xs
xsm
sm
md
lg

EA เข้าถือหุ้น NEX40 % หนุนรถยนต์ไฟฟ้าเติบโตเร็ว

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ส่องหมัดเด็ด “พลังงานบริสุทธิ์” เดินหน้าขยายธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า และแบตเตอรี่ ผ่านการเข้าซื้อเพิ่มทุนหุ้น “เน็กซ์ พอยท์” สัดส่วน 40% มูลค่า 1.5 พันล้านบาท หวังช่วยเร่งความสำเร็จด้วยการ Synergy กับพันธมิตร หลังแผนเดิมประเมินระยะเวลาคืนทุนอีกยาวนาน และหากอุตสาหกรรม EV ไทยพัฒนาได้เร็วเกินคาด หนุนโอกาสเติบโตของบริษัทเพิ่มขึ้นได้อีกมาก

ต้องยอมรับว่าราคาหุ้น บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) (EA) ในชั่วโมงนี้แรงหยุดไม่อยู่ โดยปัจจุบันเคลื่อนไหวอยู่บริเวณ 48.00 บาทต่อหุ้น ถือเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงที่สุดในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมาของปี 2563 จากราคา 44.50 บาทต่อหุ้นในการซื้อขายวันแรกของปีนี้ หรือเพิ่มขึ้น 7.86%

ขณะเดียวกัน หากคำนวณจากจุดต่ำสุดของปี 2563 เมื่อเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศ ราคาหุ้น EA ณ ช่วงเวลาดังกล่าวลดลงต่ำสุดที่ระดับ 29.75 บาทต่อหุ้น พบว่าตั้งแต่วันนั้นจนถึงปัจจุบันราคาหุ้น EA ใช้เวลาประมาณ 3 เดือนปรับตัวเพิ่มขึ้นแล้ว 61.34% ทั้งที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 สร้างผลกระทบต่อธุรกิจของบริษัท โดยเฉพาะต่อไลน์ธุรกิจผลิตและจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าซึ่งทำให้ต้องเลื่อนการส่งมอบออกไปจากกำหนดเดิม

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ราคาหุ้น EA ดีดตัวขึ้นและมีโอกาสทะยานเพิ่มขึ้นในช่วงเวลานี้ คงหนีไม่พ้นเหตุการณ์เมื่อเร็วๆนี้ นั่นคือ การออกมาประกาศแผนขยายธุรกิจ ด้วยการเตรียมจะใช้กระแสเงินสดไม่เกิน 1.5 พันล้านบาท เพื่อเข้าลงทุน 40% ใน บมจ.เน็กซ์ พอยท์ (NEX) ซึ่งถือเป็นการลงทุนในเชิงพันธมิตรทางธุรกิจแบบ Strategic Partner ที่จะเข้ามาช่วยเสริมการขยายตลาดแบตเตอร์รี่ และรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ให้กับบริษัท โดยเฉพาะการขยายตลาดรถEV ขนาดใหญ่ ทั้งรถ Bus และ Truck ซึ่ง NEX มีความเชี่ยวชาญในการประกอบและมีช่องทางการขายรถขนาดใหญ่อยู่แล้ว

“บริษัทเห็นโอกาสถึงการเข้ามาร่วมเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ ที่จะทำให้สามารถขยายตลาดรถขนาดใหญ่ได้จากช่องทางการจำหน่ายของ NEX ที่มีหลากหลาย โดยที่บริษัทไม่จำเป็นต้องลงทุนเพื่อผลิตและทำตลาดเอง เพราะการลงทุนใน NEX เรามองเห็นจุดแข็งของเครือข่ายในการจัดจำหน่ายที่แข็งแรง โดยเฉพาะกลุ่มรถ Bus และ Truck ซึ่งเขามี Channel ที่ดีอยู่แล้ว ส่วน EA ก็เป็นผู้ผลิต Hardware แบตเตอรี่ และเป็น Solution Provider ทำให้เรามองถึงการมาผนึกกำลังร่วมกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่จะเข้ามาเสริมซึ่งกันและกัน ทำให้เราขยายตลาดรถEVขนาดใหญ่ได้เพิ่มขึ้น ต่อยอดจากรถEV ขนาดเล็กที่เราทำอยู่ โดยที่เราไม่ต้องใช้เงินจำนวนมากในการลงทุนเองทั้งหมด" “อมร ทรัพย์ทวีกุล” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ แสดงความเห็นต่อแผนลงทุนดังกล่าว

