"ออมสิน" เผยหลังโควิด-19 ธุรกิจขนส่งสินค้าและสุขภาพจะฟื้นตัวกลับสู่ภาวะได้เร็ว ขณะที่ธุรกิจสายการบินและอสังหาริมทรัพย์ ยังต้องเผชิญต่อปัจจัยเสี่ยงที่รุมเร้า ทั้งยังหวังให้บทเรียนจากเชื้อไวรัสรอบนี้สอนให้ธุรกิจในประเทศที่เน้นพึ่งพารายได้ส่งออกและการท่องเที่ยวเป็นหลักได้ตระหนักถึงการเตรียมพร้อมรับมือกับสิ่งที่ไม่คาดฝัน และควรมีเงินทุนสำรองที่เพียงพอเพื่อใช้เป็นสภาพคล่องในยามฉุกเฉินยาว 6 เดือนเป็นอย่างน้อย
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยผลสำรวจการคาดการณ์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่รุนแรง ว่า เศรษฐกิจและการค้าโลกในปี 63 มีแนวโน้มหดตัว -3.0% และ -12.9% ตามลำดับ โดยเฉพาะในประเทศที่มีการระบาดรุนแรงในระดับสูงมาก เช่น สหรัฐฯ และทวีปยุโรป
สำหรับประเทศไทยแม้สถานการณ์จะไม่รุนแรงมากนักเมื่อเทียบกับในอีกหลายประเทศ แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อระบบเศรษฐกิจของไทยยังคงมีความรุนแรงและคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบสูงที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 63 อาจมีแนวโน้มหดตัวสูงถึง -5.3% และ -6.7% ตามลำดับ
ทั้งนี้ เนื่องจากมีการพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้าในระดับที่สูงมาก ระบบเศรษฐกิจจึงได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากปัจจัยภายนอกรุนแรง ทั้งจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไป รวมถึงการส่งออกของไทยมีแนวโน้มหดตัวจากการชะลอตัวหรือหดตัวของเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญไม่ว่าจะเป็นอาเซียน ซึ่งมีสัดส่วนส่งออก 25.5% สหรัฐฯ ซึ่งมีสัดส่วนส่งออก 12.8% จีนซึ่งมีสัดส่วนส่งออก 11.8% ญี่ปุ่น ซึ่งมีสัดส่วนส่งออก 10.0% และอียู ซึ่งมีสัดส่วนส่งออก 8.6% เป็นต้น
นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยธนาคารออมสิน ยังได้คาดการณ์แนวโน้มการฟื้นตัวของกลุ่มธุรกิจหลังโควิด-19 โดยพิจารณาและศึกษาจากผลกระทบที่ธุรกิจได้รับจากปัจจัยต่างๆ เช่น การชะลอตัว/หดตัวของภาคเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก รวมถึงผลกระทบจากการ Lockdown ประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อรายได้ของธุรกิจ โดยแต่ละธุรกิจล้วนได้รับผลกระทบจากปัจจัยดังกล่าวมากน้อยแตกต่างกันไปตามโครงสร้างของธุรกิจ ประเภทของธุรกิจ ความสามารถในการบริหารจัดการ ความแข็งแกร่งของธุรกิจด้านการเงิน เช่น เงินทุนหมุนเวียน/เงินสำรองของกิจการ ภาระหนี้สินของกิจการ ดังนั้น การฟื้นตัวของแต่ละธุรกิจจึงมีระยะเวลาที่แตกต่างกัน โดยสามารถแบ่งธุรกิจได้เป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
1.กลุ่มธุรกิจที่คาดว่ามีแนวโน้มการฟื้นตัวเข้าสู่ภาวะปกติได้เร็ว ภายใต้สมมติฐานเปิดประเทศภายในครึ่งปีหลัง และการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ รวมถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว ได้แก่ ธุรกิจการขนส่งสินค้าและโดยสารทั่วไป (ทางบกและทางน้ำ) ธุรกิจสื่อสาร ธุรกิจคลังสินค้า ธุรกิจไปรษณีย์/การรับส่งของ ธุรกิจผลิตผลิตภัณฑ์อาหาร ธุรกิจสุขภาพ (การแพทย์และอนามัย) ธุรกิจขายปลีกสมัยใหม่ เช่น ห้างสรรพสินค้า ไฮเปอร์มาร์เกต ร้านสะดวกซื้อ เป็นต้น ธุรกิจผลิตอุปกรณ์วิทยาศาสตร์/การแพทย์ ธุรกิจผลิตอะไหล่รถยนต์/รถจักรยานยนต์ ธุรกิจประกันสุขภาพ และธุรกิจการศึกษาออนไลน์
