 2563 ตลาดหุ้นไทยจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางใด?
“เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม” รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส จำกัด (มหาชน) แสดงความคิดเห็นว่า ปัจจัยลบในช่วงที่ผ่านมา ทั้งในเรื่องของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) นั้นนักลงทุนได้มีการตอบรับปัจจัยลบดังกล่าวไปแล้วเป็นส่วนใหญ่ โดยคาดการณ์ว่าตัวเลขในไตรมาส 2/63 ที่ออกมาน่าจะเป็นจุดต่ำสุด เช่น การขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ทางเอเซีย พลัส คาดว่าจะติดลบ 15%
ขณะที่ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน ในภาวะปกติการทำกำไรรายไตรมาสจะไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท ซึ่งในไตรมาส 1/63 ออกมาทำกำไรได้ 1.06 แสนล้านบาท ลดลงครึ่งหนึ่งของศักยภาพที่ควรจะทำได้ ส่วนในไตรมาส 2/63 คาดว่าดีที่สุดจะทำได้ใกล้เคียงกับไตรมาสแรก ทำให้ครึ่งปีแรกกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนจะอยู่ที่ 2 แสนล้านบาท ลดลงหากเทียบกับภาวะปกติ และหากครึ่งปีหลัง ไตรมาส 3 และ 4 กลับมาสู่ภาวะปกติได้ จะทำให้ปีนี้กำไรบริษัทจดทะเบียนจะอยู่ที่ 6 แสนล้านบาท สะท้อน EPS ไม่ถึง 60 บาท/หุ้น
ดังนั้น หากมองภาพรวมในไตรมาส 3/63 ช่วงกลางเดือนนี้น่าจะเห็นภาพ Bottom มากพอสมควร และน่าจะเริ่มเห็นพัฒนาการเชิงบวกมากขึ้น แต่หลังจากนั้นเนื่องจากสภาพคล่องทางการเงินล้นระบบจากการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบของหลายประเทศ รวมถึงอัตราดอกเบี้ยทุกประเทศก็อยู่ในระดับต่ำสุด น่าจะทำให้มีปริมาณเงินล้นระบบ ซึ่งเม็ดเงินเหล่านี้จะไปกระจุกรวมอยู่ที่เงินฝาก สะท้อนภาพในขณะนี้ว่านักลงทุนไม่กล้าเสี่ยงที่จะเข้าลงทุน แต่เมื่อไหร่ก็ตามเห็นแล้วว่าจุดต่ำสุดแล้ว เชื่อว่าการเคลื่อนย้ายเม็ดเงินเข้าสู่ตลาดหุ้นมีโอกาสเกิดขึ้นได้ โดยทาง บล.เอเซีย พลัส แนะนำหุ้นที่มีการเติบโต หรือเห็นการพลิกกลับในครึ่งปีหลังนี้ และหุ้นที่จ่ายปันผลดี เช่น AP, MCS, INTUCH, BEM
ด้าน “ชัยพร น้อมพิทักษ์เจริญ” รองกรรมการผู้จัดการ สายงานค้าหลักทรัพย์ บล.บัวหลวง จำกัด (มหาชน) แสดงความเห็นว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยในช่วงครึ่งปีหลัง 2563 อาจเคลื่อนไหวในกรอบ 1,280-1,450 จุด เนื่องจากปัจจุบันหุ้นไทยซื้อขายเฉลี่ยบนค่า P/E 22 เท่าของประมาณการกำไรต่อหุ้นปี 2563 และบนค่า P/E เฉลี่ย 16.7 เท่าของประมาณการกำไรต่อหุ้นปี 2564 เมื่อเทียบค่าเฉลี่ย P/E ในช่วง 10 ปีก่อนจะอยู่ประมาณ 16 เท่า ฉะนั้น การเคลื่อนไหวในทิศทางขาขึ้น หรือ December Rally ในช่วงปลายปีนี้อาจไม่เกิดขึ้น
สำหรับปัจจัยหลักที่กดดันตลาดหุ้น คือ การชะลอตัวทางเศรษฐกิจคาดว่าจะยาวนานกว่าที่นักลงทุนคาดไว้ ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัว และกำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ลดลงแรงกว่าที่คาด ทั้งนี้เป็นผลกระทบจากการล็อกดาวน์ประเทศในช่วงที่ผ่านมาจากการพยายามหยุดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบหนักที่สุดในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ทำให้กำไร บจ.อาจลดลงเฉลี่ย 40% เทียบไตรมาสแรกลดลง 25% และอาจลดลงต่ำสุดแล้ว จากนั้นจะค่อยๆ เห็นการฟื้นตัวในช่วงไตรมาส 3 และ 4 ของปีนี้ ก่อนจะกลับมาเป็นปกติในปลายปี 2564 หรืออาจใช้เวลาประมาณ 18 เดือน (1 ปี 6 เดือน)
