หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน หรือหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ ของบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หรือ SIRI วงเงิน 3,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 8.5% ใน 5 ปีแรก ได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างล้นหลาม จนขายหมดเกลี้ยงในพริบตา แม้แต่พนักงานของ “แสนสิริ” ยังจองซื้อไม่ทัน
มีความคาดหมายว่า บริษัทจดทะเบียนจะหันมาระดมทุน โดยการออกหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์กันมากขึ้น แต่ปัญหาคือ นักลงทุนมีความรู้ความเข้าใจตราสารหนี้ประเภทนี้ดีพอหรือยัง
มี เสียงเตือนการลงทุนในหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์มาเป็นระยะ มีการสะท้อนมุมองในแง่ลบที่หลากหลายจากคนในวงการตลาดทุน รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งเป็นผู้พิจารณาอนุมัติการออกหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์
ล่าสุด ก.ล.ต.ได้ส่งหนังสือเวียนถึงบริษัทหลักทรัพย์ที่มีใบอนุญาตการจำหน่ายหลักทรัพย์ ขอให้ทำความเข้าใจกับนักลงทุนเกี่ยวกับหุ้นกู้ชั่วนิรันทร์ เนื่องจากมีลักษณะความเสี่ยงและเงื่อนไขที่แตกต่างจากหุ้นกู้ทั่วไป จึงต้องมีกระบวนการ ประเมินความเสี่ยงและผลตอบแทนที่เหมาะสม และเป็นธรรม รวมทั้งต้องเปิดเผยข้อมูลอย่างเพียงพอ
และถ้านักลงทุนยังไม่เข้าใจหรือไม่อาจรับความเสี่ยงได้ บริษัทหลักทรัพย์จะต้องแนะนำว่า หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ไม่เหมาะที่จะลงทุน
เงื่อนไขสำคัญของหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ที่แตกต่างจากหุ้นกู้ทั่วไป ประกอบด้วย ผู้ออกจะสามารถไถ่ถอนก่อนครบกำหนดได้ภายใน 5 ปี ผู้ออกสามารถเลื่อนจ่ายดอกเบี้ยได้ แม้บริษัทจะมีกำไรจากการดำเนินงานก็ตาม และกำหนดการไถ่ถอนเมื่อบริษัทเลิกกิจการ โดย หากไม่เลิกกิจการ จะไม่มีการไถ่ถอนตลอดชาตินี้และชาติหน้า
ส่วนการเลิกกิจการ จะเกิดขึ้นได้เมื่อบริษัทเจ๊งหรือล้มละลาย โดยหากมีกำไร คงไม่มีบริษัทไหนเลิกกิจการ
แต่บริษัทที่เจ๊ง จะนำเงินจากไหนมาไถ่ถอนหุ้นกู้ และถ้าจะรอชำระบัญชีในฐานะเจ้าหนี้ ผู้ถือหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ จะเป็นเจ้าหนี้ที่ต่อคิวรอชำระบัญชีในลำดับท้ายๆ
การลงทุนในหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์จึงมีความเสี่ยง ทั้งการที่ไม่ได้รับดอกเบี้ยตามกำหนด และหลังจาก 5 ปีไปแล้ว จะไม่มีโอกาสได้รับเงินต้นคืนตลอดชั่วชีวิต
หุ้นกู้ บริษัท แสนสิริ ที่ขายดิบขายดีเป็นเทน้ำเทท่า เพราะเหตุผลเดียวคือ แรงจูงใจจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงลิ่ว 8.5% ใน 5 ปีแรก โดยถ้าหลัง 5 ปี ยังจ่ายดอกเบี้ยในอัตราเดิมได้ต่อเนื่อง ภายใน 12 ปี ผลตอบแทนจากดอกเบี้ยโดยรวมจะเท่ากับเงินต้น
ลงทุนหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ 12 ปี จะได้เงินต้นคืนมา ระยะเวลาที่เหลือจะเป็นการเก็บเกี่ยวผลกำไร ภายใต้เงื่อนไขว่า “แสนสิริ” จะไม่เลื่อนชำระดอกเบี้ย
แต่ใครจะรับประกันได้ว่า “แสนสิริ” จะไม่เบี้ยวชำระดอกเบี้ย หรือภายใน 12 ปี “แสนสิริ” จะไม่เกิดปัญหาอะไร และยังดำรงความสามารถในการชำระดอกเบี้ย 8.5% ได้
ยังมีบริษัทจดทะเบียนอีกหลายแห่งที่จะออกหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ เพราะเป็นช่องทางเดียวที่จะระดมทุนมาพยุงกิจการได้อย่างคล่องตัว หลังจากการเพิ่มทุนทำได้ยาก เพราะภาวะตลาดหุ้นไม่เอื้ออำนวย และการกู้เงินจากสถาบันการเงินประตูแทบปิดตาย เนื่องจากสถาบันการเงินกลัวหนี้เสียจนเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ
ส่วนการออกหุ้นกู้ทั่วไป นักลงทุนเข็ดขยาดกับการถูกเบี้ยว ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ล่าสุด บริษัท เอเชีย แคปปิตอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ACAP ออกหุ้นกู้เบี้ยวจ่ายดอกเบี้ยกู้อีก ทั้งที่วงเงินจ่ายดอกเบี้ยเพียง 1 ล้านบาทเศษเท่านั้น
แต่กู้ชั่วนิรันดร์ ลงทุนแล้วไม่ต้องกลัวถูกเบี้ยวเงินต้น เพราะตลอดชาตินี้จะไม่มีการไถ่ถอน
อัตราดอกเบี้ยที่สูง เป็นสิ่งปลุกเร้าให้นักลงทุนสนใจหุ้นกู้ชั่วนิรันทร์ จนมองข้ามความเสี่ยงจากถูกเลื่อนจ่ายดอกเบี้ยโดยไม่ผิดเงื่อนไข และความเสี่ยงที่ไม่สามารถไถ่ถอนเงินต้นคืนได้ตลอดกาล
ถ้านักลงทุนรู้ถึงความเสี่ยงของหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ คงไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง แต่ที่กังวลกันคือ นักลงทุนไม่รู้ถึงความเสี่ยง ทุกฝ่ายจึงหันหน้าออกมาเตือน
เตือนให้นักลงทุนรู้ว่า ลงทุนในหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์แล้ว เงินต้นเหมือนหายสาบสูญไปชั่วนิรันดร์