เลขาฯ พท.รับไม้ต่อขยี้ พ.ร.ก.กู้เงิน ติงข้ามขั้นตอนไร้รายละเอียด จี้ตั้ง กมธ.สอบการใช้เงินกู้ ปรับ พ.ร.ก.ให้ทันเหตุการณ์ วางโครงสร้างรับโอกาสการพัฒนา ศก.หลังโควิด ฉะบริหารไร้ประสิทธิภาพ ทำ ศก.แย่ เจ็บ จน เจ๊ง ฟื้นฟูควรเริ่มบริโภคภายใน
วันนี้ (27พ.ค.) ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย และ ส.ส.กทม. อภิปรายพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดต่อไวรัสโคโรนา 2019 ว่า ตนเรียกชื่อว่า พ.ร.ก.เราไม่ทิ้งกัน 2020 แต่ชาวบ้านเรียกว่า “พ.ร.ก.เราเป็นหนี้ด้วยกัน 2020” ซึ่งมีมูลค่า 1 ล้านล้านบาท ซึ่งพรรคเพื่อไทยเห็นด้วยกับการจัดสรรงบประมาณเพื่อช่วยเหลือประชาชน แต่ตั้งข้อสังเกตไว้ก่อนว่า การออก พ.ร.ก.ครั้งนี้รัฐบาลข้ามขั้นตอนสำคัญไปหลายประการ โดยเฉพาะการสำรวจงบประมาณที่มีอยู่เดิม จนสังคมตั้งข้อครหาว่ารัฐบาลตั้งใจกู้เงินมากเกินไปเพื่อวัตถุประสงค์แอบแฝงหรือไม่ เพราะหากเงินกู้จำนวนนี้นายกรัฐมนตรีต้องใช้เงินตัวเองในการใช้หนี้ ก่อนกู้คงจะดูให้รอบคอบว่ามีเงินอยู่ในกระเป๋าเท่าไร แต่เมื่อไม่ต้องใช้เงินตัวเองจ่ายหนี้จึงขอกู้เงินมาเต็มที่ โดยไม่มีรายละเอียดโครงการเลยว่าจะเอาไปใช้อะไร แถมยังเปิดกรอบให้ตัวเองกู้ยาวไปถึงกันยายน 2564
ทั้งนี้ ตนเห็นว่าเหตุผลและความจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องใช้จ่ายเงินครั้งนี้เกิดจากการออกคำสั่งล็อกดาวน์ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินของรัฐบาลเอง และสั่งระงับกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพื่อหยุดการแพร่ระบาด เกิดผลกระทบต่อประชาชนและเศรษฐกิจอย่างรุนแรง รัฐบาลจึงมีหน้าที่ที่จะต้องเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ ประชาชน และภาคเศรษฐกิจ จึงได้ตรา พ.ร.ก.3 ฉบับนี้ แต่สิ่งตนห่วงคือ เศรษฐกิจไทยได้รับความเสียหายจากการบริหารที่ผิดพลาดและไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลมาก่อนหน้าที่จะเกิดโควิด-19 เช่น รัฐบาลได้ก่อหนี้ด้วยการกู้ยืมเงินมาชดเชยการขาดดุลงบประมาณรวม 2.662 ล้านล้านบาท เป็นการก่อหนี้ที่สูงเพิ่มขึ้นทุกปี แต่เศรษฐกิจกลับแย่ลง ต่ำเตี้ยลงไปเรื่อยๆ ขณะเดียวกัน การจัดเก็บภาษีที่ได้ต่ำกว่าประมาณการมาทุกปี แสดงว่าประชาชนขาดกำลังซื้อ ส่งผลให้ผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อยหมดตัวไปตามๆ กัน นอกจากนี้ การฆ่าตัวตายยังเพิ่มสูงขึ้นจากพิษเศรษฐกิจ อีกทั้งการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินซึ่งเป็นการใช้ยาแรงเพื่อหยุดการแพร่ระบาดเพื่อให้จำนวนผู้ติดเชื้อไม่ล้นเกินกว่าที่ระบบสาธารณสุขไทยจะรองรับได้ ตัวเลขขณะนี้มีไม่มากเมื่อเทียบกับต่างประเทศ แต่มาตรการที่รัฐเลือกใช้ไม่ได้สัดส่วนกับเหตุที่เกิดขึ้น