xs
xsm
sm
md
lg

หุ้นสายการบินทรุดยกแผง เหตุท่องเที่ยววูบ-ผู้โดยสารหาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผลประกอบการไตรมาสแรก หุ้นกลุ่มสายการบินวูบถ้วนหน้า ผลจากไวรัสโควิด-19 ระบาดหนักกระทบทั่วโลก หลายประเทศปิดเมือง ผู้โดยสารหาย แถมรัฐห้ามบินนานเกือบ 2 เดือน ฉุดขาดทุนอ่วม “แอร์เอเชีย” ขาดทุน 671 ล้านบาท ส่วน “บางกอกแอร์เวย์ส” ขาดทุน 338 ล้านบาท ขณะ “นกแอร์” ยืดเวลาขอส่งงบภายใน 14 สิงหาคม

หลังจากที่รัฐสั่งปิดสนามบินตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมยาวมาจนถึงสิ้นเมษายนที่ผ่านมา นัยว่าเพื่อป้องกันการระบาดไวรัสโควิด-19 เหตุจากไวรัสดังกล่าวระบาดหนักและมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นลำดับช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มาตรการเข้มงวดจากรัฐก็ทยอยออกมา แต่ก็เริ่มผ่อนคลายลงหลังมาตรการที่รัฐออกมานั้นพบว่าประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร แน่นอนว่าการเปิดให้ใช้สนามบินและสายการบินเปิดให้บริการอีกคำรบหนึ่งเมื่อ พ.ค. ภายใต้เงื่อนไขที่ป้องกันการระบาดอย่างมิอาจละเลย

อย่างไรก็ตาม อาจได้เฮแต่คงไม่เต็มเสียงนัก เพราะอย่างกรณีของ บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV ผู้ให้บริการสายการบินแอร์เอเชีย ยังต้องรักษาระยะห่าง (social distancing) ในระยะสั้นจึงเป็นข้อจำกัด ที่แม้จะกลับมาบินก็อาจจะทำกำไรได้ไม่มากเท่าเดิม เพราะเครื่องบินหนึ่งลำต้องนั่งที่นั่งเว้นที่นั่ง อีกทั้งไม่สามารถเสิร์ฟอาหารได้ ดังนั้นโอกาสที่จะทำกำไรให้เท่ากับช่วงปกติ เต็มที่ก็เป็นไปไม่ได้ เท่ากับโอกาสในการทำกำไรมีน้อย แต่เมื่อเทียบกับ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA เนื่องจากฐานลูกค้าที่แตกต่างกัน AAV จะได้ประโยชน์สูงสุด เพราะลูกค้าส่วนใหญ่เป็นลูกค้าในประเทศ ความต้องการใช้ (demand) กลับมา ส่วนลูกค้าของ BA ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าที่ต่อเครื่องจากเที่ยวบินต่างประเทศ ดังนั้นจำนวนผู้โดยสารอาจกลับมาไม่มากเท่า AAV อย่างไรก็ดี แม้ราคาหุ้น AAV จะไม่ทรุดหนัก แต่ผลประกอบการไตรมาสแรกปี 2563 ที่ประกาศออกมาก็ทำให้สถานการณ์ราคาหุ้นสายการบินแห่งนี้น่าเป็นห่วง เพราะคงไม่ฟื้นคืนสู่ความคึกคักในระยะเวลาอันใกล้

เพราะหุ้นกลุ่มสายการบินเจอพิษ "โควิด" เล่นงานจนงอม ราคาหุ้นปักหัวลงเป็นแถว และสถานการณ์สายการบินทั่วโลกกำลังระส่ำและทยอยล้มละลาย รวมทั้งสายการบินในประเทศไทย ซึ่งยังไม่รู้ว่าใครจะทนอยู่ได้ขนาดไหน และไม่รู้ว่าระยะเวลาของการระบาดของไวรัสจะยาวนานไปถึงเพียงใด เนื่องจากยังไม่มีวัคซีนรักษา!!

