แม้ว่าจะล่วงเลยเข้าสู่เดือนที่ 5 ของปี 2563 (ม.ค.-พ.ค.) แต่พิษจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในภาพรวมทั่วโลกยังน่าเป็นห่วง ผู้เสียชีวิตและผู้ป่วยเพิ่มสูงต่อเนื่อง เป็นการบั่นทอนต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้าของประเทศไทย ส่งผลให้แนวโน้มการลงทุนจากต่างประเทศลดลง ภาคการท่องเที่ยวและบริการสายการบินทั่วโลกหยุดชะงัก ส่งผลให้มูลค่ารวมของตลาด รายได้จากภาคการท่องเที่ยวและบริการลดหายไปมูลค่ามหาศาล มีผลเป็นลูกโซ่ต่อภาคธุรกิจต่างๆ ซึ่งปัญหาดังกล่าว ประเทศไทยช่วงที่ผ่านมา ก็ประสบปัญหาไม่แตกต่างกับต่างประเทศ แต่ด้วยมาตรการเข้มงวดและป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้การเพิ่มขึ้นและผู้เสียชีวิตลดลง ส่งผลให้ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศอันดับต้นๆ ที่มีความปลอดภัย และมีสุขอนามัยที่ดี
นั่นอาจเป็นสัญญาณบวกว่า ที่อยู่อาศัยในไทย จะเป็นที่ต้องการของชาวต่างชาติระลอกใหญ่ ซึ่งดีมานด์ดังกล่าวจะเริ่มเคลื่อนไหวเข้าสู่ไทยมากยิ่งขึ้น โดยกลุ่มลูกค้าชาวจีน ฮ่องกง และสิงคโปร์ ที่เริ่มติดต่อและประสานกับตัวแทนขายอสังหาริมทรัพย์ (โบรกเกอร์) ที่ทำตลาดและขายอสังหาริมทรัพย์ในไทย เนื่องจากจะมีการคลายล็อกการเดินทางมากขึ้น
ในส่วนของตลาดอสังหาฯ พบว่า สถานการณ์ภาพรวมตลาดอสังหาฯ ในปี 2563 ยังคงอยู่ใน "แดนอันตราย" เนื่องจากมี 5 ปัจจัยเสี่ยงหลักๆ ที่ต้องเฝ้าติดตาม ได้แก่ 1.การระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกที่ยืดเยื้อ 2.เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะหดตัวติดลบ 3% จีดีพี ไทยติดลบ 6.7% หนักสุดในภูมิภาคอาเซียน 3.หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) และหนี้ครัวเรือนปรับตัวสูงขึ้น อันเป็นผลมาจากภาวะรายได้ไม่พอกับรายจ่าย (Income Shock) หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ชักหน้าไม่ถึงหลัง” 4.วิกฤตสภาพคล่องตราสารหนี้ 5.เรื่องของความต้องการ (ดีมานด์) และกำลังซื้อปรับตัวลดลงอย่างมาก
ซึ่งเมื่อมองไปแล้ว จะเห็นว่าปัจจัยเสี่ยงและลบต่อภาคอสังหาฯ มีมากและแรงกว่าปัจจัยสนับสนุน เช่น มาตรการภาครัฐเพื่อเยียวยาผลกระทบโควิด-19 มาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองเหลือรายการ0.01% (สิ้นสุด ธ.ค.63) อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง ผู้ประกอบการอสังหาฯ ต่างจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย ลดราคาขายโครงการคอนโดมิเนียมและแนวราบ มีตั้งแต่ 30% ไปจนถึงบางโครงการนำยูนิตที่มีลดราคาสูงถึง 70-80% เป็นต้น เพื่อเร่งระบายสต๊อกที่คงค้างอยู่ในระบบออกไป