เมื่อสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว แต่รัฐบาลยังคงประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อไปจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน อันจะทำให้เศรษฐกิจไทยที่เสียหายอยู่แล้วพังพินาศมากขึ้น ตอนนี้ประเทศไทยไม่ได้มีแค่ 3 ป. แต่มี 3 จ. คือ เจ็บ จน เจ๊ง ของเศรษฐกิจไทย
การส่งออกและการท่องเที่ยวหดตัวจากการแข็งค่าของเงินบาท และสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ส่วนการบริโภคภายในขาดกำลังซื้อ แรงขับเคลื่อนที่สำคัญของเศรษฐกิจไทยมาจากการใช้จ่ายภาครัฐจากเงินที่กู้ยืมมาทั้งสิ้น และหากการก่อหนี้ชนเพดานจนกู้ยืมไม่ได้อะไรจะเกิดขึ้นกับประเทศชาติ ซึ่ง พ.ร.ก.ฉบับนี้รัฐบาลกู้มา 1 ล้านล้านบาท จึงเหลือเพดานที่จะก่อหนี้ได้อีกไม่เกิน 1.5 ล้านล้านบาท ดังนั้นเงินกู้ครั้งนี้อาจจะถือเป็นเงินหน้าตักก้อนสุดท้ายที่รัฐบาลจะต้องใช้เพื่อเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ เพราะจะต้องเผื่อไว้เพื่อกู้ชดเชยการขาดดุลงบประมาณปี 2564 อีก 523,000 ล้านบาท อันจะทำให้ยอดหนี้สาธารณะสูงถึงเกือบถึงร้อยละ 55 หากรัฐบาลไม่สามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมาขยายตัวได้ก็จะทำให้จีดีพีหดตัว และจะทำให้อัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นไปอีก ตั้งแต่ยึดอำนาจ พล.อ.ประยุทธ์ก่อหนี้รวมกับ พ.ร.ก.ฉบับนี้ รวมเป็นเงิน 4.185 ล้านล้านบาท ต้องใช้เวลาเกือบ 90 ปี หรือสองชั่วชีวิตของ พล.อ.ประยุทธ์ถึงจะชำระหนี้หมด
ตนเห็นว่าการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไทยจะต้องเริ่มจากการบริโภคภายใน อันเป็นเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจตัวเดียวที่จะเร่งฟื้นฟูได้ ส่วนเครื่องยนต์ตัวอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการส่งออก การท่องเที่ยว และการลงทุน ล้วนแต่ต้องอาศัยปัจจัยจากต่างประเทศที่ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจหดตัวพร้อมกันทั้งโลก ดังนั้น การฟื้นฟูเศรษฐกิจครั้งนี้จึงต้องอาศัยคนตัวเล็กตัวน้อยและธุรกิจ SME เป็นฐาน เพื่อผลักดันเครื่องยนต์ตัวอื่นๆ แต่คนไทยไม่มีเงินหรือขาดกำลังซื้ออย่างรุนแรง แล้วใครจะเอาเงินมาซื้อของที่จะใช้เงิน 4 แสนล้านไปลงทุน จุดอ่อนของ พ.ร.ก.1 ล้านล้านบาท คือ คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ซึ่งประกอบด้วยข้าราชการประจำถึง 6 คน และมีผู้ทรงคุณวุฒิที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งอีก 5 คน มาเป็นผู้กลั่นกรองการใช้เงินกู้เพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจซึ่งมีความสลับซับซ้อนและเป็นเรื่องทางเศรษฐกิจ
