xs
xsm
sm
md
lg

ปิดโรงหนังยืดอีกระลอก ฉุดผลงาน MAJOR ลุ้นฟื้นปลายปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พ.ร.ก.ฉุกเฉินยืดยาว โรงหนังปิด ฉุดรายได้ “เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป” ทรุดยาว ผลงานไตรมาสแรกปีนี้รับผลกระทบหนักสุด ขณะหนังทำเงินเลื่อนไปฉายในปีหน้า แถมเบรกแผนเปิดสาขาเพิ่ม โบรกฯ เชื่อรายได้ MAJOR ซึมถึงไตรมาส 3 ก่อนจะฟื้นตัวช่วงปลายปี คาดตัวเลขกำไรอวดในงบครึ่งปีหลัง ส่งผลเห็นชัดเจนต่อราคาหุ้นและผลงานปี 64 เชื่อการคุมต้นทุนและค่าใช้จ่ายให้ลดลงอย่างมีนัยหนุนบริษัทฝ่าวิกฤตโควิด

จากการเกิดโรคระบาดไวรัสโควิด-19 ซึ่งนับวันจะพบว่าจำนวนของผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ แทบทุกประเทศทั่วโลกต่างออกมาตรการเพื่อป้องกันและรักษาชีวิตพลเมืองของตนควบคู่ไปกับการค้นหาวิธีการรักษาเพื่อยับยั้งและเยียวยา ประเทศไทยก็เช่นกัน เมื่อไวรัสระบาดหนัก รัฐจึงออกมาตรการเพื่อป้องกันครั้งแรก ณ วันที่ 25 มีนาคม 2563 ซึ่งบังคับประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทุกเขตท้องที่ทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. 2563 ถึงวันที่ 30 เม.ย. 2563 ล่าสุดขยายไปจนถึง 31 พ.ค.นี้ และหนึ่งในมาตรการต้องห้ามคือให้โรงภาพยนตร์ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑลปิดให้บริการชั่วคราว และ บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) หรือ MAJOR ได้ปิดให้บริการตั้งแต่มีประกาศ พ.ร.ก.ฉบับแรก ขณะที่ฉบับต่อมาให้ปิดบริการชั่วคราวสถานบันเทิงและอื่นๆ ทั่วประเทศ

MAJOR ซึ่งเป็นผู้ประกอบการโรงภาพยนตร์รายเดียวที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ประกอบธุรกิจโรงภาพยนตร์ ธุรกิจโบว์ลิ่งและคาราโอเกะ และธุรกิจบริการสื่อโฆษณาครบวงจร เมื่อมาตรการรัฐออกมาเช่นนั้น ย่อมกระทบต่อรายได้และการดำเนินงานเต็มๆ

วิชา พูลวรลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร MAJOR
เน้นคุมค่าใช้จ่าย พยุงธุรกิจพ้นวิกฤต

“วิชา พูลวรลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร MAJORกล่าวไว้ว่า MAJOR ได้ให้ความสำคัญต่อการป้องกันการระบาดของไวรัสโควิด ก่อนที่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินจะประกาศออกมา ด้วยการเว้นระยะห่างในโรงภาพยนตร์แบบแถวเว้นแถว และเว้นห่างระหว่างที่นั่งทุก 2 ที่นั่ง ซึ่งเริ่มตั้งแต่ 17 มีนาคม 2563 เป็นต้นมา และ พ.ร.ก.ที่รัฐประกาศออกมาจำเป็นต้องปฏิบัติตาม

อย่างไรก็ดี บริษัทมีฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง แม้จำต้องปิดโรงภาพยนตร์ทุกสาขาเป็นการชั่วคราว ขณะที่ธุรกิจ MAJOR เป็นลักษณะการแชร์รายได้ให้กับศูนย์การค้าเพื่อเป็นค่าเช่า นอกจากนี้ทางศูนย์ฯ ก็ได้ยกเว้นค่าเช่าให้กับร้านค้า รวมถึงโรงภาพยนตร์ด้วย ส่วนค่าใช้จ่ายด้านค่าจ้างพนักงานนั้นเพียง 8% ของค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร (SG&A) ทำให้บริษัทยังมีสภาพคล่องที่ดีอยู่ ซึ่งในช่วงปิดโรงหนังชั่วคราวบริษัทได้หันไปเปิดให้บริการสั่งซื้อป็อปคอร์นกลับบ้านผ่านแอปพลิเคชันสั่งอาหารออนไลน์ ในชื่อ “Major Delivery” ร่วมกับผู้ประกอบธุรกิจ Food Delivery จัดส่งป็อปคอร์นสดใหม่ตรงถึงบ้าน