AAV และบริษัทย่อยขาดทุนอ่วม 671 ล้านบาท

บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย แจ้งผลงานไตรมาสแรกปีนี้ว่าขาดทุนสุทธิ 671.48 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิต่อหุ้น 0.1385 บาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 497.2 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.1025 บาท ส่วนหนึ่งเพราะการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในไตรมาสที่ 1 ปีนี้ ชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และการบังคับใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มงวดของหลายประเทศ ส่งผลต่อภาคการผลิตและการบริโภคที่ชะงักอย่างรุนแรง จึงกระทบต่อการดำเนินงานของบริษัท

ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกนี้หดตัว โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการ ซึ่งถือเป็นรายได้หลักของเศรษฐกิจไทยได้หยุดชะงักเพราะการเดินทางท่องเที่ยวช่วง 3 เดือนแรกของปีหดตัวตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค จึงมีข้อจำกัดในการเดินทางและทำให้ปริมาณความต้องการเดินทางลดลง โดยสถิตินักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2563 มี 6.7 ล้านคน ลดลง 38% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยนักท่องเที่ยวชาวจีนซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวหลักหดตัว 60% ขณะที่นักท่องเที่ยวจากภูมิภาคยุโรปลดลงน้อยสุด 15% เพราะภูมิภาคดังกล่าวได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดในปลายไตรมาส 1

AAV รายงานตัวเลขของผู้โดยสารไตรมาสแรกปีนี้ที่ 4.5 ล้านคน ลดลง 23% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน พร้อมปรับเส้นทางบินและปรับแผนปริมาณที่นั่งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำการบินและให้สอดคล้องกับความต้องการเดินทาง โดยลดความถี่และยกเลิกการให้บริการเส้นทางบินในกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงการแพร่ระบาด ดังนั้น AAV ระงับการบินเส้นทางบินระหว่างประเทศระหว่างวันที่ 22 มีนาคม-31พฤษภาคม 2563 ส่งผลให้ปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสารอยู่ที่ 4,834 ล้านที่นั่ง ลดลง 30% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ไตรมาสนี้ AAV มีรายได้รวม 9,399.0 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่ทำไว้ 11,618.20 ล้านบาท หรือลดลง19% จากไตรมาสแรกปี 62 ขณะที่มีค่าใช้จ่ายรวม 10,767.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันของปีก่อน

นายสันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AAV และ บจ.ไทยแอร์เอเชีย หรือ TAA กล่าวว่า "ยังคงต้องติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป โดยเฉพาะช่วงครึ่งปีหลัง หากมีการผ่อนปรนมาตรการและข้อกำหนดด้านการเดินทางมากขึ้น อาจจะเริ่มเห็นการเดินทางระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะจีน ซึ่งประเทศไทยยังเป็นจุดหมายปลายทางอันดับหนึ่ง จึงต้องเตรียมความพร้อมทุกอย่างให้ดีที่สุด"

ทั้งนี้ ช่วงที่ผ่านมาบริษัทวางและปรับแผนตามสถานการณ์ โดยเฉพาะการบริหารจัดการต้นทุน ทั้งการปรับโครงสร้างการป้องกันความเสี่ยงน้ำมันเชื้อเพลิงล่วงหน้าบางส่วนและอยู่ระหว่างเจรจาส่วนที่เหลือ และยังอยู่ระหว่างทบทวนแผนการลงทุนให้รัดกุมมากที่สุด โดยอาจระงับหรือชะลอการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีมูลค่าสูง อีกทั้งพิจารณาระงับการจัดหาเครื่องบินเพิ่มในปีนี้ เพื่อให้มีจำนวนฝูงบินที่เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน

บล.เคทีบี (ประเทศไทย) หรือ KTBS คงคำแนะนำ “ถือ” แต่ปรับลดราคาเป้าหมายเป็น 1.65 บาท จากเดิม 1.80 บาท โดยยังอิง PBV ที่ 0.55 เท่า (-2SD below 5-yr average PBV) โดย AAV แจ้งผลการดำเนินงานไตรมาสแรกปี 63 ขาดทุนสุทธิ 671 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสแรกปี 62 ที่มีกำไรสุทธิ 497 ล้านบาท และไตรมาส 4 ปี 62 ที่ขาดทุนสุทธิ 72 ล้านบาท และขาดทุนมากกว่าตลาดคาด 55% จากผลกระทบ COVID-19 ทั้งนี้ KTBS มีการปรับลดผลการดำเนินงานปี 2020E เป็นขาดทุน 5.4 พันล้านบาท จากเดิมที่คาดว่าจะขาดทุน 3.7 พันล้านบาท จากไตรมาสแรกที่ขาดทุนมากกว่าคาด และผลการดำเนินงาน 2Q20E ที่จะขาดทุนค่อนข้างมาก เนื่องจากมีการหยุดบินทุกเที่ยวบินในเดือน เม.ย. ขณะที่เริ่มกลับมาเปิดทำการบินในประเทศได้บางส่วนในเดือน พ.ค.แล้ว ซึ่งยังมีทิศทางฟื้นตัวช้ากว่าคาด ประเมินว่าผลการดำเนินงาน 2Q20E จะเป็นจุดต่ำสุด และคาดว่า 3Q-4Q20E จะขาดทุนลดลงจากจำนวนผู้โดยสารที่ทยอยฟื้นตัว โดยคาดว่าจะสามารถเปิดเที่ยวบินระหว่างประเทศได้ใน 3Q20E


โดยราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นและ outperform SET +8% ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา จากสถานการณ์ COVID-19 ที่ดีขึ้น และ AAV สามารถกลับมาเปิดทำการบินในประเทศได้ในเดือน พ.ค.อีกครั้ง มองว่าราคาหุ้นได้สะท้อนปัจจัยลบจาก COVID-19 ไปค่อนข้างมากแล้ว จึงยังแนะนำ “ถือ” โดยคาดว่าจำนวนผู้โดยสารได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้วในเดือน เม.ย. และคาดว่าเริ่มทยอยฟื้นตัวดีขึ้นจากการทยอยกลับมาเปิดทำการบิน

แม้ว่าผลการดำเนินงานของ AAV ไตรมาสแรกปีนี้ขาดทุนมากกว่าคาด กล่าวคือขาดทุนสุทธิ 671 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสแรกปี 62 ที่มีกำไรสุทธิ 497 ล้านบาท และไตรมาส 4 ที่ขาดทุนสุทธิ 72 ล้านบาท และขาดทุนมากกว่าตลาดคาด 55% โดยผลการดำเนินงานที่ปรับตัวลดลงมากเป็นผลจาก COVID-19 ส่งผลให้จำนวนผู้โดยสารปรับตัวลดลงเกิน 20% และ load factor ลดลงเหลือ 84%

ดังนั้น จึงปรับลดผลการดำเนินงานปี 2020E ลง โดย 2Q20E จะเป็นจุดต่ำสุด และจะขาดทุนลดลงใน 2H20E ปรับลดผลการดำเนินงานปี 2020E เป็นขาดทุนสุทธิ 5.4 พันล้านบาท จากเดิมที่ประเมินจะขาดทุนสุทธิที่ 3.7 พันล้านบาท จากผลการดำเนินงานที่ขาดทุนมากกว่าคาด และผลการดำเนินงาน 2Q20E ที่จะขาดทุนค่อนข้างมาก เนื่องจากมีการหยุดบินทุกเที่ยวบินในเดือน เม.ย. ขณะที่เริ่มกลับมาเปิดทำการบินในประเทศได้บางส่วนในเดือน พ.ค.แล้ว ซึ่งยังมีทิศทางฟื้นตัวช้ากว่าคาด KTBS ประเมินว่าผลการดำเนินงาน 2Q20E จะเป็นจุดต่ำสุด และคาดว่า 3Q-4Q20E จะขาดทุนลดลง จากจำนวนผู้โดยสารที่ทยอยฟื้นตัว

