“รมว.คลัง” ดึงแบงก์รัฐ-หน่วยงานในสังกัด ร่วมจัดตั้ง “ทีมเราไม่ทิ้งกัน” เดินหน้า “โครงการก้าวต่อไปเราไม่ทิ้งกันสู้ภัยโควิด-19” ระยะที่ 3 หวังเร่งติดตามฟื้นฟูชีวิตและอาชีพประชาชนหลังรัฐบาลจ่ายเยียวยา 5,000 บาทให้แล้ว “ออมสิน” ระบุเตรียมเงินอีก 4 หมื่นล้านบาท ปล่อยสินเชื่อเพื่อฟื้นฟู 4 ประเภท ไล่ตั้งแต่สินเชื่อสร้างงานสร้างอาชีพ สินเชื่อก่อร่างสร้างตัวใหม่ สินเชื่อคลายกังวล และสินเชื่อซอฟต์โลนเยียวยาผู้ประกอบการธุรกิจส่งออกและธุรกิจท่องเที่ยว ขณะที่ “ธ.ก.ส.” ทุ่ม 1.7 แสนล้านบาท อัดฉีดฟื้นฟูเกษตกรใน 3 โครงการ “ธอส.” ออก “โครงการ ธอส.ปันน้ำใจ เราไม่ทิ้งกัน” วงเงิน 4 หมื่นล้านบาท ปล่อยกู้คนในครอบครัวผู้รับเยียวยา 5,000 บาท หรือคนในครอบครัวลูกค้า ธอส.ที่ลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการลดต้น ลดดอกเบี้ย ยืดเวลาชำระหนี้ กำหนดเงื่อนไขจ่ายดอกเบี้ยปีละ 1.99% คงที่ช่วง 2 ปีแรก กู้ 1 ล้านบาท จ่ายเพียง 3,300 บาท ยื่นคำขอกู้ได้ตั้งแต่ 1 มิ.ย.-30 ธ.ค.63
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงถึงการดำเนินมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 ว่า กระทรวงการคลังได้ร่วมกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) และหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงการคลัง สานต่อมาตรการดูแลเยียวยาประชาชน ผ่านโครงการก้าวต่อไปเราไม่ทิ้งกันสู้ภัยโควิด-19” และจัดตั้ง “ทีมเราไม่ทิ้งกัน” เพื่อติดตาม สำรวจ และรับทราบความเดือดร้อน และเร่งเยียวยาในระยะที่ 3 ตามแผนการใช้จ่ายเงินตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท เพื่อฟื้นฟู คืนอาชีพ คืนรายได้ให้แก่ประชาชน ตลอดจนออกมาตรการเพิ่มเติมช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างฐานรากทางเศรษฐกิจของประเทศให้แข็งแกร่ง
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังมีข้อมูลผู้มีรายได้น้อย โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับการเยียวยา ทำให้สามารถนำข้อมูลมาประมวลผล เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยจะส่ง “ทีมเราไม่ทิ้งกัน” ลงพื้นที่เยี่ยมเยียน สำรวจ ประเมินสภาพความเป็นอยู่ เพื่อทราบความเดือดร้อนและความต้องการพื้นฐานของผู้ได้รับการเยียวยาทั่วประเทศอย่างทั่วถึง
ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ได้รับการเยียวยาได้มีอาชีพ สร้างรายได้ และเป็นการคืนความสุข หลังจากหลายธุรกิจมีการปิดกิจการลง ส่งผลให้มีพนักงานและลูกจ้างจำนวนมากต้องตกอยู่ในสภาพผู้ว่างงาน กระทรวงการคลัง ร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดอบรมอาชีพ ด้วยการเสริมสร้างทักษะอาชีพใหม่ให้ตรงกับความต้องการของตลาดที่จะเปลี่ยนไปหลังสถานการณ์โควิด-19 สิ้นสุดลง ซึ่งได้มอบหมายให้ SFIs ออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อต่างๆ ดูแลลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมทั้งกลุ่มลูกค้าบุคคล และภาคธุรกิจ พร้อมสร้างตลาดใหม่ ปรับปรุงตลาดเก่าให้ได้มาตรฐาน สะอาด เป็นตลาดปลอดเชื้อเปิดช่องทาง E-Market ตอบสนองความต้องการพ่อค้าแม่ค้ารุ่นใหม่และผู้ที่สนใจ เพื่อสร้างรายได้บน Platform E-Market ของภาครัฐ นอกจากนี้ คลังยังมีนโยบายจัดกิจกรรม “สัญจร” ตามภูมิภาคต่างๆ ต่อไป เพื่อพบปะเยี่ยมเยียนรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้ได้รับการเยียวยากระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจจากชนบทสู่เมือง จากฐานรากสู่ระดับประเทศ
