xs
xsm
sm
md
lg

การบินไทยบักโกรกสุด ขาดทุนหนักไร้สภาพคล่องโควิดฉุด

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“การบินไทย” วิกฤตหนัก จ่อขาดทุนบักโกรก 4 ปีติด แถม Covid-19 พ่นพิษ ฉุดขาดทุนสูงถึง 2 หมื่นล้านบาท เดิมพันด้วยภาระค้ำประกันเงินกู้จากภาครัฐสูงถึง 7 หมื่นล้านบาท เพื่อเคลียร์หนี้ครบกำหนด และใช้หมุนสภาพคล่อง ขณะภาพรวมอุตสาหกรรมไร้วี่แววฟื้นตัวตลอดปี 63 โบรกฯชี้ฐานะการเงินอ่อนแอ เลี่ยงลงทุน

ก่อนที่จะเจอผลกระทบจากไวรัสCovid-19 ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าธุรกิจของสายการบินแห่งชาติ อย่าง บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) (THAI) ก็อยู่ในขั้นวิกฤตมาพักใหญ่แล้ว และเมื่อเจอกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสข้างต้น ต้องยอมรับว่ายิ่ง Covid -19 ทำให้ การบินไทยอยู่ในอาการ “โคม่า” มากขึ้น

ไม่ใช่ว่าไม่พยายามแก้ไข หาก“การบินไทย” เดินหน้าแก้ไขเรื่องนี้มาต่อเนื่องแต่เหมือนปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นใหญ่หลวงมาก แม้จะเปลี่ยนหัวเรือกี่รอบก็ไม่สามารถขจัดปัญหาที่อยู่ตรงหน้าลงไปได้ โดยการจัดทำแผนฟื้นฟูธุรกิจของบริษัทก่อนหน้าการแพร่ระบาดของ Covid-19 บริษัทได้หารือกับกระทรวงคมนาคมที่จะขอให้นำเรื่องเข้า ครม. เพื่อขอให้รัฐบาลค้ำประกันเงินกู้ 3-5 หมื่นล้านบาทในปี 2563 หวังเสริมสภาพคล่อง เนื่องจากจำเป็นต้องชำระหนี้ที่ครบกำหนดในปีนี้กว่า 2.5 หมื่นล้านบาท ส่วนที่เหลือะนำไปใช้เป็นเงินหมุนเวียนในการขยายธุรกิจ อย่างไรก็ตามแผนที่เสนอไปถูกตีกลับมาทุกครั้ง ด้วยเหตุผลที่ว่าไม่มีความชัดเจน

เคราะห์ซ้ำกรรมซัด เรื่องเก่ายังไม่ทันจะจบ Covid-19 ก็แพร่ระบาดไปทั่วโลก จนทำให้ “การบินไทย” ต้องยกเลิกบินทุกเส้นทางชั่วคราวเป็นเวลา 2 เดือนและจอดเครื่องบินรวมกว่า 69 ลำ เนื่องจากผู้โดยสารลดลงจนไม่คุ้มต่อการปฏิบัติการบิน นำไปสู่ปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน บีบให้ THAI ต้องการขอเพิ่มวงเงินให้ ครม.ค้ำประกันเงินกู้เพิ่มเป็น 5-7 หมื่นล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่อง และส่วนที่เหลือใช้เป็นกระแสเงินสด

ที่ผ่านมาแม้ THAI จะลดค่าใช้จ่ายอย่างหนัก อาทิ เลิกจ้างพนักงานเอาต์ซอร์ซกว่า 3 พันราย การลดเงินเดือนพนักงาน 10-50% เป็นเวลา 2 เดือน ลดภาระการจ่ายเงินเดือนรวมค่าตอบแทนของพนักงานจากปกติ1,100 ล้านบาทต่อเดือนเหลือราว 800 ล้านบาทต่อเดือน เจรจากับเจ้าหนี้เพื่อพักชำระหนี้และยืดหนี้บางส่วน รวมถึงการหารายได้จากคาร์โก้ เพื่อรองรับการส่งออกสินค้าเกษตรของไทย และการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ผลิตในพื้นที่ EEC ที่ส่งไปประกอบที่ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ รวมไปถึงการเปิดให้ครัวการบินที่ขายDelivery ส่งตรงถึงบ้าน ก็ไม่สามารถทดแทนส่วนที่ขาดหายไปได้