โดยรูปแบบการลงทุนใน NEX ของ EA ในครั้งนี้ จะดำเนินการผ่านบริษัทย่อย คือ บริษัท อีเอ โมบิลีตี โฮลดิง จำกัด (EMH) (บริษัทย่อย) โดยไม่ทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของบริษัท (Tender Offer) เพราะบริษัทไม่ได้คาดหวังที่จะเข้าไปครอบครองและควบคุมการดำเนินงานของ NEX แต่จะเป็นการซื้อหุ้นเพิ่มทุนของ NEX ที่จะเสนอขายแบบเฉพาะเจาะจงให้แก่บุคคลในวงจำกัด (Private Placement) จำนวนไม่เกิน 670 ล้านหุ้น มูลค่าไม่เกิน 1.5 พันล้านบาท ซึ่งมาจากกระแสเงินสดภายในของบริษัทที่ส่วนใหญ่มาจากธุรกิจโรงไฟฟ้า โดยมีอยู่ค่อนข้างมากและเพียงพอต่อการลงทุน

ขณะที่ขั้นตอนต่อไปของดีลดังกล่าว คือ ต้องรอผลการประชุมผู้ถือหุ้นของ NEX ที่จะมีขึ้นในวันที่ 10 ก.ค. ที่ผ่านมาว่าจะอนุมัติขายหุ้นเพิ่มหุ้นให้กับ EA หรือไม่ โดยหากได้รับอนุมัติจากผู้ถือหุ้น NEX กระบวนการต่อไปจะนำเสนอข้อมูลการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับทางคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ต่อไป และคาดว่าการเข้าซื้อและถือหุ้น NEX จะแล้วเสร็จในช่วงปลายเดือนนี้

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นที่คาดหมายกันว่า การประชุมผู้ถือหุ้นของ NEX ที่เกิดขึ้นจะไฟเขียวสนับสนุน หรือเปิดทางต้อนรับพันธมิตรทางธุรกิจรายใหญ่จากกลุ่มพลังงานเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทในสัดส่วน 40% ได้อย่างไม่น่ามีปัญหา ซึ่งนั่นจะทำให้โอกาสในการเติบโตทางธุรกิจของบริษัทขยายตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น จากช่องทางและโอกาสในการสร้างรายได้จากธุรกิจใหม่ที่ทั้ง 2 บริษัทร่วมมือกัน

ย้อนกลับมาที่ EA ถือว่าการลงทุนดังกล่าว นับเป็นย่างก้าวที่สำคัญ หรือเปรียบเสมือนคำยืนยันของผู้บริหารที่ต้องการรุกตลาดแบตเตอรี่ และรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ หลังจากก่อนหน้านี้ ที่ผ่านมาการเติบโตของEA ล้วนมาจากธุรกิจพลังงานหมุนเวียนเป็นหลัก

ที่ผ่านมาต้องยอมรับความจริงประการหนึ่งว่า EA มีความถนัดในด้านพลังงานหมุนเวียน ขณะที่การกระโดดเข้าสู่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้ายังถือเป็นเรื่องใหม่ของบริษัทที่อาจต้องลองใช้เวลาอีกสักระยะ แม้ก่อนหน้านี้ ดูเหมือนจะประสบความสำเร็จจากยอดจองสิทธิ์รถยนต์ไฟฟ้าสูงถึง 5,000 คัน แต่จากการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ที่เกิดขึ้น จึงส่งผลให้บริษัทยังไม่สามารถส่งมอบรถยนต์ให้แก่ผู้สั่งจองได้ในช่วงเวลานี้