ตามตัวเลขของ LPN Wisdom บริษัทวิจัยและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเครือ แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ กรุ๊ป ระบุว่า ในไตรมาส 1 ปี 63 พบ Inventory ใน 28 บริษัทพัฒนาอสังหาฯ อยู่ที่ 5.09 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.87% จากปลายปี 62 ตัวเลขอยู่ที่ 4.77 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามสัญญาณลบของตลาด ที่ยอดขายและอัตราดูดซับของโครงการที่เปิดขายใหม่เบาบางลง
ทั้งนี้ ตามข้อมูลภายในของฝ่ายวิเคราะห์บริษัทอสังหาฯ แห่งหนึ่ง คาดการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลปี 2563 จะปรับลดลงติดลบ 37% มูลค่าตลาดรวมประมาณ 243,237 ล้านบาท โดยเป็นตัวเลขคาดการณ์จากโมเดลที่หักผลกระทบจาก LTV ต่อเนื่อง และผลกระทบจากโควิด-19 ที่สะท้อนจากภาพตลาดในไตรมาส 1 ปีนี้ และประเมินว่า ไตรมาส 2 มีโอกาสที่จะลดลงมากขึ้น และแนวโน้มการเปิดโครงการใหม่ของผู้ประกอบการรายใหญ่ที่จะเข้ามาผลักดันตลาดในปีนี้น้อยมาก โดยเฉพาะในตลาดคอนโดฯ ส่วนแนวราบคาดว่าผลกระทบกับตลาดทาวน์เฮาส์ (TH) และบ้านเดี่ยว (SDH) มีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน
แบงก์ซ้ำเติมคนซื้อบ้าน ลดวงเงินกู้ สกัดพิษโควิด-19
การที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน เมื่อวันที่ 20 พ.ค.ที่ผ่านมา ได้ประกาศลดดอกเบี้ยนโยบาย (R/P) ลงต่ำจากเดิม 0.75% เป็น 0.50% ต่อปี โดยให้มีผลทันที เพื่อกระตุ้นภาคเศรษฐกิจและดูแลภาคธุรกิจ อย่างไรก็ดี ประเด็นการลดดอกเบี้ย กับการพิจารณาปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยซึ่งเป็นสาเหตุ "ต้นน้ำ" อาจจะไม่สอดรับกัน ขณะที่มาตรการเรื่องลดค่าธรรมเนียมการโอนและจำนอง ก็เป็นมาตรการการสนับสนุนที่ปลายน้ำ แต่เมื่อแบงก์ไม่ปล่อยสินเชื่อแล้ว ผู้ที่ขอกู้ก็ไม่ได้ใช้มาตรการดังกล่าว ทำให้คาดว่า ตัวเลขปฎิเสธสินเชื่อ (รีเจกต์เรต) ในกลุ่มราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาทจะมีสูงถึง 50% เนื่องจากเป็นตลาดใหญ่และเกี่ยวโยงกับกลุ่มลูกค้าในสายงานอาชีพต่างๆ
"อาชีพที่เคยมั่นคง อย่างแพทย์ แบงก์ยังตีเป็นเสี่ยงหมด เพราะเสี่ยงจะเกิดโรค ยิ่งในภาวะแบบนี้ แบงก์ชาติ ต้องดูเรื่องมหภาค ตอนนี้ เกิดอะไรขึ้น เงินฝืด เงินมีค่ามาก เพราะคนเลือกใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง ให้คุ้มค่า ดังนั้น ธปท.ต้องมามุ่งอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบให้มากที่สุด" แหล่งข่าวกล่าว