น.อ.อนุดิษฐ์กล่าวว่า หัวใจของการเยียวยาคือ ต้องทั่วถึง รวดเร็ว เพียงพอต่อการดำรงชีพ และให้เกิดผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ เพราะเงินที่กู้มามีต้นทุนจึงต้องใช้เพื่อให้เกิดผลตอบแทนทางเศรษฐกิจด้วย โดยใช้ข้อมูลที่มีอยู่แล้วโอนเงินผ่านธนาคารจะทำให้คนไทยมีเงินใช้พร้อมกันทั่วประเทศ กลายเป็นพลังขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ แต่ความเป็นจริงกลับปล่อยมาทีละนิดทีละหน่อย นอกจากจะไม่ทำให้เกิดพลังขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจแล้วยังทำให้เกิดความล่าช้า ไม่ทั่วถึง จนประชาชนต้องคิดสั้นเพราะรอความช่วยเหลือไม่ไหวตามที่เป็นข่าว อีกทั้งผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อยควรได้มีโอกาสกลับมาทำธุรกิจ เพราะที่ผ่านมาผู้ประกอบการต้องหมดเนื้อหมดตัวการค้าซบเซา เพราะประชาชนไม่มีกำลังซื้อ แต่เงื่อนไขตาม พ.ร.ก.ดังกล่าวจะเปิดโอกาสให้ธนาคารพาณิชย์ดูแลเฉพาะลูกค้าชั้นดีที่ไม่มีความเสียหาย ทำให้เอสเอ็มอีทั่วไปเข้าไม่ถึงความช่วยเหลือตามเงื่อนไข ก็เท่ากับไม่สามารถฟื้นฟูผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อยให้กลับคืนมาได้
ขณะเดียวกัน การแก้ปัญหาคนตกงานก็ยังเป็นแผนที่รัฐบาลยังคิดไม่รอบคอบ การอบรมคนตกงานเข้าสู่ภาคเกษตรซึ่งคาดว่าจะมีคนตกงาน 7.5-10 ล้านคน คำถามคือจะเอาที่ดินที่ไหนให้ปลูกและจะปลูกอะไร และสุดท้ายจะลงเอยแบบเดิมคือไม่มีตลาด นอกจากนี้ยังถามไปถึงแผนการปรับตัวสำหรับโลกวิธีใหม่หลังการระบาดของโควิด เช่น การวางโครงสร้างพื้นฐานด้านสุขภาพและความสะอาด รวมทั้งการเตรียมความพร้อมสำรหับรองรับการท่องเที่ยว และการลงทุนที่จะกลับมาใหม่ เนื่องจากประเทศไทยมีจำนวนผู้ติดเชื้อน้อย ย่อมเป็นสถานที่ปลอดโรคที่ต่างชาติจะเข้ามา ถือเป็นโอกาสของประเทศที่รัฐบาบลต้องเตรียมความพร้อม ดังนั้นจึงต้องรีบยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน จำกัดเสรีภาพของพี่น้องประชาชน ยกเลิกคำสั่งที่เป็นอุปสรรคต่อการทำมาหากินของผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อย หยุดสร้างความหวาดกลัวให้เกิดกับประชาชน หรือออกคำสั่งเพราะกลัวว่าคนจะออกมาขับไล่ ซึ่งตนเห็นว่าหากคนคาดเดาไม่ออกว่ารัฐบาลจะมีแผนอย่างไรก็ไม่มีใครกล้าลงทุน
ทั้งนี้ น.อ.อนุดิษฐ์เสนอว่า รัฐบาลต้องสนับสนุนให้ตัวแทนพี่น้องประชาชนมีโอกาสได้ตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณ โดยผ่านทางกรรมาธิการวิสามัญของสภา, ต้องรายงานให้สภาได้รับทราบและตรวจสอบร่วมกันทุก 3 เดือน และควรเปิดโอกาสให้มีการปรับปรุง พ.ร.ก.ให้ทันสมัย ทันต่อเหตุการณ์ ด้วยการออกพระราชบัญญัติแก้ไขสาระสำคัญของการกู้เงินและการใช้เงินที่ไม่เป็นประโยชน์และขาดประสิทธิภาพ