ส่วนปัจจัยบวกที่จะสนับสนุนตลาดได้ในช่วงนี้ ได้แก่ สภาพคล่องในระบบที่สูงมาก ถัดมาคือสถานะสถาบันการเงินที่แข็งแกร่ง รวมถึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายระดับต่ำ 0.50% ต่อปี และอัตราผลตอบแทนเงินปันผลของตลาดปีนี้เฉลี่ยที่ 2-2.2% ยังสูงกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 3 ปีที่ 0.52% แต่ยังมีปัจจัยที่ต้องติดตามในช่วงนี้ คือ การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 รอบสอง รวมถึงการควบคุมผู้ติดเชื้อใหม่ในสหรัฐฯ และยุโรป และการเร่งค้นคว้าผลิตวัคซีนต้านโควิด-19
“แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอาจมีลักษณะฟื้นตัวอย่างช้าๆ ในรูป U-shaped เพราะพึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยวที่มีสัดส่วนต่อจีดีพีค่อนข้างสูง กำไร บจ.จึงฟื้นตัวในรูป U-shaped เช่นกัน แต่การฟื้นตัวของตลาดหุ้นไทยจะเป็นรูป V-shaped จึงแนะนำการลงทุนในครึ่งหลังของปีนี้ด้วยกลยุทธ์ “Sector Rotation” หรือสลับเปลี่ยนกลุ่มลงทุนเป็นรอบๆ เน้นลงทุนหุ้นผสมระหว่างหุ้นเติบโตและกองทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ให้ปันผลสูง และในช่วงตลาดยังผันผวน นักลงทุนจำเป็นต้องกระจายความเสี่ยงด้วยการลงทุนที่หลากหลายสินทรัพย์”
ดังนั้น หุ้นกลุ่มที่มีแนวโน้มกำไรเติบโตที่ดี คือ กลุ่มส่งออกอาหารประเภท หมู ไก่ ทูน่า กลุ่มบรรจุหีบห่อ และกลุ่มคอนซูเมอร์ไฟแนนซ์ ส่วนกลุ่มที่คาดว่าจะฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง คือ กลุ่มร้านอาหาร กลุ่มปิโตรเคมี กลุ่มน้ำมันและโรงกลั่น สำหรับกลุ่มที่คาดว่าจะฟื้นตัวช้า คือ กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า กลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ และกลุ่มบริการ เช่น โรงพยาบาล และท่องเที่ยว เป็นต้น ซึ่งอาจฟื้นตัวในลักษณะค่อยเป็นค่อยไปจนถึงสิ้นปีนี้หรือต้นปี 2564
“ณัฐพล คำถาเครือ” ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) แสดงความเห็นว่า ภาพรวมตลาดหุ้นไทยในช่วงครึ่งหลังเดือนสิงหาคมนี้ ดัชนีหลักทรัพย์ยังคงเคลื่อนไหวในลักษณะแกว่งตัวออกด้านข้าง เพราะแม้จะผ่านพ้นช่วงการประกาศผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไทยแล้ว แต่ยังต้องติดตามต่อว่าจะมีการปรับประมาณการกำไรของบริษัทจดทะเบียนไทยสิ้นสุดในช่วงใด และจะมีการปรับลดประมาณการลงมากน้อยเท่าใด ขณะเดียวกัน มองว่าตลาดให้น้ำหนักกับปัจจัยในปี 2563 ค่อนข้างน้อยลง เพราะมองข้ามไปยังภาวะตลาดในปี 2564 เกือบทั้งหมดมากกว่าแล้ว