โดยมองว่ามาตรการสั่งปิดโรงหนังเป็นเรื่องที่จำเป็น เพราะปัจจุบันลูกค้ามีการเข้าใช้บริการโรงหนังจำนวนน้อยมาก การปิดดำเนินการน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า เพราะจะช่วยลดต้นทุนคงที่ (Fixed Cost) ของบริษัท ขณะนี้ต้นทุนคงที่มีเพียงพนักงานที่ยังต้องดูแล อย่างไรก็ดี ขณะนี้เป็นช่วงที่บริษัทจะเน้นการควบคุมค่าใช้จ่าย ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เจรจากับผู้ประกอบการพื้นที่เรื่องของการชะลอค่าเช่าพื้นที่ไปก่อน ซึ่งก็ยอมรับกันอย่างเข้าใจ

ปัจจุบัน MAJOR มีธุรกิจโรงภาพยนตร์ มีสาขารวมทั้งสิ้น 170 สาขา แบ่งเป็นในประเทศไทย 162 สาขา 773 โรงภาพยนตร์ ส่วนต่างประเทศ 8 สาขา 39 โรงภาพยนตร์ ขณะที่ธุรกิจโบว์ลิ่ง คาราโอเกะและลานสเกตน้ำแข็งมีสาขารวมทั้งสิ้น 12 สาขา ให้บริการ 267 เลนโบว์ลิ่ง 153 ห้องคาราโอเกะ และ 5 ลานสเกตน้ำแข็ง แบ่งเป็นในไทย 9 สาขา 232 เลนโบว์ลิ่ง 136 ห้องคาราโอเกะ และ 3 ลานสเกตน้ำแข็ง ส่วนต่างประเทศ 3 สาขา 35 เลนโบว์ลิ่ง สุดท้ายคือธุรกิจพื้นที่ให้เช่าและบริการ ให้บริการทั้งหมด 15 สาขา ทั้งในไทยและต่างประเทศ


จึงเป็นสิ่งที่บริษัทให้ความสำคัญอย่างมากภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ เพื่อสำรองเงินไว้ในการดำรงสภาพคล่องของกิจการ และรักษาผลประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้นในระยะยาว ดังนั้น จึงมีมติอนุมัติปรับลดอัตราการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลครั้งที่สองให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราใหม่ เป็นหุ้นละ 0.35 บาท และกำหนดจ่ายเงินปันผลเป็นวันเดิม ซึ่งเมื่อรวมกับการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลครึ่งปีแรกของปี 2562 ที่จ่ายในอัตราหุ้นละ 0.65 บาท รวมเป็นการจ่ายเงินปันผลสะสมอัตราหุ้นละ 1.00 บาท

รายได้ MAJOR ซึมยาว ฟื้นชัดเจนปี 64

บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ บล.เมย์แบงก์ฯ มองว่า ยังเร็วเกินไปที่จะเข้าเก็งกำไร MAJOR คาดผลประกอบการจะขาดทุนยาวตั้งแต่ไตรมาสแรกถึงไตรมาส 3 ปี 63 และอาจเริ่มฟื้นตัวในช่วงไตรมาส 4 เป็นอย่างเร็วหากโรงหนังกลับมาเปิดตั้งแต่เดือน ก.ค. และหนังฟอร์มใหญ่กลับเข้ามาฉาย จึงปรับลดประมาณการปีนี้เป็นขาดทุนก่อนจะฟื้นตัวเป็นกำไรในปี 2564 ราคาเป้าหมาย (SOTP) ปรับลดลงเป็น 13.80 บาท แนะนำ “ถือ” เพราะการที่ภาครัฐให้ปิดโรงหนังตั้งแต่ 18 มี.ค. ประเมินว่า MAJOR จะมีผลประกอบการไตรมาสแรกนี้ขาดทุน 203 ล้านบาท เทียบกับกำไร 205 ล้านบาทในไตรมาสแรกปี 62 แม้ในเดือน ม.ค.-ก.พ.ยังมีการเปิดโรงหนังตามปกติ แต่รายได้ลดลงจากการที่ไม่มีหนังฟอร์มใหญ่ที่ทำรายได้สูง และเริ่มได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้เมื่อต้นเดือน มี.ค.คนเข้าโรงหนังในกรุงเทพฯ ลดลง 60-70%