และจากการดิ้นเพื่ออยู่รอดของ THAI ทำให้เกิดกระแสข่าวลือต่างๆเกี่ยวกับบริษัทขึ้นมามากมาย รวมไปถึงประเด็นอย่างการแก้ไขปัญหาด้วยการให้กระทรวงการคลังขายหุ้นที่ถือในบริษัทออกให้แก่ภาคเอกชน ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนเป็นองค์กรขนาดใหญ่บ้านใกล้เรือนเคียง อย่าง บมจ.ปตท (PTT) บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) และ ธนาคารออมสิน ซึ่งแรกเริ่มที่มีกระแสข่าวดังกล่าวเกิดขึ้น ราคาหุ้น THAI ขยับตัวขานรับผู้ถือหุ้นใหญ่รายใหม่ในทันทีแต่จนแล้วจนรอด ทุกรายที่ถูกดึงเข้ามาข้องเกี่ยวต่อการแก้วิกฤตของบริษัท ล้วนออกมาปฏิเสธแนวคิดที่จะเข้ามาลงทุนในสายการบินแห่งชาติทั้งสิ้น

ที่ผ่านมา ในด้านผลดำเนินงานพบว่า THAI ประสบปัญหาขาดทุนต่อเนื่อง 3 ปีติดต่อกัน เริ่มที่ปี 2560 ขาดทุนสุทธิ 2.1 พันล้านบาท ปี 2561 ขาดทุนสุทธิสูงถึง 1.16 หมื่นล้านบาท และต่อเนื่องมา ปี 2562 ขาดทุนสุทธิ 1.2 หมื่นล้านบาท รวมแล้วมียอดขาดทุนสะสม 1.93 หมื่นล้านบาท ไม่เพียงเท่านี้ THAI ยังถูกคาดการณ์อีกว่าจะขาดทุนในระดับไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้านบาลในปีนี้ รวมไปถึงข่าวภายในองค์กรที่รั่วไหลออกมาต่อเนื่อง โดยเฉพาะสิทธิพิเศษต่างๆของฝ่ายบริหารที่ได้รับ หลังมีการเปลี่ยนแปลงโยกย้ายภายใน ขณะผลกระทบจากปัญหา Covid-19 ก็ยังไม่สามารถประเมินได้เต็มที่

อย่างไรก็ตาม ผู้บริการของการบินไทยเชื่อว่า การยกเลิกเที่ยวบินเป็นการชั่วคราว จากสถานการณ์ดังกล่าวนั้น บริษัทฯ ได้ประเมินแล้วเห็นว่า จะส่งผลกระทบในทางลบโดยรวมน้อยกว่าการทำการบินต่อไป โดยปัจจุบัน THAI พิจารณาจอดเครื่องบินจำนวน 69 ลำ จากจำนวน 82 ลำ (ไม่รวมเครื่องบินซึ่งใช้ ดำเนินงานโดยบริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด) โดยยังคงให้บริการขนส่งสินค้าใน บางเส้นทาง รวมทั้งอาจจัดเที่ยวบินพิเศษหากกรณีมีผู้โดยสารตกค้างเป็นจำนวนมาก และได้รับการ ติดต่อประสานงานจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง สำหรับเส้นทางบินในประเทศ ซึ่งให้บริการ ผ่านบริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย

ความคืบหน้าการฟื้นฟูกิจการ


ส่วนความคืบหน้าด้านแผนฟื้นฟูกิจการ มีรายงานว่า กระทรวงคลัง มีแนวทางเบื้องต้นสำหรับการปรับโครงสร้างใหญ่แล้ว ซึ่งทั้งกระทรวงการคลังและกระทรวงคมนาคม ต่างเห็นพ้องที่จะอุ้มการบินไทยต่อไป โดย “ถาวร เสนเนียม” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม แสดงความเห็นว่า แผนการฟื้นฟูวิกฤตของการบินไทยภายใต้คณะทำงานที่กระทรวงการคลังและคมนาคมจัดตั้งขึ้นมา มี 2 เรื่องที่ต้องดำเนินการ คือ 1. ระยะเร่งด่วนคือการจัดทำแผนฟื้นฟูยามวิกฤติ โดยเฉพาะการจัดหาเงินมาใช้เพื่อเสริมสภาพคล่อง ซึ่งคณะทำงานจะสรุปวงเงินที่เหมาะสมเพื่อให้บริษัทใช้เสริมสภาพคล่องให้เสร็จภายในสิ้นเดือนเมษายนนี้ เพื่อเสนอ ครม.พิจารณา โดยแผนดังกล่าวจะต้องมีความชัดเจนว่าเงินกู้ที่ THAI ได้รับจะเอาไปใช้จะเกิดประสิทธิผลอย่างไรที่ต้องมีแผนการลดขนาดองค์กร การปลดระวางเครื่องบิน เป็นต้น

