xs
xsm
sm
md
lg

เอเชียพลัส มองโควิด-สงครามการค้ายังกดดัน ศก.ไทยลงลึก Q2/63 กระทบ EPS

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ASPS ชี้หุ้นไทยแพงแล้ว โควิด-สงครามการค้ายังกดดัน ศก.ไทยลงลึก Q2/63 กระทบ EPS หดตัวแรง ระบุ พฤติกรรมตลาดตอนนี้มองว่าเป็น trading ไม่ใช่ "ซื้อลงทุน" ความผันผวนก็ยังมีมาก

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส (ASPS) กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยยังมีแรงกดดันสำคัญจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 และ สงครามการค้าสหรัฐและจีนที่ต้องจับตากันอย่างใกล้ชิด ประกอบกับการปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจ (GDP)ในปีนี้คาดว่าหดตัวหรือติดลบ 5.7% โดยไตรมาส 2/63 จะหดตัวมากที่สุดราว 11% จากนั้นไตรมาส 3/63 ดีขึ้นมาติดลบ 6% และไตรมาส 4/63 ติดลบ 4.5% ส่วนปี 64 คาด GDP กลับมาเติบโต 3.6% ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะติดลบ 6.7% และปี 64 โต 6.1%

รวมทั้ง บล. เอเซียพลัส ปรับลดประมาณการกำไรของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในปี 63 ล่าสุดเหลืออยู่ 6.88 แสนล้านบาท หรือ กำไรต่อหุ้น (EPS) อยู่ที่ 64 บาท ลดลงจากปีก่อน 27.5% แต่ปี 64 จะกลับมาเติบโต 21% หรือ EPS อยู่ที่ 77.4 บาท ทำให้ดัชนี SET ปีนี้จะเหลือไม่เกิน 1,200 จุด และปีหน้าเป้าหมายดัชนีอยู่ที่ 1,400 จุด

นายเทิดศักดิ์ กล่าวว่า เมื่อมองความเสี่ยงทางเศรษฐกิจกับตลาดหุ้นขณะนี้สวนทางกัน เพราะตลาดได้ pricing ปัจจัยลบแล้วและปรับตัวขึ้นมาโดยก้าวข้ามปัจจัยลบทางเศรษฐกิจที่กำลังจะเกิดขึ้นในไตรมาส 2 -ไตรมาส 3 ทำให้ P/E ของตลาดหุ้นไทยสูงถึง 21.2 เท่า และในปี 64 มอง P/E อยู่ที่ 17.5 เท่า ถือว่าปัจจุบันตลาดหุ้นไทยแพงที่สุดในภูมิภาค ส่วนตลาดสหรัฐมี P/E อยู่ที่ 24.3 เท่าแพงที่สุดในโลก

"เม็ดเงินต่างประเทศ (Flow) ยังไม่น่าจะไหลกลับเข้ามาในระยะสั้น เราอยู่ Valuation สูง พฤติกรรมตลาดตอนนี้มองว่าเป็น trading ไม่ใช่"ซื้อลงทุน" ความผันผวนก็ยังมีมาก เพราะปัจจัยสำคัญทั้งเรื่อง โควิด และ Trade war นั้น 2 factor กดดันอยู่ เศรษฐกิจไทยทั้งปีภาพหดตัว 5.7% โดยจุดต่ำสุดน่าจะอยู่ไตรมาส 2 เห็น drop 11% จากจำนวนคนว่างงาน นักท่องเที่ยวหายไป หุ้นขึ้นไปเพราะ price in อนาคต มองมีความเสี่ยง" นายเทิดศักดิ์ กล่าว

นายเทิดศักดิ์ ยังคาดว่ามีความเป็นไปได้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก เนื่องจากเศรษฐกิจชะลอตัว และอัตราเงินเฟ้อติดลบ ซึ่ง เดือน เม.ย.63 ติดลบ -2.99% และคาดว่าเดือน พ.ค.63 จะติดลบต่อเนื่อง -3.30%


กำลังโหลดความคิดเห็น