KTBS ประเมินราคาเป้าหมายปี 2020 ที่ 1.65 บาท จากเดิมที่ 1.80 บาท อิง PBV 0.55 เท่า (-2SD below 5-yr average PBV) เนื่องจากกำไรสุทธิปี 2020E ลง โดยประเมินว่ายังมี key risk จากแนวโน้มผลการดำเนินงาน 2Q20E ที่จะปรับตัวลดลงมาก ขณะที่ key catalyst จากจำนวนผู้โดยสารที่ผ่านจุดต่ำสุด และจะทยอยฟื้นตัวขึ้น และคาดว่าจะเริ่มกลับมาเปิดเที่ยวบินระหว่างประเทศได้ภายใน 3Q20

บางกอกแอร์เวย์สขาดทุน 338 ล้านบาท


บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส (BA) ประกาศผลการดำเนินงานของบริษัทฯ โดยในไตรมาสแรกปีนี้มีรายได้รวมสุทธิ 6,423.2 ล้านบาท ลดลง 17.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ซึ่งการลดลงของรายได้ดังกล่าวเป็นผลมาจากรายได้จากการดำเนินงานของธุรกิจสายการบินที่ปรับตัวลดลง 25.2% ธุรกิจสนามบินปรับตัวลดลง18.4% และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสนามบินและกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องปรับตัวลดลง 14.6% จึงส่งผลให้ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2563 บริษัทฯ มีขาดทุนสุทธิเท่ากับ 338.8 ล้านบาท ลดลง 166.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562

โดยไตรมาสที่ 1 ของปี 2563 บริษัทฯ มีจำนวนผู้โดยสารทั้งสิ้น 1.3 ล้านคน ลดลง 23.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และมีอัตราส่วนการขนส่งผู้โดยสาร (Load Factor) อยู่ที่ 62.1% เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 บริษัทฯ มีความจำเป็นต้องยกเลิกเส้นทางบินภายในประเทศและระหว่างประเทศเป็นการชั่วคราว เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการจำกัดด้านการเดินทาง และเพื่อให้ความร่วมมือกับการประกาศการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2558 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) รวมทั้งประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เพื่อการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) อีกทั้งปริมาณความต้องการเดินทางของผู้โดยสารที่ลดลงตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ดี บริษัทฯ มีแผนจะกลับมาเปิดให้บริการในเส้นทางบินภายในประเทศ โดยจะเริ่มให้บริการเที่ยวบินระหว่างกรุงเทพฯ-สมุย (ไป-กลับ) วันละ 2 เที่ยวบิน ตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นมา

"นกแอร์" เลื่อนส่งงบ อ้างโควิดระบาด

นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK แจ้ง ว่า บริษัทได้ขอผ่อนผันการนำส่งงบการเงินของบริษัทและบริษัทย่อย สำหรับไตรมาส 1/2563 สิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค. 2563 ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