นายไพโรจน์ วัฒนวโรดม กรรมการผู้จัดการ บริษัท แมทไทม์ พร็อพเพอร์ตี้ คอนซัลแทนท์ จำกัด เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า การลดดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่า ในเรื่องของนโยบายการคลังยังต้องช่วยกันอยู่เพื่อให้มีต้นทุนที่ต่ำลง และทำให้นักลงทุนทั้งหลายที่เก็บเงินไว้ ก็น่าที่จะเอาเงินสดมาลงทุนต่อ แต่ผลเสียก็คือว่า มีการคาดเดากันต่อว่า ในไตรมาส 3 หรือ 4 มีแนวโน้มจะลงอีก 0.25% เนื่องจากคาดว่า จีดีพี จะติดลบ ทำให้สิ้นปีจะเหลือเพียงสลึงเดียว ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ นักธุรกิจ หรือนักลงทุน อาจจะไม่กล้านำเงินมาลงทุนก็ได้
"ตอนนี้ในภาคอสังหาริมทรัพย์ พบว่า ลูกค้าที่เข้าไปกู้กับสถาบันการเงิน ไม่ว่าจะเป็นธนาคารพาณิชย์ หรือธนาคารของรัฐ ปรากฏว่าลูกค้าเหล่านี้ถูกลดเงินเดือน ถูกลดค่าล่วงเวลา ทำให้ธนาคารเหล่านี้ไปลดวงเงินกู้ของลูกค้าลง นั่นหมายความว่า การลดดอกเบี้ยนโยบายลงจะไม่เป็นประโยชน์เลย ถึงแม้จะมีต้นทุนต่ำ ทำให้คนมาซื้อที่อยู่อาศัย แต่นโยบายแบงก์รัฐ หรือแบงก์พาณิชย์ที่ปล่อยเงินสินเชื่อ ไม่ได้สะท้อนความจริงว่า ลูกค้าแค่ถูกลดเงินเดือน 10 ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ และลดโอทีชั่วคราว ซึ่งเป็นปัญหาระยะสั้นเพียง 3-6 เดือน แต่แบงก์กลับมองเป็นเรื่องปัญหาถาวร เลยลดวงเงินกู้แบบถาวรไป ลดตามคุณสมบัติของลูกค้าระยะสั้น แต่กำหนดระยะยาว จึงอยากให้ ธปท. พิจารณาดูว่าปลายทางแบงก์กลับไปลดวงเงินหมดเลย เช่น แต่เดิมเคยซื้อบ้านราคา 3 ล้านบาท แต่ถูกลดเหลือ 2.5 ล้านบาท นั่นจะทำให้ลูกค้ากู้ไม่ได้ กู้ไม่ผ่านหมดเลย เลยทำให้ลูกค้ายกเลิกการทำธุรกรรมและทิ้งดาวน์การซื้อบ้าน ผู้ประกอบการก็ต้องนำโครงการมาทำตลาดใหม่ Re-Sale โครงการอีกรอบ ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น" นายไพโรจน์ กล่าว
ทั้งนี้ ความเข้มงวดของสถาบันการเงิน แม้ว่าช่วงที่ผ่านมา ธปท.จะมีการผ่อนเกณฑ์เรื่อง LTV ลง แต่ภาพที่เกิดขึ้น นโยบายของธนาคารต่อการปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ก็เปรียบเสมือน LTV ภาค 2 ที่รัดกุมหนักขึ้นกว่าเดิม
ธนาคารยกการ์ดเข้ม ป้องกัน NPL ท่วม