ด้านนายชาติชาย กล่าวเพิ่มเติมถึงโครงการ “ก้าวต่อไปเราไม่ทิ้งกันสู้ภัยโควิด-19” ภายใต้ความร่วมมือกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) ทั้ง 9 แห่ง ธนาคารออมสินได้กำหนดแนวทาง “เยียวยา ฟื้นฟู ส่งเสริมสร้างอาชีพ คืนความสุข สร้างภูมิคุ้มกัน” ด้วยแนวคิด “คืนความสุข สร้างภูมิคุ้มกัน” ผ่าน 4 กระบวนการคือ
กระบวนการที่ 1 เยียวยา ซึ่งจะดำเนินการภายใต้มาตรการเสริมสภาพคล่องต่อเนื่องหลังจากการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือนสิ้นสุด ด้วยการพักชำระหนี้ต่อเนื่องอีก 2 ปี โดยให้เลือกชำระดอกเบี้ย 50-100% ได้ตามความสามารถ และยังคืนดอกเบี้ยให้อีก 20% (Cash Back) กรณีผ่อนชำระดีต่อเนื่อง รวมถึงขยายระยะเวลาผ่อนชำระออกไป ขณะเดียวกัน ได้ตั้งทีมคลินิกคลังสมอง หมอคลัง “เราไม่ทิ้งกัน” บริการด้วยระบบออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ สื่อสังคมออนไลน์ธนาคารออมสิน เช่น GSB Society ซึ่งจะเชื่อมโยงข้อมูลกับเว็บไซต์เราไม่ทิ้งกัน รับเรื่องเยียวยา ให้คำปรึกษา ประสานเครือข่ายเพื่ออำนวยความสะดวกให้บริการประชาชนอย่างครอบคลุม รวดเร็ว
กระบวนการที่ 2 การคืนอาชีพ โดยธนาคารออมสินได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่าย เช่น มหาวิทยาลัยประชาชน สร้างงานชุมชน โครงการช่างประชารัฐ ให้ช่องทางการขายสินค้าออนไลน์ผ่านเครือข่ายพันธมิตร รวมถึงจัดทำ “ตลาดนัดเราไม่ทิ้งกัน” ทั่วประเทศ ส่วนกระบวนการที่ 3 คืนความสุข โดยธนาคารฯ ได้ร่วมกับชุมชนต่างๆ ดำเนินการ “ตู้คลังออมสินปันสุข” ทุกชุมชน ซึ่งได้นำร่องจัดทำไปแล้วในหลายพื้นที่ และต่อไปจะดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม “ออมสินดูแล ห่วงใย ไม่ทิ้งกัน” สำหรับกระบวนการสุดท้าย และกระบวนการที่ 4 ฟื้นฟูรายได้ ด้วยการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ระยะเวลาผ่อนนานจำนวน 4 ประเภท วงเงินสินเชื่อประเภทละ 10,000 ล้านบาท รวมวงเงินสินเชื่อ 40,000 ล้านบาท ได้แก่ สินเชื่อสร้างงานสร้างอาชีพ สินเชื่อก่อร่างสร้างตัวใหม่ สินเชื่อคลายกังวล และสินเชื่อซอฟต์โลนเยียวยาผู้ประกอบการธุรกิจส่งออกและธุรกิจท่องเที่ยว
ขณะที่นายอภิรมย์ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ธ.ก.ส.ยังเตรียมที่จะออกสินเชื่อช่วยเหลือสนับสนุนเกษตรกรหลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มคลี่คลายแล้ว เพื่อให้มีเงินทุนในการประกอบอาชีพหรือสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ จำนวน 3 โครงการ ซึ่งประกอบด้วย โครงการที่ 1 สินเชื่อพอเพียงเพื่อเลี้ยงชีพ สำหรับเกษตรกรหรือผู้ที่สนใจซึ่งไม่เคยเป็นลูกค้า ธ.ก.ส.มาก่อน ได้มีเงินทุนประกอบอาชีพตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท วงเงินกู้รายละไม่เกิน 50,000 บาท
โครงการที่ 2 สินเชื่อนิวเจนฮักบ้านเกิดสำหรับเกษตรกร ทายาทเกษตรกร หรือคนรุ่นใหม่ที่กลับคืนสู่ภูมิลำเนาและสนใจในการทำเกษตรกรรมวงเงินรวม 60,000 ล้านบาท และโครงการที่ 3 สินเชื่อระยะสั้นฤดูกาลผลิตใหม่ สำหรับเกษตกรที่ได้รับการพักชำระหนี้ เพื่อเป็นเงินทุนในการทำการเกษตรระยะสั้น ปีการผลิต 2563/64 วงเงินรวม 100,000 ล้านบาท วงเงินกู้รายละไม่เกิน 50,000 บาท ทั้งนี้ สินเชื่อทั้ง 3 โครงการอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน อย่างไรก็ตาม ธ.ก.ส.จะเร่งนำเสนอโครงการเพื่อให้คณะกรรมการธนาคารพิจารณาเห็นชอบโดยเร็วต่อไป
นอกจากนี้ ธ.ก.ส.ยังได้เตรียมมาตรการในการฟื้นฟูเพื่อช่วยเหลือให้เกษตรกรลูกค้ากลับมาพัฒนาอาชีพที่สอดคล้องต่อวิถีชีวิตและชุมชน มีรายได้ ควบคู่กับการร่วมดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมของชุมชนอย่างยั่งยืน โดยน้อมนำความรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิต ซึ่ง ธ.ก.ส. มุ่งหวังว่าจะสามารถช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบได้กว่า 1,000,000 ราย
ขณะที่ นายกมลภพ วีระพละ รองกรรมการผู้จัดการ และรักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า เพื่อเป็นการร่วมเดินหน้าฟื้นฟูภาวะเศรษฐกิจภายหลังปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เริ่มคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น คณะกรรมการธนาคารจึงมีมติเห็นชอบให้จัดทำ “โครงการ ธอส. ปันน้ำใจ เราไม่ทิ้งกัน” ผ่าน 2 มาตรการทั้งทางด้านการเงิน และด้าน CSR ประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์สินเชื่อ “โครงการบ้าน ธอส. เราไม่ทิ้งกัน” วงเงิน 20,000 ล้านบาท
โดยกำหนดให้กู้สำหรับบุคคลในครอบครัวของประชาชนที่ได้รับสิทธิตามมาตรการเงินเยียวยา 5,000 บาท จำนวน 3 เดือน หรือบุคคลในครอบครัวของลูกค้า ธอส. ที่ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เข้าร่วม มาตรการช่วยเหลือลูกค้าผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) รวมถึงมาตรการบรรเทาผลกระทบให้กับลูกค้าทั้ง 8 มาตรการตาม “โครงการ ธอส.ช่วยคนไทย ร่วมสร้างชาติ” โดยผู้กู้จะได้รับอัตราดอกเบี้ยคงที่ 1.99% ต่อปี นานถึง 2 ปีแรก ปีที่ 3 อัตราดอกเบี้ย 3.75% ต่อปี ปีที่ 4 อัตราดอกเบี้ย MRR-2% ต่อปี และปีที่ 5 จนถึงตลอดอายุสัญญาเงินกู้ กรณีลูกค้าสวัสดิการ อัตราดอกเบี้ยเท่ากับ MRR-1.00% ต่อปี และกรณีรายย่อยทั่วไป อัตราดอกเบี้ยเท่ากับ MRR-0.75% ต่อปี ทั้งนี้ ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ย MRR ธอส.เท่ากับ 6.150% ต่อปี
วัตถุประสงค์ให้กู้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัยแบบครอบคลุมทั้งบ้านใหม่และบ้านมือสอง การต่อเติม การขยาย ซ่อมแซม และซื้ออุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวเนื่องเพื่อประโยชน์ในการอยู่อาศัยพร้อมกับการขอกู้ตามวัตถุประสงค์หลัก (ซื้อ ปลูกสร้าง ต่อเติม ขยาย และซ่อมแซม) วงเงินให้กู้ไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อหลักประกัน รวมถึงได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมการยื่นกู้ คิดค่าประเมินราคาหลักประกันในอัตราพิเศษ และให้ผ่อนชำระได้นานสูงสุด 40 ปี ยื่นคำขอกู้และทำนิติกรรมได้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน-30 ธันวาคม 2563
ธอส.ยังย้ำว่า อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำในปัจจุบัน ถือเป็นโอกาสดีสำหรับคนที่ต้องการมีบ้านเป็นอย่างมาก ธอส.จึงได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยเพียง 1.99% ต่อปี ถือเป็นการแบ่งเบาภาระในการผ่อนชำระของลูกค้าโดยตรง เช่น กรณีกู้ 1 ล้านบาท จะผ่อนชำระ 2 ปีแรกเพียง 3,300 บาทต่อเดือนเท่านั้น นอกจากนี้ เพื่อให้ประชาชนได้รับวงเงินกู้สูงขึ้นเพื่อเพิ่มโอกาสในการได้มีบ้าน ธอส. จึงกำหนดสัดส่วนความสามารถชำระหนี้ต่อรายได้ (Debt Service Ratio หรือ DSR) ในกรณีลูกค้ารายย่อยเพิ่มเป็นสูงสุดไม่เกิน 50% ของรายได้สุทธิต่อเดือน โดยถือเป็นโครงการที่ครอบคลุมทั้งคนในครอบครัวของผู้ที่ได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท ที่ปัจจุบันมีผู้ผ่านเกณฑ์จำนวนกว่า 15 ล้านราย และครอบครัวของลูกค้า ธอส. ที่ลงทะเบียนเข้ามาตรการช่วยเหลือจากปัญหาโควิด-19 มากกว่า 4 แสนราย จึงเชื่อว่าโครงการนี้จะสนับสนุนให้ภาคอสังหาริมทรัพย์และเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้เร็วขึ้น
สำหรับผลการดำเนินมาตรการการลดดอกเบี้ย พักชำระเงินต้น พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย ขยายระยะเวลาชำระหนี้ และยกดอกเบี้ย ตาม “มาตรการช่วยเหลือลูกค้าผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019(COVID-19)” และ “โครงการ ธอส. ช่วยคนไทย ร่วมสร้างชาติ” รวม 10 มาตรการ ซึ่งให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างแท้จริงสามารถเลือกลงทะเบียนเข้ามาตรการที่เหมาะสมกับผลกระทบของตนเอง เพื่อลดภาระรายจ่ายและรักษาที่อยู่อาศัยให้ยังคงเป็นของตนเอง โดย ณ วันที่ 23 พฤษภาคม 2563 เวลา 18.00 น. มีจำนวนลูกค้าได้รับความช่วยเหลือรวมทั้งสิ้น 446,747 บัญชี วงเงินสินเชื่อรวมกว่า 443,220 ล้านบาท
ส่วน นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาส อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวถึงผลการดำเนินนโยบายภาษีเพื่อช่วยเหลืผู้เสียภาษีในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมาว่า กรมสรรพากรได้เลื่อนเวลาในการชำระภาษีทุกประเภทซึ่งส่งผลให้มีเงินไหลกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้กว่า 1 แสนล้านบาท โดยแบ่งเป็นเงินที่เกิดจากการขยายระยะเวลาการยื่นแบบชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภงด.90, 91, 93 และ 95) จากวันที่ 31 มี.ค.63 ออกไปเป็น 31 ส.ค.63 ซึ่งมีมูลค่าทั้งสิ้น 1.2 หมื่นล้านบาท และเงินจากการขยายภาษีเงินได้นิติบุคคลอีก 8 หมื่นล้านบาท
นอกจากนี้ กรมสรรพากรยังได้เร่งคืนภาษีให้แก่ผู้เสียภาษีและผู้ประกอบการ โดยที่ผ่านมา มีสัดส่วนผู้เสียภาษีบุคคลธรรมดาที่ได้รับคืนเงินภาษีไปแล้วกว่า 95% ของจำนวนผู้ที่ยื่นขอคืนภาษีราว 3 ล้านราย ซึ่งคิดเป็นมูลค่าการขอคืนภาษีประมาณ 2.8 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตาม ในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 63 กรมสรรพากรยังได้คืนภาษีเงินได้นิติบุคคลไปแล้วกว่า 2.7 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 45.7% เมื่อเทียบกับปีงบประมาณ 62
ส่วน นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต ได้กล่าวถึงผลการออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนของกรมฯ ทำให้มีเงินไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแล้วกว่า 5 หมื่นล้านบาท