เครดิต บูโร เผยตัวเลขหนี้ในระบบพุ่ง เหตุเด็กรุ่นใหม่ก่อหนี้ตั้งแต่อายุยังน้อย GEN Y (อายุ 23-40 ปี) มียอดหนี้ 4.0 ล้านล้านบาท ขณะ GEN Z (อายุ 18-23 ปี) มีจำนวนไม่มาก แต่เติบโตค่อนข้างไวเฉลี่ยเดือนละ 7% เตือนแบงก์ให้ความสนใจ ควรระมัดระวัง จับตาวัยทำงานหากประสบปัญหา Income Shock ช่วงนี้ก็จะเป็นปัญหาใหญ่และน่าเป็นห่วง มองแนวทางลดหนี้ในกลุ่มเปราะบาง ต้องหามาตรการสนับสนุนให้คนมีงานทำ เพื่อ เพื่อมีแหล่งหารายได้เพิ่มขึ้นมาชำระหนี้
เครดิต บูโร แม้ชื่อนี้จะเป็นที่รู้จักในฐานะองค์กรที่ทำหน้าที่รายงานสถานการณ์หนี้ของลูกหนี้สถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกแล้ว แต่จากข้อมูลดังกล่าวได้นำมาขยายความในเชิงลึกมากขึ้นไปถึงการก่อหนี้ในช่วงอายุต่างๆ รวมไปถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น
“สุรพล โอภาสเสถียร” ผู้จัดการใหญ่ บริษัทข้อมูลเครดิต (เครดิตบูโร) นำตัวเลข ข้อมูล ตลอดจนต้นหตุของหนิ้สินที่มี เพื่อให้เห็นชัดเจนว่า หนี้ในระบบของไทยนั้นอยู่ในสภาวะสุ่มเสี่ยงและมีผลต่อตัวเลขจีดีพี อีกทั้งผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้นนั้น ในส่วนภาพรวมมีการคาดการณ์ว่าจะส่งผลกระทบต่อจีดีพีที่น่าจะทำให้ติดลบ 6 ถึง 10% โดยบริษัทที่ปรึกษาแมคแคนซีประเมินจีดีพีกรณีปิดล็อกดาวน์เดือนเมษายน-พฤษภาคมจีดีพีจะติดลบ 10% แต่ถ้าปิดล็อกดาวน์ยาวไปถึงกรกฎาคมจีดีพีจะลงไป 14% พร้อมกันนั้น ได้ทำการสำรวจต่อไปว่า 91% ของผู้บริโภคกังวลเรื่องรายได้ 75% หยุดซื้อของไม่จำเป็น และ 80% กังวลที่จะออกไปนอกบ้าน
ขณะที่หอการค้าไทยมองว่า จำนวนคนว่างงานมีจำนวนสูงขึ้น ส่งผลให้จีดีพีไตรมาสแรกติดลบและทั้งปีอาจติดลบ 5 ถึง 6% เพราะฉะนั้น คงเห็นอะไรที่ลงไปลึกในไตรมาส 2 และหวังว่าในไตรมาส 2 จะเป็นจุดที่ต่ำสุด แน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบต่อธุรกิจธนาคาร ซึ่งมีอยู่ 2 เรื่องด้วยกันคือ การผิดนัดชำระหนี้อาจจะเพิ่มขึ้น 2-3 เท่าจากปัจจุบัน และรายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกรรมต่างๆ จะลดลงเป็นตัวเลข 2 หลัก
จับตาวัยทำงาน หวั่นเกิด Income Shock
จากที่กล่าวมาแล้วข้างต้น หากพิจารณาจากตารางในลำดับแรก ซึ่งเป็นภาพรวมของข้อมูลสิ้นสุด ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563 เครดิต บูโร มีสมาชิกรวม 103 สถาบันการเงิน มีฐานข้อมูลลูกหนี้ 108 ล้านบัญชี ครอบคลุม 28 ล้านลูกหนี้ บริษัทหรือนิติบุคคลมี 4.3 ล้านบัญชี ครอบคลุม 4 แสนกว่าบริษัท มีธุรกรรมการขอสินเชื่อใหม่ไตรมาส 1 จำนวน 4.5 ล้านใบสมัคร และมีการขอข้อมูลเพื่อดูถึงสถานะของลูกค้าเก่าเพิ่มขึ้น 16 ล้านครั้ง จากปีที่แล้วที่มี 55 ล้านครั้งใน 12 เดือน ทั้งนี้ จากตัวเลขในหนี้ครัวเรือนไทย 13.3 ล้านล้านบาท มีข้อมูลอยู่ในเครดิต บูโร 11.7 ล้านล้านบาท