2.กลุ่มธุรกิจที่คาดว่ามีแนวโน้มการฟื้นตัวเข้าสู่ภาวะปกติได้ปานกลาง (ภายใต้สมมติฐานเปิดประเทศภายในครึ่งปีหลัง และการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ รวมถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว) ได้แก่ ธุรกิจการขนส่งโดยสารเพื่อการท่องเที่ยว (ทางบกและทางน้ำ) ธุรกิจโรงแรม ตัวแทนธุรกิจเดินทาง/นำเที่ยว ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจบันเทิง ธุรกิจขายส่งขายปลีกที่เป็นรายย่อย ธุรกิจผลิตเครื่องดื่ม ธุรกิจผลิตกระเบื้อง/เครื่องปั้นดินเผา/ผลิตภัณฑ์แก้ว ธุรกิจผลิตเครื่องจักร ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ธุรกิจกระดาษ ธุรกิจเคมีภัณฑ์ ธุรกิจเหล็ก ธุรกิจผลิตซีเมนต์/คอนกรีต ธุรกิจประมง ธุรกิจก่อสร้าง สถาบันการเงิน ธุรกิจประกันภัย/ประกันอุบัติเหตุ และธุรกิจการศึกษา
และ 3.กลุ่มธุรกิจที่คาดว่ามีแนวโน้มการฟื้นตัวเข้าสู่ภาวะปกติได้ช้า ได้แก่ ธุรกิจขนส่งทางอากาศ (สายการบิน) ธุรกิจผลิตเชื้อเพลิง ธุรกิจรถยนต์ และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สิ้นสุดลง และคาดว่าธุรกิจจะทยอยฟื้นตัวซึ่งอาจใช้ระยะเวลาและกลับมาดำเนินการที่แตกต่างกันไป แต่คาดว่าจากเหตุการณ์นี้จะมีธุรกิจจำนวนไม่น้อยที่ต้องปิดกิจการไป เนื่องจากอาจเป็นธุรกิจขนาดเล็ก มีสภาพคล่องไม่เพียงพอที่จะหล่อเลี้ยงพนักงาน และธุรกิจในช่วงที่มีปัญหาต่อเนื่องกันหลายเดือน หรืออาจเป็นธุรกิจที่เข้าถึงแหล่งเงินทุนและความช่วยเหลือจากภาครัฐได้ค่อนข้างยาก ส่งผลให้ไม่สามารถก้าวผ่านวิกฤตในครั้งนี้ไปได้
โดยศูนย์วิจัยฯ ยังระบุเพิ่มเติมว่า จากการที่ประเทศพึ่งพารายได้จากการส่งออกและการท่องเที่ยวเป็นหลักนั้น บทเรียนโควิด-19 น่าจะเป็นสิ่งที่ส่งผลให้ธุรกิจควรต้องตระหนักถึงการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด เช่น ไม่ควรหวังการพึ่งพารายได้จากภายนอกประเทศโดยเฉพาะประเทศใดประเทศหนึ่งมากจนเกินไป ควรมีการสำรองเงินทุนให้เพียงพออย่างน้อย 6 เดือนเพื่อเป็นสภาพคล่องยามฉุกเฉิน และไม่ควรมีภาระหนี้สินที่มากจนเกินไป รวมถึงสัดส่วนของรายได้ควรจะกระจายกลุ่มลูกค้าเพื่อลดความเสี่ยงให้แก่กิจการ
ทั้งนี้ ในระยะยาวธุรกิจควรต้องเตรียมปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในโลกของธุรกิจ รวมถึง New Normal ใหม่ๆ ของสังคมที่จะทำให้บางธุรกิจถูกพลิกโฉมไปตลอดกาล เช่น มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตเพื่อลดต้นทุนค่าแรงงานในระยะยาว รวมถึงการใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยในด้านการค้า การตลาด การชำระค่าสินค้าและบริการ รวมถึงการนำเทคโนโลยี AR มาใช้เพิ่มขึ้น เช่น ธุรกิจค้าปลีกที่มี Platform Online หรือเป็น E-Commerce และควรเตรียมพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์กับความต้องการใหม่ๆ New Normal ใหม่ๆ ที่จะเน้นใช้งานสินค้าและบริการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพิ่มขึ้น รวมถึงมีการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของการค้าและการลงทุนของโลก
นายชาติชาย ยังคาดว่า หลังโควิด-19 ที่หลายประเทศจะลดความยาวของห่วงโซ่การผลิต (Supply Chain) ลง รวมถึงลดการพึ่งพิงการผลิตสินค้าหรือการนำเข้าจากประเทศใดประเทศหนึ่ง และหันไปกระจายการผลิต หรือนำเข้าสินค้าจากหลายๆ ประเทศแทน ตลอดจนอาจมีการลดการลงทุนทางตรง (FDI) จากการที่บริษัทข้ามชาติในหลายประเทศกลับไปผลิตที่ประเทศตนเอง ซึ่งจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น Robotic, 3D printing, IoT ทำให้การผลิตทำได้โดยง่าย และไม่จำเป็นต้องใช้แรงงานมากเหมือนในอดีต เพื่อลดความเสี่ยงจาก Supply Chain หากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินและมีการปิดประเทศ