xs
xsm
sm
md
lg

“นกแอร์” เลื่อนส่งงบ อ้างโควิดระบาด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สายการบินนกแอร์ยื่นขอผ่อนผันส่งงบการเงินไตรมาสแรกปีนี้ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. เป็นภายในวันที่ 14 ส.ค.นี้ เหตุโควิดระบาด แจงไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลบางส่วนได้ อีกทั้งสำนักงานในต่างประเทศติดข้อจำกัดส่งข้อมูล

นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า บริษัทมีความประสงค์ขอผ่อนผันการนำส่งงบการเงินของบริษัทและบริษัทย่อย สำหรับไตรมาส 1/2563 สิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค. 2563 ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

เนื่องจาก 1. บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีการเปิดให้บริการในเส้นทางบินทั้งในประเทศ และเส้นทางบินระหว่างประเทศ ซึ่งในเส้นทางบินระหว่างประเทศนั้นเปิดให้บริการรวมทั้งสิ้น 6 ประเทศ ได้แก่ พม่า เวียดนาม จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน และอินเดีย รวมทั้งสิ้น 26 เส้นทางบิน และทยอยปิดเส้นทางบินลง จนท้ายที่สุดปิดให้บริการในทุกเส้นทาง ซึ่งประเทศเหล่านี้มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 และมีมาตรการปิดประเทศ หรือ Lockdown ซึ่งมีความจำเป็นต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของภาครัฐของประเทศนั้นๆ อย่างเคร่งครัด ทำให้การติดต่อประสานงานหยุดชะงัก อันมีผลกระทบต่อความสามารถของบริษัทฯ ในการเข้าถึงข้อมูลบางส่วน และส่งผลต่อการเข้าถึงข้อมูล รวมทั้งการสอบทานงบการเงินของผู้สอบบัญชีที่มีนัยสำคัญของบริษัทฯ และบริษัทย่อย ที่จำเป็นต้องนำมาใช้เพื่อการจัดทำงบการเงินของบริษัทฯ และบริษัทย่อย สำหรับไตรมาสที่ 1/2563 สิ้นสุด ณ วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2563 จนเป็นเหตุให้บริษัทฯ ไม่สามารถจัดทำและนำส่งงบการเงินสำหรับไตรมาสที่ 1/2563 ต่อสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์


2. สืบเนื่องจากไตรมาสที่ 1 ของทุกปีเป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว เป็นช่วงที่จำนวนเที่ยวบินทั้งในประเทศและระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ หากเทียบแล้วเป็นสัดส่วนร้อยละ 31.21 และ 27.29 ของรายได้ทั้งปี 2561และปี 2562 ตามลำดับ โดยเป็นรายได้จากเที่ยวบินระหว่างประเทศสัดส่วนร้อยละ 24.56 และ 15.54 ของรายได้ทั้งปี 2561, ปี 2562 ตามลำดับ จำนวนเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงไตรมาสที่ 1/2563 นี้มีผลกระทบต่องบกำไรขาดทุนของทั้งบริษัทฯ และบริษัทย่อย ในส่วนทั้งการรับรู้รายได้และประมาณการค่าใช้จ่ายจากจำนวนเที่ยวบิน และจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในครั้งนี้ ประเทศจีนมีคำสั่ง lockdown ในวันที่ 25 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบถึงเที่ยวบินเช่าเหมาลำ และเที่ยวบินตามตารางการบินปกติที่บินเข้าออกต้องหยุดชะงักลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเที่ยวบินที่เป็นแบบกลุ่ม หรือท่องเที่ยว (Group & Tourist) ส่งผลทำให้บริษัทฯ และบริษัทย่อย ต้องเปลี่ยนแปลงแผนการดำเนินงาน การเปลี่ยนแปลงเที่ยวบิน ประมาณการรับรู้รายได้ การคืนค่าโดยสาร (Refund) ให้แก่ผู้โดยสารตามคำสั่ง และกฎการบินของประเทศนั้นๆ แต่การแพร่ระบาดของไวรัสนั้นได้ส่งผลกระทบที่รุนแรง และแพร่ระบาดออกไปเพิ่มขึ้น เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในประเทศต่างๆ ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ไม่สามารถนำส่งข้อมูลและเอกสารต่างๆ กลับมาที่บริษัทฯ ส่งผลกระทบต่อประมาณการรับรู้รายได้ของทั้งบริษัทฯ และบริษัทย่อย