ส่วนต่างก็จะเป็นส่วนของสหกรณ์ และกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) และตัวเลขในเดือนมีนาคม 2563 ซึ่งเป็นเดือนก่อนจะมีผลกระทบจากโควิด-19 อย่างเต็มที่ มีตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) (หนี้ค้างเกิน 90 วัน) ของสถาบันการเงินที่สมาชิกเครดิตบูโรมีจำนวน 950,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 8.1% โดยส่วนของเครดิต การ์ดมี NPL 0.6% ของยอดคงค้างทั้งระบบ สินเชื่อเช่าซื้อมี NPL 1.3% สินเชื่อบ้านมี NPL 1.7% และสินเชื่อบุคคลมี NPL 1.8% โดยรวมสินเชื่อทั้ง 5 ประเภทนี้มี NPL 5.5% ที่เหลือส่วนของสินเชื่อธุรกิจ สินเชื่อเช่าซื้อไม่ใช่รถ และสินเชื่อเกษตร มีหนี้ปรับโครงสร้าง (TDR) 970,000 ล้านบาท หรือ 8.3% และมีหนี้ผิดนัดชำระแต่ยังไม่เป็น NPL (SM) 3.6%
สำหรับสินเชื่อรวม ณ สิ้นไตรมาสแรกปี 2563 เติบโต 3.4% โดยแบ่งเป็นสินเชื่อหลัก 4 ประเภท ได้แก่ สินเชื่อบ้าน ณ สิ้นไตรมาส 1 มียอดคงค้างที่ 4.03 ล้านล้านบาท เติบโต 3.7% มี NPL คิดเป็น 4.9%ของพอร์ต สินเชื่อรถยนต์มียอดคงค้างที่ 2.43 ล้านล้านบาท เติบโต 2.8% มี NPL 6.2% สินเชื่อบัตรเครดิตมียอดคงค้าง 470,000 ล้านบาท เติบโต 4.5% NPL 15.2% และสินเชื่อบุคคลมียอดคงค้าง 2.13 ล้านล้านบาท เติบโต 2.6% เอ็นพีแอลค่อนข้างทรงตัวที่ 10.1%
และในข้อมูลเชิงลึกลงไป จะพบว่า ในไตรมาสแรกปี 2563 เริ่มจาก GEN Z (อายุต่ำกว่า 23 ปี) ก่อหนี้ไปแล้ว 2.5 หมื่นล้านบาท GEN Y (อายุ 23-40 ปี) มียอดหนี้ 4.0 ล้านล้านบาท GEN X มียอดหนี้ 3.7 ล้านล้านบาท และ Baby Bommer 1.2 ล้านล้านบาท ขณะที่ยอด NPL รวม 6 แสนกว่าล้านบาท ก็มีส่วนของ GEN Z จำนวน 1.2 พันล้านบาท คิดเป็น 5.0% GEN Y จำนวน 2.7 แสนล้านบาท คิดเป็น 6.8% GEN X จำนวน 2.8 แสนล้านบาท Baby Boomer จำนวน 8.4 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 6.8%
นอกจากนี้ หากแยกดูว่า GEN ไหนก่อหนี้ประเภทไหน เพื่อที่จะรู้ว่าความสามารถในการชำระหนี้หากเกิดภาวะวิกฤตจะเป็นอย่างไร จะพบว่าในช่วงอายุ 38 ปี เป็นช่วงที่มีจำนวนคนมีสินเชื่อบุคคลมากที่สุด อายุ 40 ปี เป็นช่วงที่มีจำนวนคนที่มีบัตรเครดิตมากที่สุด อายุ 30 ปี เป็นช่วงที่มีจำนวนคนมีสินเชื่อรถยนต์มากที่สุด และอายุ 40 ปี เป็นช่วงที่มีจำนวนคนมีสินเชื่อบ้านมากที่สุด ดังนั้น คนอายุประมาณ 30-45 ปี เป็นช่วงที่มีภาระหนี้มากสุด และเป็นช่วงอายุของการทำงาน ซึ่งหากประสบกับปัญหา Income Shock ในช่วงนี้ ก็จะเป็นปัญหาใหญ่ที่หลายๆ ฝ่ายก็มีความเป็นห่วงอยู่
GEN Y แชมป์ก่อหนี้
อีกข้อมูลที่น่าสนใจเป็นการแยกจำนวน GEN ต่างๆ ตามประเภทสินเชื่อหลักๆ 4 ประเภทคือ สินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อบุคคล รวมถึงแนวโน้มการผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งจะทำให้เห็นภาพถึงความเสี่ยงในระยะต่อไปหากได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มากขึ้น (รูปที่ 1)