แหล่งข่าวจากสถาบันการเงิน กล่าวอธิบายกับผู้สื่อข่าวว่า ธนาคารต้องระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย เนื่องจากมีความเปราะบางในเรื่องของโอกาสที่จะเกิดตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) โดยเกณฑ์เข้มงวดก็เพื่อป้องกันธนาคาร เช่น ล่าสุด ลูกค้ารายใดที่เข้าโปรแกรมยืดหนี้ พักชำระหนี้ ในหนี้ประเภทบัตรเครดิต หรือหนี้รถยนต์ และมาขอสินเชื่อกับธนาคานั้น จะถูกปฏิเสธ เนื่องจากจะมีรหัสที่บ่งชี้ถึงสถานะของลูกค้ารายนั้น ไปปรากฏบนเครดิตบูโร แต่ก็มีบางธนาคาร เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ พร้อมจะปล่อยสินเชื่อบ้านมาก เพียงแต่หากลูกหนี้รายนั้นติดพักชำระหนี้ ก็ต้องไปหาวิธีปลด เพื่อธนาคารจะได้อนุมัติสินเชื่อ
"ในกรณีบริษัทใดที่มีแนวโน้มจะลดเงินเดือน แต่ลูกค้าที่มาขอกู้ยังไม่ถูกให้ลดเงินเดือนนั้น ธนาคารจะเหมาเข่งไม่ปล่อยกู้ลูกค้าที่มาจากบริษัทแห่งนั้น ทั้งนี้ การที่จะให้ธนาคารนำรายได้พิเศษและค่าเช่ามาร่วมเป็นรายได้เพื่อพิจารณาอนุมัติวงเงินเพิ่มขึ้นนั้น เป็นการบีบบังคับเกินไป เพราะธนาคารมองว่า ความเสี่ยงและความไม่แน่นอนมีแน่ในอนาคต"
อสังหาฯ ใช้สูตร "หมุนรอบใช้เงิน" สร้างบ้านโอนเร็ว เติมเงินสดในมือสู้วิกฤต
แหล่งข่าวกล่าวยอมรับว่า แม้ว่าผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ทั้งในเรื่องของรายได้จากการขายและกำไรจะลดลงติดลบเกือบทุกบริษัท แต่บริษัททุกค่ายเลือกจะใช้กลยุทธ์ "สงครามราคา" มาเป็นตัวชูโรง เพื่อกระตุ้นยอดขายและยอดโอนให้เร็วขึ้น เพื่อให้ธุรกิจมีตัวเลขกระแสเงินสดในมือให้เยอะมากที่สุด เพราะในภาวะวิกฤตแบบนี้ เงินคือพระเจ้า ขณะที่เราจะเห็นว่า บริษัทขนาดใหญ่พยายามใช้กลยุทธ์ การหมุนรอบของเงินให้เร็วหลายรอบ เช่น 2-3 รอบ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด อย่างเช่น บริษัทพฤกษาฯ กระบวนการก่อสร้างและทำนิติกรรมทั้งหมดโอนให้ลูกค้า ใช้เวลาประมาณ 3 เดือนต่อโครงการแล้วเสร็จ ทำให้รอบหมุนของเงินนำไปใช้ลงทุนในโครงการถัดไปได้ สะท้อนออกมายังตัวเลข อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (ROA) ที่เพิ่มขึ้น
"ไพรซ์วอร์ของผู้ประกอบการ บางค่ายก็ลดไม่จริง บางบริษัท เช่น เมเจอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ฯ ที่ผลประกอบการออกมาดี จนแปลกใจ เพราะเล่นสงครามราคา จัดยูนิตพิเศษ 5-10 ยูนิตต่อโครงการ ร่วม 11 โครงการ มาลดราคาถึง 30-50 เปอร์เซ็นต์ เพื่อกระตุ้นให้ลูกค้าที่เคยชะลอการตัดสินใจซื้อ ก็ให้รีบมา หรือแม้แต่บริษัท แสนสิริฯ ประสบความสำเร็จกับ “โปรลื่นปรื้ด” ช่วงเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ทำยอดขายได้ถึง 4,200 ล้านบาท ทำให้ปิดการขายโครงการได้ นั่นแสดงว่า แสนสิริ มองว่า “Cash is King” ได้ Cash เยอะ แต่กำไรบางมาก"
ผู้ประกอบการเร่งโละสต๊อกเติมสภาพคล่อง RMLไม่ต้องขอรับกองทุน BSF มีจ่ายพัน ล.
