xs
xsm
sm
md
lg

ทุกข์คนร้องเรียน ก.ล.ต. / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




มีเสียงบ่นมาเป็นระยะว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มักไม่ตอบสนอง ข้อร้องเรียนเกี่ยวกับพฤติกรรมการกระทำผิดของบริษัทจดทะเบียน


ล่าสุดมีนักลงทุนฝากถึงผู้บริหาร ก.ล.ต. ขอให้กำชับเจ้าหน้าที่ ใส่ใจในการรับเรื่องร้องทุกข์ของนักลงทุน


นักลงทุนรายนี้ ร้องเรียนไปที่ ก.ล.ต.เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เกี่ยวกับพฤติกรรมการครอบงำกิจการหรือเทกโอเวอร์บริษัทจดทะเบียนแห่งหนึ่ง โดยนักลงทุนกลุ่มใหม่ได้เจรจาซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นใหญ่เดิม ในราคาที่สูงกว่าราคาพาร์และสูงราคาตลาด และแต่งตั้งตัวแทนหรือนอมินีเป็นผู้ซื้อ


สัดส่วนหุ้นที่ซื้อเกินกว่า 25% ของทุนจดทะเบียน ซึ่งจะต้องจัดทำคำเสนอซื้อหุ้น หรือเทนเดอร์ออฟเฟอร์จากผู้ถือหุ้นทั่วไป แต่หลีกเลี่ยงการทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์ โดยตั้งนอมินีขึ้นมา 2 ราย และแยกกันซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับหนึ่งซึ่งถือหุ้นมากกว่า 25% ทำให้นอมินีแต่ละคนถือหุ้นไม่ถึง 25%


การหลีกเลี่ยงทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์ ทำให้ผู้ถือหุ้นรายอื่น ๆ เสียโอกาสในการขายหุ้นให้ผู้ถือหุ้นกลุ่มใหม่ มีเพียงผู้ถือหุ้นใหญ่คนเดียวเท่านั้นที่ได้รับสิทธิขายหุ้นในราคาที่ดี


ผู้ถือหุ้นใหญ่กลุ่มใหม่ ต้องการถือหุ้นในสัดส่วนที่มากพอ ในการกุมอำนาจบริหารบริษัทเท่านั้น ไม่ต้องการหุ้นทั้งหมดของบริษัท


บริษัทจดทะเบียนแห่งนี้ อยู่ในกลุ่มฟื้นฟูการดำเนินงาน และอยู่ในข่ายอาจถูกเพิกถอนออกจากตลาดหุ้น เพราะมีปัญหาฐานะการเงิน โดยหุ้นอยู่ระหว่างถูกพักการซื้อขาย


ผู้ถือหุ้นใหญ่กลุ่มใหม่ มีแผนเตรียมไว้แล้ว โดยจะแต่งตัวบริษัทใหม่ ปั้นตัวเลขกำไร เพื่อตบตาคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ และนำหุ้นกลับมาซื้อขาย ก่อนจะขายหุ้นทิ้ง ถอนทั้งทุนและโกยกำไร


ประเด็นที่นักลงทุนร้องเรียน ก.ล.ต. ไม่ใช่การแต่งตัวบริษัท แต่ประเด็นอยู่ที่ การหลีกเลี่ยงทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์ โดยกระจายสัดส่วนการถือหุ้นให้นอมินี จนแต่ละรายถือหุ้นไม่เกิน 25% ทั้งที่ผู้ถือหุ้นใหญ่เดิมได้ขายหุ้นให้ผู้ถือหุ้นใหญ่กลุ่มใหม่ทั้งหมด ในสัดส่วนประมาณ 40% ของทุนจดทะเบียน


นักลงทุนที่ร้องเรียนได้แจ้งเบาะแสการหลีกเลี่ยงทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์ และชี้ให้เห็นว่า ผู้ถือหุ้นทั่วไปเสียประโยชน์อย่างไร


การร้องเรียนพฤติกรรมบริษัทจดทะเบียนที่กระทำผิด เอารัดเอาเปรียบนักลงทุนทั่วไป ถือเป็นการปกป้องสิทธิของนักลงทุน และเป็นการทำหน้าที่พลเองดี ซึ่งเจ้าหน้าที่ ก.ล.ต.ควรตระหนักในทุกข์ร้อนของนักลงทุน และสำนึกในหน้าที่การคุมครองดูแลนักลงทุน โดยเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริง


แต่สิ่งที่นักลงทุนได้รับคือ คำพูดที่ฟังเกิดอารมณ์ เพราะแทนที่เจ้าหน้าที่ ก.ล.ต.จะถามถึงข้อมูลการกระทำผิด กลับถามนักลงทุนที่ร้องเรียนว่า มีปัญหาส่วนตัวอะไรกับผู้ถูกร้องเรียนหรือไม่ ทั้งที่เป็นคนละประเด็นกัน


เมื่อผู้ร้องเรียนถามกลับไปว่า จะติดตามผลการตรวจสอบข้อร้องเรียนและการแก้ปัญหาตามที่ร้องเรียนได้เมื่อใด กลับได้รับคำตอบว่า ถ้าบริษัทจดทะเบียนที่ถูกร้องเรียนตกเป็นข่าว จะได้รู้เอง แต่ถ้าไม่มีข่าว แสดงว่าไม่พบความผิด ทั้งที่ ก.ล.ต.ควรจะต้องแจ้งความคืบหน้าข้อร้องเรียนให้นักลงทุนรับทราบ ไม่ว่าจะพบความผิดหรือไม่ก็ตาม


พฤติกรรมอันน่ารังเกียจของเจ้าหน้าที่รับเรื่องร้องเรียน ผู้บริหาร ก.ล.ต.คงไม่ได้รับรู้ เพราะถ้ารู้ ไม่น่าจะปล่อยเจ้าหน้าที่ประเภทนี้ไว้ เพราะถือเป็นตัวทำลายภาพลักษณ์องค์กร ทำให้นักลงทุนที่ทุกข์ร้อนจากพฤติกรรมบริษัทจดทะเบียนอยู่แล้ว ต้องมาคับแค้นกับพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่ดูแลปกป้องผลประโยชน์ของผู้ลงทุนอีก


การร้องเรียนพฤติกรรมหุ้นในกลุ่มฟื้นฟูฯ บริษัทนี้ สะท้อนให้เห็นว่า แม้จะตกอยู่ในสภาพตายซาก ต้องฟื้นฟูกิจการ แต่บริษัทจดทะเบียนก็ยังไม่สิ้นฤทธิ์ และพยายามหลีกเลี่ยงหลักเกณฑ์อีก จึงไม่ควรปล่อยกลับเข้าตลาดหุ้น เพราะจะทำให้นักลงทุนได้รับความเสียหาย


หุ้นกลุ่มฟื้นฟูฯ นับสิบบริษัท กำลังเร่งรีบแต่งตัว นำหุ้นกลับเข้ามาซื้อขายใหม่ และอาจมีหุ้นเน่าๆ หลุดเข้ามาปล้นเงินรอบสองหรือรอบสามกันบ้างล่ะ


หุ้นกลุ่มฟื้นฟูฯ จึงเป็นหุ้นอันตราย นักลงทุนควรอยู่ห่าง ๆ กลับมาซื้อขายใหม่ อย่าเข้าไปยุ่ง เพราะแยกไม่ได้ว่า บริษัทไหนดีบริษัทไหนเน่า บริษัทจดทะเบียนใดแต่งตัวกลับมาปล้นอีก






กำลังโหลดความคิดเห็น