โบรกเกอร์มองหุ้นกลุ่มแบงก์ยังน่าลงทุนหลังสินเชื่อเดือน เม.ย.ขยายตัวดี แถมราคาหุ้นถูก-ปันผลสูง แม้คาดผลงานไตรมาส 2/63 จะชะลอ แต่เชื่อจะฟื้นตัวในไตรมาส 3/63 ยก TMB-SCB เป็น Top Pick
บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) เผยแพร่บทวิเคราะห์ Banking Sector โดยระบุว่า สินเชื่อเดือน เม.ย.ขยายตัวได้ดีและราคาหุ้นยังถูก โดยสินเชื่อรวมโต 4.9%YoY หนุนด้วยสินเชื่อธุรกิจที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ตลาดตราสารหนี้มีปัญหา
จากการสรุปข้อมูลในรายงาน ธ.พ.1.1 เดือน เม.ย. 2563 ของแบงก์ภายใต้ Coverage ของเรา พบว่าในภาพรวมของกลุ่มมีอัตราโตของพอร์ตสินเชื่อ +4.9%YoY, +1.8%MoM โดยหลักมาจาก 3 ปัจจัย คือ 1) ความต้องการใช้สินเชื่อเสริมสภาพคล่องของภาคธุรกิจที่เพิ่มขึ้น หลังสภาพคล่องในตลาดตราสารหนี้ลดลง ทำให้บริษัทเอกชนบางส่วนหันมาใช้แหล่งทุนจากการกู้สินเชื่อจากแบงก์มากขึ้น 2) การชะลอตัวของยอดไถ่ถอนสินเชื่อ เนื่องจากแบงก์เริ่มเปิดให้ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 สามารถขอเข้าโครงการพักชำระหนี้ชั่วคราว ทำให้ไม่เกิดการไถ่ถอนสินเชื่อเหมือนปกติ และ 3) ผลของการปรับใช้ TFRS9 ปีแรก ทำให้แบงก์ต้องรวมบางรายการเข้ามาในรายการลูกหนี้สุทธิด้วย เช่น เงินลงทุนในธุรกิจบริหารสินทรัพย์ของ KKP
สินเชื่อแบงก์ใหญ่ยังขยายตัวได้ 6%
นอกจากนี้พบว่าสินเชื่อแบงก์ใหญ่ (BBL, KTB, KBANK และ SCB) ขยายตัว +6.0%YoY, 2.5%MoM โดดเด่นกว่าแบงก์ขนาดกลาง (TMB, TISCO และ KKP) ที่มีอัตราโตทรงตัวทั้ง MoM และ YoY โดยหลักเป็นผลจากพอร์ตสินเชื่อของแบงก์ขนาดกลางส่วนใหญ่มีสัดส่วนสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์มือหนึ่งและมือสองเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง ทำให้ได้รับผลกระทบจากความต้องการซื้อรถยนต์ที่ลดลงไปมากในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัวจากผลกระทบของ COVID-19 ทั้งนี้พบข้อสังเกตอื่นๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่
1) KTB มีอัตราโตของสินเชื่อเด่นสุด +10.8%YoY, 6.0%MoM หลักๆ เป็นผลจากสินเชื่อโครงการภาครัฐฯ ที่มีการเบิกเงินเพื่อเตรียมเข้ามากระตุ้น ศก. ทั้งในช่วงที่เกิดการชะลอตัวในเดือน มี.ค.-พ.ค. และมาตรการกระตุ้น ศก.เพื่อเร่งการฟื้นตัวทาง ศก.ในช่วงครึ่งหลังของปี
2) TISCO มีการหดตัวของพอร์ตสินเชื่อมากที่สุด -3.3%YoY, -1.8%MoM สอดคล้องกับยอดขายยานยนต์ในประเทศที่หดตัวกว่า 65%YoY บวกกับการเพิ่มความเข้มงวดในการให้สินเชื่อเพื่อควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัท
3) KKP แม้มีสัดส่วนสินเชื่อเช่าซื้อยานยนต์มาก แต่พอร์ตรวมยังโต +10.0%YoY, 1.7%MoM จากการจัดประเภทธุรกิจบริหารสินทรัพย์เข้ามาในเงินให้สินเชื่อ