ขณะที่ ความจริงอีกประการที่น่าสนใจสำหรับ EA นั่นคือ บริษัทมีโรงงานผลิตแบตเตอรี่อยู่แล้ว ดังนั้นก็ต้องหาอะไรที่จะมาต่อยอดได้ธุรกิจ ซึ่งการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ถือเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ และเมื่อมีการเข้ามาร่วมลงทุนกับ NEX ผ่านการเข้าถือหุ้นสัดส่วน 40% หลายฝ่ายเชื่อว่ า จากธุรกิจที่เรียกได้ว่าเป็นน้องใหม่ แต่ในอนาคต EA กับธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า อาจกลายเป็นธุรกิจที่น่าสนใจ หรือมีบทบาทสำคัญต่อบริษัทไม่น้อยไปกว่าธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในปัจจุบัน ยิ่งการได้ NEX เข้ามาช่วยสนับสนุน จากความเชี่ยวชาญที่ NEX มีอยู่ อาทิ การทำชิ้นส่วนอะไหล่ รวมถึงนำเข้า-ประกอบรถบัสไฟฟ้า ยิ่งช่วยผลักดันให้เป้าหมายของ EA มีโอกาสสำเร็จเร็วขึ้นมากกว่าเดิม

นั่นเพราะปัจจุบัน NEX เป็นผู้ผลิตและรับจ้างผลิตชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์ที่มีขนาดเล็ก ตามคำสั่งซื้อของลูกค้า รวมถึงธุรกิจให้เช่ารถบัสโดยสารในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลผ่านบริษัท สมาร์ทบัส จำกัด และยังประกอบไปด้วยศูนย์ซ่อมบำรุง ที่ถือหุ้นโดย NEX ซึ่งมีสัญญาซ่อมรถของสมาร์ทบัส เบื้องต้นจำนวน 500 คัน นอกจากนี้ยังดำเนินธุรกิจเช่า และปล่อยลิสซิ่ง รถบัส อีกด้วย

ล่าสุด บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) จัดทำวิเคราะห์ต่อแผนการลงทุนของ EA ในรอบนี้ว่า ที่ผ่านมา EA เป็นหนึ่งในผู้ผลิตลังงานหมุนเวียนรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และกำลังเดินหน้าสู่ธุรกิจที่จะเป็น S-Curve ตัวใหม่ (EV/ESS) กลยุทธ์ธุรกิจ EV ของบริษัทคือ การสร้างสำนึกของสังคมให้ตระหนักถึงความสำคัญของ EV และ เปลี่ยนการขนส่งสาธารณะในประเทศให้หันมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (แท็กซี่ รถโดยสาร และเรือไฟฟ้า)

ขณะที่ธุรกิจระบบจัดเก็บไฟฟ้า (energy storage system หรือ ESS) ก็มีโอกาสเช่นกัน โดยเฉพาะในส่วนของ microgrid solutions โดยคาดว่าอุปสงค์จาก EV รถโดยสารไฟฟ้า และเรือข้ามฟากไฟฟ้า จะคิดเป็นประมาณ 30-50% ของกำลังการผลิตแบตเตอรี่จากโรงงานของบริษัท 1GWh แต่เชื่อว่าราคาหุ้นในปัจจุบันได้สะท้อนมูลค่าของโรงงานผลิตแบตเตอรี่ (5-6GWh) ไปบางส่วนแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าหากว่าอุตสาหกรรม EV ของไทยพัฒนาได้เร็วเกินคาดก็จะทำให้อุปสงค์ของแบตเตอรี่มีโอกาสเติบโตได้อีกอย่างมาก

ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่า EA เป็นหนึ่งในผู้ผลิตลังงานหมุนเวียนรายใหญ่ที่สุดในประเทศ โดยเน้นที่ 3 กลุ่มธุรกิจหลัก คื้อ พลังงานหมุนเวียน ไบโอดีเซล และธุรกิจอื่น ๆ ซึ่งรายได้จากพลังงานหมุนเวียนคิดเป็น 73% ของรายได้บริษัทในปี 2562 ในขณะที่รายได้จากไบโอดีเซลคิดเป็น 25.4% ของรายได้ทั้งหมด โดยบริษัทมีแผนจะเริ่มผลิต EV ในไตรมาสสุดท้ายปีนี้ ในขณะที่โรงงานผลิตแบตเตอรี่ (1GWh) จะเริ่มผลิตปี 2564

ผ่านกลยุทธ์ธุรกิจ EV ของบริษัทคือสร้างสำนึกของสังคมให้ตระหนักถึงความสำคัญของ EV และเปลี่ยนการขนส่งสาธารณะในประเทศให้หันมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (แท็กซี่ รถโดยสาร และเรือข้ามฟาก) โดย EA ได้เปิดตัว MINE SPA1 (MPV) ออกมาแล้ว และตั้งเป้าจะส่งมอบได้ 180 คันเพื่อใช้เป็นรถแท็กซี่ในไตรมาส4/63 และอีก 4,800 คันในปี 2564 ทั้งนี้ บริษัทมีโรงงานผลิตรถยนต์ของตัวเองแล้ว และกำลังจะมีโรงงานผลิตแบตเตอรี่ด้วย โดยโรงงานผลิตแบตเตอรี่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง และคาดว่าจะเริ่มทำการผลิตได้ในปี 2564

จากแผนธุรกิจดังกล่าว บล.เคจีไอ ได้วิเคราะห์ จุดคุ้มทุนของ EV รุ่น MG ZS และ MG ZS EV อย่างละเอียด และพบว่าต้องใช้งานประมาณ 10 ปี 3 เดือน (205,600 กม.) จึงจะถึงจุดคุ้มทุน ภายใต้สมมติฐานการบริโภคน้ำมันที่ 12 กม./ลิตร และราคาขายปลีก Gasohol 95 ที่ 26 บาท/ลิตรสำหรับ MG ZS และระยะเวลาชาร์จไฟ 6.5 ชั่วโมงสำหรับ ZS EV โดยที่อัตรา TOU ของ กฟน./กฟภ. ในช่วง off peak อยู่ที่ 2.6369 บาท/kWh

อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีแบตเตอรี่ที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็วน่าจะทำให้ถึงจุดคุ้มทุนได้เร็วขึ้น ในขณะเดียวกัน การใช้งานรถแท็กซี่ค่อนข้างสูง(400-500 กม. ต่อวัน) จะทำให้จุดคุ้มทุนของ EV เร็วขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ รัฐบาลตั้งเป้าจะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิต EV ของ ASEAN ให้ได้ภายใน 5 ปี

โดย EA มีแผนจะเปิดบริการเรือไฟฟ้าในเดือนสิงหาคม 2563 (20 ลำ) โดยคาดว่าการลงทุนโครงการนี้ (1.3 พันล้านบาท) จะมีระยะเวลาคืนทุน 4-5 ปี นอกจากนี้ บริษัทยังได้เข้าซื้อหุ้น 40% ใน NEX Point (NEX.BK/NEX TB) ด้วย ทำให้ยิ่งมองบวกกับการลงทุนดังกล่าวเพราะ NEX มีความเชี่ยวชาญในการประกอบและจัดจำหน่ายรถโดยสาร และยังมีโอกาสเติบโตอีกจาก Beli Services ซึ่งให้บริการซ่อมบำรุงรถเมล์ NGV 500 คัน