มาเริ่มกันที่ เครดิตการ์ด จากจำนวนอนุมัติบัตรใหม่เกือบ 600,000 ใบ เป็นส่วนของ GEN Y 63% หรือประมาณ 360,000 ใบ GEN X 29% Baby Boomer 7% และ Gen Z 1%
แต่ที่น่าสนใจคือ ขณะนี้คน GEN Y ที่ถือบัตรเครดิตและที่มีปัญหาในการชำระหนี้เกือบแตะ 700,000 บัตร สูงสุดทั้งจำนวนบัญชีและจำนวนหนี้ ขณะที่กลุ่ม GEN X ก็เป็นกลุ่มที่เคยมีปัญหาแต่ก็ได้มีการปรับโครงสร้างหนี้ไป ซึ่งตรงนี้ก็จะได้รับอานิสงส์จากมาตรการผ่อนคลายการลดวงเงินขั้นต่ำ การลดดอกเบี้ยไปด้วย ดังนั้น จากตัวเลขที่เห็นกันอยู่นี้ว่าจากสัดส่วนเอ็นพีแอลบัตรเครดิต 15% จากพอร์ต 470,000 ล้านบาท มาจากกลุ่มไหนเป็นสำคัญ (รูปที่ 2)
สินเชื่อบุคคล จากจำนวน 849,894 สัญญา เป็นส่วน GEN Y 50% 400,000 กว่าสัญญา GEN X 36% Baby Boomer 12% และ GEN Z 2% ด้านการผิดนัดชำระหนี้ เช่นเดียวกันกับบัตรเครดิต คือกลุ่ม GEN Y เป็นกลุ่มที่มีปัญหาในการชำระหนี้มากสุด ขณะที่ GEN X เป็นกลุ่มที่เคยมีปัญหามากแต่มีการปรับโครงสร้างหนี้แล้ว (รูปที่ 3)
สินเชื่อรถยนต์ จากจำนวน 475,013 สัญญา เป็นส่วนของ GEN Y 54% GEN X 35% Baby Boomer 9% และ GEN Z 2% ซึ่งการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อเช่าซื้อในไตรมาสแรกนี้ รับอานิสงส์จากโปรไฟไหม้ค่ายรถค่ายที่จะยกเลิกการขายในไทย แล้วก็มี GEN Z ซึ่งอายุต่ำกว่า 23 ปี โผล่มา 2% และเป็นการกู้ด้วยชื่อตนเอง ด้านการผิดชำระหนี้ GEN Y สูงสุด การเคลื่อนไหวเป็นแบบเคยมีปัญหามารอบหนึ่งที่ผ่านมา แล้วแก้ไขไปแล้ว แล้วก็กลับมาเป็นอีก ขณะที่ GEN X ก็มีลักษณะคล้าย 2 ส่วนที่แล้ว คือเคยมีปัญหาได้ปรับโครงสร้างหนี้แล้ว (รูปที่ 4)
และตัวสุดท้าย สินเชื่อบ้าน จากจำนวน 80,494 สัญญา เป็นส่วนของ GEN Y 64% GEN X 29% Baby Boomer 6% และ GEN Z 1% โดยมีข้อสังเกตได้ว่าไตรมาส 1 ปีนี้มีสินเชื่อบ้านเปิดใหม่แค่ 8 แสนกว่าสัญญา ซึ่งแต่ก่อนต้องเปิดมากกว่า 1 แสนสัญญา ดังนั้น ปีนี้ทั้งปีเต็มก็น่าจะได้ประมาณ 3 แสนสัญญา จากปี 60 ที่มี 3.6 แสนสัญญา ปี 61 มี 4.3 แสนสัญญา และปีที่แล้วมี 3.7 แสนสัญญา ดังนั้น แนวโน้มเห็นได้ชัดเจนว่า แบงก์มีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อบ้าน และจะเข้มงวดขึ้นอีกเพราะมีความกังวลเรื่องเอ็นพีแอลค่อนข้างมาก ดังจะเห็นได้การผิดนัดชำระหนี้ ก็เป็นส่วนของ GEN Y สูงสุด GEN X ก็มีลักษณะของการเข้ามาปรับโครงสร้างหนี้
นายสุรพล กล่าวว่า ข้อมูลที่ใช้เป็นข้อมูล ณ สิ้นสุดไตรมาสแรก ปีนี้ จึงยังไม่ได้รวมผลกระทบอย่างเต็มที่จากโควิด-19 เพราะมาตรการเข้มข้นอย่างการปิดเมืองนั้น ได้เริ่มทำในเดือนเมษายน แต่จากข้อมูลที่มีจะชี้ให้เห็นว่า การชำระหนี้สินเชื่อบ้าน สินเชื่อบุคคลมีการปรับโครงสร้างค่อนข้างมากอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่สินเชื่อรถยนต์มีปัญหาค่อนข้างมากในกลุ่ม GEN Y บัตรเครดิตจะอนุมัติได้ยากขึ้น มาตรการต่างๆที่ทางการทำลงไปในช่วงปลายเดือนมีนาคม ผลกระทบจะเห็นได้ชัดเจนในไตรมาส 2 ทั้งทางบวกและทางลบ
นอกจากนี้ ในระยะถัดไป ปรับโครงสร้างหนี้เชิงป้องกัน (Debt Restructure : DR) จะมีบทบาทมากขึ้น แต่ส่วนที่เป็นเอ็นพีแอลแล้วก็จะต้องทำปรับโครงสร้างตามปกติ (TDR) ต่อไป และจากรายงานอื่นๆ พบว่า ลูกหนี้กลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือนไปจนถึง 50,000 บาท จะมีปัญหาเรื่อง Income Shock ซึ่งเชื่อว่า ธปท.ก็จะพยายามผลักดันให้เกิดการปรับโครงสร้างหนี้เพิ่มขึ้นทั้งส่วนของการปรับโครงสร้างหนี้ในส่วนที่มีปัญหา และการปรับโครงสร้างหนี้เชิงป้องกัน เพื่อไม่ให้เกิดเทลงมาที่เอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น
GEN Z น้องใหม่มาแรง จนน่าห่วง
(รูปที่ 5)
นอกจากข้อมูลของ GEN Y ที่มีการก่อนหนี้อยู่ระดับสูงแล้ว ยังมีในส่วนของ GEN Z ที่เริ่มมีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ โดยพบว่ากลุ่มนี้เป็นผู้กู้รายใหม่ที่เริ่มก่อหนี้ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ จากข้อมูลเปรียบเทียบ GEN Z ในประเทศต่างๆ อย่าง สหรัฐอเมริกามีประชากร GEN Z อายุ 18-23 ปี คิดเป็น 32% ไทยมี 26% ขณะกลุ่ม GEN Z ของสหรัฐฯ มี 66% มีหนี้ ฮ่องกง 49% มีหนี้ เพราะในประเทศเหล่านี้เขาให้กู้ยืมเงินได้ตั้งแต่อายุ 18 ปี หลักๆ ก็จะเป็น Student Loan ส่วนของไทย GEN Z 10% มีหนี้ เพราะกฎหมายไทยอนุญาตให้กู้ได้ต้องอายุ 20 ปี
และเมื่อลึกลงไปรายละเอียด ณ สิ้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา พบว่า ในกลุ่ม GEN Z มีจำนวน 187,691 คน แม้จำนวนอาจจะไม่มาก แต่การเพิ่มขึ้นค่อนข้างสูงจากเดือนมีนาคมปีก่อนที่มีจำนวน 63,291 คน ขณะที่จำนวนบัญชี GEN Z มีจำนวน 289,235 บัญชี เพิ่มขึ้น 3 เท่าจากเดือนมีนาคมปีก่อนหน้าที่ 87,222 บัญชี ซึ่งตรงนี้หลักๆ เป็นผลมาจาก Digital Lending เพราะคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะไม่เข้าระบบพนักงานประจำ จะทำอาชีพอิสระ ซึ่งเป็นอีกลูกค้ากลุ่มเป้าหมายที่สถาบันการเงินให้ความสนใจ
ส่วนยอดคงค้างหนี้สินของกลุ่ม GEN Z มีจำนวน 32,193 ล้านบาท มีหนี้สินเฉลี่ยต่อรายประมาณ 170,000 ล้านบาท ต่อไป ประเภทสินเชื่อที่เป็นสินเชื่อบุคคล 24% สินเชื่อเพื่อการพาณิชย์และอื่นๆ 32% สินเชื่อรถยนต์ 16% บัตรเครดิต 9% สินเชื่อบ้าน 1% และอีกประเด็น คือ ภาระหนี้หลักของคน GEN Z 52% เป็นสินเชื่อรถยนต์ มีวงเงินเฉลี่ยต่อคนก็อยู่ที่ 570,000 บาท รวมกับเงินดาวน์ราคาก็ประมาณ 600,000 บาท ก็เป็นรถยนต์ขนาดเล็ก ซึ่งในระดับอายุ 20-23 ปี หากเป็นการกู้ซื้อรถยนต์เพื่อมาประกอบอาชีพก็ยังเป็นการประกอบอาชีพ แต่ถ้าไม่ใช่ ประกอบกับในภาวะอย่างนี้ ต่อไปก็คงจะเหนื่อย ถัดมาเป็นภาระหนี้บ้าน 14% สินเชื่อบุคคล 8% และหนี้บัตรเครดิต 1%