นายไลโอเนล ลี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไรมอน แลนด์ จำกัด (มหาชน) (RML) ผู้นำการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ระดับลักชัวรีของประเทศไทย กล่าวว่า แนวโน้มธุรกิจในไตรมาส 2 ปี 63 จะยังคงได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ที่ผ่านมา เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาคอสังหาริมทรัพย์โดยรวม ทำให้ลูกค้าชาวไทยและต่างชาติชะลอการตัดสินใจซื้อออกไป
อย่างไรก็ตาม บริษัทเตรียมความพร้อมด้านฐานะการเงิน และมีแผนรักษากระแสเงินสด โดย RML เป็นผู้ประกอบการด้านอสังหาริมทรัพย์ที่มีหนี้ค่อนข้างต่ำ ปัจจุบันหนี้สินต่อทุน (D/E) ลดลงมาเหลือ 1 เท่า อีกทั้ง RML คำนึงถึงการรักษาสภาพคล่องทางการเงินให้แข็งแกร่ง เพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจ ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ท้าทายและลดความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจ ซึ่งกลยุทธ์ดังกล่าวจะทำให้บริษัทฟื้นตัวได้หลังวิกฤตนี้ผ่านพ้นไป ปัจจุบันกระแสเงินสดมีเพียงพอที่จะจ่ายคืนตราสารหนี้ที่ครบกำหนดในเดือนมิถุนายนจำนวน 712 ล้านบาท และในเดือนธันวาคม จำนวน 200 ล้านบาท โดยที่ไม่ต้องรับความช่วยเหลือจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
ทั้งนี้ การดำเนินธุรกิจไตรมาส 2/63 บริษัทมีแผนเร่งระบายสต๊อก 5 โครงการ ได้แก่ โครงการ The Lofts Asoke โครงการ Diplomat 39 โครงการ Diplomat Sathorn โครงการ The River และโครงการ Unixx เพื่อเพิ่มยอดขาย (Presales) เสริมสภาพคล่องกระแสเงินสดของบริษัท โดยประเมินว่ายอดขายน่าจะกลับมาในช่วงครึ่งปีหลัง จากมาตรการภาครัฐประกาศคลายล็อกดาวน์ ซึ่งบริษัทมีมาตรการป้องกันอย่างเคร่งครัด เพื่อให้บริการเปิดโชว์รูมให้ลูกค้าเข้าชมโครงการ The Lofts Silom, Tait12, The Loft Ratathewi, The Estelle Phrom Phong และ The River
“ธุรกิจอสังหาฯ ปีนี้มีความท้าทาย ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญที่จะพิสูจน์ความแข็งแกร่ง ในการประคับประคองธุรกิจให้รอดพ้นจากวิกฤตได้ และมีภูมิคุ้มกันในการรับมือกับปัญหาที่ใหญ่กว่าในอนาคต ซึ่งบริษัทเตรียมความพร้อมรับมือกับความเสี่ยง หรือโอกาสของธุรกิจที่จะเกิดขึ้นหลังจากผ่านพ้นวิกฤตนี้ไป”
ทั้งนี้ บริษัทมียอดขายรอโอน (Backlog) ณ วันที่ 31 มี.ค.63 อยู่ที่ 7,881 ล้านบาท (ลดลง 2%) รวมทั้งหมด 8 โครงการ โดยคาดว่าจะทยอยรับรู้รายได้ตั้งแต่ปี 63 เป็นต้นไป อนึ่ง ในไตรมาส 1 บริษัทสามารถปิดการขาย 2 โครงการ ได้แก่ Mews Yen Akat และ The Lofts Asoke โดยเมื่อรวมกับยอดขาย (Presales) จากโครงการอื่นๆ ส่งผลให้ในไตรมาส 1 บริษัทฯ มียอดขายอยู่ที่ 599 ล้านบาท ซึ่งมาช่วยเสริมความมั่นคงของสถานะเงินสดของบริษัทได้เป็นอย่างดี ปัจจุบัน Inventory อยู่ที่ 11,719 ล้านบาท ลดลงไป 2%
บอส "CI" หวังเกณฑ์ ธปท.ช่วยทุกคน เผยครบดีลจ่ายหุ้นกู้ไปแล้ว 450 ลบ.