2. การจัดทำแผนฟื้นฟูที่จะทำให้การบินไทยกลับมาเติบโตอย่างแข็งแรงในระยะยาว ที่จะมีผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติเข้ามาร่วมศึกษาด้วย เพื่อวางแนวทางการดำเนินงานในระยะเวลาอีก 3-6 เดือนข้างหน้า จากที่ผ่านมา “การบินไทย”เป็นรัฐวิสาหกิจ ทำให้มีขั้นตอนการทำงานมากจำเป็นต้องพิจารณาในหลายแนวทางที่จะทำให้มีการบริหารงานที่คล่องตัวและหาแหล่งเงินทุนใหม่เข้ามาเสริม ซึ่งเป็นที่ผ่านมาของแนวทางการลดสัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลังลงให้ต่ำกว่า 50% และ เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในส่วนของกองทุนวายุภักษ์ หรือหาผู้เข้ามาร่วมลงทุน

ไม่เพียงเท่านี้ ยังมีการแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงในการบริหารงานกิจการและปัญหาทุจริตที่ทำให้ THAI ประสบปัญหาการขาดทุน ซึ่งสาเหตุสำคัญถูกยกให้การขายตั๋วผ่านเอเย่นต์ ซึ่งหากการบินไทยขายตั๋วเอง จะได้เงินเพิ่มขึ้นราว 20% ของยอดขายตั๋ว อาทิ จากเดิมอย่างเส้นทางกรุงเทพ-ฮีทโธรว์ ราคา 1.4 หมื่นบาทต่อที่นั่งต่อเที่ยว แต่หากขายผ่านเอเย่นต์จะเหลือแค่ 9 พันบาทต่อที่นั่งต่อเที่ยว เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังรวมถึงแนวคิดการสร้างรายได้เพิ่มจากธุรกิจอื่นๆ ของบริษัท อาทิ การเพิ่มความสำคัญต่อธุรกิจ "ครัวการบินไทย" ที่ได้รับการยอมรับ ให้หันมาเพิ่มการให้บริการจัดส่งอาหารถึงบ้าน (Delivery) ตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยเจาะฐานลูกค้าโรงพยาบาล เพื่อผลิตอาหารให้ผู้ป่วย แพทย์ และลูกค้าทั่วไป โดยมีแผนให้จัดตั้งบริษัทลูกของการบินไทย เพื่อดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตอาหารแยกออกมาต่างหาก เพื่อลดขั้นตอนการดำเนินธุรกิจให้มีความรวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์ แข่งขันกับเอกชนได้ โดยแบ่งสัดส่วนการลงทุนเป็นการบินไทย 49% และพนักงานการบินไทย 51% คาดว่าการจัดตั้งบริษัทครัวการบินไทย จะเรียบร้อยภายในสิ้นปี 2563 นี้


ส่วนแผนธุรกิจอื่นๆ เบื้องต้น ประกอบด้วย งานธุรกิจรองรับ (เลานจ์) เพื่อให้บริการสายการบินอื่นๆ นอกเหนือ จากการบินไทย ซึ่งมีการติดต่อให้การบินไทยไปดำเนินการแล้ว 4-5 สายการบิน, งานจำหน่ายอาหารพร้อมทานส่งออกไปยังต่างประเทศ และธุรกิจนำเข้าวัตถุดิบที่ใช้ในการประกอบอาหาร จำหน่ายให้ภัตตาคาร ร้านอาหาร หรือโรงแรม โดยตั้งเป้าปีแรกจะสร้างรายได้ไม่น้อยกว่า 300 ล้านบาท ซึ่งในปี 2562 ที่ผ่านมา ครัวการบินไทย สามารถทำรายได้ให้บริษัทการบินไทย ประมาณ 8.5 พันล้านบาท อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญที่จะทำให้ THAI ฟื้นกลับมาได้อย่างเต็มตัวยัง หนีไม่พ้นเรื่องฝูงบินและเส้นทางบิน ที่ถือเป็นปัจจัยสำคัญซึ่งส่งผลอย่างมากต่อรายได้ของบริษัท