บล.เมย์แบงก์ฯ คาดว่ารายได้ไตรมาสแรกจะลดลง 46% จากปีก่อน ขณะที่ยังต้องบันทึกต้นทุนและค่าใช้จ่ายในช่วงเริ่มปิดโรงหนัง คาดว่าอัตรากำไรขั้นต้นลดลงจาก 33% ในไตรมาสแรกปีก่อน เป็น 22.3% ส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมคาดว่าจะลดลง 19% เทียบปีก่อน จากการที่ SF ปิดโครงการตั้งแต่ 22 มี.ค. และ คาดว่า MAJOR จะขาดทุนต่อไปอีก 2 ไตรมาส ภายใต้สมมติฐานการปิดโรงหนังถึงสิ้นเดือน มิ.ย. และเมื่อเปิดโรงหนังในระยะแรกคาดว่าจำนวนคนดูจะค่อนข้างน้อย จากความกังวลการระบาดของโควิด-19 อีกทั้งมีแนวโน้มที่หนังฮอลลีวูดฟอร์มใหญ่จะยังไม่เข้าฉาย เนื่องจากต้องรอฉายพร้อมกับประเทศอื่นๆ โดยอาจจะเลื่อนไปฉายปีหน้าหลังจากการระบาดคลี่คลาย อย่างไรก็ดี MAJOR มีการควบคุมต้นทุนและค่าใช้จ่ายให้ลดลงอย่างมีนัยเช่นกัน ขณะฐานะการเงินยังมั่นคง คาดอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อทุน 0.6 เท่าโดยชะลอการลงทุนบางส่วน และปรับลดเงินปันผล

ทั้งนี้ เชื่อว่าหากโรงหนังจะกลับมาเปิดในเดือน ก.ค. บล.เมย์แบงก์ฯ ปรับลดประมาณการปีนี้จากกำไร 1,262 ล้านบาท เป็นขาดทุน 819 ล้านบาท แต่จะกลับมาฟื้นตัวเป็นกำไร 935 ล้านบาทในปี 2564 เนื่องจากฐานต่ำ และหนังฟอร์มใหญ่เลื่อนฉายมาจากปี 2563 เช่น Fast & Furious 9, Top Gun : Maverick, Black Widow และ The Eternal อีกทั้งยังมีหนังที่กำหนดฉายในปี 2564 ทยอยเข้าฉาย

บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ บล.เคจีไอฯ คาดว่าผลการดำเนินงานไตรมาสแรกปีนี้จะขาดทุน 229 ล้านบาท เนื่องจากคาดรายได้ในช่วงไตรมาสแรกลดลงเหลือ 1.3 พันล้านบาทหรือลดลง 51% จากการลดลงของรายได้ในทุกกลุ่มธุรกิจ โดยคาดว่ารายได้จากธุรกิจโรงภาพยนตร์ (ธุรกิจหลัก) จะลดลงเหลือ 925 ล้านบาท เพราะถูกกดดันจากการระบาดของ COVID-19 และคำสั่งของรัฐบาล

คาดว่ารายได้จากธุรกิจโฆษณาจะลดลงเหลือ 213 ล้านบาท หรือลดลง 49% ส่งผลให้ MAJOR น่าจะขาดทุนสุทธิไตรมาสแรกปีนี้หนักกว่าผลขาดทุนหลักที่ 229 ล้านบาท เพราะมีค่าใช้จ่ายพิเศษจากการเริ่มใช้มาตรฐานบัญชี IFRS 9 และ IFRS 16 ต่อเนื่องในไตรมาส 2 แต่การขาดทุนจะลดลง จากการขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปอีก MAJOR จึงน่าจะยังคงมีผลขาดทุนหลักต่อเนื่องอีกในไตรมาส 2 แต่จะไม่ขาดทุนมากเท่าไตรมาสแรกเนื่องจากต้นทุนมีแนวโน้มจะลดลง โดยคาดว่าบริษัทจะสามารถประหยัดต้นทุนได้ ทั้งนี้ หากมีการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2563 และผลประกอบการค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 3 เป็นต้นไป ก่อนที่จะฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งในปี 2564 ตามความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่คาดจะเพิ่มขึ้น และโปรแกรมหนังเด็ดจากฮอลลีวูดที่ถูกเลื่อนมาจากปี 2563

