xs
xsm
sm
md
lg

กูรูเปิดโผ หุ้นรับผลบวก-ลบหลังบาทแข็งค่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บล.เคทีบี (KTBS) เปิดโผ 15 หุ้นรับอานิสงส์บาทแข็งหลังแข็งค่าขึ้นกว่า 4% ระบุมีทั้งกลุ่มสายการบิน-พลังงาน-โรงไฟฟ้า ขณะที่กลุ่มอิเล็กฯ-อาหารรับผลกระทบเต็มๆ เหตุบาทแข็งฉุดกำไรวูบ แต่ยก PRM-TVO น่าสนใจสุด ด้าน ASPS ประเมินตลาดหุ้นไทยอยู่ในช่วงการปรับฐาน หลังฟื้นตัวขึ้นมาเร็วและแรงกว่าตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาค เตือนจับตาปัจจัยเสี่ยงมากขึ้น แนะกลยุทธ์คัด 4 หุ้นดีๆ เสริมเข้าพอร์ต เลือก AP-DCC-EGCO-BTSGIF

บล.เคทีบี (KTBS) เปิดเผยผ่านบทวิเคราะห์รายวันว่า ปัจจุบันค่าเงินบาทที่อยู่ระดับ 31.34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นราว 4.3% QTD สอดคล้องกับสกุลเงินในเอเชียอื่นๆ ซึ่งเป็นผลพวงจากค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าจากการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟดจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากผลกระทบ COVID-19 รวมถึงการส่งออกทองคำในปริมาณมากของไทย

PRM-TVO เฮ รับผลบวกต้นทุนต่ำลง

ทั้งนี้ จากทิศทางเงินบาทที่แข็งค่า KTBS ประเมินหุ้นที่ได้รับผลกระทบดังนี้ แบ่งเป็น หุ้นที่คาดว่าจะได้รับผลบวก ประกอบด้วย

1) กลุ่มสายการบิน (THAI, AAV, BA) มีโครงสร้างต้นทุนเป็นเงินสกุลดอลลาร์ราว 60% ค่าเงินบาทแข็งค่าจะทำให้ต้นทุนลดลง

2) กลุ่มพลังงาน มีเงินกู้สกุลเงินดอลลาร์ ส่งผลให้มีการบันทึก fx gain เรียงลำดับมากสุด ได้แก่ PTT, PTTGC, TOP

3) กลุ่มโรงไฟฟ้า มีเงินกู้สกุลเงินดอลลาร์ส่งผลให้มีการบันทึก fx gain เรียงลำดับมากสุด ได้แก่ GULF, GPSC, RATCH, BGRIM, WHAUP, GUNKUL

4) อื่นๆ ได้แก่ PRM มีเงินกู้สกุลเงินดอลลาร์, TVO จะได้ต้นทุนนำเข้าวัตถุดิบที่ถูกลง (บริษัทนำเข้าถั่วเหลืองจากต่างประเทศราว 75-80%) ทุกๆ 1 บาทที่แข็งค่าจะทำให้กำไรเพิ่มขึ้นประมาณ 3% และ TKN ประเมินจะได้ผลบวกเล็กน้อยเนื่องจากมีค่าใช้จ่ายเป็นดอลลาร์มากกว่ารายได้เล็กน้อย

หุ้นชิ้นส่วนอิเล็กฯ-อาหารรับผลลบบาทแข็งฉุดกำไร

สำหรับหุ้นที่คาดว่าจะได้รับผลลบ ประกอบด้วย

1) กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากรายได้ส่วนใหญ่มาจากการส่งออก การแข็งค่าของเงินบาททุกๆ 1 บาท จะมีผลทำให้กำไรของ KCE -6% และ HANA -5%,

2) กลุ่มอาหาร เนื่องจากมีรายได้ส่วนใหญ่จากต่างประเทศ โดยเรียงลำดับทุกการแข็งค่า 1 บาทจะส่งผลต่อกำไรลดลง ดังนี้ STA -6%, TU -5%, CPF -5%, ASIAN -5%, GFPT -2%

3) อุตสาหกรรมอื่นที่ได้ผลกระทบเชิงลบจากค่าเงินบาทแข็ง ยังคงมีสาเหตุจากรายได้ส่วนใหญ่มาจากการส่งออก ได้แก่ SMPC ประเมินทุกๆ 1 บาทที่แข็งค่าทำให้กำไรลดลง -8-10%, MEGA -7% และ EPG -4%