เนื่องจากบริษัทฯ และบริษัทย่อยเปิดให้บริการในเส้นทางบินทั้งในประเทศ และเส้นทางบินระหว่างประเทศ ซึ่งในเส้นทางบินระหว่างประเทศนั้นเปิดให้บริการรวมทั้งสิ้น 6 ประเทศ คือ พม่า เวียดนาม จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน และอินเดีย รวมทั้งสิ้น 26 เส้นทางบิน และทยอยปิดเส้นทางบินลง จนท้ายที่สุดปิดให้บริการในทุกเส้นทาง ซึ่งประเทศเหล่านี้มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และมีมาตรการปิดประเทศ หรือ Lockdown ซึ่งมีความจำเป็นต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของภาครัฐของประเทศนั้นๆ อย่างเคร่งครัด ทำให้การติดต่อประสานงานหยุดชะงัก อันมีผลกระทบต่อความสามารถของบริษัทฯ ในการเข้าถึงข้อมูลบางส่วน และส่งผลต่อการเข้าถึงข้อมูล รวมทั้งการสอบทานงบการเงินของผู้สอบบัญชีที่มีนัยสำคัญของบริษัทฯ และบริษัทย่อย ที่จำเป็นต้องนำมาใช้เพื่อการจัดทำงบการเงินของบริษัทฯ และบริษัทย่อย สำหรับไตรมาสที่ 1/2563 สิ้นสุด ณ วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2563 จนเป็นเหตุให้บริษัทฯ ไม่สามารถจัดทำและนำส่งงบการเงินสำหรับไตรมาสที่ 1/2563 ต่อสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต.

นอกจากนี้ ไตรมาสแรกทุกปีเป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว เป็นช่วงที่จำนวนเที่ยวบินทั้งในประเทศและระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ หากเทียบแล้วเป็น 31.21% และ 27.29% ของรายได้ทั้งปี 2561 และปี 2562 ตามลำดับ โดยเป็นรายได้จากเที่ยวบินระหว่างประเทศ 24.56% และ 15.54% ของรายได้ทั้งปี 2561 และปี 2562 ตามลำดับ จำนวนเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงไตรมาสนี้มีผลกระทบต่องบกำไรขาดทุนของทั้งบริษัทฯ และบริษัทย่อย ในส่วนทั้งการรับรู้รายได้และประมาณการค่าใช้จ่ายจากจำนวนเที่ยวบิน และจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในครั้งนี้ ประเทศจีนมีคำสั่ง lockdown ปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ส่งผลกระทบถึงเที่ยวบินเช่าเหมาลำ และเที่ยวบินตามตารางการบินปกติที่บินเข้าออกต้องหยุดชะงักลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเที่ยวบินที่เป็นแบบกลุ่ม หรือท่องเที่ยว ส่งผลทำให้บริษัทฯ และบริษัทย่อยต้องเปลี่ยนแปลงแผนการดำเนินงาน การเปลี่ยนแปลงเที่ยวบิน ประมาณการรับรู้รายได้ การคืนค่าโดยสาร (Refund) ให้แก่ผู้โดยสารตามคำสั่ง และกฎการบินของประเทศนั้นๆ แต่การแพร่ระบาดของไวรัสนั้นได้ส่งผลกระทบที่รุนแรง และแพร่ระบาดออกไปเพิ่มขึ้น เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในประเทศต่างๆ ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ไม่สามารถนำส่งข้อมูลและเอกสารต่างๆ กลับมาที่บริษัทฯ ส่งผลกระทบต่อประมาณการรับรู้รายได้ของบริษัท

ทั้งบริษัทฯ และบริษัทย่อยในส่วนค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาอากาศยานนั้นก็ได้รับผลกระทบจากการลดลงของจำนวนเที่ยวบิน ส่งผลให้ประมาณการค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาอากาศยานที่วางแผนไว้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ เช่น แผนการนำเครื่องบินเข้าซ่อมบำรุงตามระยะที่ได้วางแผนไว้ การเลื่อนกำหนดการเข้าซ่อมบำรุงรักษาเครื่องบินออกไป และเพราะต้นทุนในการบำรุงรักษาอากาศยานนั้น เป็นค่าใช้จ่ายหลักของธุรกิจสายการบินอันดับที่ 2 รองจากค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิง หรือคิดเป็น 19.48% ของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานทั้งหมด หากค่าใช้จ่ายดังกล่าวนี้มีการประมาณการที่คลาดเคลื่อนจะส่งผลกระทบต่อตัวธุรกิจสายการบินเอง และกระทบต่อความน่าเชื่อถือในงบการเงินของบริษัทฯ และบริษัทย่อย รวมทั้งส่วนของผู้ถือหุ้น