ดังนั้น จึงปรับลดประมาณการปี 2563-64 ลงเพื่อสะท้อนระยะเวลาการใช้มาตรการ lockdown ที่นานกว่าคาด ปรับลดประมาณการปี 2563-64 ลง โดยปรับลดประมาณการรายได้ปี 2563-64 ลงจากเดิม 35% และ 20% ตามลำดับ เพื่อสะท้อนถึงระยะเวลาการใช้มาตรการ lockdown ที่นานกว่าที่คาดไว้ และปรับลดประมาณการต้นทุนปี 2563 ลง 26% และปี 2564 ลง 20% เพื่อสะท้อนถึงการที่บริษัทใช้แผนประหยัดต้นทุน ซึ่งหลังจากปรับประมาณการใหม่แล้ว คาดผลประกอบการปี 2563 จะลดลงจากเดิมที่คาดว่าจะมีกำไรหลัก 709 ล้านบาท เป็นขาดทุนหลัก 367 ล้านบาท ขณะที่คาดว่ากำไรหลักในปี 2564 จะลดลงจากเดิม 35% เหลือ 730 ล้านบาท พร้อมได้ขยับไปใช้ราคาเป้าหมายสำหรับครึ่งแรกปี 64 ที่ 14.90 บาท ยังคงแนะนำ “ถือ MAJOR” เนื่องจากคาดว่าผลประกอบการจะฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งในปี 2564 พร้อมเงินปันผลสูงจูงใจที่ 5.3%

บล.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ระบุฯ ว่า MAJOR หยุดให้บริการโรงภาพยนตร์ทุกโรงทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เพื่อสนองนโยบายภาครัฐที่ต้องการให้ประชาชนปลอดภัยจากการติดเชื้อโควิด-19 ทั้งนี้ การหยุดให้บริการดังกล่าวส่งผลกระทบต่อ MAJOR ไม่มากนัก เพราะโรงภาพยนตร์ราว 70% MAJOR จ่ายค่าเช่าตามสัดส่วนรายได้จากการขายตั๋วภาพยนตร์ ขณะที่ 30% ของโรงภาพยนตร์มีอัตราค่าเช่าขั้นต่ำ

อย่างไรก็ตาม MAJOR สามารถเจรจาไม่จ่ายค่าเช่าในสถานการณ์เช่นนี้ โดย MAJOR มีค่าใช้จ่ายหลักคือ เงินเดือนพนักงาน ซึ่งอยู่ที่ราว 60 ล้านบาท ทั้งนี้ ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน MAJOR ได้ปลดพนักงาน parttime ทั้งหมดออกไปก่อนชั่วคราว ซึ่งจะประหยัดเงินเดือนได้ราว 20 ล้านบาท ขณะในส่วนของเงินเดือน 40 ล้านบาท พนักงานทุกคนยินดีให้ความร่วมมือลดเงินเดือนชั่วคราวเพื่อประหยัดรายจ่ายของ MAJOR ได้


หยุดงบลงทุนการเปิดสาขาในปีนี้ออกไปก่อนจนกว่าสถานการณ์จะกลับสู่ปกติ

ทั้งนี้ รอ update สถานการณ์โควิด-19 ก่อนทบทวนประมาณการกำไรปี 2563 อย่างไรก็ตาม MAJOR เป็นบริษัทที่มีสภาพคล่องเหลือเฟือ โดยมีสัดส่วนหนี้มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้นเพียง 0.5 เท่า และจ่ายเงินปันผลงวดไตรมาสครึ่งปีแรกจากกำไรสะสมได้ ทั้งนี้ ประเมินเบื้องต้นกำไรสุทธิปี 2563 อยู่ที่ 500 ล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้นที่ 0.56 บาท อิง PER 25 เท่า มูลค่าพื้นฐานเบื้องต้นปีนี้อยู่ที่ 14 บาท ขณะผลตอบแทนเงินปันผลปีนี้ไม่ต่ำกว่า 6% หากปี 64 สถานการณ์กลับมาสู่ปกติ มูลค่าพื้นฐานจะเพิ่มขึ้นเท่าตัวมาอยู่ที่ 28 บาท แนะนำ "ถือ" เพื่อรับเงินปันผล และรอสถานการณ์ปกติ