ทั้งนี้ หุ้นที่น่าสนใจจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น เรายังชอบ PRM (ซื้อ/เป้า 9.70 บาท) จากแนวโน้มกำไร Q2/63 ที่จะทำสถิติสูงสุดใหม่ และ TVO (ซื้อ/เป้า 28.50 บาท) อาจจะทำให้กำไรมีแนวโน้มดีกว่าคาดเดิม ส่วนหุ้นที่จะได้รับผลลบแนะนำให้ระมัดระวังในการเข้าลงทุน

ASPS ชี้ชัดหุ้นไทยอยู่ในภาวะเก็งกำไร

ด้านฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส (ASPS) เปิดเผยผ่านบทวิเคราะห์ระบุว่า ตลาดหุ้นอยู่ในภาวะการเก็งกำไรแต่แฝงด้วยความระแวง โดยตลาดหุ้นไทยอยู่ในภาวะการเก็งกำไรอย่างเห็นได้ชัด สะท้อนจากมูลค่าซื้อขายที่สูงเกิน 1 แสนล้านบาท (ติดต่อกัน 4 วันทำการ) ขณะที่มี P/E สูงถึง 22 เท่า (สูงสุดในภูมิภาค)


ขณะที่เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.ที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยเริ่มถูกขายทำกำไรแรง โดยเฉพาะช่วงเวลาการซื้อขายปรับฐานแรง -31 จุด และถือเป็นการลดลงระหว่างวันมากสุดนับตั้งแต่ตลาดเริ่มฟื้นตัวมาในกลางเดือน มี.ค. เป็นต้นมา นอกจากนี้ยังมีสัญญาณเตือนว่าตลาดอยู่ในภาวะว่ามีโอกาสปรับฐานต่อ คือ

1. สัดส่วนหุ้นไทยกว่า 30% จากทั้งหมดมี RSI อยู่ในโซน Overbought ถือเป็นหนึ่งในสัญญาณเตือนว่าตลาดมีโอกาสปรับฐาน เนื่องจากตลาดหุ้นไทยฟื้นขึ้นมาเร็วและแรงเกือบ 50% จากจุดต่ำสุดในช่วงเดือน มี.ค. และเป็นการฟื้นขึ้นมาเร็วกว่าตลาดหุ้นอื่นๆ ในภูมิภาค จนทำให้จำนวนหุ้นเกินกว่า 30% ของหุ้นทั้งหมดในตลาดปรับตัวขึ้นมาจนมีสัญญาณ RSI อยู่ในโซน Overbought ถือว่ามากสุดในรอบหลายๆ ปีที่ผ่านมา

2. ตลาดหุ้น S&P500 ปรับตัวขึ้นแรง พร้อมกับดัชนีความกลัวที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ (ปกติจะสวนทางกัน) คือใน 1 สัปดาห์ที่ผ่านมาดัชนี S&P500 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.2% ขณะเดียวกัน VIX Index ทยอยปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกันกว่า 2.7% แสดงให้เห็นว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ เองแม้จะปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่แฝงไปด้วยความหวาดระแวงในการปรับฐานในระยะถัดไปเหมือนกัน

สรุป ตลาดหุ้นทั้งไทยและต่างประเทศที่ปรับขึ้นมาแรง จนล่าสุดมีสัญญาณเตือนว่ามีโอกาสที่ตลาดอาจปรับฐานในระยะถัดไปได้ แนะนำให้นักลงทุนโฟกัสประเด็นความเสี่ยงมากขึ้น พร้อมติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด

ดังนั้น ที่คาดว่า SET Index ยังอยู่ในช่วงปรับฐาน เลือกหุ้นที่คาดหมายผลประกอบการ 2Q63 โดดเด่นเข้าเสริมในพอร์ต พร้อมกลยุทธ์เน้นหุ้นดีๆ Dividend ชอบ AP, DCC Defensive ชอบ EGCO BTSGIF)

ทั้งนี้ ตลาดหุ้นไทยปรับฐานแรง แต่พอร์ตจำลองมีการตั้งจุดล็อกกำไรเพื่อลดความเสี่ยงในยามที่ตลาดเกิดเหตุการณ์ไม่แน่นอนระหว่างวัน ซึ่งเมื่อวันที่ 9 มิ.ย.ที่ผ่านมา จุด Lock Profit นั้นทำงานได้ดี โดยมีการขายทำกำไรหุ้นไปถึง 4 บริษัท คือ AMATA, LH, CPALL, STEC คิดเป็นสัดส่วนในพอร์ตรวม 40%