แต่เมื่อหันมาพิจารณาศักยภาพทางการเงินของบริษัท และเครื่องมือทางการเงินที่จะเข้ามารองรับหรือแก้ปัญหาพบว่า จากแนวโน้มการช่วยเหลือของภาครัฐ หลายฝ่ายเชื่อว่ายังพอมีโอกาสที่จะทำให้ฐานะการเงินกลับมาแข็งแกร่ง และอยู่รอดได้ โดยวิธีการที่ที่ปรึกษาทางการเงินแนะนำมีหลากหลายรูปแบบ เช่น เพิ่มทุน กู้เงินเพิ่ม ซึ่งบริษัทสามารถดำเนินการได้ เนื่องจาก P/E และ P/BV ของบริษัทล่าสุดเป็น N/A (เพราะขาดทุน) ขณะที่ P/BV เป็น 1.19 เท่า ต่ำกว่าอุตสาหกรรมที่ 2.48 เท่าและตลาดฯ 1.31 เท่า

ทิศทางธุรกิจการบินหลัง Covid-19


บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส ประเมินทิศทางธุรกิจการบินว่า กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ THAI ระบุว่าปริมาณผู้โดยสารเดือนก.พ.63 ลดลงราว 30% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และเดือน มี.ค.63 คาดว่าจะลดในอัตราใกล้เคียงกัน โดยเส้นทางจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง ลดลงมากถึง 30-40% เส้นทางยุโรปลดลง 5% ผู้บริหารประเมินว่าสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 จะคลี่คลายลงในไตรมาส3/63 และจะเริ่มเห็นการฟื้นตัวในไตรมาส4 แต่ถ้าค้นพบวัคซีนป้องกันได้เร็วก็จะช่วยให้สถานการณ์คลี่คลายได้เร็วขึ้นตามไปด้วย

ทำให้คาดว่าผลประกอบการของธุรกิจสายการบินจะอ่อนแอลงมากในครึ่งปีแรก2563 และเกิดการฟื้นตัวในครึ่งปีหลัง แต่จะเป็นไปอย่างช้าๆ เพราะคนอาจจะยังกังวลที่จะเดินทาง ประกอบกับประเทศต่างๆก็น่าจะออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศตัวเอง โดยเฉพาะจีน ทำให้การฟื้นตัวของปริมาณนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยจะต้องใช้เวลา โดยอาจจะเห็นการฟื้นตัวชัดเจนได้ในปี 64

นอกจากนี้ พบว่า ราคาหุ้นสายการบินร่วงแรงมากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยมองว่าธุรกิจในครึ่งปีแรก 63 มีความเสี่ยงจากผลกระทบ COVID-19 มาก แต่ราคาหุ้น AAV, THAI, BA ก็ถอยลงมาแล้ว 30-44% จากช่วงต้นปี และลดลงมาถึง 70-80% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยในด้าน Valuation ณ ราคาปัจจุบัน THAI มี Trailing P/BV เท่ากับ 0.8 เท่า ส่วน AAV, BA ต่ำเพียง 0.35 เท่า

ด้าน บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) คาดว่า ในช่วงต้นปี 2563 หุ้นกลุ่มสายการบิน เป็นกลุ่มที่ยังไม่น่าสนใจลงทุน เนื่องจากมีปัจจัยลบเรื่องของการปฏิบัติตามมาตรฐานทางบัญชีใหม่จากสัญญาเช่า (IFRS16) ซึ่งจะส่งผลให้ค่าใช้จ่ายที่เป็นสัญญาเช่า เช่น การเช่าเครื่องบิน และการเช่าพื้นที่เชิงพาณิชย์ จะถูกแสดงในงบการเงินปี 2563 ซึ่งจะส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ขณะที่การแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 ส่งผลให้มีการยกเลิกเที่ยวบินช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค.ประมาณ 9,700 เที่ยวบิน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของธุรกิจสนามบิน ขณะที่ธุรกิจสายการบินผลกระทบก็ค่อนข้างหนัก เนื่องจากมีภาระ ค่าใช้จ่ายคงที่ เช่น เงินเดือนพนักงานและค่าเช่าต่าง ๆ ขณะที่รายได้จากเที่ยวบินกลับลดลงสวนทาง
ดังนั้นการลงทุนในหุ้นสายการบินช่วงนี้ แนะนำว่าไม่ต้องรีบร้อน หรือแนะนำหลีกเลี่ยงไปก่อนในช่วงนี้ โดยให้รอดูผลประกอบการไตรมาส 1/2563 ก่อน เนื่องจากผลกระทบจาก Covid-19 ดันเกิดขึ้นในช่วงไฮซีซั่น ยังประเมินได้ยากและไม่มีใครทราบว่าการระบาดจะกินระยะเวลานานแค่ไหน โดยเบื้องต้นคาดว่าการระบาดจะกินระยะเวลาถึงไตรมาส 3/2563




กำลังโหลดความคิดเห็น