xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.ชี้เศรษฐกิจใช้เวลาฟื้นตัว 2 ปี เล็งมาตรการเฟส 3

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ธปท.ระบุเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัว ใช้เวลา 2 ปีกว่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติปลายปี 64 ก่อนเกิดโควิด-19 เตรียมอัดมาตรการเฟส 3 ช่วยเหลือเชิงลึกเฉพาะเจาะจงรายกลุ่มรายบุคคล ระบุไม่กังวลเงินทุนไหลออกกดดันบาทอ่อนค่ามากกว่าภูมิภาค เหตุสภาพคล่องสูง ไม่กระทบกิจกรรมทางเศรษฐกิจและดอกเบี้ยในประเทศ

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนาวิชาการ “ชวนคุยชวนคิด ปรับวิถีธุรกิจท้องถิ่นในโลกใหม่อย่างยั่งยืน” ว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวตั้งแต่ปลายไตรมาส 2 โดยเป็นการทยอยฟื้นตัวจนถึงปลายปี 64 ใช้เวลา 2 ปี เศรษฐกิจจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 เหมือนเครื่องหมายถูกหางยาวที่ใช้ระยะเวลาฟื้นนาน

การแก้ไขปัญหาช่วงวิกฤตโควิด-19 จะแตกต่างจากวิกฤตต้มยำกุ้ง เรามีประสบการณ์และบทเรียนจากการแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจมาแล้ว อีกทั้งช่วงนี้ประเทศไทยมีพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่ยังแข็งแรง จากดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล สถาบันการเงินแข็งแรง และมีทุนสำรองระหว่างประเทศในระดับสูง ซึ่งไทยเราไม่ได้มีการพึ่งพิงเงินกู้จากต่างประเทศมากเหมือนประเทศอื่น โดยสถานะการเงินของไทยยังเข้มแข็ง ทำให้ไม่จำเป็นต้องกู้เงินจากไอเอ็มเอฟ และทำให้รัฐบาลสามารถทำมาตรการในการดูแลเศรษฐกิจที่หลากหลายได้ ทั้งนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง

“การแก้ไขปัญหาแบ่งเป็น 3 ระยะคือ 1.ระยะแรกเกิดโรคระบาดรุนแรงเกิดภาวะตื่นตระหนก กังวลเหตุการณ์จะรุนแรงมากน้อยแค่ไหน เกิดภาวะขาดสภาพคล่อง มาตรการได้เข้าดูแลสภาพคล่อง ทำนโยบายการเงินผ่อนคลาย ลดดอกเบี้ย ระยะ 2 ล็อกดาวน์ มาตรการที่ออกมาจะช่วยเยียวยาผู้ที่จะได้รับผลกระทบตั้งแต่ มี.ค. สามารถช่วยเหลือรายย่อยได้ประมาณ 11 ล้านบัญชี จากทั้งหมด 35 ล้านบัญชี ส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้บัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล เช่าซื้อ และสินเชื่อบ้าน ระยะ 3 จะเป็นมาตรการที่เข้าไปดูแลช่วยเหลือให้เจาะลึกเป็นรายกลุ่ม รายบุคคลมากยิ่งขึ้น” ผู้ว่าการ ธปท.กล่าว

ในช่วงนี้และระยะต่อไป ตลาดเงินตลาดทุน มีความผันผวนสูงขึ้น ที่เกี่ยวข้องกับต่างประเทศ ส่วนหนึ่งเพราะการแพร่ระบาดมีความไม่แน่นอนสูง บวกกับในภาคเศรษฐกิจจริงรายได้ในภาคการท่องเที่ยวก็อาจจะหายไป ทำให้มีกระแสเงินไหลออกไปบ้าง ส่งผลให้เงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐกลับมาอ่อนค่ามากกว่าสกุลอื่นๆ ในภูมิภาค

"ยอมรับว่าในช่วงที่ผันผวนสูง มีเงินทุนไหลออกบ้างจากความกังวลต่อผลกระทบของภาคการท่องเที่ยวที่ยังไม่แน่นอนจะกลับมาได้เมื่อไร บวกกับมีการเปลี่ยนแปลงในประเทศ ทำให้เงินบาทเราอ่อนค่าลงมากกว่าสกุลอื่นในภูมิภาค แต่เงินทุนไหลออกไม่ได้อยู่ในระดับที่น่าห่วง" ผู้ว่าการ ธปท.กล่าว

สาเหตุที่ไม่ห่วงเงินทุนไหลออก เพราะไทยเรามีกันชนสูง มีเงินสำรองระหว่างประเทศที่สูง และยังเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่ แม้ว่าจะเกินดุลน้อยลง อีกอย่างไทยเรามีหนี้ต่างประเทศน้อย ดังนั้น เงินที่ไหลออกจึงไม่ได้กระทบต่ออัตราดอกเบี้ยในประเทศและไม่กระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ขณะที่สภาพคล่องในระบบยังสูง เห็นได้จากมีเงินสภาพคล่องไหลกลับเข้ามาในระบบธนาคารพาณิชย์ ส่วนเงินทุนที่ไหลออกที่เห็นเป็นการไหลออกจากตลาดบอนด์


กำลังโหลดความคิดเห็น