xs
xsm
sm
md
lg

บสย. หารือ สศค. ออกโครงการใหม่ค้ำหนี้ SMEs รวม 2.5 แสนล้าน “รักษ์” ย้ำผลงานหลังปรับกระบวนการทำงานช่วยธุรกิจเติบโตได้ทุกมิติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“เอ็มดี บสย.” เผยอยู่ระหว่างหารือกับ สศค. ออกโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS9 และโครงการค้ำประกันสินเชื่อ Micro Entrepreneurs ระยะที่ 4 มูลค่ารวม 2.5 แสนล้านบาท โดยเตรียมผ่อนคลายเงื่อนไขการค้ำประกันทั้ง 2 โครงการให้มีความผ่อนปรนมากขึ้น หวังช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทุกกลุ่มและกลุ่มผู้ตกงานจากวิกฤตโควิด-19 ที่เตรียมหันมาเริ่มต้นทำธุรกิจให้เข้าถึงแหล่งเงินกู้จากแบงก์ได้ ส่วนผลปรับกระบวนการทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพใหม่ว่า การดำเนินการดังกล่าวได้ส่งผลให้ บสย. เติบโตในทุกมิติ โดยมียอดอนุมัติการค้ำประกันสินเชื่อเพิ่มขึ้น 103% ขณะที่ยอดการอนุมัติ LG เพิ่มขึ้น 227% และลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้น 216% ซึ่งถือเป็นการเพิ่มขึ้นแบบทุบทุกสถิติ

ส่วนยอดการอนุมัติวงเงินค้ำประกันสินเชื่อสะสมให้ผู้ประกอบการจะอยู่ที่ 905,892 ล้านบาท โดยมีภาระการค้ำประกันสะสม 421,665 ล้านบาท และช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้จากสถาบันการเงินได้ 478,467 ราย ขณะที่มีกำไรในเดือน เม.ย. จะอยู่ที่ 123 ล้านบาท ทั้งนี้ บสย. มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ราว 4.5% ซึ่งช่วงไตรมาส 3 แนะ 4 จะขายหนี้คงค้างอยู่ในพอร์ตนานกว่า 28 ปีวงเงินราว 2 หมื่นล้านบาท เพื่อลดสัดส่วน NLPs

นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไทยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมย่อม (บสย.) กล่าวถึงความคืบหน้าในการจัดทำโครงการค้ำประกันสินเชื่อผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ใน 2 โครงการ ซึ่งมีมูลค่ารวม 2.5 แสนล้านบาทว่า กำลังอยู่ระหว่างการหารือกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เพื่อเปิดโครงการซึ่งจะประกอบไปด้วย 1.โครงการค้ำประกันสินเชื่อระยะที่ 9 (PGS9) วงเงิน 2 แสนล้านบาท เนื่องจากโครงการ PGS8 ซึ่งมีวงเงินรวม 1.5 แสนล้านบาท กำลังจะหมดลงภายในเดือน พ.ค.63 และ 2.โครงการค้ำประกันสินเชื่อรายย่อย (Micro Entrepreneurs) 4 วงเงิน รวมอีก 5 หมื่นล้านบาท เนื่องจากวงเงินสินเชื่อเดิมที่เคยขอไว้ 1.5 หมื่นล้านบาทนั้น ใกล้จะเต็มแล้ว

ทั้งนี้ โครงการ PGS9 จะมีเงื่อนไขที่ผ่อนปรนมากขึ้น โดย บสย. ได้หารือร่วมกับ สศค. เพื่อเตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้มีการชดเชยความเสียหายจากการเกิดหนี้เสีย 30% และยกเว้นค่าธรรมเนียมค้ำประกันในช่วง 3 ปีแรก โดยจะพิจารณาช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการที่มีแนวโน้มจะผิดนัดชำระหนี้ติดต่อกัน 2-3 งวด (SM) เพื่อสามารถใช้โครงการดังกล่าวได้ด้วย ซึ่งคาดว่าจะมีอยู่ราว 15% จากจำนวนเอสเอ็มอีทั้งหมด 3 ล้านราย อย่างไรก็ตาม โครงการ PGS9 จะเสนอการเคลมในปีแรกในอัตราที่สูงกว่าปกติ เช่น ปีแรกอาจค้ำลูกหนี้ที่เป็นNPL ประมาณ 5% หรือ 7% ต่อปี เพื่อจูงใจให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยเงินกู้ให้มากขึ้น เป็นต้น ซึ่งเป็นการเทความเสี่ยงไว้ในปีแรก เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจในช่วงนี้ไม่ปกติ แต่จะเฉลี่ยแล้วยังค้ำประกันความเสียหายผู้ประกอบการเฉลี่ยอยู่ที่ 3% ต่อปี

