xs
xsm
sm
md
lg

ซีไอเอ็มบีไทยคาดจีดีพีไตรมาส 2 ทรุดแรงสุด -14%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ซีไอเอ็มบีไทยคาดจีดีพีไตรมาส 2 ทรุดแรงสุดถึง -14% ทั้งปี -8.9% พร้อมคาดเศรษฐกิจเริ่มฟื้นได้ไตรมาส 1 และ 2 ปี 64 ขณะที่ยอดสินเชื่อใหม่ของซีไอเอ็มบีไทยปีนี้ คาดต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 50%

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ประเมินว่า จีดีพีไทยไตรมาส 2 จะติดลบหนักสุดถึง 14% ส่วนไตรมาส 3 และ 4 จะติดลบประมาณ 10% และทั้งปีติดลบ 8.9% ซึ่งเป็นการติดลบแรงกว่าช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 จากการที่ส่งออกทั้งปี 2563 อาจติดลบสูงถึง 20% ขณะที่การท่องเที่ยวและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะกลับมาในช่วงไตรมาส 1 และ 2 ปีหน้า ส่วนกรณีความกังวลการระบาดรอบ 2 หลังการคลายล็อกดาวน์นั้น หากเกิดขึ้นจริง จะไม่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะงักตัวรุนแรงเหมือนรอบแรก แต่ก็มีผลทำให้ตัวเลขจีดีพีติดลบเพิ่มขึ้นได้

ส่วนวงเงินกู้ 1 ล้านล้านบาทของรัฐบาลในการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบและฟื้นฟูเศรษฐกิจนั้น ถือเป็นเครื่องประคองเศรษฐกิจเครื่องเดียวที่ไม่ทำให้เศรษฐกิจทรุดหนักไปมากกว่านี้ ทั้งนี้ ยอมรับว่าวงเงินดังกล่าวอาจไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับสถานการณ์ขณะนี้ อย่างไรก็ตาม การใช้เงินจะต้องลงถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างแท้จริง มีความโปร่งใส และตรวจสอบได้ จึงเห็นด้วยกับการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบการใช้เงินดังกล่าวโดยเฉพาะ


ด้าน นายอดิศร เสริมชัยวงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ระบุถึงสถานการณ์สินเชื่อของธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ว่า ขณะนี้มีลูกค้า SME ยื่นขอสินเชื่อซอฟต์โลนประมาณ 7-8 ราย ขณะที่ธุรกิจขนาดใหญ่ยื่นขอสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องรวมกว่า 5,000-6,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ในส่วนของลูกค้ารายย่อย พบว่าช่วงที่มีการล็อกดาวน์เดือนมีนาคมธนาคารอนุมัติสินเชื่อกว่า 2,000 ล้านบาท และเดือนเมษายนประมาณ 1,400-1,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขเฉลี่ยใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่จำนวนลูกค้าที่ขอพักชำระหนี้หรือปรับโครงสร้างหนี้แล้ว ในส่วนของลูกค้า SME มีประมาณ 30-40% ของพอร์ต และลูกค้ารายย่อยประมาณ 30% ของพอร์ต ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกค้าในกลุ่มสินเชื่อรถยนต์และสินเชื่อบ้าน

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ยอดสินเชื่อใหม่ปีนี้ลดลงจากเป้าหมายที่ 100,000 ล้านบาท ประมาณ 50% ขณะที่ตัวเลขหนี้เสีย คาดว่าจะมีเพิ่มขึ้น แต่เชื่อว่ายังอยู่ในระดับที่ธนาคารสามารถบริหารจัดการได้


กำลังโหลดความคิดเห็น