สคร. เผยผลเบิกจ่ายงบลงทุนในปี 2563 ของรัฐวิสาหกิจ 45 แห่งที่ สคร. กำกับดูแลโดยตรง ณ สิ้นเดือน มี.ค.63 มีกว่า 7.1 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 107% ของแผนการเบิกจ่ายสะสม ส่งผลให้การเบิกจ่ายลงทุนสะสมตลอดไตรมาสแรกของปีนี้สูงกว่าช่วงเดียวกันของปี 62 ราว 1.2 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นราว 101.78%
นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า ผลการเบิกจ่ายงบลงทุนในปี 2563 ของรัฐวิสาหกิจ 45 แห่ง ที่ สคร. กำกับดูแลโดยตรง ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2563 มีผลการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสมจำนวน 71,720 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 107 ของแผนการเบิกจ่ายสะสม
โดยเม็ดเงินสะสมสิ้นสุดมีนาคม 2563 มากกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 1,253 ล้านบาท หรือร้อยละ 101.78 โดยรัฐวิสาหกิจที่มีงบลงทุนขนาดใหญ่และสามารถเบิกจ่ายได้ตามเป้าหมายที่กำหนด ได้แก่ การรถไฟแห่งประเทศไทย การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) การประปาส่วนภูมิภาค และการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง ทั้งนี้ เป็นผลจากการเร่งรัดเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจในช่วงก่อนหน้านี้ และการปรับแผนการลงทุนให้สอดคล้องต่อผลการดำเนินงานจริง
อย่างไรก็ตาม ผู้อำนาวยการ สคร. ยังย้ำว่า การเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจณ สิ้นเดือนมีนาคม 2563 ในภาพรวม รัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่ยังคงสามารถเบิกจ่ายงบลงทุนได้ตามเป้าหมาย
อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ได้ส่งผลกระทบต่อโครงการลงทุนบางโครงการที่ต้องใช้บุคลากรและการนำเข้าอุปกรณ์จากต่างประเทศ ทำให้ต้องปรับปรุงแผนการลงทุนให้สอดคล้องต่อการดำเนินงานจริงด้วย ทั้งนี้ สคร. จะยังคงติดตามการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจในปี 2563 อย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถลงทุนโครงการต่างๆ ได้ตามเป้าหมายเพื่อผลักดันเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
ด้าน นายชาญวิทย์ นาคบุรี ที่ปรึกษาด้านการประเมินผลรัฐวิสาหกิจ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสมของรัฐวิสาหกิจ 45 แห่ง แบ่งเป็นการเบิกจ่ายของรัฐวิสาหกิจปีงบประมาณ 34 แห่ง จำนวน 48,223 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 103 ของแผนการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสม 6 เดือน (ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562-มีนาคม 2563) และการเบิกจ่ายของรัฐวิสาหกิจปีปฏิทิน 11 แห่ง จำนวน 23,496 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 118 ของแผนการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสม 3 เดือน (ตั้งแต่เดือนมกราคม-มีนาคม 2563)
ทั้งนี้ มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่สามารถเบิกจ่ายได้เกินกว่าเป้าหมาย เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี ของ รฟม. โครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าภาคตะวันตกและภาคใต้เพื่อสร้างความมั่นคงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และแผนปรับปรุงและขยายระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้า ฉบับที่ 12 ปี 2560-2564 ของการไฟฟ้านครหลวง
สำหรับโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่เบิกจ่ายได้ต่ำกว่าเป้าหมาย เช่น โครงการลงทุนโครงข่ายระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ตามแผนระบบรับส่งและโครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติเพื่อความมั่นคง (ระยะที่ 1 และ 2) และแผนระยะยาวพัฒนาอสังหาริมทรัพย์/อื่นๆ ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และการจ่ายค่าธรรมเนียมการประมูลคลื่นความถี่ 5G ของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)