ผู้สอบบัญชีได้มีความเห็นว่า ตามที่สภาวิชาชีพบัญชีได้ออกแนวปฏิบัติทางการบัญชีเรื่อง มาตรการผ่อนปรนชั่วคราวสำหรับทางเลือกเพิ่มเติมทางบัญชีเพื่อรองรับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 สำหรับมาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 37 เรื่องการประมาณการหนี้สินที่อาจจะเกิดขึ้น และทรัพย์สินที่อาจเกิดขึ้นแล้วก็ตาม แต่ถ้าใช้สิทธิผ่อนปรนตามมาตรการจะทำให้ตัวเลขในงบการเงินจะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ

อีกทั้งบริษัทฯ และบริษัทย่อยได้ตอบสนองนโยบายของรัฐบาลที่ขอความร่วมมือไม่ให้เดินทางหรือรวมกลุ่มกันเป็นหมู่คณะ (Social Distancing) เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสดังกล่าว และเพื่อความปลอดภัยและสุขภาพของพนักงาน จึงได้กำหนดนโยบายให้พนักงานทำงานที่บ้าน (work from home) เป็นส่วนใหญ่ ประกอบกับสำนักงานของบริษัทฯ และบริษัทย่อยในประเทศต่างๆ ส่งผลให้ข้อมูลที่จำเป็นต้องใช้เอกสารประกอบการจัดทำและวิเคราะห์ทางการเงินไม่สามารถจัดส่งกลับมาได้ ซึ่งโดยปกติเอกสารจะส่งกลับมากับเที่ยวบินของบริษัทฯ ในแต่ละเส้นทางบิน ซึ่งกระทบต่อการนำข้อมูลมาใช้เพื่อการจัดทำและส่งงบการเงินของบริษัทฯ และบริษัทย่อยในไตรมาสดังกล่าว อาจจะดำเนินการไม่ทันตามกำหนดเวลาที่จะต้องนำส่ง

บริษัทฯ และผู้สอบบัญชีมีความเห็นร่วมกันว่าบริษัทฯ ไม่สามารถจัดทำและนำส่งงบการเงินรวมสำหรับรอบบัญชีสิ้นสุด ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563 ให้แก่ ก.ล.ต.ภายในกำหนดได้ จึงขอขยายระยะเวลาในการจัดทำและนำส่งงบการเงินสำหรับไตรมาสที่ 1/2563 ออกไป เพราะหากบริษัทฯ จัดทำงบการเงินโดยไม่นำเอาผลกระทบจากเหตุผลดังกล่าวมาพิจารณาเพื่อจัดทำงบการเงินรวมจะทำให้งบการเงินของบริษัทฯ อาจมีสาระสำคัญที่ไม่เพียงพอสำหรับผู้ใช้งบการเงินในการพิจารณา แม้ว่าบริษัทฯ ได้พิจารณาและให้ความสำคัญในการจัดทำและเปิดเผยงบการเงินที่ถูกต้อง มีความน่าเชื่อถือเพียงพอ แต่ใน สถานการณ์ปัจจุบันซึ่งยังคงไม่มีความแน่นอน ทำให้บริษัทไม่สามารถประเมินรายการต่างๆ ซึ่งมีผลกระทบต่อข้อมูลทางการเงินของบริษัทฯ และผลการดำเนินงานอย่างมีนัยสำคัญ จึงมีมติให้ขอผ่อนผันระยะเวลาการนำส่งงบการเงินไตรมาสที่ 1/2563 สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2563 ต่อสำนักงาน ก.ล.ต.ออกไป โดยจะนำส่งภายในวันที่ 14 สิงหาคม 2563

วุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK






กำลังโหลดความคิดเห็น