ส่วนของการมีคณะรัฐมนตรี (ครม.) ใหม่ ประเมินว่าอาจต้องให้เวลาในการดำเนินการสักระยะ เพราะมีนายปรีดี ดาวฉาย ว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ซึ่งถือเป็นคนใหม่จริงๆ ที่เข้ามา นอกนั้นก็ไม่ได้เป็นคนใหม่มากนัก และเห็นฝีมือในการทำงานอยู่แล้ว ทำให้การทำงานของผู้ที่จะเข้ามาดูแลในด้านเศรษฐกิจ อาจต้องให้เวลาในช่วงแรกเริ่มสักระยะก่อน โดยด้านหนึ่งเป็นเรื่องของคนบางกลุ่มที่เริ่มไปไม่ไหว เพราะเงินเยียวยาของรัฐบาลหมดลงแล้ว ส่วนอีกด้านเป็นเรื่องการกลับมาเริ่มต้นดำเนินธุรกิจอีกครั้ง ซึ่งแม้จะอนุญาตให้เปิดกิจการแล้ว แต่ลูกค้าและรายได้ไม่ได้มีมากเท่าเดิม และอีกด้านหนึ่งก็ถูกเรียกร้องจากกลุ่มผู้ชุมนุม ทำให้ทีมบริหารเศรษฐกิจจะต้องเร่งพลิกสถานการณ์ จึงมองว่าเดือนสิงหาคม อาจยังไม่ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงมากนัก
ทำให้คาดว่ากรอบการเคลื่อนไหวของดัชนีคงไม่ได้กว้างนัก อยู่ที่ระดับ 1,280-1,380 จุด โดยสาเหตุที่ให้ระดับแนวรับต่ำกว่า 1,300 จุด เพราะมีความเป็นไปได้ที่ดัชนีจะถอยหลุดระดับดังกล่าวลงมาได้อีกครั้ง หากสถานการณ์การเมืองไทยมีความร้อนแรง และสร้างความน่ากังวลให้แก่ตลาดมากขึ้น อีกทั้งเชื่อว่าปัจจัยความร้อนแรงของการเมืองไทยนี้จะเป็นปัจจัยรบกวนการปรับขึ้นของตลาดหุ้นต่อเนื่อง
ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศที่ต้องติดตาม หลักๆ ได้แก่ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีน เพราะก่อนหน้านี้สถานการณ์ความตึงเครียดค่อยๆ ขยับมาจากการทำสงครามการค้าระหว่างกันมาเป็นสงครามทางการทูต และสงครามเทคโนโลยี สุดท้ายอาจเข้าสู่การล้มข้อตกลงทางการค้าที่ทำร่วมกัน ซึ่งหากทั้ง 2 ประเทศล้มข้อตกลงระหว่างกัน จะทำให้ช่องว่างในการปรับระดับลงของดัชนีหุ้นมีมากขึ้นกว่าที่ประเมินไว้เบื้องต้น เพราะผลกระทบของล้มข้อตกลงระหว่างกัน ไม่ได้กระทบแค่ 2 ประเทศเท่านั้น แต่กระทบกับซัปพลายเชนทั้งระบบทั่วภูมิภาค เช่่น ช่วงที่มีการตั้งกำแพงภาษีการค้าระหว่างกันในระดับที่สูงมากๆ ก็มีการโยกย้ายฐานการผลิต หรือปรับเปลี่ยนช่องทางการซื้อวัตถุดิบ และชะลอคำสั่งซื้อ ซึ่งผลกระทบจากสงครามการค้าทำให้ปี 2562 หุ้นที่ผูกกับจีนมากๆ เช่น กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเคมี ไม่สดใสเท่าที่ควร
“ณัฐกฤติ เหล่าทวีทรัพย์” หัวหน้าที่ปรึกษาการลงทุนทิสโก้เวลธ์ ธนาคารทิสโก้ กล่าวว่า ในปีนี้การลงทุนในตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทนที่ไม่ดีนัก โดยตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันหุ้นไทยให้ผลตอบแทนติดลบราว 16% สาเหตุหลักเป็นเพราะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจชะลอตัวลงจากการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU) คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 63 จะติดลบ 6.4% ถือว่าติดลบมากที่สุดนับตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้ง
ดังนั้น จากปัจจัยลบดังกล่าวย่อมส่งผลต่อผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไทย โดย บล.ทิสโก้ คาดว่า บริษัทจดทะเบียนไทยในไตรมาส 2/63 จะมีกำไรประมาณ 9.97 หมื่นล้านบาท ลดลง 45% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะเดียวกัน หากดูตัวเลขผลประกอบการไตรมาส 2/63 ของบริษัทที่อยู่ในกลุ่มเมกะเทรนด์ของโลก เช่น กลุ่มอีคอมเมิร์ซ กลับเติบโตสวนทาง โดยนักวิเคราะห์จาก Factset คาดว่ากำไรในไตรมาสที่ 2/63 จะเติบโตได้ 11%
และจากการเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มเมกะเทรนด์ หนุนให้ราคาหุ้น และราคาหน่วยลงทุนของกองทุนที่ลงทุนในบริษัทเหล่านี้เติบโตดีอย่างมาก โดยกองทุน Amplify Online Retail ETF (IBUY : US) ซึ่งเน้นลงทุนในบริษัทที่เกี่ยวข้องกับบริษัทที่ธุรกิจมีรายได้หรือได้รับประโยชน์จากช่องทางจำหน่ายผ่านทางออนไลน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันให้ผลตอบแทนถึง 79% ขณะที่กองทุน Credit Suisse Lux Digital Health Equity Fund (CSGDIBU : LX) ซึ่งเน้นลงทุนในบริษัทที่เกี่ยวข้องกับบริษัทที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการนำเสนอผลิตภัณฑ์หรือบริการทางการแพทย์ (Digital Health) ทั่วโลกตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันให้ผลตอบแทน 42%
จะเห็นได้ว่าหุ้นกลุ่มเมกะเทรนด์มีอัตราการเติบโตอย่างโดดเด่นท่ามกลางเศรษฐกิจที่เข้าสู่ภาวะถดถอย และกองทุนที่ลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าเมื่อเทียบกับหุ้นไทย ดังนั้น ทิสโก้เวลธ์จึงแนะนำให้นักลงทุนเลือกกองทุนหุ้นกลุ่มเมกะเทรนด์มาเป็นสัดส่วนหลักของการจัดพอร์ตการลงทุน แทนการกระจายการลงทุนไปยังหุ้นไทย และแทนการกระจายการลงทุนไปยังสินทรัพย์รายประเทศ เพื่อลดผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจขาลง และยังเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนในระดับสูง ตามศักยภาพการเติบโตของหุ้นกลุ่มเมกะเทรนด์ที่จะโตต่อเนื่องไปอีก 5-10 ปี โดยนักลงทุนไม่จำเป็นต้องปรับพอร์ตบ่อยครั้ง
ขณะเดียวกัน แม้ในช่วงที่ผ่านมาราคาหุ้นไทยจะปรับลงมามากแล้ว แต่ทิสโก้เวลธ์ยัง ไม่แนะนำให้เข้าลงทุน เพราะปัจจัยเสี่ยงจากการแพร่ระบาดโควิด-19 อาจจะทำให้เศรษฐกิจไทยใช้เวลานานในการฟื้นตัว โดยเฉพาะการที่ไทยพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวในระดับสูง ดังนั้น การลงทุนในหุ้นเมกะเทรนด์ที่มีโอกาสเติบโตที่ดีน่าจะเป็นทางเลือกเดียวที่จะสร้างผลตอบแทนที่น่าสนใจในยามที่เศรษฐกิจอยู่ในช่วงขาลง และจากมุมมองของนักวิเคราะห์ค่ายต่างๆ ที่ นำเสนอ ทำให้พอสรุปได้ว่าช่วงเวลาที่เหลือของปี 2563 ด้วยสภาพคล่องที่ล้นระบบจากการอัดฉีดของธนาคารกลางประเทศต่างๆ และความกังวลต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จะยังกดดันให้นักลงทุนไม่กล้าเสี่ยง โดยเลือกที่จะฝากเงินไว้กับธนาคารมากกว่า
นอกจากนี้ แม้หลายภาคอุตสาหกรรมในตลาดหุ้นไทยจะเริ่มฟื้นตัว แต่ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน อาจกลับมากดดันให้หลายอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบ และเมื่อรวมกับสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศที่กำลังคุกรุ่น อาจทำให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยกลับมาต่ำกว่า 1,300 จุดอีกครั้ง นั่นทำให้โดยรวม ปลายทางปี 2563 ของตลาดหุ้นไทยขณะนี้คงยังไม่สามารถเอ่ยปากได้ว่า “สดใส” หากแต่เหมือนแสงแดดยามเช้าที่ส่องลงมาอย่างจางๆ เพราะยังมีเมฆหมอกมาปกคลุม