หลังจากบริษัท สหวิริยาสตีล อินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ SSI ถูกเพิกถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์ไปก่อนหน้า ก็ถึงคิวของ บริษัท ริช เอเชีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ RICH และบริษัท เคเทค คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTECH ที่จะถูกเพิกถอนตามมา
ตลาดหลักทรัพย์ประกาศเพิกถอน RICH และ KTECH ในวันที่ 19 สิงหาคมนี้ เนื่องจากไม่สามารถแก้ไขเหตุแห่งการเพิกถอนการเป็นบริษัทจดทะเบียนได้ตามกำหนด และจะเปิดให้ซื้อขายหุ้นเป็นครั้งสุดท้าย 7 วันทำการ ระหว่างวันที่ 7-18 สิงหาคม
ผู้ถือหุ้นบริษัทจดทะเบียนทั้ง 2 แห่ง มีโอกาสตัดสินใจอีกครั้งว่า จะถือหุ้นต่อไปเพื่อรอคอยการฟื้นฟูของบริษัท หรือจะตัดสินใจขายหุ้นทิ้ง ก่อนที่หุ้นจะหมดสภาพคล่องการซื้อขาย เมื่อถูกตะเพิดพ้นตลาดหุ้น
RICH ถูกตลาดหลักทรัพย์ขึ้นเครื่องหมาย SP พักการซื้อขายตั้งแต่วันที่ 11 พฤษภาคม 2560 โดยราคาปิดครั้งสุดท้ายยืนอยู่ที่ 7 สตางค์ ส่วน KTECH ถูกขึ้นเครื่องหมาย SP พักการซื้อขายหุ้น ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2553 ราคาปิดครั้งสุดท้ายอยู่ที่ 10 สตางค์
โครงสร้าง ผู้ถือหุ้น RICH ประกอบด้วยกลุ่มจุฬางกูร เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับหนึ่ง โดยถือหุ้นในสัดส่วนประมาณ 13% ของทุนจดทะเบียน โดยมีผู้ถือหุ้นรายย่อย จำนวน 7,198 ราย ถือหุ้นรวมกันสัดส่วน 84.64% ของทุนจดทะเบียน
ขณะที่โครงสร้าง ผู้ถือหุ้น KTECH มีนางอายุพร กรรณสูต เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ในสัดส่วน 21% ของทุนจดทะเบียน มีผู้ถือหุ้นรายย่อย จำนวน 2,881 ราย ถือหุ้นรวมกันในสัดส่วน 71.30% ของทุนจดทะเบียน
RICH และ KTECH ใช้เวลาหลายปีในการฟื้นฟูกิจการและแก้ไขเหตุแห่งเพิกถอน แต่ไม่สามารถฟื้นฟูการดำเนินงานได้ภายในเงื่อนไขเวลาที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนด จึงถูกเพิกถอนตามขั้นตอน ซึ่ง ไม่อาจคาดหมายได้ว่าจะมีโอกาสฟื้นฟูกิจการได้สำเร็จหรือไม่
เพราะพิจารณาจากผลประกอบการล่าสุดก็ยังขาดทุน โดยเฉพาะ RICH ซึ่งยอดขาดทุนสุทธิสูงกว่ารายได้รวมเสียอีก
ผู้ถือหุ้นรายย่อยทั้ง 2 บริษัท มีจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 10,000 ราย และทั้งหมดน่าจะอยู่ในฐานะผู้เสียหาย เพราะแบกหุ้นต้นทุนสูง ต้องเจ็บเนื้อเจ็บตัวหนัก โดยหมดโอกาสที่จะแก้ตัว เพราะหุ้นอยู่ในวาระสุดท้ายที่จะซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ และเมื่อถูกเพิกถอนไปแล้ว ก็ไม่มีโอกาสคาดหวังชะตากรรมใดๆ ได้
การเปิดให้ซื้อขายระหว่างวันที่ 7-18 สิงหาคมนี้ เป็นทางเลือกให้ผู้ถือหุ้น RICH และ KTECH โดยผู้ถือหุ้นบางส่วนอาจต้องการขาย แม้จะได้รับผลขาดทุนหนักหน่วงขนาดไหนก็ตาม เพราะประเมินแล้วว่า เมื่อถูกเพิกถอนจากตลาดหลักทรัพย์ จะไม่มีโอกาสขายหุ้น และราคาหุ้นอาจเสื่อมค่าจนเหลือศูนย์
แต่ผู้ถือหุ้นบางส่วนอาจยอมรับผลขาดทุนไม่ได้ และพร้อมจะสู้ตาย หรือทนถือหุ้นต่อไป แม้แทบไม่เหลือความหวังใดในการฟื้นฟูกิจการของบริษัททั้ง 2 แห่งก็ตาม
สำหรับนักลงทุนทั่วไปคงไม่เข้าไปยุ่งกับ RICH และ KTECH เพราะมีความเสี่ยงสูง เนื่องจากซื้อขายเพียง 7 วันทำการเท่านั้น
ฉากสุดท้ายของ RICH และ KTECH กำลังปิดลงด้วยความเศร้าสลด เพราะนักลงทุนจำนวนกว่า 1 หมื่นรายที่หลงเข้าไปลงทุนหุ้นทั้ง 2 ตัวนี้ ต้องแบกรับความเสียหายอย่างย่อยยับและหาคำตอบได้ว่า ความล่มสลายของบริษัทจดทะเบียนทั้ง 2 แห่งนี้ เป็น ความผิดพลาดทางธุรกิจหรือเป็นเพราะผู้บริหารบริษัท
SSI, RICH และ KTECH เป็นอีกบทเรียนที่เตือนให้นักลงทุนต้องตระหนักในการเลือกซื้อหุ้น ต้องพิถีพิถัน และพิจารณาหุ้นอย่างรอบคอบ ทั้งแนวโน้มธุรกิจ พฤติกรรมตัวหุ้น และพฤติกรรมตัวผู้บริหาร
เพราะถ้า พลาดไปลงทุนในหุ้นเน่า มีสิทธิหมดตัวได้