“ธพว.” เผยผลดำเนินมาตรการเยียวยาช่วยเหลือเอสเอ็มอีลดภาระค่าใช้จ่าย สามารถประคองธุรกิจให้อยู่รอด รักษาการจ้างงาน ภายใต้ชื่อมาตรการ "ลด-พัก-ขยาย-ผ่อน-เพิ่ม" ล่าสุด ถึงวันที่ 22 พ.ค.63 จะมีเอสเอ็มอีได้เข้าสู่มาตรการแล้ว 9.4 พันราย คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.4 หมื่นล้านบาท ขณะเดียวกัน ยังมีลูกค้ากองทุนประชารัฐขอพักหนี้อีก 5.3 พันล้านบาท และมีผู้ขอเติมทุนสินเชื่อใหม่กว่า 6.2 พันล้านบาท ทั้งยังมีผู้ประกอบการใช้บริการผ่านมาตรการเปิดอบรมให้ความรู้อีกกว่า 1.2 หมื่นราย
น.ส.นารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) กล่าวถึงความคืบหน้าในการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมถึงปัจจัยทางเศรษฐกิจ เช่น สงครามการค้า และภัยแล้ง ตามนโยบายของรัฐบาล
โดยระยะแรก ธพว.มุ่งมาตรการด้านการเงินเพื่อเยียวยาช่วยเหลือเอสเอ็มอีลดภาระค่าใช้จ่าย สามารถประคองธุรกิจให้อยู่รอด รักษาการจ้างงาน ภายใต้ชื่อมาตรการ "ลด-พัก-ขยาย-ผ่อน-เพิ่ม" จนถึงเมื่อวันที่วันที่ 22 พฤษภาคม 2563 มีเอสเอ็มอีไทยเข้าสู่มาตรการแล้ว 9,458 ราย คิดเป็นมูลค่ารวม 14,924.63 ล้านบาท แบ่งเป็นกลุ่มได้รับผลกระทบทางตรง 4,892 ราย คิดเป็นมูลค่า 7,082 ล้านบาท และกลุ่มได้รับผลกระทบทางอ้อม 4,566 ราย คิดเป็นมูลค่า 7,842.63 ล้านบาท
นอกจากนี้ ธพว. ยังช่วยเหลือลูกค้าลดภาระค่าใช้จ่าย ตามนโยบายธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยชะลอการชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยอัตโนมัติสูงสุด 6 เดือน ให้แก่ลูกค้าที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท ซึ่งมีลูกค้า ธพว. ชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยอัตโนมัติ จำนวน 43,215 ราย คิดเป็นมูลค่ารวม 66,479 ล้านบาท ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. ถึง 15 พ.ค.2563 ธพว. ได้เติมทุนเสริมสภาพคล่องให้เอสเอ็มอีไปแล้ว จำนวน 3,329 ราย วงเงินรวม 6,231.31 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน ธพว. ยังบูรณาการร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรดำเนินมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอี ประกอบด้วย รับมอบนโยบายกระทรวงอุตสาหกรรมให้ดำเนินมาตรการพักชำระหนี้เงินต้นสูงสุด 12 เดือน กลุ่มเป้าหมายประมาณ 10,000 ราย ภาระหนี้รวม 11,800 ล้านบาท และเติมทุนใหม่ให้แก่ลูกค้ากองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ
โดยด้านการพักชำระหนี้เงินต้นซึ่งเปิดรับคำขอเข้าร่วมโครงการ ตั้งแต่วันที่ 20 เม.ย.-19 พ.ค.63 มีลูกค้ากองทุนประชารัฐที่เข้าร่วมโครงการแล้ว 2,834 ราย คิดเป็นวงเงินราว 5,300 ล้านบาท ขณะที่ด้านการให้เติมทุนสินเชื่อใหม ซึ่งมีวงเงินรวมจากกระทรวงอุตสาหกรรม 17,000 ล้านบาท กำหนดคิดอัตราดอกเบี้ย 1% ตลอดอายุสัญญา โดยมีระยะเวลาผ่อนชำระสูงสุด 5 ปี ปลอดชำระคืนเงินต้น 1 ปีนั้น มีลูกค้ากองทุนฯ ที่ได้รับการเติมทุนไปแล้วกว่า 10,000 ราย
อย่างไรก็ตาม ธพว. ยังได้ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ดำเนินการสินเชื่อ “SMEs One” สนับสนุน SMEs รายย่อยเข้าถึงแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำพิเศษเพียง 1% ต่อปี ระยะเวลากู้นานสูงสุด 7 ปี ปลอดชำระคืนเงินต้นสูงสุด 12 เดือน เพื่อให้เอสเอ็มอีนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน เสริมสภาพคล่อง ลงทุน ขยายกิจการ ปรับปรุง ซ่อมแซม หรือยกระดับการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
น.ส.นารถนารี กล่าวต่อว่า นอกจากมาตรการช่วยเหลือด้านการเงินข้างต้นแล้ว ธพว.ยังช่วยผู้ประกอบการผ่านการอบรมออนไลน์ด้วยหลักสูตรเรียนง่ายเข้าใจเร็ว เช่น การเขียนแผนธุรกิจ การทำบัญชี การทำ E-Commerce ที่สามารถศึกษาได้ด้วยตัวเองที่เว็บไซต์ wdev.smebank.co.th "วัคซีนเพิ่มรายได้" ช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีขายสินค้าในตลาดนัดออนไลน์ สร้างโอกาสจับคู่ธุรกิจ ด้วยเฟซบุ๊กกรุ๊ป "ฝากร้านฟรี SME D Bank" ในแฟนเพจ powersmethai
ขณะเดียวกัน ยังได้จัดทำโครงการ "วัคซีนขยายตลาด” ดันสินค้าขยายตลาดผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ชื่อดัง เช่น Shopee, LAZADA, Thailandpostmart.com, Alibaba, LINE, JD Central เป็นต้น ซึ่งจนถึงวันที่ 23 พ.ค.2563 มีผู้ประกอบการเข้าใช้บริการแล้ว 12,844 ราย ด้านเติมความรู้ ผู้เข้าใช้บริการ 3,086 ราย ด้านเพิ่มรายได้จากการเปิดตลาดนัดออนไลน์ "ฝากร้านฟรี SME D Bank" ผู้เข้าใช้บริการ 6,605 ราย และกิจกรรมดันขยายตลาดผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ มีผู้เข้าใช้บริการ 3,153 ราย
สำหรับมาตรการ "ลด-พัก-ขยาย-ผ่อน-เพิ่ม" ที่ผ่านมาของ ธพว. นั้น จะประกอบไปด้วย 1.มาตรการลด ลดดอกเบี้ย 1% เป็นเวลา 1 ปี สำหรับลูกค้า 5 กลุ่มธุรกิจ ประกอบด้วย 1.ธุรกิจโรงแรม ห้องพัก 2.ธุรกิจสปา 3.ธุรกิจร้านอาหาร ภัตตาคาร 4.ธุรกิจนำเที่ยว มัคคุเทศก์ และ 5.บริการขนส่งนักท่องเที่ยว ใน 22 จังหวัดหลักตามข้อมูลจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) 2.มาตรการพัก ลูกค้าสามารถแจ้งความประสงค์ขอชะลอการชำระหนี้เงินต้นให้นานขึ้นจากสิทธิอัตโนมัติ เพื่อให้เหมาะสมต่อการดำเนินธุรกิจนานสูงสุด 12-24 เดือน 3.มาตรการขยายเวลาชำระหนี้ ให้สอดคล้องตามความสามารถในการชำระหนี้ นานสูงสุด 5 ปี 4.มาตรการผ่อนปรนการชำระหนี้ โดยระหว่างที่พักชำระหนี้เงินต้น ลูกค้าสามารถขอผ่อนปรนการชำระหนี้ของดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นได้ด้วย
และ 5.มาตรการเติมทุนดอกเบี้ยต่ำ เพื่อเสริมสภาพคล่อง มีเงินทุนสำรอง ผ่านโครงการสินเชื่อต่างๆ เช่น สินเชื่อรายเล็ก Extra Cash สำหรับผู้ประกอบการนิติบุคคลธุรกิจการท่องเที่ยว ได้แก่ ธุรกิจทัวร์ ธุรกิจสปา ธุรกิจขนส่งที่เกี่ยวเนื่อง (รถทัวร์ รถบัส รถตู้ รถแท็กซี่ เรือนำเที่ยว รถเช่า) บริษัทนำเที่ยว โรงแรม ห้องพัก และร้านอาหาร วงเงินกู้สูงสุด 3 ล้านบาทต่อราย ผ่อนชำระนานสูงสุด 5 ปี คิดอัตราดอกเบี้ย 2 ปีแรก 3% ต่อปี และไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน
รวมถึงสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน ช่วยเสริมสภาพคล่อง ลงทุน ปรับปรุง ตลอดจนสำรองเป็นค่าใช้จ่าย เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการประกอบธุรกิจ โดยเปิดโอกาสให้ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลผ่อนนานสูงสุด 7 ปี กลุ่มนิติบุคคลวงเงินกู้สูงสุด 5 ล้านบาท สำหรับลูกค้ามีศักยภาพแต่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 วงเงินกู้สูงสุด 1 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 3% ต่อปี 3 ปีแรก และกลุ่มบุคคลธรรมดาวงเงินกู้สูงสุด 2 ล้านบาท สำหรับลูกค้ามีศักยภาพแต่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 วงเงินกู้สูงสุด 5 แสนบาท อัตราดอกเบี้ย 5% ต่อปี 3 ปีแรก