ในส่วนค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาอากาศยานนั้น ก็ได้รับผลกระทบจากการลดลงของจำนวนเที่ยวบิน ส่งผลให้ประมาณการค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาอากาศยานที่วางแผนไว้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ เช่น แผนการนำเครื่องบินเข้าซ่อมบำรุงตามระยะที่ได้วางแผนไว้ การเลื่อนกำหนดการเข้าซ่อมบำรุงรักษาเครื่องบินออกไป สืบเนื่องจากแผนการบินที่เปลี่ยนแปลงในสถานการณ์ที่ยากจะคาดการณ์ได้จากจำนวนผู้โดยสาร จากการขนส่งอุปกรณ์ทางการแพทย์ การขนส่งบุคลากรทางการแพทย์ที่จำเป็นสำหรับการรักษาผู้ป่วย ต้องเปลี่ยนแปลงตามการบินที่เกิดขึ้นจริง และมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ซึ่งต้นทุนในการบำรุงรักษาอากาศยานนั้นเป็นค่าใช้จ่ายหลักของธุรกิจสายการบินอันดับที่ 2 รองจากค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิง หรือคิดเป็นร้อยละ 19.48 ของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานทั้งหมด หากค่าใช้จ่ายดังกล่าวนี้มีการประมาณการที่คลาดเคลื่อนจะส่งผลกระทบต่อตัวธุรกิจสายการบินเอง และกระทบต่อความน่าเชื่อถือในงบการเงินของบริษัทฯ และบริษัทย่อย รวมทั้งส่วนของผู้ถือหุ้น

ทั้งนี้ ผู้สอบบัญชีได้มีความเห็นว่า ตามที่สภาวิชาชีพบัญชีได้ออกแนวปฏิบัติทางการบัญชีเรื่อง มาตรการผ่อนปรนชั่วคราวสำหรับทางเลือกเพิ่มเติมทางบัญชีเพื่อรองรับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 สำหรับมาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 37 เรื่องการประมาณการหนี้สินที่อาจจะเกิดขึ้น และทรัพย์สินที่อาจเกิดขึ้นแล้วก็ตาม แต่ถ้าใช้สิทธิผ่อนปรนตามมาตรการจะทำให้ตัวเลขในงบการเงินจะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งแนวปฏิบัติทางบัญชีในเรื่องดังกล่าวเป็นเพียงทางเลือกเพิ่มเติมเท่านั้นที่จะสามารถนำมาพิจารณาเลือกใช้ได้ตามความเหมาะสมกับธุรกิจ

3. บริษัทฯ และบริษัทย่อย ได้ตอบสนองนโยบายของรัฐบาลที่ขอความร่วมมือไม่ให้เดินทางหรือรวมกลุ่มกันเป็นหมู่คณะ (Social Distancing) เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสดังกล่าว และเพื่อความปลอดภัยและสุขภาพของพนักงาน จึงได้กำหนดนโยบายให้พนักงานทำงานที่บ้าน (work from home) เป็นส่วนใหญ่ ประกอบกับสำนักงานของบริษัทฯ และบริษัทย่อย เช่น พม่า เวียดนาม จีน ญี่ปุ่น เป็นต้น ที่มีการประกาศใช้มาตรการปิดประเทศ ส่งผลให้ข้อมูลที่จำเป็นต้องใช้เอกสารประกอบการจัดทำและวิเคราะห์ทางการเงินไม่สามารถจัดส่งกลับมาได้ ซึ่งโดยปกติเอกสารจะส่งกลับมากับเที่ยวบินของบริษัทฯ ในแต่ละเส้นทางบิน ซึ่งกระทบต่อการนำข้อมูลมาใช้เพื่อการจัดทำและส่งงบการเงินของบริษัทฯ และบริษัทย่อย ไตรมาสที่ 1/2563 สิ้นสุด ณ วันที่ 31มีนาคม พ.ศ. 2563 อาจจะดำเนินการไม่ทันตามกำหนดเวลาที่จะต้องนำส่งต่อสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้มีการหารือกับผู้สอบบัญชีในประเด็นดังกล่าวแล้ว