บล.ฟิลลิป ประเมินว่า แนวโน้มกำไรจะอยู่ในครึ่งหลังปี 63 เป็นหลัก หากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายดีขึ้น คาดรายได้รวมปีนี้ที่ 6,582 ล้านบาท และกำไร 558 ล้านบาท คาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวได้อย่างโดดเด่นในปี 64 หลังภาพยนตร์กลับมาฉายตามปกติ ส่วนราคาปัจจุบันที่ปรับตัวลงมากเทียบกับราคาพื้นฐานยังพอมี upside อยู่ ปรับคำแนะนำเป็น “ทยอยซื้อ” ขณะที่ไตรมาส 2 จะเป็น high season ของโรงภาพยนตร์ที่มีภาพยนตร์ใหญ่ๆ จากฮอลลีวูดเข้าฉายและเป็นไตรมาสที่ผลประกอบการของ MAJOR โดดเด่นสุดของปี แต่จากการระบาดของ COVID-19 ในสหรัฐฯ และยุโรปที่เป็นตลาดใหญ่ของภาพยนตร์ฮอลลีวูด ทำให้ภาพยนตร์ถูกเลื่อนไปอยู่ในครึ่งปีหลัง และบางส่วนเลื่อนไปอย่างไม่มีกำหนดเพื่อรอดูสถานการณ์ ทำให้สถานการณ์ในไตรมาส 2 ปี 63 ไม่ดี อีกทั้งการเลื่อนฉายภาพยนตร์ออกไป ประกอบกับไตรมาส 2 ปีก่อน มีเรื่อง Avengers 4 : Ending Game ที่ทำรายได้ไว้สูงมากราว 750 ล้านบาท ทำให้ในครึ่งแรกปี 2563 กำไรจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ผลกระทบอาจยังมีอยู่บ้างและน่าจะดีสุดในไตรมาส 4 ที่มีภาพยนตร์ใหญ่เริ่มฉาย ทำให้ครึ่งปีหลังน่าจะดีกว่าครึ่งปีแรก คาดรายได้รวมปีนี้อยู่ที่ 6,582 ล้านบาท หรือลดลง 38.5% จากปีก่อน และกำไรลดลงเหลือ 558 ล้านบาท หรือลดลง 52.3% โดยคาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวได้อย่างโดดเด่นในปี 2564 ปรับ P/E ลงเป็น 20 เท่า จากอดีตที่ 22 เท่า ราคาพื้นฐานปีนี้ปรับลงเป็น 12.50 บาท

บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด ประเมินว่า ผลการดำเนินงาน MAJOR ช่วงครึ่งปีแรกปี 2563 จะทรุดตัวรุนแรง หลังจากหนังหลายเรื่องเลื่อนฉายออกไป โดยเฉพาะ Fast & Furious 9 เลื่อนฉาย 1 ปีเต็มไปเป็นเดือน เม.ย. 2564 เพื่อหนีเหตุการณ์ไวรัส Covid-19 (โควิด-19) ถือว่าเป็นข่าวร้ายที่สุดที่จะส่งผลกระทบต่อประมาณการรายได้ของ MAJOR ในปี 2563 อย่างชัดเจน เนื่องจาก Fast & Furious เป็นหนังทำเงินที่มีรายได้กว่า 400-500 ล้านบาทต่อภาค ซี่งทำรายได้ประจำปีสูงที่สุดของ MAJOR มาตลอด นอกจากนี้ยังมีหนังใหญ่อีกหลายเรื่องที่มีกำหนดเลื่อนฉายเพื่อเลี่ยงความเสี่ยงจากไวรัส Covid-19 เป็นช่วงครึ่งปีหลังปี 2563 ทำให้คาดว่าหนังใหญ่ที่จะเลื่อนฉายยังไม่หมด

ทั้งนี้ ทำให้ปรับประมาณการรายได้ปี 2563 เหลือ 8,800 ล้านบาท ลดลง 17% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งจะต่ำที่สุดในรอบ 4 ปี และปรับกำไรเหลือ 893 ล้านบาท ลดลง 24% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยลดลงรุนแรงเนื่องจากโครงสร้างต้นทุนของบริษัทส่วนใหญ่เป็นต้นทุนคงที่ และจากการที่คาดว่ากำไรปี 2563 ของ MAJOR จะลดลงรุนแรงถึง 24% เมื่อเทียบกับปีก่อน ส่งผลให้ราคาหุ้น ณ ปัจจุบันสะท้อนอัตราเงินปันผลเหลือเพียง 5% เท่านั้น ทำให้มองว่าสถานการณ์ตอนนี้ยังไม่เหมาะแก่การลงทุนในหุ้น ปรับคำแนะนำเป็นรอ “ซื้อเมื่ออ่อนตัว” ที่ราคาเป้าหมายใหม่ 21 บาท รอเข้าลงทุนช่วงครึ่งปีหลัง หากสถานการณ์ไวรัส Covid-19 ดีขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น