อย่างไรก็ตาม จากมาตรการผ่อนคลายภาระหนี้ให้แก่ประชาชน ไม่ว่าจะเป็นโปรแกรมยืดหนี้รถยนต์เป็น 7 ปี หรือการลดดอกเบี้ยบัตรเครดิต-สินเชื่อบุคคลจาก 28% เป็น 22% ก็คงพอจะช่วยได้ แต่หากการค้าหรือธุรกิจไม่ดีไปอีกระยะหนึ่ง ก็จะทำให้มีปัญหาค้างชำระ ซึ่งปัจจุบันมียอดอยู่กว่า 500 ล้านบาทแล้ว จนกลายป็นเอ็นพีแอล คนกลุ่มนี้ก็จะมีปัญหาในการทำธุรกิจของเขาต่อไปในอนาคต โดยเฉพาะในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน
ด้านการชำระหนี้ของคน GEN Z พบว่า 70-80% ของคน GEN Z ไม่ค้างชำระสินเชื่อ มี 7-8% เริ่มจะค้างแต่ยังไม่เป็นหนี้เสีย และมีเป็นเอ็นพีแอล 10-12% โดยหนี้ NPLของกลุ่ม GEN Z ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อรถยนต์และสินเชื่อเช่าซื้อที่ไม่ใช่รถยนต์ รวมถึงหนี้ค้างชำระแต่ยังไม่เป็นเอ็นพีแอลของ GEN Z ก็กระจุกตัวในกลุ่มสินเชื่อรถยนต์ ซึ่งควรระมัดระวังเป็นพิเศษ ด้านหนี้ปรับโครงสร้างส่วนใหญ่อยู่สินเชื่อบ้าน-คอนโดฯ
"หนี้ของ GEN Z ในฐานข้อมูลของเครดิตบูโร แม้มีจำนวนไม่มาก แต่จุดสำคัญคือเติบโตค่อนข้างไว เฉลี่ยเดือนละ 7% นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2562 และเติบโตมากกว่า 200% เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2562 ซึ่งลักษณะของคนกลุ่มนี้คือจะไม่ค่อยเข้าสู่พนักงานเงินเดือน ทำอาชีพอิสระ เป็นพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ก็เยอะ การกู้ซื้อรถกู้สินเชื่อบุคคลถ้าเอาไปใช้ทำหากินก็เป็นเรื่องดี แต่ถ้าไม่ใช่ก็คงจะเหนื่อยกัน แล้วกลุ่มนี้ก็เป็นกลุ่มทาร์เกตใหม่ของแบงก์ที่ให้ความสนใจ แต่ก็ต้องระมัดระวังเช่นกัน"
ทั้งนี้ จากข้อมูลเมื่อปลายปีที่ผ่านมา พบว่ากลุ่ม GEN Z อายุ 22-23 ปี ได้รับการอนุมัติบัตรเครดิตเพิ่มมากขึ้น จากเดิมส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเจเนอเรชัน X และ Y จึงมีความกังวลและเป็นห่วงสถานการณ์ในอนาคตหากคนกลุ่มนี้ไม่มีความสามารถชำระหนี้ และค้างชำระหนี้จนกลายเป็นหนี้เสีย ทำให้ระดับหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นได้
อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามสถานการณ์ดังกล่าว เพราะคงไม่ใช่ทุกกลุ่มที่จะมีปัญหา โดยปัจจุบันมี 3 กลุ่มเปราะบางที่ ธปท. ดูแลเป็นพิเศษอยู่ คือ กลุ่มคนเจนเนอเรชัน Z อายุ 20-22 ปี ที่เริ่มเห็นการอนุมัติบัตรเครดิตให้คนกลุ่มนี้มากขึ้น กลุ่มคนอายุ 55 ปีขึ้นไป ยังคงมีหนี้ไม่ได้ลดลง และกลุ่มคนรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อเดือน มองว่าแนวทางลดหนี้ในกลุ่มเปราะบางนั้น คงต้องหามาตรการสนับสนุนให้คนมีงานทำ เพื่อมีแหล่งหารายได้เพิ่มขึ้นมาชำระหนี้