บริษัทฯ และผู้สอบบัญชีมีความเห็นร่วมกันว่า บริษัทฯ ไม่สามารถจัดทำและนำส่งงบการเงินรวมสำหรับรอบบัญชีสิ้นสุด ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563 ให้แก่สำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ภายในกำหนดได้ โดยถ้าหากบริษัทฯ จัดทำงบการเงินโดยไม่นำเอาผลกระทบจากเหตุผลดังกล่าวมาพิจารณาเพื่อจัดทำงบการเงินรวม จะทำให้งบการเงินของบริษัทฯ อาจมีสาระสำคัญที่ไม่เพียงพอสำหรับผู้ใช้งบการเงินในการพิจารณา และที่ประชุมคณะกรรมการตรวจสอบครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2563 ได้พิจารณาตามที่ฝ่ายจัดการเสนอและมีมติ ดังนี้

1. การขอขยายระยะเวลาในการจัดทำและนำส่งงบการเงินสำหรับไตรมาสที่ 1/2563 ออกไป ทั้งนี้ บริษัทฯ และผู้สอบบัญชีมีความเห็นร่วมกันว่าบริษัทฯ ไม่สามารถจัดทำและนำส่งงบการเงินรวมสำหรับรอบบัญชีสิ้นสุด ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563 ให้แก่สำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ภายในกำหนดได้ โดยถ้าหากบริษัทฯ จัดทำงบการเงินโดยไม่นำเอาผลกระทบจากเหตุผลดังกล่าวมาพิจารณาเพื่อจัดทำงบการเงินรวมจะทำให้งบการเงินของบริษัทฯ อาจมีสาระสำคัญที่ไม่เพียงพอสำหรับผู้ใช้งบการเงินในการพิจารณา และที่ประชุมคณะกรรมการตรวจสอบครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2563 ได้พิจารณาตามที่ฝ่ายจัดการเสนอ และมีมติดังนี้ 1. การขอขยายระยะเวลาในการจัดทำและนำส่งงบการเงินสำหรับไตรมาสที่ 1/2563 ออกไปมีความจำเป็น และเป็นเหตุสุดวิสัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ และบริษัทฯ มีความจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ดังกล่าวให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

2. บริษัทฯ ได้พิจารณาและให้ความสำคัญในการจัดทำและเปิดเผยงบการเงินที่ถูกต้อง มีความน่าเชื่อถือเพียงพอ แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันซึ่งยังคงไม่มีความแน่นอน ทำให้บริษัทฯ ไม่สามารถประเมินรายการต่างๆ ซึ่งมีผลกระทบต่อข้อมูลทางการเงินของบริษัทฯ และผลการดำเนินงานอย่างมีนัยสำคัญ จึงมีมติให้ขอผ่อนผันระยะเวลาการนำส่งงบการเงินไตรมาสที่ 1/2563 สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2563 ต่อสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ออกไป โดยขอนำส่งภายในวันที่ 14 สิงหาคม 2563 เพื่อให้บริษัทฯ และผู้สอบบัญชีมีระยะเวลาเพิ่มมากขึ้นในการรวบรวม จัดทำตรวจสอบข้อมูลที่จะมีการเปิดเผยให้แก่ผู้ลงทุนได้พิจารณารับทราบ ให้มีความถูกต้อง ครบถ้วน น่าเชื่อถือ ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ยื่นหนังสือขอผ่อนผันระยะเวลาการจัดทำและนำส่งงบการเงินของบริษัทฯ สำหรับไตรมาสที่ 1/2563 สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2563 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ต่อสำนักงาน ก.ล.ต.แล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น