นายสงกรานต์ อิสสระ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ชาญอิสสระ ดีเวล็อปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ CI กล่าวให้ความเห็นต่อแนวทางของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการเข้าไปดูแลตราสารหนี้ของภาคเอกชน (กองทุนเสริมสภาพคล่องเพื่อลดความเสี่ยงของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ หรือ BSF) ว่า โดยส่วนตัวแล้ว ไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะถ้าจะช่วยต้องช่วยทั้งหมด ไม่ควรเลือกช่วย เพราะตราสารหนี้ระดับอินเวสเมนต์เกรดนั้น ตรงนี้ไม่ค่อยมีปัญหา ไม่เหมือนที่ต่ำกว่าอินเวสเมนต์เกรดลงมา วิธีนี้ เป็นการช่วยเหลือคนมีตังค์ ผมไม่เห็นด้วย ถ้าแน่จริง ก็ไม่ต้องช่วยไปทั้งหมด ซึ่งเราเข้าใจว่า ถ้าแบงก์มีปัญหา ก็แย่ อันนี้ผมเข้าใจ แต่ทำไมถึงเลือกช่วย ความเท่าเทียมควรจะมี ถ้าเป็นผม วัดดวงไปเลย ไม่ใช่บางคนได้ บางคนไม่ได้ และผมจะถาม ถ้ารายย่อยและรายกลางเกิด Defaultedแล้ว รายใหญ่จะอยู่ได้หรือไม่ เกิดเป็นปัญหาทั้งระบบ ไม่ช่วยก็อย่าไปช่วย นี่คุณช่วยตัวใหญ่ ประเด็นผมอยู่ตรงนี้ ถ้าช่วยก็ช่วยหมด แต่ไม่ใช่ (เลวๆ แย่ๆ) ก็เข้าไปช่วย แบบนี้ก็ควรเว้นไว้
"หุ้นกู้ที่เราชำระไป 450 ล้านบาทล่าสุดนี้ มาจากกระแสเงินสดไปชำระ และจะมีครบดีลอีกทีปี 2564 กระแสเงินสดเราพอ เพราะเราเตรียมตั้งแต่ปีที่แล้ว มีเรื่องการเพิ่มทุน ขอวงเงินกับสถาบันการเงิน และการขายสินทรัพย์ออกไป ซึ่งกระแสเงินสดเราสามารถดำเนินธุรกิจไปได้ถึง 2 ปี"
บริษัทรายเล็ก ต้นทุนระดมทุนสูงขึ้น
ด้าน นายธนากร ธนวริทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ALL กล่าวว่า บริษัทมีความแข็งแกร่งทางการเงินที่ดี ล่าสุดได้ชำระคืนหุ้นกู้ที่ครบกำหนดวงเงิน 470 ล้านบาท เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคมที่ผ่านมา อีกทั้งในครึ่งปีหลังของปี 63 ได้เตรียมความพร้อมสำหรับชำระคืนหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดอีกมูลค่า 120 ล้านบาทไว้เรียบร้อยแล้ว
ล่าสุด บริษัทฯได้ออกหุ้นกู้ล็อตใหม่วงเงิน 200 ล้านบาท อายุ 2 ปี อัตราดอกเบี้ย 6.90% ต่อปี จ่ายดอกเบี้ยทุกๆ 3 เดือนตลอดอายุหุ้นกู้ เปิดให้จองซื้อระหว่างวันที่ 1-4 มิ.ย.63 ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2565 ซึ่งวัตถุประสงค์ออกหุ้นกู้ เพื่อนำเงินมาเป็นเงินทุนหมุนเวียน โดยจะใช้เงินภายในเดือนต.ค.63
อนึ่ง บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด คงมุมมอง “Negative” หรือ “ลบ” สำหรับธุรกิจพัฒนาอสังหาฯ เนื่องจากงบการเงิน ณ สิ้นปี 2562 พบว่าผู้ประกอบการทั้ง 22 รายมียอดหุ้นกู้คงเหลืออยู่ที่ประมาณ 2.43 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 60% ของหนี้สินทางการเงินโดยรวมของผู้ประกอบการทั้งหมด และจากข้อมูลของสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย ณ วันที่ 30 มีนาคม 2563 พบว่า ตราสารหนี้ (หุ้นกู้) ที่จะครบกำหนดชำระภายในปี 2563 มีมูลค่า 89,300 ล้านบาท ขณะที่แนวโน้มผลประกอบการของบริษัทปรับลดลง