นอกจากนี้ NEX ยังมีโอกาสเข้าร่วมประมูลโครงการรถเมล์ ขสมก. (รถเมล์ไฟฟ้า 2,511 คัน) ในขณะที่โรงงานแบตเตอรี่ Amita Thailand ก็มีโอกาสได้เป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถเมล์ไฟฟ้า ส่วนธุรกิจระบบจัดเก็บไฟฟ้า (energy storage system หรือ ESS) ก็มีโอกาสเช่นกัน โดยเฉพาะในส่วนของ microgrid solutions ในประเทศไทย และกลุ่มประเทศ CLM(กัมพูชา, ลาว และพม่า) ทำให้คาดว่าอุปสงค์จาก EV รถโดยสารไฟฟ้า และเรือไฟฟ้า จะคิดเป็นประมาณ 30-50% ของอัตราการใช้งานเฟสแรกของกำลังการผลิตแบตเตอรี่เฟสแรก

“เราเชื่อว่าราคาหุ้นในปัจจุบันได้สะท้อนมูลค่าของโรงงานผลิตแบตเตอรี่ (5-6GWh) ไปบางส่วนแล้ว ซึ่งก็สอดคล้องกับมุมมองของผู้บริหารว่าบริษัทสามารถจะขยายกำลังการผลิตจาก 1GWh เป็น 5GWh ได้ภายใน5ปีข้างหน้า แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าหากว่าอุตสาหกรรม EV ของไทยพัฒนาได้เร็วเกินคาดก็จะทำให้อุปสงค์ของแบตเตอรี่มีโอกาสเติบโตได้อีกอย่างมาก”

ก่อนหน้านี้ เป้าหมายทางธุรกิจในปี 2563 พบว่าบริษัทยังคงเป้ารายได้ปี 63 ที่ 2.4 หมื่นล้านบาท พร้อมทั้งคาดการกำไรสุทธิปีนี้สูงสุด จากปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 6.08 พันล้านบาท เนื่องจากรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้า ขนาดกำลังการผลิตรวม 664 เมกะวัตต์เต็มปี โดยธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า EV อาจจะส่งมอบล่าช้ากว่าแผนเดิมเป็นช่วงไตรมาส 3/63 เนื่องจากผลกระทบจากโควิด-19 เช่นเดียวกับธุรกิจเรือไฟฟ้าแต่สร้างเสร็จราว 10 ลำ และสิ้นปีคาดว่าจะเป็น 20 ลำ ส่วนปีนี้บริษัทยังมีแผนลงทุนราว 7 -8 พันล้านบาท ซึ่งเป็นการลงทุนในโรงงานผลิตแบตเตอรี่ จ.ฉะเชิงเทรา ขนาด 1 กิกะวัตต์ ซึ่งผลิตแบตเตอรี่

ส่วนทิศทางผลดำเนินงานไตรมาส2/63 ของบริษัทถูกคาดการณ์ว่า จะทรงตัวจากไตรมาส 1/63 ที่มีกำไรสุทธิ 1.45 พันล้านบาท ซึ่งเป็นช่วงโลว์ซีซั่นที่สุดของปี โรงไฟฟ้าพลังลม(386 MW) รวมถึงธุรกิจไบโอดีเซลได้รับผลกระทบจากการ Lockdown ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันลดลง ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมัน B100 (นำไปผสม B10) ลดลงตาม แต่ทั้งปีปัจจัยลบคาดจะถูกหักล้างจากการเข้าสู่ high season โรงไฟฟ้าโซลาร์ 278 MW ซึ่งความเข้มแสงจะสูงขึ้น ทำให้มีราคาเหมาะสมของหุ้นที่ระดับ 49.00 บาทต่อหุ้น จึงแนะนำ “ซื้อ” จากหลายบริษัทหลักทรัพย์ เพื่อรับทิศทางกำไรช่วงครึ่งปีหลังที่จะโดดเด่นกว่าครึ่งแรกของปี จากการเข้าสู่ฤดูกาลของความเร็วลม หนุนให้กำไรทั้งปีขึ้นทำสถิติใหม่

อมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA)




กำลังโหลดความคิดเห็น