ส่วนโครงการค้ำประกันสินเชื่อ Micro Entrepreneurs ระยะที่ 4 นั้น นายรักษ์ ย้ำว่า บสย. จะขยายเงื่อนไขการรับประกันให้สูงขึ้นจาก 2 แสนบาทต่อราย เป็น 5 แสนบาทต่อราย เพื่อรองรับผลกระทบการว่างงานจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ซึ่งคาดว่าจะทำให้มีกลุ่มคนที่ตกงานหันมาประกอบอาชีพอิสระมากขึ้น พร้อมทั้งยังจะยกเว้นค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 3 ปี โดยมีระยะเวลาค้ำประกัน 10 ปีด้วย อย่างไรก็ตาม กรรมการและผู้จัดการทั่วไปของ บสย. ยังกล่าวเพิ่มเติมถึงความคืบหน้าในการดำเนินโครงการ Micro Entrepreneurs ระยะที่ 3 ซึ่งมีวงเงินรวม 1.5 หมื่นล้านบาทว่า ล่าสุดจะเหลือวงเงินอีกเพียง 4 พันล้านบาท ซึ่งคาดว่าวงเงินที่เหลือดังกล่าวจะหมดลงภายในเดือน พ.ค.นี้

ด้านความคืบหน้าของการดำเนินโครงการ บสย. สร้างไทย ให้ความช่วยเหลือเพื่อค้ำประกันกันกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีปัญหาหนี้เสีย (NPLs) ที่มีวงเงินราว 6 หมื่นล้านบาทนั้น ปัจจุบัน บสย. ได้ให้การค้ำประกันไปแล้ว 4 หมื่นล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 2 หมื่นล้านบาทนั้น มียอดจองเพื่อขอรับความช่วยเหลือจนครบหมดแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ บสย. อยู่ระหว่างพิจารณาโครงการใหม่เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่เอสเอ็มอีที่มีปัญหา หรือหลุ่มหนี้เสียอย่างต่อเนื่อง รวมถึงกำลังพิจารณาให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มเอสเอ็มอีที่มีแนวโน้มจะผิดนัดชำระหนี้ ทั้งนี้ื เพื่อเป็นการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการที่ครบทุกกลุ่มทั้งที่เป็นลูกหนี้ดี ลูกหนี้ที่กำลังมีปัญหา และลูกหนี้ที่กลายเป็นหนี้เสีย นอกจากนี้ บสย.ยังมีแนวคิดที่จะให้บริการแก่กลุ่มผู้ประกอบการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) แต่มีเงื่อนไขในการคิดดอกเบี้ยในการค้ำประกันที่มีความเป็นธรรมต่อลูกค้า

นายรักษ์ ยังกล่าวเพิ่มเติมหลัง บสย. ปรับกระบวนการทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพใหม่ว่า การดำเนินการดังกล่าวได้ส่งผลให้การค้ำประกันสินเชื่อของ บสย. ระหว่างวันที่ 1 ม.ค.-15 พ.ค.63 เติบโตได้ในทุกมิติ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 62 โดยยอดการอนุมัติการค้ำประกันสินเชื่อจะมีทั้งสิ้น 58,125 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 103% ยอดการอนุมัติหนังสือค้ำประกันสินเชื่อ (LG) มีทั้งสิ้น 80,267 ฉบับ เพิ่มขึ้น 227% และจำนวนลูกค้าใหม่จะมีอยู่ราว 64,202 ราย เพิ่มขึ้น 216% ซึ่งถือเป็นการเพิ่มขึ้นแบบทุบทุกสถิติ ส่วนยอดการอนุมัติวงเงินค้ำประกันสินเชื่อสะสมให้ผู้ประกอบการจะอยู่ที่ 905,892 ล้านบาท โดยมีภาระการค้ำประกันสะสม 421,665 ล้านบาท และช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้จากสถาบันการเงินได้ 478,467 ราย ขณะที่มีกำไรในเดือน เม.ย. จะอยู่ที่ 123 ล้านบาท ทั้งนี้ บสย. มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ราว 4.5% ซึ่งช่วงไตรมาส 3 และ 4 จะขายหนี้คงค้างอยู่ในพอร์ตนานกว่า 28 ปีวงเงินราว 2 หมื่นล้านบาท เพื่อลดสัดส่วน NLPs ด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น