คาดผลดำเนินงานอ่อนลงในช่วง 2Q63 แต่จะฟื้นตัวดีในช่วง 3Q63
บล.หยวนต้าคาดแนวโน้มผลประกอบการของกลุ่มในช่วง 2Q63 จะอ่อนตัวลง QoQ โดยแม้คาดค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองจะไม่สูงเท่ากับช่วง 1Q63 ซึ่งเริ่มใช้มาตรฐานบัญชีใหม่และเห็นการเพิ่มขึ้นของความเสี่ยงของลูกหนี้หลายกลุ่มเพิ่มขึ้นมากเป็นครั้งแรก (TFRS9 คำนวณการตั้งสำรองในแบบ Forward Looking) หากในช่วง 2Q63 กิจกรรมทางเศรษฐกิจไม่ได้แย่ลงจากเดิมมากอย่างมีนัยสำคัญ แบงก์จะมีค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองน้อยลง
ส่วน NPL คาดทรงตัวที่ระดับใกล้เคียงเดิมเนื่องจากอยู่ในช่วงที่ ธปท.ออกมาตรการผ่อนปรนการจัดชั้นของลูกหนี้ และมีการดำเนินโครงการพักชำระหนี้ให้ลูกหนี้ที่มีปัญหาด้านสภาพคล่อง ทำให้คาดลูกหนี้ที่มีปัญหาจะยังไม่เกิดการไหลตกชั้นเป็นหนี้เสียในปีนี้
อย่างไรก็ดี ปัจจัยกดดันหลักๆ จะมาจาก 1) รายได้ค่าธรรมเนียมที่ลดลง โดยเฉพาะในส่วนของค่าธรรมเนียมในการขายผลิตภัณฑ์ Bancassurance และค่าธรรมเนียมในการใช้บัตรเครดิต เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการปิดเมืองในเดือน เม.ย.-พ.ค. และ 2) NIM ที่คาดอ่อนตัวลง QoQ หลัง Asset Yield เริ่มขยับลงจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้สอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ลดลงกว่า 4 ครั้งตั้งแต่ช่วง 2H62 ทั้งนี้ เรายังคงประมาณการกำไรสุทธิของกลุ่มในปี 2563 ที่ 151,620 ลบ. หดตัว 3.5%YoY ตามเดิม โดยคาดหวังการฟื้นตัวตั้งแต่ช่วง 3Q63 เป็นต้นไป สอดคล้องกับกิจกรรมทาง ศก.ที่เริ่มกลับมาหลังทยอยเปิดเมืองตั้งแต่กลางเดือน พ.ค.
คงน้ำหนัก “เท่ากับตลาด” แนะนำ TMB-SCB เป็น Top Pick
แม้กำไรของกลุ่มไม่โดดเด่น เนื่องจากการตั้งสำรองที่เพิ่มขึ้นในช่วง 1Q63, รายได้ค่าธรรมเนียมที่หดตัว และรับรู้ผลจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ย แต่ด้วยราคาหุ้นกลุ่มแบงก์ที่ปรับลงมานานจน SETBANK ซื้อขายที่ระดับ PBV 0.5x ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลังในช่วง 5 ปี-2 S.D. อีกทั้งคาดเป็นกลุ่มที่ยังสามารถจ่ายปันผลได้ในระดับที่โดดเด่นราว 4-10% เราจึงคงน้ำหนักการลงทุนของกลุ่มที่ “เท่ากับตลาด”
เลือก TMB(TP@1.14) เป็น Top Pick ของกลุ่ม จากคาดมีกำไรโตเด่นสุดในกลุ่ม หลังรวมงบของ TBANK เข้ามาเต็มปีเป็นครั้งแรก ขณะที่ราคาหุ้นซื้อขายที่ PBV ต่ำเพียง 0.5x ส่วนแบงก์ใหญ่เราแนะนำ SCB (TP@150) เนื่องจากเป็นหนึ่งในแบงก์ที่ได้อานิสงส์จากความต้องการสินเชื่อเสริมสภาพคล่องของภาคธุรกิจที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งมีรายได้ Non-NII กว่า 80% เป็น Recurring Income จากธุรกิจ Bancassurance และธุรกิจ Wealth Management ทำให้มี Downside ของประมาณการกำไรในปีนี้น้อยกว่าแบงก์ใหญ่อื่น