ส่วนกลยุทธ์ยังคงเหมือนเดิม คือมีการตั้งจุดล็อกกำไรเพื่อลดความเสี่ยงยามที่ตลาดผันผวน พร้อมกับเน้นลงทุนหุ้นดีๆ (Dividend & Defensive) โดยนำหุ้น AP, DCC, EGCO และ BTSGIF เข้ามาในพอร์ตจำลอง ด้วยน้ำหนักหุ้นละ 10% แทน มีรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้

DCC (FV @2.28) จุดเด่นหลักคือ กลยุทธ์เชิงรุกด้วยการเข้าหาลูกค้าถึงบ้าน เห็นผลชัดและโดดเด่นว่าคู่แข่ง สะท้อนจากจำนวนบิลที่เพิ่มเป็น 8 พันบิล/วัน จาก 6 พันบิล/วัน ประกอบกับราคาขายเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น 3%QoQ เป็น 139 บาท/ตร.ม. จากสัดส่วนกระเบื้องพรีเมียมมากขึ้น รวมถึงราคาก๊าซธรรมชาติที่ลดลง 20%YoY ทำให้แนวโน้มกำไร 2Q63 มีโอกาสสร้าง Positive Surprise ได้อีกครั้ง หลังงวด 1Q63 DCC มีกำไรเติบโตทั้ง QoQ และ YoY สวนกระแสกำไรของตลาดฯ อีกทั้งการใช้สิทธิ์แปลง DCC-W1 ส่งผลให้ D/E สิ้นงวด 2Q63 น่าจะลดลงมาต่ำกว่า 0.6 เท่า เพิ่มโอกาสที่ DCC จะกลับมาจ่ายปันผลที่ Payout Ratio 100% อีกครั้ง หากพิจารณา Valuation ถือว่าดี โดยมี Upside สูงเกิน 20% และคาดหวัง Dividend Yield มากกว่า 6% ต่อปี

AP (FV @6.30) หนึ่งในหุ้นอสังหาฯ ที่ยังคงน่าสนใจ ทั้งในแง่พื้นฐานที่กำไร 2Q63 มีแนวโน้มสูงขึ้น YoY และ QoQ (สวนทางกับหลายบริษัทในกลุ่มฯ ที่มีโอกาสลดลง) ขับเคลื่อนด้วยการมี Backlog รอโอนฯ ระดับสูง โดยสิ้น เม.ย. รวม 4.9 หมื่นล้านบาท (รวม JV) มาจากยอดชมโครงการ และยอดจองที่เริ่มดีขึ้นตั้งแต่ปลาย เม.ย.(หลังจาก Reopen) และ Valuation โดยพิจารณาทางด้าน Upside ถือว่าเยี่ยม โดยมี Upside สูงกว่า 10% สวนทางหุ้นในกลุ่มเดียวกันที่แทบจะไม่มี Upside เหลือหรือติดลบในบางบริษัท เช่น LH (+2%) LPN(-30%) PSH(-19%) อีกทั้งยังคาดหวังปันผลได้กว่า 5.5% ต่อปี

EGCO (FV @340.00) ถือเป็นหุ้น Defensive ที่มีรายได้ค่อนข้างมั่นคงไม่ผันผวนตามภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งราคาหุ้นในช่วงที่ผ่านมาได้ปรับลดลงอย่างต่อเนื่องจนเห็น upside รวมปันผลเกือบ 27% หากพิจารณาทางด้านพื้นฐานยังดีเยี่ยมตามฤดูกาล โดยฝ่ายวิจัยคาดแนวโน้มกำไรจากการดำเนินงานปกติงวด 2Q63 จะเติบโตจากงวด 1Q63 รับช่วง high season ของการใช้ไฟฟ้าในฤดูร้อน ทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าโดยเฉลี่ยจะปรับตัวทำระดับสูงสุดของปี อีกทั้งในส่วนของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ คาดจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นหลังจากฝนที่เริ่มตกในช่วงเดือน พ.ค. ถือเป็นโอกาสสะสม

BTSGIF (FV @N.A.) หนึ่งในหุ้นกองทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ราคาปรับตัวลงแรงกว่า 25% (ytd) จากผลกระทบของ COVID-19 ขณะที่ SET Index ปรับตัวลงเพียง 10.85% (ytd) จนทำให้มี Discount กว่ามูลค่าสินทรัพย์สุทธิถึง 20% และเป็นหุ้นผันผวนต่ำมีค่า Beta เพียง 0.64 นอกจากนี้ยังได้ Sentiment จากคนเริ่มกลับมาใช้งานรถไฟฟ้ามากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด หลังจากมีการผ่อนคลายเปิดเมืองมาถึงระยะ 3 แล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น